ปอเนาะ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต (ตอนที่ 2)


แต่เป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งเนื่องมาจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามส่วนมากยังละเลยต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งสังเกตเห็นได้จากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่ค่อนข้างต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับโรงเรียนประเภทอื่น ๆ (ตามที่เคยรับรู้กัน) ปรากฏการณ์เช่นนี้ผมขอเรียกว่า “การบริหารโรงเรียนโดยใช้ค่าหัวเป็นฐาน”
ปอเนาะในปัจจุบัน

หลังจาก พรบ.การศึกษา ๒๕๒๕  ถูกประกาศใช้  ส่งผลให้ ปอเนาะ หรือ โรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามโดยที่รัฐบาลให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่สอนวิชาสามัญควบคู่วิชาศาสนาอิสลาม    สำหรับโรงเรียนที่สอนเฉพาะวิชาศาสนา จะไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล   ดังนั้นปอเนาะในปัจจุบันจึงถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท   คือ 

 

1.    โรงเรียนปอเนาะแบบดั้งเดิม  ซึ่งต่อมา ในปี พ.ศ.๒๕๔๗ กระทรวงศึกษาธิการได้ออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยสถาบันศึกษาปอเนาะ  พ.ศ.๒๕๔๗  ดังนั้น ปอเนาะแบบดั้งเดิมจึงถูกแปรสภาพเป็นสถาบันศึกษาปอเนาะ โดยระเบียบข้างต้น

 

2.       โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม (บทความฉบับนี้จะนำเสนอเฉพาะโรงเรียนประเภทนี้)

 

หลังจากปอเนาะถูกแปรสภาพมาเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามปอเนาะมีสภาพที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม  ดังนี้

 

-     ผู้บริหารเปลี่ยนจากโต๊ะครูเป็นผู้บริหารซึ่งประกอบด้วย ผู้รับใบอนุญาต  ผู้จัดการ  ครูใหญ่ (ซึ่งใน พรบ. โรงเรียนเอกชนฉบับใหม่ จะถูปแปรสภาพเป็น ผู้อำนวยการ)

 

-     มีครูผู้สอนทั้งครูภาคศาสนาและภาคสามัญ   ที่ต้องทำหน้าที่การสอนอย่างเป็นระบบ  กล่าวคือ  ต้องมีแผนการสอน  มีกิจกรรมการเรียนการสอน  มีสื่อการสอน  มีการวัดและประเมินผล

 

-          มีหลักสูตรที่แน่นอนและชัดเจนขึ้นทั้งหลักสูตรศาสนาและหลักสูตรภาคสามัญ

 

-          ระยะเวลาเรียนมีการกำหนดที่แน่นอนโดยหลักสูตร 

 

-          มีการทดสอบเพื่อวัดและประเมินผลในการผ่านชั้น และจบการศึกษา  และมีวุฒิบัตรที่รับรองการจบการศึกษา

 

-     มีปัจจัยพื้นฐาน (Infrastructure) ค่อนข้างสมบูรณ์   เช่น อาคารเรียนที่ทันสมัยขึ้น  ห้องสมุด  ห้องทดลองวิทยาศาสตร์  ห้องปฏิบัติการทางภาษา  ห้องคอมพิวเตอร์ ฯลฯ

 

-          มีระบบการบริหารที่ค่อนข้างชัดเจนมากขึ้น  เช่น มีแผนยุทธศาสตร์  แผนปฏิบัติการ  มีโครงการ  มีการประเมินผล

 

-     มีงบประเมินที่ได้รับการสนับสนุนจากทางรัฐบาล  จากการเก็บค่าเล่าเรียนอีกบางส่วน  และจากการทำธุรกิจจากการจัดการศึกษาอีกบางส่วน  มีระบบบัญชีที่ตรวจสอบได้บ้าง  ไม่ได้บ้าง

 

-          ฯลฯ

  

จึงสรุปได้ว่าปอเนาะในปัจจุบันมีลักษณะที่แตกต่างจากปอเนาะในอดีตอย่างชัดเจน   ปอเนาะในปัจจุบันยังพยายามที่จะรักษาเจตนารมณ์  และอัตลักษณ์ของปอเนาะในอดีตให้ดำรงต่อไป   แต่ด้วยสภาพการเปลี่ยนแปลงในสังคมโลกที่ถูกขับเคลื่อนด้วยลัทธิวัตถุนิยม (Materialism)  ลัทธิแบ่งแยกศาสนาออกจากวิถีการดำรงชีวิต (Secularism)   ทำให้วัตถุปัจจัย เกียรติยศชื่อเสียง  เข้ามามีอิทธิพลในการจัดการศึกษา  จนกลายเป็นธุรกิจศึกษา   โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามบางพื้นที่มีการแข่งขันกันสูง  ถึงขั้นมีนโยบายประชานิยม  ลดแลก  แจก  แถม  เพียงเพื่อให้มีนักเรียนจำนวนมาก  อันนำมาซึ่งค่าหัวที่ได้รับการสนับสนุนจากทางรัฐบาลเป็นจำนวนมาก   การได้มาซึ่งงบประมาณจำนวนมาก ๆ  น่าจะเป็นประโยชน์ต่อโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามเป็นอย่างมากหากผู้บริหารคำนึงถึงการบริหารคุณภาพตามปริมาณของงบประมาณที่ได้รับ    แต่เป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งเนื่องมาจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามส่วนมากยังละเลยต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา  ซึ่งสังเกตเห็นได้จากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่ค่อนข้างต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับโรงเรียนประเภทอื่น ๆ   (ตามที่เคยรับรู้กัน)  ปรากฏการณ์เช่นนี้ผมขอเรียกว่า  การบริหารโรงเรียนโดยใช้ค่าหัวเป็นฐาน  

 
หมายเลขบันทึก: 157629เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2008 20:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท