จดทะเบียนสมรส 'คนไม่ไทย'-ก็จดได้


ก่อนไปงานวันเด็กที่แม่สามแล่บ เพิ่งคุยกับคุณเกียรติศักดิ์ ถึงเรื่องการไปยื่นขอจดทะเบียนสมรสของคุณเกียรติศักดิ์กับคุณภรรยาคนไทใหญ่ ซึ่งมาถือบัตรแรงงานฯ ..ยังไม่คืบหน้าไปถึงไหน ..ไปถึงริมสาละวิน-บ้านแม่สามแล่บ ก็มีคำถาม คำบ่นถึงเรื่องนี้ไม่น้อย ..

ถ้าว่ากันตามประมวลกฎหมายแพ่งฯ

.."เงื่อนไขการสมรส" (หมายถึงการจดทะเบียนสมรส) มันมีด้วยกัน 2 ข้อหลักว่า ข้อแรก-ทั้งผู้หญิงและชายจะต้องอายุ 17 ปีอัพ (ม.1448) กับอีกข้อคือ-การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายหญิงยินยอมเป็นสามีภริยากันและแสดงออกว่ายินยอม แสดงออกอย่างเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียน --นายทะเบียนก็บันทึก (ม.1458)

ส่วนข้อยกเว้นที่ทำให้จดทะเบียนฯ กัน ไม่ได้ มีอยู่ว่า :

-อายุไม่ถึง 17 ปี, ใครคนนึงเป็นคนวิกลจริต หรือศาลสั่งเป็นคนไร้ความสามารถ, เป็นพี่น้องกัน, ผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรม, สมรสซ้อน (ม.1449-1452) ส่วนผู้หญิงที่เคยจดทะเบียนฯ มาก่อน จะจดฯ ใหม่ได้ก็ต่อเมื่อ การสมรสครั้งที่ผ่านมา ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน (ม.14531-มีข้อยกเว้นด้วยเหมือนกัน)

แต่สำหรับคนไม่ไทย ก็มีเงื่อนไขเพิ่มเติม..(?)  โดย..กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เคยออกหนังสือสั่งการภายใน ที่ มท 0310.2 /ว. 1170 วันที่ 31 พฤษภาคม 2543 เรื่อง "แนวปฏิบัติในการตรวจสอบเงื่อนไขและการจดทะเบียนสมรสของบุคคลต่างด้าว"  เพื่อ "ป้องกันปัญหาและความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น" (--แปลว่าอะหยัง?)

ข้อ 1 ของหนังสือสั่งการ บอกว่า ..ถ้าคนไม่ไทย เข้าประเทศไทยมาอย่างถูกกฎหมายหรือ ได้รับอนุญาตให้อยู่เพียงชั่วคราว แล้วร้องขอจดทะเบียนสมรสกับคนไทย สิ่งที่เจ้าหน้าที่ต้องตรวจสอบ มี 4 เรื่อง

1.1 ตรวจสอบคำร้องว่าถูกต้อง ครบถ้วนไหม, ให้ตรวจสอบบัตรประจำตัว

1.2 สอบปากคำ (ใช้ ปค. 14) : เป็นใคร,อยู่ที่ไหน, สัญชาติอะไร, ทำงานอะไร, มีรายได้เท่าไร (เกี่ยวไหมเนี่ย) เข้ามาอยู่ในเมืองไทยนานหรือยัง, จดทะเบียนฯ แล้วจะไปอยู่ที่ไหน

1.3 ตรวจสอบคุณสมบัติว่าเป็นไปตามเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายแพ่งหรือเปล่า

1.4 มีหนังสือรับรองมาจากสถานฑูต หรือองค์กรที่ประเทศของคนต่างด้าวมอบหมาย โดยหนังสือต้องระบุว่า : คนต่างด้าวที่อยากจดทะเบียนฯ นั้น มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายไทย, เหมาะที่จะสมรสกับคนสัญชาติไทย, คนต่างด้าวที่อยากจดทะเบียนฯ ทำงานอะไร มีรายได้เท่าไร, "เป็นโสด" หรือเปล่า, ชื่อคนอ้างอิงเพื่อการติดต่อในอนาคต 2 คน ซึ่งอยู่ละแวกเดียวกันหรือภูมิลำเนาเดียวกันกับคนอยากจดทะเบียนฯ .. อ้อ.. เอกสารต้องมี "รับรองว่าเอกสารถูกต้อง" ด้วยเน้อ

ส่วนกรณีคนต่างด้าวที่เข้าประเทศไทยมาไม่ถูกกฎหมาย  ข้อ 2.1 ของหนังสือสั่งการ ให้ทำตามข้อ 1.1 + 1.2 + 1.3  และหากสงสัยว่า "เป็นพี่น้องกันหรือเปล่า" หรือ "สมรสซ้อนหรือเปล่า" (ขาดคุณสมบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งฯ)  ก็ให้คนอยากจดฯ กลับไปหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ให้นายทะเบียนเชื่อ

 ข้อ 3  ..นายทะเบียนต้องรับคำร้องไว้ก่อน "ทุกครั้ง" และในการตรวจสอบเงื่อนไขการสมรสฯ ให้ชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ร้อง และต้องระมัดระวังมิให้เป็นการหน่วงเหนี่ยวหรือกลั่นแกล้งหรือเรียกร้องผลประโยชน์จากผู้ร้องเป็นอันขาด

กฎหมายก็มีเงื่อนไขแค่นี้ แต่ทำไมในทางปฏิบัติมันทำไม่ได้ ทำได้ยาก..

หมายเลขบันทึก: 159408เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2008 18:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 13:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ปัญหา ก็คือ เจ้าหน้าที่ของกรมการปกครองที่ทำหน้าที่นายทะเบียนครอบครัวในพื้นที่ที่ว่า ไม่มีความเป็น "กฎหมายนิยม" ไงล่ะคะ

ต้องให้ กพร. เอาเรื่องกฎหมายนิยมมาเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของกรมการปกครอง

พาคุณเกียรติศักดิ์ไปฟ้องศาลปกครองสักตั้งไหม

ดูซิว่า ฎ.๗๒๐/๒๕๐๕ ยังศักดิสิทธิ์ไหมนะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท