กระบวนการเรียนรู้


กระบวนการเรียนรู้


          ผมได้เขียนคำนำไว้ในหนังสือเล่มนี้ดังต่อไปนี้

                                      


คำนำ


            เรื่องของกระบวนการเรียนรู้   เป็นเรื่องที่เรียนรู้ได้ไม่มีจบสิ้น   กระบวนการเรียนรู้เกี่ยวข้องกับธรรมชาติของความเป็นมนุษย์และเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมของมนุษย์ที่เปลี่ยนไป   ทำให้กระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์เปลี่ยนไปด้วย   นอกจากนั้นการทอนกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ก็มองได้จากหลากหลายแง่มุม


            ดังกรณีหนังสือ “กระบวนการเรียนรู้ : แนวคิด  ความหมาย   และบทเรียนสังคมไทย” นี้   ดร. สุพัตรา  ชาติบัญชาชัย   เขียนจากมุมมองของกระบวนการเรียนรู้ของปัจเจกบุคคล   ซึ่งเป็นมุมมองที่ยึดถือกันอยู่โดยทั่วไป   แต่ในขณะนี้เกิดมุมมองใหม่ต่อกระบวนการเรียนรู้   ที่เป็นการเรียนรู้ร่วมกันของคนจำนวนมาก   ผ่านการปฏิบัติร่วมกัน   ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติงาน   กระบวนการเรียนรู้แบบนี้เรียกชื่อว่า “การจัดการความรู้” (knowledge management)   ผู้สนใจอาจค้นคว้าได้จากเว็บไซด์  www.kmi.or.th
            บทที่ 2   ผู้เขียนแจกแจงความรู้ออกเป็น 4 ประเภทคือ   ความรู้ในสังคม   ความรู้ในศาสตร์   ความรู้ตามหลักศาสนา   และความรู้ทางปรัชญา   ผู้เขียนคำนำมีความเห็นว่า   อาจรวมความรู้ทั้ง 4 ประเภทนี้เป็นกลุ่มเดียว   เป็นความรู้เชิงสาระ (content) และจัดความรู้อีกกลุ่มหนึ่งเข้าคู่คือ   ความรู้เชิงบริบท (context)   ในการประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อกิจการใดก็ตาม   ต้องรู้จักใช้ความรู้   ทั้งที่เป็นความรู้เชิงสาระ   และเชิงบริบทอย่างสอดคล้องเหมาะสม   จึงจะสำเร็จประโยชน์


            บทที่ 4   ผู้เขียนเน้นการเรียนรู้ในสังคมยุคใหม่   และได้ยกตัวอย่างนิทานและเรื่องจริงขึ้นมาอธิบายวิธีคิดและความรู้   ผู้เขียนคำนำมีความเห็นว่า   ผู้คนในสังคมยุคใหม่ต้องการการเรียนรู้พลังสาม   ได้แก่   การเรียนรู้ภาคความรู้   ภาควิชาชีพ   และภาคจิตวิญญาณ   ซึ่งส่วนที่คนยุคใหม่ขาดอย่างยิ่งคือ   การเรียนรู้ภาคจิตวิญญาณ   โดยสามารถทำได้ใน 3 ลักษณะคือ   (1) การฟังอย่างลึกซึ้ง (deep  listening)   (2) การน้อมสู่ใจอย่างใคร่ครวญ (contemplation) และ   (3) การเฝ้ามองเห็นตามที่เป็นจริง (meditation)


            หนังสือเล่มนี้   ดร. สุพัตรา  ชาติบัญชาชัย   เขียนถึงความรู้โยงกับการเรียนรู้และโยงกับความคิดและการนึกคิด   ยังมีการเรียนรู้อีกแบบหนึ่ง   ซึ่งยึดถือหลักการตรงกันข้ามคือ   การเรียนรู้โดยไม่คิด (intuitive learning)   ตัวอย่างของหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ OSHO Intuition : Knowledge Beyond Logic. New York : St. Martin’s Griffin, 2001


            การเรียนรู้ตามแบบที่เราคุ้นเคย   มักเรียนรู้เฉพาะด้านหรือเป็นรายสาขาวิชา (disciplinary)   เวลานี้มีผู้พยายามคิดค้นวิธีเรียนรู้และความรู้ที่เป็นองค์รวมซึ่งมองอย่างรอบด้าน เช่น แนวคิดแบบวิธีการของ Ken Wilber เป็นต้น


            จะเห็นว่า   เมื่อก้าวเข้าสู่เรื่องของกระบวนการเรียนรู้   ความรู้   ความคิด   ดังนั้นจะมีประเด็นที่แตกแขนง   หรือมีมุมมองเป็นขั้วตรงข้ามได้มากมาย   การที่โครงการเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) ดำเนินการตีพิมพ์เผยแพร่หนังสือ
“กระบวนการเรียนรู้ : แนวคิด  ความหมาย   และบทเรียนสังคมไทย”  โดย ดร. สุพัตรา  ชาติบัญชาชัย   จึงเป็นการนำเสนอเรื่องที่สำคัญยิ่งนี้ต่อสังคมไทย   เป็นการสร้างกระแสการถกเถียงโต้แย้ง   หรือตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติม   ดังที่ผู้เขียนคำนำได้พยายามกระทำ  เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องที่มีความสำคัญยิ่งนี้


                                                                                      วิจารณ์  พานิช
                                                          สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 1589เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2005 09:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 14:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ส่งมาแล้ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท