สางงานเก่า...คุยกับกศน.


ในการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรชาวบ้านกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเริ่มต้นจากตัวองค์กร ไม่ใช่เริ่มต้นจากหน่วยงานดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

      วันนี้ (16 กุมภาพันธ์ 2549)  ได้มีโอกาสคุยกับนายคะเชนทร์  มะโนใจ  ท่านดำรงตำแหน่ง    ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดลำปาง  ท่านให้ข้อมูลเบื้องต้นว่าปัจจุบันศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดลำปางมีจำนวนทั้งหมด 13 ศูนย์  กระจายอยู่ในทุกอำเภอ  (จังหวัดลำปางมี 13 อำเภอ)  นอกจากนี้แล้วยังมีศูนย์การเรียนรู้ชุมชนอยู่ในทุกตำบลที่มีครู กศน. อยู่ 

      สำหรับภารกิจของ กศน. นั้น  สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน  คือ 

      ภารกิจหลัก

      1.จัดการศึกษาตลอดชีวิตให้กับประชาชน  โดยในปัจจุบันทางกศน.ได้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับประชาชนที่ไม่สามารถเข้ามาเรียนในโรงเรียนได้ตามปกติ  เริ่มตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา  มัธยมศึกษา 

      2.การฝึก/พัฒนาอาชีพ  สำหรับบุคคล/กลุ่มที่มีความสนใจสามารถติดต่อมาที่ กศน. เพื่อให้ กศน.ส่งเจ้าหน้าที่ไปฝึก/อบรมอาชีพให้

      3.การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต

      4.การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน

      5.การศึกษาตามอัธยาศัย  เช่น  การจัดห้องสมุดชุมชน/ห้องสมุดเคลื่อนที่  เป็นต้น

     เมื่อพิจารณาตามภารกิจหลักของ กศน.แล้วจะพบว่า  ในกรณีที่ กศน.จะทำงานร่วมกับเครือข่ายองค์กรออมทรัพย์ชุมชนจังหวัดลำปางน่าจะจัดอยู่ในภารกิจที่ 4 คือ  เป็นการให้การศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน  นอกจากนี้แล้วยังสามารถทำงานร่วมกันในส่วนของการฝึก/พัฒนาอาชีพ (ข้อ2)  ก็ได้

      ภารกิจตามยุทธศาสตร์ชาติ (ภารกิจเร่งด่วน)

      1.ยกระดับการศึกษาประชาชนที่อยู่ในวัยแรงงาน (อายุระหว่าง 15-69 ปี)

      2.นโยบายแก้ไขปัญหาความยากจน  ขณะนี้ทาง กศน.จังหวัดได้ให้นโยบายกับ กศน.ในอำเภอต่างๆ  ให้จัดกิจกรรมร่วมกับกลุ่ม/ชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน

      (เข้าใจว่าที่กลุ่มบ้านดอนไชยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากทาง กศน.  จำนวน 13,000 บาทนั้น  คงเป็นในส่วนของการฝึก/พัฒนาอาชีพ  ซึ่งทาง กศน.เถินคงเป็นเจ้าภาพ)

     สำหรับในส่วนของการทำงานกับเครือข่ายฯ ในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น  จากการพูดคุย         แลกเปลี่ยนกับทาง ผอ.กศน.  สามารถสรุปได้คือ

     1.เวลาไม่ตรงกัน  ในส่วนนี้ท่าน ผอ. บอกว่าคุยกับทางประธานฯเครือข่ายฯเป็นประจำ  แต่ยังไม่มีการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม  เนื่องจาก  เป็นเพียงการพูดคุย  และที่สำคัญ  คือ  เวลาไม่ตรงกัน  บางที ผอ.ว่าง  ประธานฯก็ไม่ว่าง  พอประธานฯว่าง  ผอ. ก็ไม่ว่าง  พอว่างตรงกันนัดกันบางทีประธานฯก็ไม่มาตามนัด

     2.ยังไม่มีการพูดคุยอย่างชัดเจนในเรื่องการทำงานร่วมกัน  ที่ผ่านมาเป็นการพูดคุยอย่างกว้างๆ 

     นอกจากนี้แล้วท่าน ผอ. ยังให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำงานร่วมกันระหว่างเครือข่ายฯกับหน่วยงานสนับสนุนว่า  ต้องเริ่มต้นที่เครือข่ายฯ  เครือข่ายฯต้องสำรวจและถามใจตัวเองก่อนว่าสถานการณ์ขณะนี้เป็นที่พอใจของเครือข่ายฯหรือไม่  ถ้าหากเครือข่ายฯบอกว่าพอใจก็คงไม่ต้องทำอะไร  อยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆก็ได้  แต่ถ้าเครือข่ายฯบอกว่ายังไม่พอใจ  เครือข่ายฯต้องคิดต่อว่าแล้วจะทำอะไร  และทำอย่างไรต่อไป  รวมทั้งใครจะสามารถเข้ามาช่วยเครือข่ายฯได้  คำถามเหล่านี้เครือข่ายฯต้องตอบให้ได้  หลังจากนั้นต้องมีแผนในการทำงานว่าเครือข่ายฯต้องการอะไร  จะทำอะไรเพื่อที่จะได้บรรลุเป้าหมายตามต้องการ  จากนั้นจึงค่อยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ถ้าไม่ทำอย่างนี้คุยกันไปเรื่อยๆงานก็ไม่เกิด  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่รู้ว่าตนเองจะช่วยได้อย่างไร  บางครั้งอาจปัดความรับผิดชอบไปเลย  บอกว่าไม่ใช่ภารกิจของหน่วยงานของตน  กล่าวโดยสรุปก็คือ  ในการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรชาวบ้านกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ต้องเริ่มต้นจากตัวองค์กร  ไม่ใช่เริ่มต้นจากหน่วยงานดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

    

  

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15836เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2006 18:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท