คือ ปิติสุข


(ขออภัย อาจใช้คำไม่เข้ากับสถานการณ์)

ปีติ สามารถประหารพยาบาทนิวรณ์ คือ ความปองร้ายคนอื่นให้สงบลงได้
สุข สามารถประหารอุทธัจจกุกกุจจะนิวรณ์ คือ ความฟุ้งซ่าน (โลเล) เลื่อน ๆ ลอย ๆ ไม่แน่นอนให้สงบลงได้

(ลอกมา)

ปิติสุข ตามความหมายที่จะกล่าวต่อไปคือ ความยินดีที่จะทำความสุขให้เกิดในความดีงามที่กระทำ

หลังจากได้อ่านประวัติของท่านคานธี จากหนังสือ ตามรอยอัจฉริยะ [1] ไปบางส่วน ก็จะเห็นคำที่ผู้แปลใช้เพื่อกล่าวถึงแนวทางการดำเนินชีวิตของท่านคานธี เรียกว่า 'ปิติสุข' ภายใต้อหิงสา
การอ่านเรื่องราวของท่านคานธีอย่างช้า ๆ และถ้วนถี่ ทำให้เห็นว่า สิ่งที่เคยเชื่อมั่นว่าได้เพียรกระทำความดีตามหลักแห่งพุทธศาสนานั้น ไม่อาจเทียบเท่ากับเศษเสี้ยวที่ท่านคานธีได้แสดงไว้เป็นตัวอย่างเลย
และแม้จะเคยดูหนังชีวประวัติของท่านคานธี แต่ก็มิได้ซาบซึ้งกินใจเท่ากับการจดจ่ออ่านตัวหนังสือบนกระดาษ
ซึ่งมีอรรถรสอยู่ที่ความเป็นจริงของข้อความ มิใช่ฉาก สี แสง บทบาท หรือถ้อยคำกินใจ

..ปิติสุข.. มิได้เลือกความเชื่อ อาจจะนับถือพระเจ้า หรือไม่ก็ได้ อาจจะวัตถุนิยม หรือปล่อยวางเพื่อกลับสู่พื้นเพของธรรมชาติก็ได้ อาจเป็นพุทธ คริสตร์ อิสลาม ฮินดู พราหมณ์ ซิกซ์ หรือไม่มีศาสนาก็ได้

ปิติสุข ก็เพียงแต่ปิดิที่จะสุข [2]

เฉกเช่นที่ท่านคานธี ปิติสุข ที่ได้มอบ ได้กระทำ ยึดมั่นในหลักอหิงสา และพระเจ้า อย่างเต็มเปี่ยม

(หรือกรณีที่องค์เหนือหัวของชาวไทย และราชวงค์ได้ทรงปฏิบัติเพื่อ นำความปิติสุขสู่ประสกนิกรของพระองค์)

แล้วเราปิติสุขสิ่งใด?

คำตอบอาจไม่เหมือนกัน .. แต่หากปิติสุขในการกระทำใดแล้ว แสดงว่าเราพึงพอใจที่จะดำเนินชีวิตไปในรูปแบบนั้น

ข้าพเจ้ามักค้นหาว่า เราเกิดมาเพื่อสิ่งใด ในขณะที่ก็รู้ชัดว่านั่นไม่ใช่เรื่องจำเป็นต่อชีวิต
..แต่เมื่อเกิดมาเป็นคน ใครเล่าไม่เคยถาม..


หนทางหนึ่งที่ได้มาเป็นหนทางจากพุทธธรรม คือลุล่วงจากจิตไม่ดีทั้งปวง เพื่อหลุดพ้นและเข้าสู่นิพานมิให้มีการเกิดของจิต (อกุศล) อีกต่อไป (หัวใจของพุทธธรรมอาจต่างไปขึ้นอยู่กับการตีความเฉพาะบุคคล ซึ่งต้องขออภัยผู้รู้ธรรมทุกท่านไว้ ณ ที่นี้ด้วย)

ข้าพเจ้าเพิ่งแยกแยะระหว่างธรรม คำสอน และศาสนาออกเมื่อไม่นานมานี้เอง

หลักธรรมเป็นวิถีทาง คำสอนคือสิ่งที่ศาสดา หรือตัวแทนพระเจ้าชี้ไว้ให้เดินตาม ศาสนาคือศูนย์รวมความเชื่อของคำสอน เพื่อสืบทอดความดีงามของความเชื่อและคำสอนต่อไป ซึ่งบ่อยครั้งก็ทำให้คำสอนเพี้ยนไปตามวัฏจักร

เราอาจสนใจเพียงธรรมโดยไม่สนใจศาสนา เพื่อช่วยเหลือตนเองให้ค้นพบแนวทางปฏิบัติที่ดีงาม หรือก็อาจมีเหตุจำเป็นที่ต้องสนใจศาสนาเพื่อช่วยเหลือตัวเองและผู้อื่น ได้เช่นกัน

หลายคนโดยเฉพาะนักปรัชญา มักศึกษาหลักธรรมหลาย ๆ ศาสนาเพื่อค้นหาแนวทางที่ดีงามของตนเอง รวมถึงเผยแพร่แนวทางที่ค้นพบให้แก่ผู้อื่น โดยมิได้เป็นศาสนา

ในโลกนี้จึงมีคำสอน แนวคิด แนวทางให้ปฏิบัติเป็นร้อยล้านอย่างซึ่งดีงาม และแน่นอนว่าต้องมีที่ไม่น่าจะดีปะปนมาด้วย

เขียนมาพอประมาณ ขอสรุปไว้ดังนี้
1. ความดีงามเป็นสิ่งหนึ่งที่มนุษย์ควรมี แต่ความหมายและคำจำกัดความนั้น มีบริบทแวดล้อมมากมายจนเกินจะอธิบายได้ เมื่อกล่าวโดยรวมแล้วผู้ที่ปฏิบัติตนดีงาม คือผู้ที่ปฏิบัติในสิ่งที่'คน'ทุกคนยอมรับและชื่นชมในความดีงามนั้น

2. มีเงื่อนไขซับซ้อนและซ้อนทับมากมาย ที่จะระบุหรือบอกได้ว่าคำสอนใดในศาสนาใดถูกต้องที่สุดในโลก แต่อาจบอกได้ว่า สิ่งที่ถูกต้องสำหรับบุคคลนั้น คือความเชื่อของผู้ที่ยึดถือนั่นเอง [3]

3. กรณีดังกล่าวรวมถึงผู้ที่ไม่ยึดถือสิ่งใด หรือผู้ยึดถือตัวเองเป็นหลัก

4. เมื่อถึงตรงนี้ ถ้าเคยมีความสงสัยในศาสนาอื่น หรือแม้แต่ศาสนาของตัวเอง  เพียงแค่ปิติสุขในสิ่งที่ทำ ก็เพียงพอแล้วที่จะเข้าถึงความดีงาม

5. ความปิติสุขที่แท้ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นสิ่งใดหรือการกระทำแบบไหน เช่นเดียวกับความเชื่อ และความดีงาม ที่เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล [3]

6. แต่อย่างน้อยที่สุดความปิติสุขจะต้องไม่เบียดเบียนผู้อื่น หรือคิดว่าผู้อื่นก็ควรเชื่อแบบเดียวกัน เพราะการไม่เบียดเบียนเป็นสิ่งที่ทุกคนยอมรับว่าดีงาม และสิ่งที่เราเชื่ออาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกหรือแน่แท้ที่สุด

7. สิ่งที่ได้กล่าวมานี้ ก็เป็นเพียงแนวคิดหนึ่งเท่านั้น และด้วยเหตุที่ยกมาข้างต้น แนวคิดเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าเชื่อและยึดถือ ณ เวลาวันนี้ ซึ่งอาจไม่ถูกต้อง สำหรับบุคคลอื่น และตัวข้าพเจ้าเองในกาลเวลาอื่น

8. แต่ละข้อล้วนมีความซับซ้อนกว่าที่ได้แสดงไว้ จึงต้องขออภัยที่ไม่สามารถอธิบายให้กระจ่างชัดเจนได้

สุดท้ายถ้าเรายึดหลักที่ดีงามตามเหตุผลแต่ไม่ปิติสุข ก็ไม่อาจอ้างว่า นั่นเป็นสิ่งที่เที่ยงแท้กว่าการปิติสุขโดยยึดมั่นขอพรจากพระเจ้าเป็นนิตย์

เอวัง เขียนได้เพียงแค่นี้

ณั ฏฐวีร์ โ ควสุวรรณ, มกราคม 2551 <-- เผื่อมีคนมาใช้อ้างถึง : ] หึหึหึ


[1] ตามรอยอัจฉริยะ ฉบับแปล

[2] แนวคิดนี้น่าจะใกล้เคียงกับที่ ระพินทร์นาถ ตากอร์ กวีผู้ได้รับรางวัลโนเบล ที่ผู้เขียนหนังสือ ตามรอยฯ ได้อธิบายไว้ว่า 'การแสวงหาความปิติในชีวิต โดยไม่ได้ยึดติดกับบางสิ่งบางอย่าง และรู้ว่าสิ่งนั้นไม่ได้นำมาซึ่งความปิติที่ยั่งยืน น่าจะช่วยให้จิตใจเป็นอิสระมากขึ้น

[3] ข้าพเจ้าเอง ใน blog gotoknow.org บันทึกชื่อ มุมมองนั้นแตกต่างหรือเหมือนกัน  

คำสำคัญ (Tags): #ดีงาม#ปิติสุข
หมายเลขบันทึก: 157510เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2008 03:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 21:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท