ปอเนาะ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต (ตอนที่ 1)


แต่เป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งเนื่องมาจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามส่วนมากยังละเลยต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งสังเกตเห็นได้จากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่ค่อนข้างต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับโรงเรียนประเภทอื่น ๆ (ตามที่เคยรับรู้กัน) ปรากฏการณ์เช่นนี้ผมขอเรียกว่า “การบริหารโรงเรียนโดยใช้ค่าหัวเป็นฐาน”

 ปอเนาะ นิยาม และพัฒนาการ 

         ปอเนาะ  เป็นสถาบันจัดการเรียนการสอนอิสลามที่ชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ความศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง    เพราะสถาบันนี้เป็นสถานที่ที่อบรมสั่งสอนและขัดเกลาจิตใจบุตรหลานของมุสลิมให้เป็นคนดี  มีความรู้คู่คุณธรรม  สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้ถูกต้อง   

               สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ ฉบับทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) สงขลา ฉบับ พ.ศ.๒๕๒๙ เล่ม ๗ ระบุความเป็นมาว่า เชื่อกันว่าปอเนาะเกิดขึ้นในประเทศอียิปต์ แล้วแพร่มาสู่เอเชียที่ประเทศมาเลเซียก่อน ต่อมาจึงแพร่เข้าสู่เส้นทางใต้ของประเทศไทย ในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเริ่มที่ปัตตานีเป็นแห่งแรก แล้วขยายไปสู่ท้องถิ่นที่มีชาวไทยมุสลิมทั้งในภาคใต้และภาคกลาง (วีระศักดิ์   จันทร์ส่งแสง . ความจริง ความงาม ความดี ที่ปอเนาะ)                    

               ปอเนาะ เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า "ฟุนดุก" (Pondok) ซึ่งเป็นภาษาอาหรับ และมีความหมายว่าบ้านหลังเล็กๆ ที่มีลักษณะคล้ายกระท่อม หรือกระต๊อบ   ซึ่งสามารถสรุปลักษณะเด่นของปอเนาะได้ ดังนี้

                      -          ผู้สอนได้แก่โต๊ะครู หรือ บาบอซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ หรือเป็นปราชญ์ที่มีความรู้ทางศาสนาที่ประชาชนยอมรับนับถือ   มีลูกศิษย์ที่ผ่านการรับรองจากโต๊ะครูมาช่วยสอน

                   -          มีหลักสูตรไม่แน่นอน  ขึ้นอยู่กับความต้องการของโต๊ะครูผู้สอนและผู้เรียนว่าต้องการจะเรียนรู้อะไรมากน้อยเท่าใด

                   -          ระยะเวลาเรียนและชั้นเรียนยืดหยุ่นตามความจำเป็นของผู้เรียนและผู้สอน

                     -          ไม่มีระบบวัดและประเมินผลทางการเรียน   ขึ้นอยู่กับความพอใจ  ความเหมาะสม  การวินิจฉัยของผู้สอนและผู้เรียนว่าเพียงพอหรือยัง และไม่มีหลักฐานรับรองวุฒิ

                   -          แบบเรียนหรือสื่อ  ใช้อัลกุรอ่าน   และหนังสือเรียนที่เรียกว่ากีตาบ    ซึ่งมีจำนวนมากหลายวิชา 

                  -          สถานที่เรียนใช้บ้านโต๊ะครูหรือสร้างห้องเรียนที่เรียกว่า บาลัย เป็นสถานที่เรียนและสถานที่ประกอบศาสนกิจ   ผู้เรียนจะปลูกกระต๊อบหรือกระท่อมพักอาศัยอยู่รอบ ๆ  บ้านโต๊ะครู เรียกว่า ปอเนาะ หรือ ปอนด็อก

               -          ผู้เรียนมีทั้งผู้ชายและผู้หญิงแต่แยกสถานที่เรียน  อย่างเด็ดขาด    สำหรับที่พักแยกกันให้เห็นอย่างเด่นชัด

                -          ไม่จำกัดอายุของผู้เรียนมีตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยชรา

              -          ระบบบริหารจัดการขึ้นอยู่กับโต๊ะครูเป็นผู้วางระบบ  ระเบียบ  กฎกติกาตามความเหมาะสม   บางแห่งก็เคร่งครัด  บางแห่งยืดหยุ่นบ้าง                         

              ความหมายดังกล่าวนี้ได้สะท้อนภาพและลักษณะของสถาบันการศึกษารูปแบบนี้ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากปอเนาะเป็นโรงเรียนที่มีลักษณะของการอยู่ประจำหรือโรงเรียนกิน-นอน  โดยที่จำนวนบ้านพักหรือกระท่อมที่พักของนักเรียนที่ตั้งเรียงรายอยู่ในปอเนาะต่างๆ สะท้อนถึงความนิยมในตัว "โต๊ะครู" หรือครูผู้สอนได้เป็นอย่างดี    การเรียนในปอเนาะนั้นถือได้ว่าเป็นการเรียนที่ยึดหลักความศรัทธา และความเคารพนับถือเป็นสำคัญ คือศรัทธาในศาสนาอิสลาม และเคารพนับถือในตัวครูผู้สอนหรือ "โต๊ะครู" (ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร. ปอเนาะกับความมั่นคงของชาติ) 

                    สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) เขตการศึกษา ๒ ระบุว่า กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศระเบียบกระทรวงฯ ว่าด้วยการปรับปรุงส่งเสริมปอเนาะ ออกมาเมื่อปี ๒๕๐๔ สาระสำคัญคือ ให้ปอเนาะยื่นเรื่องขอขึ้นทะเบียนต่อทางราชการ   

             ต่อมาในปี ๒๕๐๘ รัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรีให้ปอเนาะที่ขึ้นทะเบียนแล้ว แปรสภาพเป็นโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม ให้ปรับปรุงการเรียนการสอนให้ได้มาตรฐาน ให้มีหลักสูตรการสอน มีชั้นเรียน โต๊ะ เก้าอี้ กระดานดำ มีระยะจบการศึกษาที่แน่นอน และให้เปิดสอนวิชาสามัญด้วย       

            ทางราชการจะช่วยเหลือส่งเสริมโดยการให้เงินอุดหนุน ส่งครูไปช่วยสอนวิชาสามัญ และผ่อนปรนในเรื่องคุณสมบัติบางประการของเจ้าของ ผู้จัดการ ครูใหญ่ และครูผู้สอน โดยไม่ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ.๒๔๙๗ อย่างเคร่งครัด          

            ปี ๒๕๑๐ คณะรัฐมนตรีมีมติให้เร่งรัดปอเนาะที่ขึ้นทะเบียนแล้วทั้งหมด ให้มาขอแปรสภาพจากปอเนาะเป็นโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม ให้เสร็จสิ้นภายใน ๑๕ มิถุนายน ๒๕๑๔ ไม่เช่นนั้นให้ถือว่าปอเนาะนั้นล้มเลิกไป และหลังจากนั้นห้ามก่อตั้งปอเนาะขึ้นมาอีก หากจะตั้งต้องเปิดสอนในรูปแบบของโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามเท่านั้น          

            ถึงปี ๒๕๑๔ มีปอเนาะจำนวนมากถึง ๔๒๖ แห่ง มายื่นความจำนงขอแปรสภาพกับทางการ แต่บางแห่งที่เคยขึ้นทะเบียนด้วยความจำยอม เนื่องจากถูกบีบจากทางการ ถูกข่มขู่จากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็ไม่ยอมแปรสภาพ อีกบางส่วนยอมแปรสภาพจากปอเนาะไปสู่ระบบโรงเรียน แต่สอนเฉพาะวิชาศาสนาเท่านั้น ตามหลักสูตรและแผนการสอนที่โรงเรียนปอเนาะแห่งนั้นๆ กำหนดขึ้นเอง และนอกจากนี้ยังมีปอเนาะแห่งใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา 

           ในปี ๒๕๒๖ ชื่อโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามถูกรัฐบาลเปลี่ยนเป็น โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เพื่อสอดคล้องตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๒๕ และออกระเบียบการให้เงินอุดหนุนแก่โรงเรียนเอกชนฯ ที่สอนวิชาสามัญควบคู่วิชาศาสนาอิสลาม ฉบับแก้ไขครั้งล่าสุดออกมาเมื่อ ๒๕๔๕ ให้เงินอุดหนุนแก่โรงเรียนที่ได้มาตรฐานตามมาตรา ๑๕ (๑) ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เต็ม ส่วนโรงเรียนที่อยู่ในระยะเตรียมความพร้อม และโรงเรียนที่เพิ่งจดทะเบียนหลังวันออกระเบียบให้เงินอุดหนุน ๖๐ เปอร์เซ็นต์ แต่สำหรับโรงเรียนที่สอนเฉพาะวิชาศาสนา จะไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล (วีระศักดิ์   จันทร์ส่งแสง . ความจริง ความงาม ความดี ที่ปอเนาะ) 

                      จึงสรุปได้ว่า   ปอเนาะในอดีตเกิดมาจากความรู้   อุดมการณ์ และความเสียสละของโต๊ะครูที่มีความตั้งใจในการประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้แก่ลูกหลานมุสลิม   ประกอบกับความช่วยเหลือของชาวบ้านที่ให้การสนับสนุนโต๊ะครูในการถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านั้นเพื่อสืบทอดศาสนาอิสลามจวบจนชั่วลูกชั่วหลาน     เจตนารมณ์ของปอเนาะในอดีตเต็มเปี่ยมไปด้วยเจตนารมณ์อันบริสุทธิ์ทั้งของโต๊ะครูและชาวบ้านในการสืบทอดศาสนาอิสลาม   ปราศจากผลประโยชน์ทั้งในแง่วัตถุปัจจัย  และเกียรติยศชื่อเสียง   โต๊ะครูจึงเปรียบเสมือนจุดศูนย์รวมทางจิตใจของชาวบ้าน   โต๊ะครูจึงเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ   โต๊ะครูและปอเนาะในอดีตจึงมีอิทธิพลอย่างสูงส่งในวิถีชีวิตของชาวบ้าน    จะเห็นได้ว่าปอเนาะในอดีตเป็นการจัดการศึกษาโดยชุมชนอย่างแท้จริง  เป็นการจัดการศึกษาที่ยึดหลักความพอเพียง   เป็นการจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นสร้างบุคลิกภาพที่สมบูรณ์ของบุคคลให้เป็นอิสลามิกชนที่สมบูรณ์   เป็นการจัดการศึกษาที่วางอยู่บนพื้นฐานของความศรัทธาอย่างแท้จริง



หมายเลขบันทึก: 157628เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2008 20:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 15:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท