พ.ร.บ. ม.ในกำกับฉบับใดดีที่สุด ? (2)


                 สิ่งสำคัญอย่างยิ่งของการเปลี่ยนสถานภาพ  คือ  การกำหนดหลักการและช่วงระยะเวลาสำหรับการถ่ายโอนภารกิจ  ซึ่ง พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล  ดังนี้
               
1.  การบังคับให้ (เฉพาะ) อธิการบดีเปลี่ยนสถานภาพ (มาตรา 72)                    
                   
กำหนดบทบัญญัติไว้ให้ผู้บริหารต้องปฏิบัติดังนี้
                    
                   
ให้ผู้ดำรงตำแหน่ง อธิการบดี ตาม พ.ร.บ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2522  อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ  คงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระ  แต่ถ้าบุคคลดังกล่าวเป็นข้าราชการของมหาวิทยาลัย  ต้องแสดงเจตนาเปลี่ยนสถานภาพมาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย  ตามพระราชบัญญัตินี้  ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

                     เมื่อครบกำหนดเวลาสิบห้าวันแล้ว  ถ้าผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวไม่แสดงเจตนาเปลี่ยนสถานภาพมาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย  ให้พ้นจากตำแหน่ง

                2.  การบังคับไม่ให้สืบทอดอำนาจ  (มาตรา 73/1)                    
                   
กำหนดบทบัญญัติให้นับรวมวาระการดำรงตำแหน่ง  ดังนี้
   
              
     การนับวาระการดำรงตำแหน่งของอธิการบดี  คณบดี  ผู้อำนวยการ  หรือหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น  ให้นับรวมวาระการดำรงตำแหน่งตามพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2522 ด้วย

                3.  การให้อิสระแก่ข้าราชการและลูกจ้างในการเลือกสถานภาพ  (มาตรา 75)                    
                   
กำหนดบทบัญญัติเป็นขั้นตอนในการเลือกเปลี่ยนสถานภาพของข้าราชการและลูกจ้าง (ซึ่งอาจไม่เลือกเปลี่ยนสถานภาพจากข้าราชการเลยก็ได้)
                               
                        
3.1  แสดงเจตนาเปลี่ยนสถานภาพภายในเก้าสิบวัน  ให้มหาวิทยาลัยดำเนินการบรรจุเป็นพนักงานหรือลูกจ้าง  แล้วแต่กรณีในทันที
                               
                        
3.2  แสดงเจตนาเปลี่ยนสถานภาพไม่เกินสี่ปี  เมื่อมหาวิทยาลัยได้ประเมินแล้ว  เห็นว่ามีความรู้  ความสามารถ  ให้บรรจุเป็นพนักงานหรือลูกจ้างโดยไม่ต้องทดลองปฏิบัติงาน
                               
                        
3.3  แสดงเจตนาเปลี่ยนสถานภาพหลังสี่ปี  ถ้ามหาวิทยาลัยเห็นว่าการรับบุคคลนั้นเข้าทำงานจะเป็นประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัย  และมีอัตราที่จะรับเข้าทำงานได้  ให้ดำเนินการตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย
               
              
หมายเหตุ  กรณีการกำหนดเงื่อนเวลา  และหลักเกณฑ์  น่าจะขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละมหาวิทยาลัย

                4.  สิทธิและผลประโยชน์ของผู้เปลี่ยนสถานภาพ  (มาตรา 76)    
                
     สิทธิและผลประโยชน์ของผู้เปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานและลูกจ้าง  คือ  ให้ได้รับเงินเดือน  ค่าจ้าง  สวัสดิการ  และประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น  ไม่น้อยกว่าที่เคยได้รับอยู่ก่อนเข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย  หรือลูกจ้างของมหาวิทยาลัย
               
               
หมายเหตุ  ไม่ได้กำหนดว่าจะได้รับเงินเดือนเพิ่มหรือไม่ ?  และเพิ่มเท่าใด ?  เพราะที่ผ่านมาเป็นมติของคณะรัฐมนตรี

                5.  สิทธิการรับบำเหน็จบำนาญ  และสมาชิก กบข.  (มาตรา 77)       
               
     กำหนดบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการรับบำเหน็จบำนาญ  และการเป็นสมาชิก กบข. ดังนี้
                               
                   
5.1  ข้าราชการ  ซึ่งเปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย  ให้ถือว่าเป็นการให้ออกจากราชการ  เพราะทางราชการเลิกหรือยุบตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการแล้วแต่กรณี
                               
                   
5.2  ลูกจ้าง  ของส่วนราชการซึ่งเปลี่ยนสถานภาพเป็นลูกจ้างของมหาวิทยาลัย  ให้ถือว่าเป็นการออกจากงาน  เพราะทางราชการยุบตำแหน่ง  และให้มีสิทธิได้รับบำเหน็จตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง
                               
                   
5.3  ข้าราชการซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญอยู่แล้ว  ให้มีสิทธิขอเป็นสมาชิกต่อไปได้  แม้จะออกจากราชการแล้ว  ในกรณีเช่นนี้ให้มีสิทธิได้รับสวัสดิการจากทางราชการเช่นเดียวกับผู้ได้รับสวัสดิการจากทางราชการเช่นเดียวกับผู้ได้รับบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
                               
                   
5.4  พนักงานมหาวิทยาลัย  ซึ่งได้รับประโยชน์ในฐานะข้าราชการบำนาญแล้ว  ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม  แต่ไม่ตัดสิทธิที่จะประกันตนด้วยความสมัครใจ
 


                เนื่องจากมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ  จึงขอนำไปอธิบายในบล๊อกต่อไป

หมายเลขบันทึก: 156237เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2007 16:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท