บริการเชิงรุกของโรงพยาบาลคำตากล้า ตอนที่ ๓


การเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานจากเดิมไปสู่รูปแบบใหม่ที่ยากลำบากกว่า แต่ถ้าสามารถแก้ไขปัญหาได้ตามเป้าหมาย ได้ผลคุ้มค่า เราก็ควรกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง

บริการเชิงรุกของโรงพยาบาลคำตากล้า ตอนที่ ๓ เป็นตอนสุดท้ายของเรื่องเล่า จะเห็นภาพการทำงานของบุคลากรสาธารณสุขที่ประสานเชื่อมโยงและร่วมมือกับแหล่งประโยชน์ในชุมชน พร้อมบทสรุปเกี่ยวกับปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๘

"บริการเชิงรุกของโรงพยาบาลคำตากล้า ตอนที่ ๓"

สิ่งสำคัญที่ได้จากการไปติดตามเยี่ยมบ้านผู้ป่วยที่ขาดนัดหรือมีภาวะแทรกซ้อน คือเราได้เห็นปัญหาของผู้ป่วยที่ไม่สามารถมาตรวจตามนัดได้ ดูแลภาวะแทรกซ้อนไม่ได้ เนื่องจากสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่เอื้อำนวย ผู้ป่วยยากจน ไม่มีญาติ อยู่ตัวคนเดียว ผู้ป่วยอยากมาแต่มาไม่ได้ รู้สึกหมดหวังกับชีวิต บางรายอายุมากหลงลืมวันนัด การที่พวกเราแค่ ๑๐ คนออกไปหาผู้ป่วยในชุมชน จะเป็นการสะดวกกว่า เรามีพาหนะ มีความพร้อมที่จะออกไปชุมชน ทีมงานของเราได้มีการประชุมกันทุก ๓ เดือน เพื่อสรุปผลการดำเนินงาน ปัญหา และหาทางแก้ไข เราจึงได้จัดโครงการเพื่อนเตือนเพื่อนในชุมชน เพื่อสร้างเครือข่ายในการดูแลผู้ป่วยในหมู่บ้าน โดยแบ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วย กลุ่มละ ๕ คน มี อสม.คอยดูแลกลุ่มละ ๑ คน เมื่อถึงวันนัดมาตรวจก็ให้เพื่อนคอยชักชวน อาศัยรถกันมา เมื่อมีการออกกำลังกายในหมู่บ้าน ก็จะให้เพื่อนกระตุ้นให้มาออกกำลังกายร่วมกัน ถ้าไม่มาก็สามารถทราบได้ว่าขาดหายไปไหน เพราะอะไร เราก็จะออกติดตาม

กิจกรรมอีกอย่างหนึ่งที่จัดขึ้นคือ การตั้งชมรมผู้ป่วยเบาหวาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ป่วยได้มีการรวมตัวกันขึ้นและดึงเอาชุมชนมามีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วย ได้แก่ อบต. ผู้นำชุมชน อสม. กิจกรรมสำหรับชมรมที่เราได้ดำเนินการต่อเนื่องคือการออกกำลังกาย มีรำไม้พลอง และการเต้นแอโรบิค มีผู้ป่วยเบาหวานเป็นผู้นำในการรำไม้พลองและเต้นแอโรบิค ซึ่งสามารถนำทีมเข้าแข่งขันในมหกรรมรวมพลังคนรักสุขภาพระดับอำเภอ จนได้รับรางวัลชนะเลิศรำไม้พลอง ซึ่ง อบต.เห็นความสำคัญในกิจกรรมส่งเสริมการออกกำลังกายของผู้ป่วยเบาหวาน จึงได้สนับสนุนงบประมาณซื้อเครื่องเสียงให้ทุกหมู่บ้าน ตั้งแต่เริ่มตั้งชมรม และกลุ่มผู้ป่วยที่มารับการรักษาที่สถานีอนามัยบ้านกุดจานได้ร่วมกันจัดงานบุญประทายข้าวเปลือก เพื่อนำเงินช่วยเจ้าหน้าที่ปรับปรุงพื้นที่อาคารชั้นล่างของสถานีอนามัยให้สะดวกในการให้บริการผู้ป่วยทุกคน และใช้เป็นที่ออกกำลังกายของผู้ป่วยเบาหวานด้วย

บทสรุป

ทีมงานในการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานของ คปสอ.คำตากล้า ดำเนินการต่อเนื่องได้จากการที่เรามีความคิดที่รวมกันเป็นหนึ่ง โดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง โดยการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานจากเดิมไปสู่รูปแบบใหม่ที่ยากลำบากกว่า แต่ถ้าสามารถแก้ไขปัญหาได้ตามเป้าหมาย ได้ผลคุ้มค่า เราก็ควรกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง เรารู้ว่าผู้ป่วยจำนวนมากมาหาเรายากลำบาก เรากลุ่มน้อยก็ควรออกไปหาผู้ป่วย ความคุ้มค่าของพวกเราก็คือเราได้ทำให้ผู้ป่วยที่หมดกำลังใจ ไร้ความหวังในชีวิตหลายคน ได้กลับมามีรอยยิ้มที่สดใส มีกำลังใจที่จะสู้กับชีวิตต่อไปอย่างมีความสุข

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน เริ่มตั้งแต่ผู้บริหารเห็นความสำคัญในกิจกรรมเชิงรุก ให้จัดตั้งทีมงานสหวิชาชีพออกไปปฏิบัติงานในชุมชน จัดสรรบุคลากรเสริมในส่วนที่ทีมงานต้องออกปฏิบัติงานตามแผนที่กำหนดเพื่อไม่ให้งานประจำต้องเสียไป เจ้าหน้าที่ระดับตำบลตอบรับแนวทางปฏิบัติงานและร่วมเป็นทีมงานเฉพาะกิจในชุมชน มี อสม. และผู้นำชุมชนร่วมเป็นเครือข่ายดูแลสุขภาพผู้ป่วยในระดับหมู่บ้าน และมี อบต.บางแห่งในการสนับสนุนงบประมาณในการจัดตั้งชมรมผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อส่งเสริมสุขภาพให้แก่ผู้ป่วยในชุมชนที่อยู่ในความรับผิดชอบของตน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ที่สำคัญคือแนวคิด ความตั้งใจจริงของทีมงาน ที่จะทำหน้าที่เพื่อผู้ป่วยเบาหวานที่มีปัญหา ให้มีความหวัง มีกำลังใจที่จะดูแลสุขภาพของตนเองให้ดียิ่งขึ้น และมีชีวิตอยู่ร่วมกับเพื่อนๆ ในชมรมผู้ป่วยเบาหวานอย่างมีความสุขตลอดไป

ผู้เล่าเรื่อง คุณกนิษฐา จันทร์แจ่มศรี พยาบาลวิชาชีพ ๗ โรงพยาบาลคำตากล้า อ.คำตากล้า จ.สกลนคร ๔๗๐๐๐ โทร. ๐๔๒-๗๙๖-๐๔๖

หมายเลขบันทึก: 1585เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2005 08:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 18:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

น่าสนใจค่ะ

ขอบคุณนะคะทำให้เกิดความคิดดีๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท