เมื่อกระดาษพิมพ์หนังสือ... เปี๊ยนไป๋


ทำไมเมื่อก่อน หนังสือไทยกระดาษถึงต้องขาวนัก อ่านแล้วแสบตา

ฟ้าครับ ตอนนี้ฟ้าเริ่มติดหนังสือเหมือนพ่อแล้ว นิสัยรักการอ่านเห็นได้อย่างขัดเจน ตอนที่ฟ้าอายุ 2 ขวบ ก่อนนอนเราจะต้องมาอ่านหนังสือกัน พ่อเล่มหนึ่ง ลูกเล่มหนึ่ง ฟ้าชอบอ่านเอง ฟังพ่อเล่าสักครั้งสองครั้งก็เอาไปอ่านเองแล้ว แถมไม่ยอมให้พ่ออ่านด้วย ("พ่อไปอ่านเล่มนั้น...ราชสีห์กับหนู ไป๊")

ช่วงหลัง ๆ นี้เพิ่งจะสังเกตว่า กระดาษที่ใช้พิมพ์หนังสือที่พวกเรา (ผู้ใหญ่) อ่านกันอยู่ ไม่เหมือนกระดาษที่ใช่พิมพ์หนังสือในเมืองไทยเมื่อราวสิบกว่าปีก่อน ล่าสุดนี้ ผมซื้อ "โลกจิต" ของหนุ่มแทนไท ประเสริฐกุล "สมองไหวในฮ่องกง" ของนิ้วกลม และ "ฉันรักกรุงเทพฯ" ของประทุมพร

ลองไปเปรียบเทียบกับหนังสือที่พิมพ์ในสมัยเก่า ๆ ห้าปีขึ้นไป ที่อยู่บนชั้นหนังสือที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็น "คีตาญชลี" หรือ "บินแหลก" กระทั่งมาถึง  "ทะเลไทย" ของธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เพื่อนเกลอของผม

ความขาวของกระดาษเปลี่ยนไปครับ...

แต่ก่อนนี้ ผมสงสัยมานานแล้วว่า หนังสือไทยทำไมกระดาษถึงต้องขาวนัก อ่านแล้วแสบตา ในต่างประเทศก็ไม่เห็นเป็นเช่นนั้น และไม่มีเหตุผล ที่หนังสือไทยจะต้องใช้กระดาษที่ขาวจั๊วะ กว่าชาวบ้านเขา เปลืองทรัพยากรมากครับในการฟอกให้ขาว และทำให้ราคาแพงโดยใช่เหตุ

นอกจากนี้ หนังสือต่างประเทศเวลาพิมพ์ออกมาช่วงแรก ๆ จะทำเป็นปกแข็ง (สมัยก่อนบ้านเราก็มีเยอะ เช่น ชุดของดอกไม้สด) พอตลาดเริ่มวายก็ทำเป็นปกอ่อน ราคาย่อมเยา สำหรับคนกลุ่มล่างที่เบี้ยน้อยหอยน้อย หรือไม่อยากลงทุนมากนัก

ส่วนของญี่ปุ่นเขาไปไกลกว่าอีก คือมีการจัดพิมพ์หนังสือพ็อกเก็ตบุคที่เล็กและบางจริง ๆ ขนาดสอดเข้าเก็บในกระเป๋าเสื้อได้ง่าย เอาไว้อ่านบนรถไฟ หนังสือพวกนี้ราคาถูกมาก เพราะใช้กระดาษสีทึม ๆ ถ้าเล่มหนาเขาก็จะซอยออกเป็นหลาย ๆ ตอน ถืออ่านก็ไม่เมื่อยมือ เพื่อนที่มาเยี่ยมจากญี่ปุ่นชอบถือมาฝาก เพราะน้ำหนักเบา

เอาล่ะ ผมถือว่าบ้านเรากระดาษพิมพ์ดำขึ้น น่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดี ผมว่าผม "พอเพียง" ของผมแค่นี้แหละ ล่าสุดผมซื้อหนังสือที่ดีมากมาเล่มหนึ่ง ชื่อ "THE GREEN GUIDE เพราะว่าโลกมันร้อนจี๊ด"

ลองไปหาดูเองแล้วกันครับ กระดาษมันหยาบสุด ๆ อ่านแล้วได้อารมณ์รีไซเคิลมาก มีการ์ตูนประกอบด้วย เดี๋ยวคืนนี้จะไปอ่านให้ฟ้าฟัง ก่อนที่จะถูกฟ้าแย่งไปอ่าน...

หมายเลขบันทึก: 159733เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2008 10:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มีนาคม 2012 18:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท