พนักงานมหาวิทยาลัย กับ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ (ฉบับใหม่)


                คำว่าพนักงานมหาวิทยาลัย  เริ่มใช้เมื่อมีการรับอาจารย์  และบุคลากรเข้าทำงานในมหาวิทยาลัยของรัฐทุกแห่ง  เมื่อปี พ.ศ. 2542  เพื่อทดแทนอัตราข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยตามนโยบายรัฐบาล  อย่างไรก็ตามคำว่า พนักงานมหาวิทยาลัย  ที่ใช้กันอยู่ก็ยังไม่มีกฎหมายรองรับ  จนกระทั่งในการประชุมสภานิติบัญญัติ  ครั้งที่ 71/2550  เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2550  สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ลงมติเห็นชอบให้ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.....  ประกาศใช้เป็นกฎหมาย  ซึ่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว  มีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพนักงานมหาวิทยาลัย  ดังนี้               

           1.  สถานภาพพนักงานฯ กับข้าราชการฯ                    

               พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา  หมายความว่า  บุคคลซึ่งได้รับการจ้างตามสัญญาจ้าง  ให้ทำงานในสถาบันอุดมศึกษา  โดยได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดิน  หรือเงินรายได้ของสถาบันอุดมศึกษา (พ.ร.บ.ข้าราชการฯ  มาตรา 3)                    
              
ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา  หมายความว่า  บุคคลซึ่งได้รับบรรจุและแต่งตั้ง  ให้รับราชการโดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณ  ประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา                    
              
ส่วนสถานภาพของพนักงานมหาวิทยาลัย  ตาม พ.ร.บ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ม.ในกำกับ) มีนิยามดังนี้
                    
              
พนักงานมหาวิทยาลัย  หมายความว่า  พนักงานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
                    
              
ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย  หมายความว่า  พนักงานมหาวิทยาลัย  ข้าราชการและลูกจ้างของส่วนราชการ  ซึ่งปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย  พนักงานราชการ  และลูกจ้างของมหาวิทยาลัย 
    
              
สรุป  ทุกคนในมหาวิทยาลัย  เป็นผู้ปฏิบัติงาน  โดยมี พ.ร.บ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  รองรับเหมือนกันหมด
                

          จากการกำหนดสถานภาพข้างต้นของ พ.ร.บ. ข้าราชการฯ  ทำให้มหาวิทยาลัยนเรศวร   ปัจจุบัน  มีข้าราชการที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้ง 27% (673 คน)  และมีพนักงานที่ได้รับการจ้างตามสัญญา 73% (1,845 คน)  (ข้อมูลจากรายงานประจำปี 2550)                

          2.  การบริหารงานบุคคลของพนักงานฯ                    
              
สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจออกข้อบังคับในการกำหนดตำแหน่ง  ระบบการจ้าง  การบรรจุ  และการแต่งตั้ง  อัตราค่าจ้าง  และค่าตอบแทน  เงินเพิ่มและสวัสดิการ  การเลื่อนตำแหน่ง  การเปลี่ยนและการโอนย้ายตำแหน่ง  การลา  จรรยาบรรณ  วินัยและการรักษาวินัย  การดำเนินการทางวินัย  การออกจากงาน  การอุทธรณ์และการร้องทุกข์  และการอื่นที่เกี่ยวกับการบริหารงาน
บุคคลของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา (พ.ร.บ.ข้าราชการฯ  มาตรา 65/1)                

          3.  บทบัญญัติปรับปรุงเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง                    
              
พ.ร.บ.ข้าราชการฯ กล่าวถึงเฉพาะข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา  ดังนี้
                    
                
ในระหว่างที่ยังมิได้มีการปรับปรุงอัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง  ของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งให้สอดคล้องกับตำแหน่งข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาตามพระราชบัญญัตินี้  ให้ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษายังคงได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับจนกว่าจะได้มีการปรับปรุงอัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง  หรือตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน  ให้สอดคล้องกับตำแหน่งข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาตามพระราชบัญญัตินี้
                    
              
การได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งตามวรรคหนึ่งของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาตามพระราชบัญญัตินี้  ตำแหน่งใดให้ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งในอัตราใด  ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์  วิธีการและเงื่อนไขที่ ก.พ.อ. กำหนด  โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี  ทั้งนี้ให้เทียบเคียงกับบัญชีเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งหรือตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนแล้วแต่กรณี (มาตรา 16)
                

          เมื่อไม่ได้บัญญัติเรื่องเงินเดือน  และเงินประจำตำแหน่งของพนักงานมหาวิทยาลัยไว้  โดยเงื่อนไขของกฎหมาย  พนักงานมหาวิทยาลัยจึงได้เฉพาะค่าจ้าง  หรือค่าตอบแทน  ตามมาตรา 3 เท่านั้น               
         
ส่วน พ.ร.บ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ม.ในกำกับ)  กำหนดให้บุคลากรทุกฝ่ายเป็น ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย  และการบริหารเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยกำหนดไว้ในมาตรา 14  ดังนี้                    
              
เงินอุดหนุนทั่วไปนั้น  รัฐบาลพึงจัดสรรให้แก่มหาวิทยาลัยโดยตรง  เป็นจำนวนที่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย  และการพัฒนามหาวิทยาลัย  เพื่อการจัดการและประกันคุณภาพการศึกษา
                    
               
ในกรณีที่รัฐบาลได้ปรับเงินเดือน  เงินประจำตำแหน่ง  ค่าตอบแทน  หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดให้แก่ข้าราชการ  ให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณในลักษณะเงินอุดหนุนทั่วไป  เพิ่มเติมให้แก่มหาวิทยาลัยในสัดส่วนเดียวกัน  เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้พนักงานมหาวิทยาลัยด้วย
                

          รู้แล้วก็นำมาบอกต่อครับ

หมายเลขบันทึก: 156019เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2007 14:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

เป็นพระคุณอย่างสูงค่ะ ที่ท่านคณบดีช่วยตอกย้ำ และชี้จุดควรสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แก่พนักงานมหาวิทยาลัยนเรศวรทุกท่านได้ทราบว่า (ขออนุญาตตอกย้ำ และตอกย้ำ อีกครั้งนะคะ)

"พนักงานมหาวิทยาลัยทุกคน  ที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ. ข้าราชการพลเรือน ฉบับใหม่ล่าสุด  ในมหาวิทยาลัยที่ไม่ออกนอกระบบ ท่านมีสถานภาพ เป็นลูกจ้างชั่วคราวดีดีนี่เอง" ท่านไม่อยู่ในข่ายได้ปรับปรุงอัตราเงินเดือนหรือค่าตอบแทน ในขณะที่ข้าราชการมีสิทธิ์ได้

ผิดกับ พนักงานมหาวิทยาลัยทุกคน ที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ ในมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบ ท่านมีสถานภาพเท่าเทียมทุกประการกับข้าราชการ แถมยังมีสิทธิ์ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐ ในการปรับปรุงอัตราเงินเดือนหรือค่าตอบแทนเมื่อรัฐปรับให้แก่ข้าราชการ

เรียนท่านคณบดีที่เคารพ

กระผมเป็นข้าราชการในกระทรวงสาธารณสุขตอนนี้มีความสับสนในชีวิตการทำงานซึ่งตอนนี้กำลังศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ  คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ถ้าหากเรียนจบแล้ว    ??  อยากจะเรียนสอบถามความเห็นของอาจารย์ว่าการเป็นข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขระดับ7 กับการไปเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในตำแหน่งพนักงานมหาวิทยาลัย(อาจารย์)อย่างใหนดีกว่ากัน..ด้านความก้าวหน้า...ด้านอื่นๆเช่นค่าตอบแทน  ความมั่นคงแน่นอนของงานและอื่นๆเป็นต้น  ขอบคุณท่านอาจารย์มากครับ

แล้วทำไมมหาวิทยาลัยเราถึงไม่ออกนอกระบบ  เพราะคนทำงานส่วนมากก็เป็นพนักงาน  ซึ่งถ้าจะพูดกันจริง ๆ ในตอนนี้ก็คือพนักงานตอนนี้เป็นแค่ชื่อที่ฟังแล้วดูดี แต่ไม่มีสวัสดิการไรเลย ไม่มีหลักประกันอะไรเลย

ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์สมบัติที่นำความรู้มามอบให้ครับ 

เพื่อเป็นการรักษาสิทธิ์อันควรของเราชาว พนง

จึงจำเป็นที่จะต้องกระจายข่าว ประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาคมชาว มน ทุกระดับ

ขอให้คุณไม่แสดงตนติดตาม ศึกษาได้จาก Blog ของท่านอาจารย์สมบัติ และ ท่านอาจารย์มาลินี ครับ

อยู่ที่ มข. คะ ตอนนี้พยายามหาฉบับเต็มของร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนที่อาจารย์เล่ามาสู่กันฟังอยู่คะเพื่อให้ที่สังกัดปรับศักดิ์และสิทธิของพนักงานฯ อาจารย์ช่วยแนะนำด้วยนะคะว่าจะหาได้จากไหน ขอบพระคุณล่วงหน้าเลยคะอาจารย์ (ป.ล. ค้นหาในอินเตอร์เน็ตยังไม่เจอคะ อย่างมากก็เป็นหน้าข่าวตามหนังสือพิมพ์)

คุณแอน จาก มข.

พยายามหาร่างฉบับเต็มของร่าง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ (ฉบับใหม่) ที่ผมเขียนอธิบายไว้ เมื่อ 26 ธ.ค. 50  เกี่ยวกับพนักงานมหาวิทยาลัยของรัฐ  กับระเบียบข้าราชการพลเรือน  ขอเรียนว่าขณะนี้ร่างดังกล่าว  ได้ประกาศเป็นกฎหมายแล้วคือ "พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551"  ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125  ตอนที่ 28 ก  หน้า 36  เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551

อยากดูรายละเอียดกรุณาคลิกที่นี่ http://www.bol.mua.go.th/Legal/pdffiles/a0004.pdf ครับ

เรียน อาจารย์ที่เคารพ

ขอสอบถามว่าสิทธิประโยชน์ทุกประเภทของพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ อาจารย์ แตกต่างกับอาจารย์ที่เป็นข้าราชการในมหาวิทยาลัยอย่างไร

นอกจากเงินหรือค่าตอบแทนรายเดือนที่มหาวิทยาลัยให้กับพนักงานมหาวิทยาลัยที่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยแล้ว มีค่าตอบแทนอย่างอื่นอีกหรือไม่

ขอบคุณค่ะ

เรียนท่านที่เคารพ

ด้วยอ่านพบกระทู้ที่ 2 ของคุณสุพัฒน์ จำปาหวาย แล้วอยากทราบว่า กรณีที่รับราชการเป็นข้าราชครู วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ (ซี 8) แล้วจะลาออกไเป็นพนักงานของมหาวิทยาลัยตำแหน่งอาจารย์ จะดีกว่าหรือไม่ ในแง่บั้นปลายของชีวิต (ขณะนี้สามารถรับบำนาญได้แล้ว)

ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูง

นางสาวสายสุดาวัลย์ สุทธิรักษ์

ข้าพเจ้า เป็นพนักงานสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (เงินงบประมาณแผ่นดิน) ตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มีความประสงค์จะโอน / ย้าย ไปยังมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง) เนื่องจากใกล้ภูมิลำเนาบ้านเกิดและมีความจำเป็นที่ต้องกลับไปดูแล บิดา มารดา

ไม่ทราบว่าจะสามารถทำได้หรือเปล่าค่ะ

โปรดพิจารณาถึงเรื่องการโอน / ย้าย ของพนักงานในระดับอุดมศึกษา ด้วยนะค่ะ

ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูง

สายสุดาวัลย์ สุทธิรักษ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท