พ.ร.บ. ม.ในกำกับฉบับใดดีที่สุด ? (1)


             

               พ.ร.บ.  ม.ในกำกับ  เป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าการบริหารสถาบันอุดมศึกษาไทยไปสู่การบริหารอีกรูปแบบหนึ่ง จึงควรศึกษาเหตุผลในการออกกฎหมายที่เป็น วิญญาณของกฎหมาย  โดยเหตุผลท้ายพระราชบัญญัติ  มหาวิทยาลัยมหิดล  พ.ศ. 2550 (ม.ในกำกับ) ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา  เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2550  มีดังนี้

เหตุผล  โดยที่สมควรปรับปรุงการศึกษา  ระดับอุดมศึกษาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม  โดยการส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยของรัฐพัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ  แต่อยู่ในกำกับของรัฐ  เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการที่เป็นอิสระและมีความคล่องตัว  สามารถจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  โดยการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาจะต้องคำนึงถึงความเป็นอิสระ  และความเป็นเลิศทางวิชาการ  สมควรปรับปรุงการบริหารมหาวิทยาลัยมหิดลให้เป็นไปตามแนวทางดังกล่าว  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ 

                ปัจจุบันมีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยในกำกับ  จำนวน 13 ฉบับ  ซึ่งเหมือนและแตกต่างกันในเรื่องของหลักการและรายละเอียดพอสมควร

                 คำถาม  คือ  พ.ร.บ. ม.ในกำกับฉบับใดดีที่สุด

  

                 ถ้าตั้งสมมติฐานว่า               
                
1.  ร่าง พ.ร.บ.  ที่มีผู้ไม่เห็นด้วยมากที่สุด  มีการต่อต้าน  และมีข้อขัดแย้งมากที่สุด แต่สามารถผ่านเป็นกฎหมายได้  น่าจะเป็น พ.ร.บ. ม.ในกำกับที่ดี
         
               
2.  ร่าง พ.ร.บ.  ฉบับที่ผ่านเป็นกฎหมายฉบับหลังสุด  น่าจะได้รับการปรับปรุงข้อบกพร่องจาก พ.ร.บ.ฉบับก่อนๆ มากที่สุด  และมีข้อด้อยน้อยที่สุด  น่าจะเป็น พ.ร.บ. ม.ในกำกับที่ดีที่สุด
               
               
ถ้าสมมติฐานข้างต้นเป็นจริง  คำตอบ  คือ  ร่าง พ.ร.บ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.......
               
               
เหตุผล  น่าจะมีดังต่อไปนี้
               
               
1.  สถานภาพของบุคลากร  (มาตรา 4)
                    
                   
นิยามได้ครอบคลุมบุคลากรในมหาวิทยาลัยทุกฝ่าย  และเพื่อให้เกิดการรองรับสถานภาพพนักงานมหาวิทยาลัยตามกฎหมาย  ดังนี้
                  
                    
พนักงานมหาวิทยาลัย  หมายความว่า  พนักงานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

                     ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย  หมายความว่า  พนักงานมหาวิทยาลัย  ข้าราชการ  และลูกจ้างของส่วนราชการ  ซึ่งปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย  พนักงานราชการและลูกจ้างของมหาวิทยาลัย

                 2.  การบริหารงบประมาณ  (มาตรา 14)                    
                     
กำหนดบทบัญญัติ  เพื่อเป็นหลักประกันเรื่องงบประมาณ  สิทธิและความเสมอภาคในการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัย  ที่สำคัญดังนี้
                    
                    
เงินอุดหนุนทั่วไปนั้น  รัฐบาลพึงจัดสรรให้แก่มหาวิทยาลัยโดยตรง  เป็นจำนวนที่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย  และการพัฒนามหาวิทยาลัยเพื่อการจัดการและประกันคุณภาพการศึกษา
                    
                   
ในกรณีที่รัฐบาลได้ปรับเงินเดือน  เงินประจำตำแหน่ง  ค่าตอบแทน  หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดให้แก่ข้าราชการ  ให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณในลักษณะเงินอุดหนุนทั่วไปเพิ่มเติมให้แก่มหาวิทยาลัยในสัดส่วนเดียวกัน  เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้พนักงานมหาวิทยาลัยด้วย

                     ในกรณีที่รายได้มีจำนวนไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของมหาวิทยาลัยและค่าภาระต่างๆที่เหมาะสม  และมหาวิทยาลัยไม่สามารถหาเงินจากแหล่งอื่นได้  รัฐบาลพึงจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปเพิ่มเติมให้แก่มหาวิทยาลัยตามความจำเป็นของมหาวิทยาลัย

                 3.  หลักประกันนิสิต  (มาตรา 14/1)                    
                    
กำหนดบทบัญญัติให้มหาวิทยาลัยต้องปฏิบัติ  ดังนี้

                     มหาวิทยาลัยต้องส่งเสริม  และสนับสนุนผู้ที่มหาวิทยาลัยรับเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย  และนิสิตที่ขาดแคลนทุนทรัพย์อย่างแท้จริง  ให้มีโอกาสเรียนจนสำเร็จปริญญาตรี

                 4.  หลักประกันความยุติธรรม  (มาตรา 20 (15))                    
                     
กำหนดบทบัญญัติให้สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจและหน้าที่แต่งตั้งคณะกรรมการ  คณะอนุกรรมการ  หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง  เพื่อกระทำการใดๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัย  รวมทั้งมอบอำนาจให้คณะกรรมการ  คณะอนุกรรมการหรือบุคคลดังกล่าวทำการแทน  แล้วรายงานให้สภามหาวิทยาลัยทราบ  ทั้งนี้  ต้องแต่งตั้งผู้แทนสภาคณาจารย์เป็นกรรมการ  หรืออนุกรรมการด้วย

     หมายเหตุ  ในกรณีที่จะแต่งตั้งกรรมการอุทธรณ์ร้องทุกข์  หรือกรรมการเพื่อความเป็นธรรมอื่น สามารถใช้อำนาจในมาตรานี้ได้

                 5.  หลักประกันการตรวจสอบและธรรมาภิบาล  (มาตรา 47, 48)

                     กำหนดบทบัญญัติให้มหาวิทยาลัยจัดทำรายงานการเงินส่งผู้สอบบัญชีของมหาวิทยาลัย  ภายในเก้าสิบวัน  นับแต่วันสิ้นปีบัญชี  และให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน  หรือบุคคลภายนอกซึ่งสภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีของมหาวิทยาลัย  และให้ทำการตรวจสอบรับรองบัญชีและการเงินทุกประเภทของมหาวิทยาลัยทุกรอบปีบัญชี

                      ที่เขียนข้างต้นเป็นแค่ประเด็นหลักๆ และยังมีบทบัญญัติอื่นที่จะทำให้มหาวิทยาลัยสามารถบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้อีกมาก  หากจะจัดทำร่าง พ.ร.บ. ม.ในกำกับ  ฉบับอื่น  อาทิ  ร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยนเรศวร  ควรได้ศึกษาเพิ่มเติม
หมายเลขบันทึก: 156231เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2007 16:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท