272 รัชกาลที่ 5 กับการสำรวจแม่น้ำโขง


เมื่ออังกฤษยึดครองอินเดีย พม่า ได้ก็พยายามทะลวงเข้าสู่จีนแผ่นดินใหญ่ทางประตูหลัง คือการเข้าทางแม่น้ำอิรวดี สาลวินไปยังยูนนาน ฝรั่งเศสมาทีหลังก็เร่งยึดเวียตนามกัมพูชา ลาว และเร่งสำรวจแม่น้ำโขงทันที ดังที่ ดูดาร์ท เดอ ลาเกร นายทหารเรือฝรั่งเศส และเรือโท ฟรานซิส การ์นิเยร์ เป็นผู้บุกเบิกทำหน้าที่สำรวจให้กับรัฐบาลเขา

ก่อนหน้านี้มีชุดสำรวจแล้วสองชุดคือ ของอองรี มูโอต์ที่เล่าให้คราวที่แล้ว ซึ่งมูโอต์ แต่ฝรั่งตาน้ำข้าวก็จบชีวิตเพราะไข้ป่าที่หลวงพระบางด้วยวัยหนุ่มแน่นเพียง 35 ปีเท่านั้นเอง

มีการสำรวจแม่น้ำโขงชุดที่สองแต่ไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก เป็นคณะที่รัฐบาลสยามว่าจ้าง หัวหน้าคณะเป็นชาวฮอลันดาชื่อ ดุยส์ฮาต (Duyshart) ผู้ร่วมสำรวจเป็นชนพื้นเมืองทั้งหมดมีถึง 40 คน  ช่วงเวลาที่สำรวจของคณะนี้เป็นช่วงเดียวกันที่คณะของฝรั่งเศสกำลังเดินทางขึ้นแม่น้ำโขง แต่คณะสยามล่องเรือจากภาคเหนือ และทั้งสองคณะได้พบกันช่วงหนึ่งในแม่น้ำโขง งานสำรวจแม่น้ำโขงของดุยส์ฮาร์ตที่รับจ้างสยามไม่ได้รับการตีพิมพ์ แต่เจมส์ แมคคาร์ธี (James Fitzroy McCarthy) ได้ใช้ผลสำรวจของดุยส์ฮาร์ตในการเตรียมทำแผนที่สยามอย่างละเอียด (ดี.จี.ฮอล์ล 2549)

 Mr. James Fitzroy McCarthy หรือพระวิภาคภูวดล

อีตาแมคคาร์ธีนี้ เจ้าเป็นไผหรือครับ  ก็เป็นเจ้าหน้าที่กองแผนที่อังกฤษที่เข้ามาปฏิบัติงานที่ อินเดีย พม่า จนถึงเขตแดนไทย รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นความสำคัญ ในการทำแผนที่ เพราะช่วงนั้นกำลังต่อสู้แย่งชิงดินแดนกันในสมัยพระองค์ท่าน รัฐบาลสยามจึงจ้างนายแมคคาร์ธีเข้ามาเป็นข้าราชการเมื่อปี 2424 อีกสองปีต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “พระวิภาคภูวดล” ในตำแหน่ง “เจ้ากรมเซอร์เวทางและทำแผนที่” ภายใต้บังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทย 

20 ปีที่แมคคาร์ธีรับราชการ เขาเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อสำรวจพื้นที่ทำแผนที่ และก็สำเร็จตีพิมพ์ออกมาตามแบบสากลในปี 2440 ในการสำรวจพื้นที่นั้นดำเนินการโดยพระราชโองการรัชกาลที่ 5 มีพระราชโองการหนึ่งสรุปความได้ว่า

“เสนาบดี ผู้ว่าการมณฑลฝ่ายเหนือ ถึงข้าหลวงตรวจการ เจ้าเมืองและข้าราชการผู้น้อยในมณฑลนี้” มีพระบรมราชโองการตรัสสั่งให้พนักงานสำรวจเดินทางไปจนถึงชายแดน และทำการสำรวจในมณฑลต่อไปนี้ นครสวรรค์ พิศณุโลก พิชัย ตาก เชียงใหม่ เถิน นครลำปาง น่าน หลวงพระบาง หนองคาย พวน นครจำปาศักดิ์ อุบลราชธานี พระตะบอง นครราชสีมา สกลนคร นครพนม ท่าอุเทน และมณฑลเล็กๆตลอดแนวชายแดนในอำนาจการปกครองเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อเจ้าพนักงานสำรวจมาถึงให้ข้าราชการทุกคนช่วยเหลือจัดพาหนะ คนงาน เสบียงให้...

พระวิภาคภูวดลเดินทางไปหลวงพระบางถึงสามครั้งเพื่อสำรวจ “งานสามเหลี่ยม” ซึ่ง คือ กระบวนวิธีการทำแผนที่โดยอ้างอิงหมุดมาตราฐาน กระบวนวิธีนี้เปลี่ยนมาใช้ระบบ GPS ในปัจจุบัน       

   

ซ้ายแผนที่แสดง"งานสามเหลี่ยม"ที่อ้างอิงหมุดมาตราฐานมาจากประเทศอินเดีย ขวา คือแผนที่ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่จัดทำด้วยระบบ GPS เมื่อปี 2534 มีหมุดมาตราฐานที่ภูเขาสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี  

ต่อมากองแผนที่ไทยได้นายดี.เจ.คอลลินส์ (D.J.Collins) เพื่อนแมคคาร์ธี ซึ่งเป็นช่างแผนที่จากอินเดียเข้ามารับราชการไทย พระวิภาคภูวดลได้ยกกองออกเดินทางสำรวจพื้นที่มีนายคอลลินส์  และหน่วยทหารคุ้มกันซึ่งมีนายเรือโทรอสมุสเซน (Rosmussen) เป็นผู้บังคับบัญชาทหารเรือ ๓๐ คน เดินทางทางเรือผ่านชัยนาท นครสวรรค์ไปถึงอุตรดิตถ์แล้วเดินทางทางบกถึงน่าน 


          จากน่านไปหลวงพระบาง ได้แยกกองออกเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มหนึ่งนำโดยนายคอลลินส์ และนายเรือโทรอสมุสเซน ไปทางบก อีกกลุ่มหนึ่งนำโดยพระวิภาคภูวดล ไปทางท่านุ่น  แล้วเดินทางทางน้ำไปบรรจบกันที่หลวงพระบาง

          กลุ่มพระวิภาคภูวดลได้ผ่านเมืองจุก (เอกสารที่คัดลอกมากล่าวว่าเมืองจุกคือเมืองหาสาวดี ผู้บันทึกคิดว่าน่าจะเป็นเมือง “หงสา” ในปัจจุบันมากกว่า) มีทุ่งพื้นราบยาวประมาณ ๖x๑๐ ไมล์ล้อมรอบด้วยภูเขา มีภูเขาไฟ ๒ ลูก โผล่ให้เห็น ชื่อ ภูไฟใหญ่ และภูไฟน้อย พระวิภาคภูวดลได้แวะไปดูภูไฟใหญ่ มีทางขึ้นไปถึงปากปล่องภูเขาไฟ ทรงวงรี ขนาด ๑๐๐x๕๐ หลา ปากปล่องภูเขาไฟข้างหนึ่งสูงกว่าอีกข้างหนึ่งประมาณ ๕๐ ฟุต เมื่อเอาเศษไม้แห้งใส่เข้าไปตามรอยแตกร้าวไม่ช้าได้ยินเสียงเหมือนไฟคุขึ้นมีควันออกมา และต่อมาเห็นไฟไหม้ขึ้นมาที่เศษไม้นั้น แต่ ที่รอยแตกร้าวอื่นจะเห็นมีแต่ควันขึ้นมา 

          เมื่อเดินทางต่อไปถึงท่านุ่น ริมแม่น้ำโขงกลุ่มของพระวิภาคภูวดลได้เดินทางทางน้ำไปพบกันกับอีกกลุ่มหนึ่งที่หลวงพระบาง กองแผนที่ได้เดินทางต่อไปยังทุ่งเชียงคำซึ่งเป็นที่ตั้งกองทหารไทย กำลังทำการปราบพวกก่อการร้ายฮ่อ เมื่อเสร็จธุรกิจกับข้าหลวงที่กำลังทำการปราบฮ่อ  ได้ยกกองทำแผนที่ไปที่หลวงพระบาง และทำการบุกเบิกสำรวจและทำแผนที่ภูมิประเทศบริเวณเหนือของแม่น้ำโขง และตะวันออกของหลวงพระบาง  เมื่อเสร็จก็ยกกองกลับกรุงเทพฯ เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๗          
         

          พระวิภาคภูวดลได้ขึ้นไปภาคเหนืออีกสองครั้ง  เพื่อทำแผนที่ให้แก่กองทัพโดยไปที่เมืองเทิง อยู่ทางเหนือของหลวงพระบาง  และเวลานั้นเป็นที่ตั้งกองทัพของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี และได้กลับกรุงเทพฯ ปลาย พ.ศ. ๒๔๒๙ ครั้งที่สองที่พระวิภาคภูวดลเดินทางหลวงพระบางนั้นท่านเดินทางไปเชียงใหม่-เชียงราย แล้วนั่งเรือลงแม่น้ำโขงล่องไปจนถึงเมืองหลวงพระบาง   

          การตายของมูโอต์ที่หลวงพระบางนั้น พระวิภาคภูวดล ได้บันทึกไว้เช่นกันว่า "ทางทิศตะวันออกมีเขาชื่อ ภูสวง(Pu Suang) เป็นที่ที่ มูโอต์(Mouhot) นักวิทยาศาสตร์ผู้ท่องเที่ยวมาสิ้นชีวิต...ชาวลาวเชื่อกันว่าเขาตายเพราะผีทำ เนื่องจากบนยอดเขานั้นมีขุมทรัพย์ ซึ่งมังกรเฝ้าอยู่....ผู้ที่พยายามไต่เขาจะต้องตายทุกคนไป มูโอติ์ ได้พยายามแล้วก็จับไข้และตาย..."

          เมื่อกราบถวายบังคมลารัชกาลที่ 5 เพื่อกลับบ้านเกิดเมืองแล้วได้เขียนหนังสือเผยแพร่ 2 เล่ม คือ Report of Survey in Siam และ Surveying and Exploring in Siamท่านที่สนใจสามารถหาอ่านได้นะครับ ดีมากเลยครับ เส้นทางที่พระวิภาคภูวดลลงเรือสำรวจแม่น้ำโขงในสมัยนู้นนั้น

ในกลางเดือนนี้ ผู้บันทึกก็จะลงเรือไปสำรวจแม่น้ำโขงด้วยเหมือนกัน แต่วัตถุประสงค์ต่างกันครับ....

ข้อสังเกต: คณะสำรวจที่สยามจ้างไปนั้นไม่มีการวาดรูปกลับมาเหมือนคณะของทีมสำรวจฝรั่งเศสเลย คณะของฝรั่งเศสจะมีหมอ นักธรณีวิทยา นักธรรมชาติวิทยา ช่างวาดภาพ ถ่ายภาพ ทหารคุ้มกัน ชาวบ้านผู้ชำนาญทาง... 

 

แหล่งข้อมูล: 1/ ข้อมูล: The Mekong: From Dza Chu-Lancang-Tonle Thom to Cuu Long บรรณาธิการโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ อัครพงษ์ ค่ำคูณ                  

                 2/ Surveying and exploring in Siam, James Fitzroy McCarthy, แปลโดย ร.อ.หญิง สุมาลี วีระวงศ์ม, วารสารแผนที่ ฉบับพิเศษ ครบรอบ 200 ปี กรุงรัตนโกสินทร์  

                 3/ กองยีออเดซี่ และ ยีออฟิสิกส์ กรมแผนที่ทหาร: เรียบเรียงโดย  พ.ท.อนุเทพ  ภาณุมาศตระกูล นำเสนอโดย    ร.อ.ศรายุทธ  อยู่สำราญ

หมายเลขบันทึก: 157989เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2008 20:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ธันวาคม 2013 09:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (21)

พี่บู๊ทขา

แวะมาพิสูจน์อักษรก่อนค่ะ  ชื่อblog ค่ะ รัชกา นะคะพี่บู๊ท ไม่ใช่ราชกา

ขอบคุณครับน้องหนิง

พี่หล่ะผิดประจำ ต้องมานั่งตรวจแล้วตรวจอีก ก็ยังพบผิดบ่อย..บางทีผ่านไปสองสามวันถึงจะมาพบผิด

ขอบคุณครับ.

-ทำไมนักสำรวจจึงชอบเข้าประตูหลังกันจังเลยคะ อาจารย์ :-))

-สำรวจแม่น้ำโขง คงสนุกน่าดูเลยนะคะ เมื่อตอนที่ป้าแดง ไปล่องแม่น้ำโขงที่หลวงพระบาง ไม่เกิดการเรียนรู้อันใดเลยค่ะ เพราะหลับเป็นส่วนใหญ่ค่ะ แย่จังชีวิต

 

อ่านสนุก ได้ความรู้ ขอบคุณมากค่ะ ^ ^

สวัสดีครับ

เคยเห็นลำโขงแถวๆ อำเภอเชียงของ มีแก่งหินเยอะ น้ำตื้น หน้าแล้งสงสัยเรือจะผ่านลำบากนะครับ 

Fitzroy นามสกุลเหมือนกัปตัน เรือบีเกิล ของดาร์วินเลยนะครับ

ได้รับซีดี ดงหลวง แล้วครับ ขอบคุณมาก ขอให้งานที่ลาวลุล่วงด้วยดีทุกประการนะครับ

 

ป้าแดงครับ  มันเป็นความสนใจส่วนตัวที่บังเอิญงานเข้ามาหนุนให้ความสนใจผมบันเจิดขึ้นมา อิอิ เหนื่อยไม่กลัว แต่ขอเรียนรู้พี่น้องตระกูลลาวด้วยกันครับ..เขาก็เพื่อนร่วมโลก

สวัสดีครับอาจารย์กมลวัลย์ครับ

 

ทราบว่าคุณพ่อไม่ค่อยสบายหรือครับ ท่านสูงอายุคงต้องดูแลใกล้ชิด และอาจารย์ก็คงดูแลท่านเต็มที่อยู่แล้วนะครับ  ขอให้ท่านหายเร็ววันนะครับ

น้องธวัชชัยครับ

เกาะแก่งในลำน้ำโขงมากมายจนฝรั่งเศสต้องยอมหยุดความตั้งใจที่จะใช้เป็นเส้นทางเข้าเมืองจีน  โดยกลับไปพิจารณาใช้เส้นทางเวียตนามเหนือครับ

Fitzroy นามกลางของ James นั้นไม่ปรากฏในหลายเอกสาร แต่ปรากฏในเอกสารชิ้นหนึ่ง พี่ก็เลยเอามาใส่ด้วยครับ

เอกสารเชิงประวัติศาสตร์นั้นต้องสอบหลายฉบับจึงจะแน่ใจว่าอันไหนถูกต้อง  เช่นบันทึกของอีตาแมคคาร์ธีนั้นกล่าวถึง มูโอต์ว่าเป็น ชาร์ล มูโอต์ แต่เอกสารที่ท่านอาจารย์ ดร.ชาญวิทย์กล่าวนั้นเป็น อองรี มูโอต์ครับ ???

ท่านครูบาครับ ผมเองก็ได้รับหนังสือของท่านครูบาแล้วครับ ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ

ได้ความรู้มากมายเลยค่ะ....

ขอบคุณมากค่ะ

หวัดดี นู๋แหม่ม

นี่เธออยู่ไหนนี่..ขอนแก่นเหรอ..รอลุ้นข่าวนะ เข้าไปคุยกับเปลี่ยนบ้างนะ

สวัสดีครับ

เรื่องนี้น่าสนใจมาก

ผมมีหนังสือ บันทึกการเดินทางของ Le  Comte de Beauvoir พิมพ์ในปี ค..1874 โดยสำนักพิมพ์ E. Plon et  Cie Imprimeurs.editrurs

ยังไม่ได้อ่านและแปล แต่มีภาพลายเส้นเกี่ยวกับการสำรวจภูมิประเทศในสยามและชวาเยอะมาก ขอเก็บไว้ในบัญชีงานส่วนตัวที่ต้องทำในอนาคตครับ

สวัสดีครับ P  13. พลเดช วรฉัตร

ผมมีหนังสือ บันทึกการเดินทางของ Le  Comte de Beauvoir พิมพ์ในปี ค..1874 โดยสำนักพิมพ์ E. Plon et  Cie Imprimeurs.editrurs

ยังไม่ได้อ่านและแปล แต่มีภาพลายเส้นเกี่ยวกับการสำรวจภูมิประเทศในสยามและชวาเยอะมาก ขอเก็บไว้ในบัญชีงานส่วนตัวที่ต้องทำในอนาคตครับ

โอ้โฮ ตื่นเต้นจังเลยครับ..ขอให้งานชิ้นสำคัญนี้ออกมาในระยะเวลาไม่นานนักนะครับ จะคอยติดตามงานสำคัญทางประวัติศาสตร์ชิ้นนี้ครับ

สวัสดีครับ

เปิดเพจใหม่ครับ http://www.polpage.com/oldpicarticle001.htm

โดยจะทยอยนำภาพเก่าลง เพื่อให้ได้ชมกันครับ

คนไทยไปที่ไหน ในโลก หากสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ จะสามารถเป็นผู้สืบต่อประวัติศาสตร์ของชาติได้ครับ

ด้วยความปรารถนาดี

สวัสดีครับท่านพลเดช

 

ผมจะติดตามสาระที่สำคัญของชาติครับ

ขอบคุณครับที่มาบอกให้ทราบกัน

อ่านสนุกได้ความรู้ค่ะ ขอบคุณนะคะ
ขอบคุณครับท่านพี่หญิงใหญ่
  • สวัดีครับ อ.บางทาาย
  • ตามมาอ่านบันทึกดีๆ ครับ
  • เรื่องเหล่านี้คนไทยส้วนมากจะไม่รู้เลยครับว่ามีความเป็นมาอย่างไร
  • ขอบคุณมากครับ

สิงห์ มีรูปด้วยนะครับ แต่ blog นี้มีอายุนานแล้ว เข้าใจว่าทางระบบ จัดการซ่อนรูปไว้เพื่อรักษาพื้นที่ให้ blog ใหม่ๆครับ เดี๋ยวจะลอง เอารูปคืนมาใหม่นะครับ

เอารูปมาขึ้นใหม่แล้วครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท