คำตอบของผม เรื่อง ม.ในกำกับ


 หลายคนถามผมทั้งทางบล็อกและส่วนตัว  ทั้งอยากรู้ (ความคิด)  และ (อาจ) ห่วงใย  มีคำถามหลัก  3 คำถาม  คือ
      1.  เขียนทำไม ?
      2.  เขียนแล้วได้อะไร ?
      3.  อยากรู้ว่าจะมีทางออกอย่างไร ?

 ขอตอบทีละประเด็นครับ

 1.  เขียนทำไม ?
 ตอบ  อยากให้คนอ่านรู้สิ่งที่ผมเขียนครับ (เพราะคิดว่าบางคนอาจยังไม่รู้) รู้แล้วจึงบอกต่อ

 2.  เขียนแล้วได้อะไร ?
 ตอบ  ไม่ว่า  มหาวิทยาลัยนเรศวร  ออกเป็น ม.ในกำกับ  หรือไม่  บำนาญผมก็ไม่ขึ้น  เงินประจำตำแหน่งทางวิชาการก็ไม่ได้เหมือนเดิม  และเปลืองตัว  แต่จิตสำนึกบอกให้เขียนครับ  ผมได้ยิน ศ.ดร.สุรพล  นิติไกรพจน์  อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  อภิปรายร่าง พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  และท่านสรุปว่า “มีคนถามผมว่า ม.ในกำกับดี  ทำไมธรรมศาสตร์ไม่ออก  ผมตอบว่าขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  อยู่ในขั้นตอนของกฤษฎีกา  ถ้าผ่านกฤษฎีกาแล้ว  รัฐบาลสอบถาม  ผมจะยืนยันว่าธรรมศาสตร์ออกครับ

 ผมกลัวว่า  ถ้าถึงวันที่ต้องตอบคำถามรัฐบาล  เรายังไม่ได้คิดร่วมกัน  ว่าจะเอาอย่างไรดี ?  จะตอบรัฐบาลอย่างไรครับ

 3.  อยากรู้ว่าจะมีทางออกอย่างไร ?
 ตอบ  ผมคิดว่าปัญหาที่เกิดในการเสนอร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยนเรศวร  เป็นอุบัติเหตุที่ควรนำสิ่งที่เกิดขึ้นกลับมาทบทวน  และสร้างแนวทางที่ประชาคมชาวนเรศวรเข้าใจร่วมกัน  มองไปข้างหน้าร่วมกัน  เพราะปัญหาที่เกิดคือการขาดความเข้าใจร่วมกัน  ทั้งนี้เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีที่สุด  เพราะผมเชื่อมั่นสุดหัวใจว่า  ไม่มีชาวนเรศวรคนใดคิดร้ายต่อมหาวิทยาลัยนเรศวรแน่นอน

 ถ้าให้ผมเสนอ  ผมมีความคิดว่าควรตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด  ทำหน้าที่ดังนี้

 ชุดที่ 1  ศึกษาร่าง พ.ร.บ. ม.ในกำกับ ทุกฉบับ  แล้วสังเคราะห์ข้อดี  มาเป็นร่างใหม่ของ พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยนเรศวร  ส่วนข้อเสียหรือข้อด้อย (ถ้ามี)  สามารถป้องกันได้หรือไม่ ? อย่างไร ?  แล้วนำเสนอร่างเพื่อประชาพิจารณ์
 หมายเหตุ  1.  ประชาคมชาวนเรศวรต้องเข้าใจตรงกันว่า  ร่างที่ทำประชาพิจารณ์คือ  ร่างที่จะนำเสนอกรรมาธิการในวาระสอง  เพราะในวาระแรกคือรับหลักการ  จะต้องใช้ร่างที่ผ่านกฤษฎีกา  เรื่องเสร็จที่ 159/2547  แล้วเท่านั้น
                   2.  ถ้าประชาคมชาวนเรศวรเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยนเรศวรของชุดที่ 1  นั่นคือการตอบยืนยันการเป็น ม.ในกำกับของมหาวิทยาลัยนเรศวร

 ชุดที่ 2  ศึกษาการดำเนินการตาม พ.ร.บ. ม.ในกำกับและร่างข้อบังคับ  ระเบียบ  ประกาศที่ ม.ในกำกับปัจจุบันใช้อยู่  รวมทั้งร่างที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งเตรียมการไว้รองรับการเป็น ม.ในกำกับ  เช่น  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ได้ทราบว่าได้จัดทำร่างส่วนใหญ่เรียบร้อยแล้ว
 หมายเหตุ  ข้อบังคับ  ระเบียบ  ประกาศ  หลักๆ ควรดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว  โดยการมีส่วนร่วมและประชาคม  ส่วนเรื่องแนวปฏิบัติที่สำคัญน้อยกว่าอาจค่อยๆ ปรับปรุง  เพราะส่วนใหญ่ พ.ร.บ. ม.ในกำกับ  จะกำหนดเวลาไว้ประมาณสองปี

 จะเริ่มต้นอย่างไรครับ ?  ถ้าเห็นด้วย
           1.  สมาชิกสภาอาจารย์  ขอให้เปิดประชุมสภาอาจารย์ตามข้อบังคับ  เพื่ออภิปรายและหากมีมติเห็นชอบ  ก็เสนอมหาวิทยาลัยให้ดำเนินการ  หรือ
           2.  สมาชิกสภาข้าราชการ  ดำเนินการเช่นเดียวกับข้อ 1  หรือ
           3.  หากองค์กร 1  และ 2  ไม่ดำเนินการ  หรือดำเนินการไม่ทันใจ  บุคลากรของแต่ละหน่วยงานย่อมมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะบันทึกร่วมกันเสนอผ่านผู้บริหารหน่วยงาน (คณบดี, ผู้อำนวยการ ฯลฯ)  ขอให้มหาวิทยาลัยดำเนินการ
 
ไม่ว่าหน่วยงานใดเสนอมหาวิทยาลัย  หากได้เสนอโครงสร้างคณะกรรมการแต่ละชุดโดยระบุชื่อ  หรือตำแหน่ง  หรือรายละเอียดอื่นๆ ก็จะเป็นการดี
 หมายเหตุ  กรรมการชุดที่ 1  ควรดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว  เพื่อให้ได้ข้อสรุปก่อนรัฐบาลสอบถามความเห็นเพื่อยืนยันหรือไม่ยืนยัน

 ใครมีความเห็นอะไรดีๆ ก็เสนอนะครับ  อย่ามาผูกติดกับความคิดผม
 
ผมเขียนไว้ท้ายบล็อก พ.ร.บ. ม.ในกำกับฉบับใดดีที่สุด ? (2) ว่า  จะอธิบายกฎหมายที่เกี่ยวข้อง  ขออนุญาตไม่เขียนอธิบายแล้วครับ  ให้เป็นหน้าที่ของชุดที่ 1 (ถ้ามี) เป็นคนทำ  หรือเป็นหน้าที่ผู้สนใจไปศึกษาเองครับ

หมายเลขบันทึก: 156365เขียนเมื่อ 28 ธันวาคม 2007 11:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท