ความมหัศจรรย์ของวิจัย5บท


มาสนุกกับวิจัย5บทกันดีกว่าครับ

     เมื่อวันศุกร์สุดท้ายของปี2550 ผมได้รับข้อมูลที่น่าหดหู่จากเพื่อนครูที่กำลังจัดทำผลงานวิชาการเพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะเป็นครูชำนาญการพิเศษ(มันพิเศษจริงๆ พิเศษจนได้รับการกล่าวขวัญกันอย่างแพร่หลายในวงการครูว่า.........)  เพื่อนครูท่านนั้นบอกว่า เขาหมดแรงที่จะทำผลงานวิชาการแล้ว ทั้งๆ ที่ทำเกือบจะเสร็จ ที่หมดแรง ที่ท้อแท้ ก็เพราะมีผู้เชี่ยวชาญ(แบบไทยๆ) บอกว่า ถ้าจะส่งผลงานวิชาการ ต้องทำอย่างโน้นอย่างนี้ ถ้าไม่ทำไม่ผ่านแน่ เช่น  ต้องทำวิจัย5บท ต้องทำนวัตกรรมฯลฯ  

     เพื่อนครูท่านที่ผมกล่าวถึงนั้นท่านบอกว่าท่านทำวิจัย 5บทไม่ป็นเพราะไม่ได้เรียนปริญญาโทมา ผมจึงย้อนคิดไปถึง คำว่าวิจัย เมื่อครั้งเข้าร่วมงาน Thailand Research Expo 2007 ที่Central World เมื่อปลายปี50 ผมได้เสนอแนวคิดต่อที่ประชุมว่า ทำอย่างไรจะให้คนไทยเลิกวิตกกังวลกับคำว่าวิจัยเสียที การวิจัยมิใช่ของน่ากลัว และมิได้จำกัดอยู่ที่ผู้ที่จบ ปริญญาโท ปริญญาเอกเท่านั้น คนไทยทุกคนสามารถทำวิจัยได้ สามารถเข้าถึงวิจัยได้ นักวิจัยทั้งหลายต้องช่วยกันทำให้สังคมเห็นว่าวิจัยเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของผู้คนให้จงได้ เลิกได้แล้วที่จงใจจะทำให้การวิจัยเป็นเรื่องที่ยาก น่ากลัว หรือทำเสมือนว่านักวิจัยเท่านั้นที่จะทำวิจัยได้...

     วิจัยไม่ได้ยากอย่างที่คิดเลยนะครับ เพราะการวิจัยเป็นการค้นหาความรู้ความจริงด้วยวิธีการที่มีขั้นตอนมีกระบวนการ ใช้วิธีการที่น่าเชื่อถือ ที่มีเหตุผลทุกคนสามารถค้นหาความรู้ได้ด้วยตนเองครับ แต่ขอให้ท่านค้นอย่างมีเหตุผล มีหลักการ มีขั้นตอน ซื่อสัตย์

     คราวนี้ย้อนมาถึงคำว่า "วิจัย 5 บท"กันดีกว่าครับ คำนี้น่ากลัว น่าสยดสยองสำหรับครูหลายๆท่านที่ตั้งใจและกำลังทำผลงานวิชาการอยู่ ผมอยากจะบอกท่านๆทั้งหลายว่า อย่าไปสยดสยองกับมันครับ เพราะ เจ้าคำนี้เป็นเพียงคำพูดเพื่อเป็นแนวทางให้กับท่านเพื่อใช้ในการบอกกล่าวให้ผู้ตรวจท่านรู้ว่าที่ท่านทำผลงานวิชาการนั้นมันมีที่มาที่ไปอย่างไร มีขั้นตอนอย่างไร ท่านใช้องค์ความรู้หรือแนวคิดใดบ้างมาเป็นฐานในการจัดทำ เมื่อทำแล้วมีการตรวจสอบหรือไม่อย่างไรฯลฯ เท่านี้เองครับ

     ผมกลับเห็นตรงข้ามกับเพื่อนครูว่า คำว่า "วิจัย 5 บท"เป็นสิ่งที่ช่วยท่านได้มากเลยครับ เพียงว่า ท่านต้องเข้าใจคำนี้ให้ถ่องแท้ มาถึงตรงนี้ท่านคงเห็นภาพแล้วนะครับว่าการที่ท่านจะเล่าให้ผู้ตรวจได้ทราบถึงผลงานของท่าน ถึงการสร้างผลงานของท่านนั้น น่าจะใช้รูปแบบการบอกเล่าเก้าสิบ โดยอิงรูปแบบของ วิจัย 5 บทซึ่งดูแล้วมีระบบมีขั้นตอน เข้าใจง่ายดีครับ

     เจ้าวิจัย 5 บท ที่ท่านกลัวกันนักหนานั้นมันเป็นวิธีการสะท้อนผลการจัดทำผลงานวิชาการของท่านให้ท่านผู้ตรวจได้ทราบ ได้เข้าใจตรงกับท่าน และได้เห็นความพยายามของท่าน โดยแต่ละบทมีแนวคิดง่ายๆดังนี้ครับ

บทที่ 1  เขาให้ท่านบอกว่าที่ท่านทำผลงานวิชาการนั้น มีความเป็นมาอย่างไร มีความจำเป็นอย่างไร ทำไมต้องทำ ทำแล้วมีประโยชน์อย่างไร

บทที่ 2 เขาให้ท่านบอกว่าการที่ท่านทำผลงานวิชาการนั้นท่านมีองค์ความรู้อะไรหรือนำแนวคิด นำองค์ความรู้ใดบ้างมาเป็นแนวทาง หรือมาใช้ประโยชน์ในการจัดทำบ้าง ท่านก็บอกเล่าเก้าสิบไว้ในบทที่ 2

บทที่ 3 เขาให้ท่านบอกว่าท่านมีขั้นตอนในการจัดทำผลงานวิชาการของท่านอย่างไร มีการวางแผน มีการปฏิบัติงานอย่างไร มีระบบหรือไม่ หรือว่ามั่ว ๆ ในบทนี้ท่านก็บอกเล่าเก้าสิบให้ชัดเจนเลยครับให้ท่านผู้ตรวจเห็นให้ได้ว่าท่านทำอะไรบ้างทำอย่างไร ทำเมื่อไร ทำกับใคร ทำที่ไหน ว่ากันตั้งแต่วิธีการจัดทำ วิธีการนำไปใช้ วิธีการตรวจสอบว่างานของท่านดีหรือไม่อย่างไร

บทที่ 4  เขาให้ท่านบอกว่า ผลงานที่ท่านทำนั้นดีหรือไม่ดีอย่างไร ที่ว่าดีนั้นดีอย่างไร ทราบได้อย่างไรว่าดี ซึ่งอาจแสดงได้ด้วยผลการทดสอบงานวิชาการของท่านหรือความคิดเห็นของบุคคลอื่น เพื่อบอกให้ท่านผู้ตรวจทราบว่าผลงานของท่าน ดีนะ ใช้ได้นะ มีประโยชน์ตามบทที่ 1นะ

บทที่ 5  เขาต้องการให้ท่านสรุปรวบยอด ผลงานของท่านให้ชัดเจนตรงประเด็นและให้ท่านวิพากษ์วิจารณ์ผลงานของท่านโดยชี้ให้เห็นว่าที่ว่าผลงานออกมาดี มีประโยชน์นั้นเป็นอย่างไร มีคนอื่นเขาทำไหมหรือว่าตรง(สอดคล้อง)กับแนวคิดของใครบ้าง รวมทั้งเขาอยากให้ท่านฝากข้อคิด ข้อเสนอแนะไว้ด้วยว่าผลงานที่ท่านทำนั้นควรจะทำอย่างไรต่อไป ควรจะพัฒฯอย่างไรต่อไป หรือควรจะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ยิ่งขึ้นไปอย่างไร

     ถึงตรงนี้ท่านคงสบายใจแล้วนะครับว่า วิจัย 5 บท มิได้น่ากลัวอะไรเลย แต่กลับเป็นแนวทางที่ช่วยให้ท่านบอกเล่าเก้าสิบแก่ท่านผู้เชี่ยวชาญว่าท่านทำผลงานมาอย่างไร  ก็เท่านี้เองครับ

     ก่อนจากลากันในวันนี้ ขอเพิ่มเติมอีกสักเล็กน้อยว่าการบอกเล่าเก้าสิบที่ผมว่ามานั้น ท่านจะต้องตั้งใจทำ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ตัวท่านเอง เพื่อให้ท่านผู้ตรวจผลงานเห็นว่าท่านมีความน่าเชื่อถือ ซึ่งท่านควรคำนึงถึง 3 สิ่งต่อไปนี้

1.  สิ่งที่ท่านคิดสิ่งที่ท่านบอกเล่าเก้าสิบ สิ่งที่ท่านทำนั้นตรงเป้าไหม ตรงกับสิ่งที่ท่านทำ ตรงกับสิ่งที่ท่านต้องการจะบอก ตรงกับแนวคิดที่ท่านมีหรือไม่

2.  สิ่งที่ท่านต้องการทำ สิ่งที่ท่านต้องการคิด สิ่งที่ท่านต้องการบอกเล่าเก้าสิบนั้นน่าเชื่อถือหรือไม่ มีคนช่วยคิด มีคนช่วยตรวจสอบ มีการปรับปรุงแก้ไขหรือไม่ มีการทดลองใช้หรือไม่

3.  การที่ท่านทำ การที่ท่านคิด การที่ท่านบอกเล่าเก้าสิบนั้นมีความคงเส้นคงวามากน้อยแค่ไหน ท่านทำ ท่านเล่า ท่านปฏิบัติอย่างเสมอต้นเสมอปลายมากน้อยแค่ไหน

     ผมขอให้กำลังใจเพื่อนครูทุกท่านนะครับ และขอบอกว่าสิ่งที่ท่านผู้ตรวจเขาให้คะแนนท่านนั้นคือ ผลงานวิชาการ อย่างน้อย 1 รายการ และ วฐ.2/1 อีก1 รายการๆละ 100 แต้ม ท่านต้องผ่าน 70%นะครับ ส่วน วิจัย 5 บทที่ท่านกลัวกันนักกันหนานั้นไม่มีแต้มนะครับ เป็นเพียงสิ่งเพิ่มเติมที่ท่านเสนอให่ท่านผู้ตรวจเห็นภาพการทำผลงานของท่านนะครับ และต้องระวังนะครับ เวลาเขียนส่งผลงาน อย่าไปเผลอเขียนว่า รายงานการใช้(วิจัย 5 บท) เป็นผลงานวิชาการนะครับ ให้เขียนว่าเป็นเอกสารประกอบผลงานวิชาการเท่านั้นนะครับ

     ประชาสัมพันธ์ ครับว่าผมจะจัดการเสวนาเรื่อง "วิจัย 5 บท ประโยชน์มากมายต่อความสำเร็จในอาชีพ" ใครอยากมาร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อประโยชน์ต่อการทำงาน การจัดทำผลงานวิชาการของท่านและสังคม ติดต่อได้ที่ ครูธานินทร บุญยะกาพิมพ์ วิทยาลัยเทคนิคพิจิตร 081-4741130 หรือ ที่ [email protected] ย้ำว่าเป็นการเสวนาแบบสบายๆ โดยผมขอบังอาจทำหน้าที่ผู้นำเสวนาและทำหน้าที่เสนอองค์ความรู้ด้วยตนเองซึ่งเป็นองค์ความรู้ชนิด Tacit Knowledge ท้ายการเสวนาเป็นการแบ่งกลุ่มนำเสนอแนวทางในการบอกเล้าเก้าสิบตามแนววิจัย 5 บทครับ....คาดว่าค่าสมัครเสวนาท่านละ 100-150 บาท เป็นค่า อาหารกลางวัน อาหารว่าง วุฒิบัตรและอื่นๆ คาดว่าจะเสวนาที่วิทยาลัยเทคนิคพิจิตร ช่วงก่อนวันเด็กครับ.........ท่านจะได้มีเวลานำความรู้ไปใช้จัดทำผลงานวิชาการให้ทันส่ง 31 มีนาคม 2551 สำหรับรอบเมษายน 50 ครับ

     ด้วยความปรารถนาดีจากครูธานินทร  บุญยะกาพิมพ์  ครูชำนาญการพิเศษ(ภาษาอังกฤษ) วิทยาลัยเทคนิคพิจิตร

หมายเลขบันทึก: 156746เขียนเมื่อ 31 ธันวาคม 2007 13:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 21:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท