เก็บตกว่าที่ครูชำนาญการพิเศษ


ขอให้กำลังใจท่านที่กำลังจัดทำผลงานวิชาการครับ
เก็บตกว่าที่ครูชำนาญการพิเศษ                บทความต่อไปนี้มีเจตนาเพื่อนำเสนอแนวคิดที่ได้จากการเป็นกรรมการตรวจผลงานวิชาการ ครูชำนาญการพิเศษ จากการเป็นกรรมการประเมินผลการปฏิบัติงาน(ด้านที่ 2) จากการเป็นวิทยากรแกนนำในการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนให้เลื่อนตำแหน่งเป็นครูชำนาญการพิเศษ และจากการมีโอกาสเป็นผู้ให้คำปรึกษาและแนะนำการทำผลงานวิชาการแก่ครูทั้งในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน แนวคิดหรือองค์ความรู้ที่นำเสนอในครั้งนี้เป็นแนวคิดชนิดTacit Knowledge ที่ผมเองได้รับในระหว่างการแสดงบทบาทต่างๆดังกล่าวข้างต้น ดังนั้นคงมิได้เป็นมาตรฐานที่ทุกท่านจะนำไปใช้ในการกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อก้าวสู่ความสำเร็จในอาชีพครู หากแต่อาจเป็นข้อเตือนใจสำหรับผู้ที่คิดจะทำ ผู้ที่กำลังทำหรือผู้ที่ทำใหม่หลังจากไม่ผ่านมาแล้ว ผมมีความตั้งใจและเชื่อมั่นว่าTacit Knowledge ต่อไปนี้จะช่วยเพิ่มกำลังใจ จะช่วยเพิ่มพลังให้แก่เพื่อนร่วมอาชีพ ของผมทุกท่านในการก้าวสู่วิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ หากสาระความรู้ที่ผมนำเสนอในบทความนี้ไปตรงหรือสร้างความขุ่นข้องหมองใจให้กับท่านผู้ใด ผมต้องขอกราบอภัยมา ณ ที่นี้...............คุณครูที่เคารพทุกท่านครับ สาระที่ผมจะนำเสนอต่อไปนี้ตรงกับท่านบ้างหรือไม่ครับ ผมจะนำเสนอสาระที่เจอะเจอมากับตัวเองพร้อมทั้งบอกแนวทางแก้ไขให้ด้วย ท่านจะเลือกแนวทางของผมหรือไม่ก็ตามที...ไม่ว่ากันครับ แต่ถ้าท่านเลือกแล้วเกิดผลดีผมก็ขอยกความดีทั้งมวลให้กับท่านประธานวิทย์  ยูวะเวส  ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคพิจิตรที่ท่านให้ความเมตตาและให้โอกาสผมได้ก้าวเข้าสู่แวดวงวิชาชีพครูอย่างเต็มภาคภูมิ รวมทั้งให้แนวคิดทั้งที่เป็นคำพูดและการปฏิบัติเป็นตัวอย่างแก่ผมมาตลอดเข้าเรื่องกันเลยดีกว่านะครับ.......มาเก็บตกกันตั้งแต่เริ่มก้าวสู่เส้นทางวิทยฐานะกันเลยนะครับ...

1.  ผมได้รับคำถามจากเพื่อนครูอยู่เสมอว่า......อาจารย์ธานินทร....ผม(ดิฉัน)จะทำผลงานอะไรดี? ผมก็คิดอยู่ในใจเงียบ ๆ ว่า ท่านยังไม่รู้เลยว่าท่านจะทำอะไร แล้วผมจะรู้ไหมเนี่ยแต่ก็อดไม่ได้ที่จะตอบว่า ผลงานวิชาการที่ดีที่สุดสำหรับอาชีพครู คืออะไรก็ได้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอน เกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้เรียน เป็นงานที่พัฒนาผู้เรียนจากที่ไม่รู้เป็นรู้ จากความประพฤติไม่ดีเป็นดี จากปรับตัวไม่ได้เป็นปรับตัวได้อย่างดี แต่ระวังไว้ให้ดีนะครับอย่าไปหาเรื่องทำผลงานชนิดงานวิจัยนะครับมีคำล่ำลือว่า ผลงานวิชาการชนิดงานวิจัย มีสิทธิ์ตกมากที่สุดครับ(ผมเองก็ไม่เข้าใจว่าทำไมกรรมการที่ตรวจผลงานประเภทงานวิจัยจึงถูกกล่าวขวัญกันอย่างมากมายในวงการครูว่า หินมาก ไม่ยอมให้ผ่านง่ายๆ .....สงสัยการทำวิจัยในบ้านเมืองไทยไม่เหมือนกับที่ทั่วโลกเขาทำกัน หรือไม่ก็เป็นรูปแบบที่มีมนต์ขลังต้องเก็บขึ้นหิ้งบูชาแล้วเอาเงินยัดไว้ 1000 บาทเงินก็จะไม่หายไปไหน...)

                2.  คำถามสุดฮิตที่มักปรากฏเสมอคือ จะทำผลงานวิชาการได้เมือไร.....ผมอยากจะตะโกนดัง ๆ ครับว่า.....ทำได้เลย ทำได้ตลอดครับเพราะผลงานวิชาการคือผลงานอันเกิดจากการทำหน้าที่ครูของท่านเองครับ.............ท่านทำไปเรื่อยๆ แล้วพัฒนาผลงานให้ดีขึ้นจนเกิดผลสำเร็จที่ท่านพอใจ เกิดการพัฒนาในตัวนักเรียนอย่างเป็นรูปธรรม สามารถวัดได้ สังเกตได้ ยืนยันผลได้ ก็เป็นอันเรียบร้อยครับ แล้วท่านก็นำผลงานนั้นมาเขียนให้คนอื่นเขาได้อ่าน(ส่งผลงานไงครับ) ต้องเขียนให้คนอ่านรู้เรื่องตั้งแต่เริ่มทำงานจนเกิดผลสำเร็จซึ่งอาจจะยึดรูปแบบงานวิจัย 5 บทก็ได้(ไม่ใช่ทำวิจัยนะครับแต่อาศัยรูปแบบการเขียนรายงานวิจัยต่างหากครับ)....

                3.  พอพูดถึงคำว่า วิจัย 5 บท เพื่อนครูของผมก็บอกว่า ไม่เอาแล้ว มันยากมาก ไม่เคยเรียนมา หมดกำลังใจทำผลงานวิชาการแล้วๆๆๆๆๆ ผมก็ต้องรีบตอบตรงนี้นะครับว่าไม่ยากเลยเขามิได้ให้ท่านทำวิจัย แต่ให้บอกเล่าเก้าสิบเกี่ยวกับงานที่ท่านทำจนสำเร็จนั้นโดยอิงรูปแบบงานวิจัย 5 บทเพราะเป็นรูปแบบที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย(ดูรายละเอียดแนวคิดได้จากบทความเรื่อง ความมหัศจรรย์ของวิจัย 5 บท ในhttp://gotoknow.org/blog/april3059research/156746 )

ถึงตรงนี้อยากจะวิงวอน อ้อนวอน ออดอ้อนถึง อาจารย์ 3 และครูชำนาญการพิเศษบางท่านที่ให้คำแนะนำในการทำผลงานวิชาการแก่ ครูไทยทั้งมวลว่า......เลิกเสียทีที่เที่ยวไปบอกเขาว่า ต้องทำอย่างโน้น ทำอย่างนี้ขอให้บอกเขาว่า น่าจะ หรือควรจะ การนำเสนอผลงานวิชาการมันไม่มีสูตรสำเร็จนะครับแล้วแต่ใครจะถูกใจแบบไหน จะถนัดแบบไหน...ใจกว้างกันหน่อยครับ....ดูที่ผลงานดีกว่าดูที่รูปแบบนะครับ........               

      4.  เก็บตกที่เจอเสมอ คือ การลงทุนซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ใหม่ (ทั้งแบบตั้งโต๊ะหรือแบบพกพา) เพื่อใช้จัดทำผลงานวิชาการ......โอ้โฮ...ลงทุนกันมากขนาดนี้เลยหรือครับ ถ้าเช่นนั้นผมขอถามว่าท่านใช้งานเจ้าเครื่องคอมฯได้ดีแค่ไหน....ถ้าจะต้องมาเสียเวลาจิ้มดีดและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เจอในขณะทำงาน...คุ้มกันไหมครับ...ถ้าท่านเขียนแล้วส่งร้านที่รับจ้างพิมพ์ซึ่งมีมากมายตามท้องถนน....น่าจะดีกว่าไหมครับ...เอาเวลาที่ท่านจะจิ้มดีดมาคิดงานดีกว่าไหมครับ               

     5.  อีกคำถามที่เจออยู่บ่อย ๆ คือ จะเริ่มทำผลงานวิชาการอย่างไรดี ผมก็ต้องตอบแบบเบาๆว่าไปศึกษารูปแบบต่างๆที่เขาทำกันไปซักถามพูดคุยกับเพื่อนหรือผู้รู้เสียก่อน...แล้วจึงพิจารณาดูว่าตนเองชอบแบบไหน ตนเองถนัดแบบไหน .....เมื่อตัดสินใจได้ก็ยึดรูปแบบหรือดูตัวอย่างจากที่ตนเองชอบนะครับ....(มิใช่ลอกเขานะครับ...แต่ให้ดูเป็นแบบอย่าง.......)...มาถึงตรงนี้ก็อยาก กระซิบเบา ๆ กับผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์อีกสักครั้งว่าอย่าเที่ยวไปตัดสินว่าผลงานของใครดีไม่ดี ต้องทำแบบนี้แบบนั้น ขอเพียงให้คำแนะนำแล้วปล่อยให้ผู้ที่จะทำผลงานเป็นผู้เลือกตามที่เขาถนัดและสนใจจะดีกว่านะครับ....               

      6.  บรรยากาศการทำผลงานวิชาการที่พบเจอเสมอคือ   ......โอ๊ยจะแย่แล้ว..........ทำไม่ทัน....จะเสร็จหรือเปล่า.....เครียด ๆๆๆๆๆๆ...   ตรงนี้อยากจะรีบบอกก่อนว่าการจัดทำผลงานวิชาการที่น่าสนใจ คือ ท่านจะต้องวางแผนงานไว้อย่างรัดกุมว่าท่านควรจะทำอะไรก่อนหลัง ท่านควรจะทำอะไรในช่วงใดเพื่อให้ทันกับระยะเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด สิ่งที่ผมอยากจะขอร้องทุกท่านคือโปรดอย่ากำหนดเวลาเสร็จสิ้นงานไว้เมื่อถึงวันสุดท้ายของกำหนดส่งผลงานวิชาการ แต่จงกำหนดเวลาเสร็จสิ้นไว้ล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน ที่สำคัญที่สุดแผนงานของท่านต้องเป็นแผนงานที่ทำได้จริง ๆ ที่ผมให้ความสำคัญมากกว่าระยะเวลาก็คือ ท่านจะต้องทราบว่าสิ่งที่ท่านจะทำ สิ่งที่ท่านจะจัดส่งนั้นมีอะไรบ้าง และอะไรบ้างที่มีคะแนน อะไรบ้างที่เป็นส่วนประกอบ ท่านจะต้องจัดลำดับความสำคัญของภาระงานให้ดีนะครับ สิ่งที่ผมจะขอยกตัวอย่างในที่นี้คือ ท่านใช้เวลาจิ้มดีดผลงานวิชาการเสียกว่า 60% ของระยะเวลาทั้งหมด(จ้างเขาพิมพ์น่าจะเสร็จนานแล้ว....) แล้วไปวุ่นวายกับการจัดทำเอกสารประกอบผลงานวิชาการ เช่น รายงานการใช้ อีกเสียกว่า 30%ของระยะเวลาทั้งหมด (ยังต้องวุ่นวายอยู่กับรูปแบบรายงานการใช้ที่มีผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากบอกว่าต้องทำอย่างนี้ต้องทำอย่างนั้น แล้วที่ถูกคืออย่างไรกันแน่? ผู้เชี่ยวชาญแต่ละท่านก็บอกไม่เหมือนกันเลย....ประสาทรับประทานแน่ ๆ เลยกว่าจะผ่านด่านนี้ไปได้) แล้วจะเหลือเวลาอีกเท่าไรในการจัดทำ วฐ.2/1 ซึ่งมีคะแนน 100 เท่ากับผลงานวิชาการ....คุณครูครับอยากจะย้ำอีกครั้งว่า สิ่งที่ท่านจะต้องจัดส่ง มี 2 อย่างนะครับ คือ ผลงานวิชาการอย่างน้อย 1 รายการ(100 คะแนน) และวฐ.2/1 (100 คะแนน) ท่านอย่ามัวไปหลงอยู่กับรายงานการใช้ที่ถูกผู้เชี่ยวชาญบางท่านบังคับว่าต้องเขียนแบบนี้แบบนั้นอยู่นะครับ ท่านต้องตัดสินใจนะครับว่าท่านจะจัดทำรายงานการใช้แบบใดที่สามารถนำเสนอการทำผลงานวิชาการของท่านได้อย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นจนจบและนั่นมิใช่งานหลักนะครับ...               

     7.  คำถามที่สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับผม คือ ตกลงจะทำรายงานการใช้อย่างไรดี เห็นคนโน้นเขาทำอย่างหนึ่ง ผู้เชี่ยวชาญอีกคนก็บอกว่าต้องทำอีกอย่างหนึ่ง....แล้วจะทำยังไงดี ปวดหัวไปหมดแล้ว.......  ผมก็อยากจะตอบว่าปวดหัวก็ตัดหัวทิ้งไปเลย....5555+ คุณครูที่รักครับท่านต้องถามตัวท่านเองนะครับว่าผลงานหลักที่ท่านต้องทำ คืออะไรครับ(ย้อนไปที่ ข้อ 6 ก็จะทราบครับ) แล้วผู้เชี่ยวชาญที่ท่านแนะนำนั้นเป็นเพียงข้อเสนอแนะ(บางท่านก็ชอบบังคับให้ทำตามที่ตนเองคิด.......) จงพิจารณาให้ดี ถ้าทำได้ก็ทำ ถ้าทำไม่ได้ก็ทำแบบที่เป็นตัวเรา แบบที่เราคิดว่าดีที่สุดสำหรับตัวเรา อย่าไปนำมาเป็นบรรทัดฐานว่าคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญจะต้องถูกต้องเสมอ(เลิกความคิดแบบนี้ได้แล้ว....)ผู้เชี่ยวชาญท่านให้ข้อคิด ข้อเสนอแนะ แต่การตัดสินใจต้องเป็นของตัวท่านเอง ข้อเสนออีกอย่างที่ผมอยากบอกทุกท่านอย่างมากถึงมากที่สุดคือ ถ้าใจของท่านไม่มั่คงจริงๆแล้วอย่าดิ้นรนไปหาผู้เชี่ยวชาญให้มากมายนักผู้เชี่ยวชาญที่ดี คือผู้ที่มีประสบการณ์ในวิชาชีพของท่านจริง ๆ เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการจัดการเรียนการสอนจริง ๆ (ไม่ใช่เอาแต่ปิ้งแผ่นใส หรือบรรยายหน้าห้องทั้งชั่วโมง) เป็นผู้ที่มีความชำนาญในการจัดการเรียนการสอนมาช้านานในระดับเดียวกับที่ท่านสอนจริง ๆ (อย่ามัวไปหลงอยู่กับผู้เชี่ยวชาญที่ท่านคิดว่าเชี่ยวชาญแต่ไม่ได้ทำหน้าที่ครูในระดับการศึกษาเดียวกับท่านเลย) ใครเลยจะรู้ดีเท่ากับผู้ที่ปฏิบัติงานในสาขาวิชาชีพนั้นมาช้านาน ถ้าท่านยึดผู้เชียวชาญท่านที่รู้จริง ปฏิบัติงานจริง ท่านก็จะไม่ต้องตัดหัวทิ้งอย่างที่ผมแนะนำตอนต้นครับ...555+

     เขียนมามากมายชักง่วงนอนแล้วครับ.......อยากจะกราบเรียนทุกท่านที่อ่านบทความนี้ด้วยความเคารพว่า...ข้อมูลทั้งหมดเป็นTacit Knowledgeที่ผมประสบมาโดยตรงทั้งในช่วงที่ทำผลงานของตนเอง และในช่วงที่เป็นวิทยากร เป็นผู้ตรวจผลงาน หากทำให้ท่านขุ่นข้องหมองใจไปบ้างก็ขออภัยอย่างสูง มา ณ โอกาสนี้ครับ...........เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้....555+ ....ราตรีสวัสดิ์ครับ                

 

หมายเลขบันทึก: 157284เขียนเมื่อ 3 มกราคม 2008 21:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 14:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

"ท่านกล่าวได้ถูกใจผมจริงๆ" ผมได้ส่งผลงานตามลักษณะที่ท่านได้กล่าวมา ซึ่งจะไม่ค่อยเหมือนใคร (จากการสอบถามเพื่อนๆที่ส่งผลงานพร้อมกัน) พอมาได้อ่านบทความของท่าน ทำให้ผมมีแรงใจขึ้นมาอย่างมากมายที่ยังมีผู้ที่แนะนำสิ่งที่ดีๆอย่างนี้ ซึ่งเป็นประโยชน์สูงสุดกับเพื่อนร่วมอาชีพเดียวกัน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับบทความที่ดีๆเช่นนี้อีก

ขอให้กำลังใจคุณครูทุกท่านที่ก้าวเข้าสู่วังวนของวิทยฐานะ(ยากมากกว่าอาชีพอื่นๆเลย โดยอ้างว่าเพื่อคุณค่าศักดิ์ศรีแห่งอาชีพ ตำรวจ หมอ พยาบาล ข้าราชการอื่นๆเขาทำกันง่ายกว่านี้เยอะครับ มีแต่ครูไทยที่ถูกกดโดยองค์กรครู น่าตลกนะครับ) การประเมินแบบใหม่ก็น่าจะสดชื่นสำหรับท่านที่ไม่ชอบขีดเขียนนะครับ แต่อ่านๆไปแล้วพบว่า โหดน่าดู ยังไงก็ต้องขอกราบแทบเท้าผู้ที่มีบทบาทในการกำหนดกฏระเบียบในการรับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการอื่น ๆ ที่ท่านทำเพื่อแวดวงวิชาชีพของท่านเองเพื่อความก้าวหน้าและเพื่อความอยู่รอดของวงวิชาชีพของท่าน ขอไว้อาลัยแก่ใครก้ไม่ทราบที่ออกกฏระเบียบโดยที่ตนเองไม่มีความสามารถมาสอนหนังสือในโรงเรียนได้เลย ผมมีคำใหม่มามอบให้ท่านนะครับ "กดครูตลอดศก" " ก ค ศ" ท้ายที่สุดขอแสดงความเสียใจกับครูที่ต้องเสียชีวิต ต้องพิการ อัมพฤกษ์อัมพาต เป็นโรคเครียด ความดันสูง อีกมากมายอันเกิดจากการทำผลงานวิชาการที่โหดที่สุดในแวดวงวิชาชีพใดๆ(ในโลกเลยมั๊ง)

ผมได้อ่านบทความของท่านแล้ว รู้สึกมีกำลังใจเป็นอย่างมาก เป็นบทความที่ชี้ทางสว่างให้กับผม ผมคิดว่าคงจะเป็นประโยชน์กับคนอีกจำนวนมาก ถ้าผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำวิทยฐานะได้อ่าน และทำอย่างบทความของท่าน การทำคงจะเกิดผลดีกับนักเรียนมากกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ผมขอขอบพระคุณท่านมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท