จันสิตตา : วีรกษัตริย์แห่งสมานฉันท์และสันติสุข


ในบรรดากษัตริย์ของพม่านั้น จันสิตตา(หรือ พระเจ้าจันสิต หรือ พระเจ้าครรชิต นับเป็นวีรกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งที่โดดเด่น
สารัตถะจากตำราเรียนพม่า
จันสิตตา : วีรกษัตริย์แห่งสมานฉันท์และสันติสุข
ในบรรดากษัตริย์ของพม่านั้น จันสิตตา(dyoN00Nlkt) หรือ พระเจ้าจันสิต หรือ พระเจ้าครรชิต(dyoN00N,'NtWdut) นับเป็นวีรกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งที่โดดเด่นในหน้าประวัติศาสตร์แห่งชาติของพม่า ภาพลักษณ์ความเป็นยอดคนของจันสิตตาเริ่มปรากฏในสมัยพระเจ้าอโนรธาในบทบาทยอดนักรบที่เก่งกล้าแห่งพุกาม(x68"l^icgdk'Nt) พอในสมัยเจ้าซอลูทรงเป็นขุนพลแห่งสัจจะ และในสมัยของพระองค์เองก็ได้รับการยกย่องให้เป็นนักปกครองที่ชาญฉลาด ด้วยทรงสามารถสร้างเอกภาพและความมั่นคงขึ้นภายในชาติจนนำมาซึ่งความสงบสันติของอาณาจักรพุกาม และถ้าหากจะเปรียบกับพระเจ้าอโนรธาซึ่งคือผู้สร้างอาณาจักรพุกามด้วยความสามัคคีของชนในชาตินั้น พระเจ้าจันสิตตาก็คือผู้ธำรงอาณาจักรพุกามมิให้ต้องล่มสลายจากภัยคุกคาม ส่วนในทางการปกครอง มองกันว่าอโนรธาอาศัยความเด็ดขาดจัดการกับปัญหา ฝ่ายจันสิตตานั้นอาศัยการประนีประนอม นอกจากนี้พม่ายังยกย่องจันสิตตาว่าเป็นผู้สร้างเอกภาพให้กับอาณาจักรพุกามได้อย่างแท้จริง และช่วยให้พุกามดำรงความเป็นอาณาจักรไว้ได้อีกนาน
ในแบบเรียนอ่านประวัติศาสตร์เมียนมาชั้น ๓ (หน้า ๗) กล่าวถึงจันสิตตาว่าเป็นยอดขุนพลผู้หนึ่งของพระเจ้าอโนรธา และเป็นนักรบที่เคยสร้างวีรกรรมด้วยการเอาชนะทัพมอญ อีกทั้งมีความชำนาญในการบังคับม้า มีจิตใจกล้าหาญ และมีฝีมือเป็นเลิศ จันสิตตาเคยร่วมรบกับยอดขุนพลขับไล่กองทัพของพวกขอมที่ยกมาตีถึงเมืองพะโค นอกจากพม่าจะถือว่าจันสิตตาเป็นกำลังสำคัญในการช่วยพระเจ้าอโนรธาสร้างอาณาจักรพุกามให้เป็นปึกแผ่นมาแต่แรก พระองค์ยังได้รับการยกย่องในความเก่งกล้าดังเผยให้เห็นในสงครามปราบทัพมอญของงะระมันกาน ซึ่งเป็นกบฏที่เกิดขึ้นเนื่องเพราะการมีผู้นำที่อ่อนแออย่างเจ้าซอลู ดังแบบเรียนอ่านประวัติศาสตร์เมียนมา ชั้น ๕ (หน้า ๙) กล่าวไว้ดังนี้ …
“จันสิตตารับราชการเป็นขุนพลในสมัยเจ้าซอลู(g0k]^t)ผู้เป็นโอรสของพระเจ้าอโนรธา และด้วยเหตุที่เจ้าซอลูด้อยความสามารถ จึงได้เกิดกบฏงะระมันกาน('i,oNdoNt)ขึ้นมา
งะระมันกานรู้ถึงความสามารถในการรบของจันสิตตาจึงมิกล้าเผชิญศึกด้วยปกติวิธี  ดังนั้นจึงได้ยกทัพในราตรีอับแสงมายังเกาะปยีต่อตาซึ่งเต็มไปด้วยบ่อดินตม เจ้าซอลูมิฟังคำทัดทานของจันสิตตา จึงออกรบจนเสียท่าต่อกลศึกและถูกจับตัวไปได้….”
จันสิตตายังได้รับการยกย่องว่าเป็นขุนพลแห่งสัจจะและซื่อสัตย์เป็นยอด ดังเมื่อแม้พระองค์จะได้รับความไว้วางใจจากเหล่าขุนนางให้ขึ้นครองราชย์แทนเจ้าซอลูก็ตาม แต่พระองค์กลับกล้าเสี่ยงชีวิตเข้าไปช่วยเจ้าซอลูซึ่งตกเป็นตัวประกันในทัพมอญ และจนเมื่อไม่มีเจ้าซอลูและปราบมอญได้สำเร็จแล้วจันสิตตาจึงยอมขึ้นครองบัลลังก์ ในแบบเรียนอ่านประวัติศาสตร์เมียนมาชั้น ๕ (หน้า ๙) กล่าวถึงน้ำพระทัยของจันสิตตาที่มีต่อเจ้าซอลูไว้ว่า …
 “พอทัพแตกจันสิตตาจึงต้องหลบหนี เมื่อถึงพุกามเหล่าขุนนางต่างทูลเชิญให้จันสิตตาขึ้นครองบัลลังก์ด้วยเห็นว่ามิมีเจ้าซอลูแล้ว แต่จันสิตตานั้นเป็นผู้ถือในสัจจะต่อผู้เป็นนายจึงมิอาจรับข้อเสนอของเหล่าขุนนางได้
จันสิตตากลับเล็ดลอดเข้าไปในทัพของงะระมันกานเพื่อหมายลักตัวเจ้าซอลูกลับมา ฝ่ายเจ้าซอลูนั้นกลับมิวางพระทัยในตัวจันสิตตาจึงได้ส่งเสียงร้อง ดังนั้นจันสิตตาจึงทิ้งเจ้าซอลูไว้แล้วหนีเอาตัวรอดออกมาได้
งะระมันกานจึงสังหารเจ้าซอลูแล้วยกทัพสู่พุกามเพื่อหมายตั้งตนเป็นกษัตริย์”
ต่อมาจันสิตตาได้ผนึกกำลังพลเพื่อกำจัดมอญงะระมันกานจนสำเร็จ ในแบบเรียนอ่านประวัติศาสตร์เมียนมา ชั้น ๕  (หน้า ๑๐) ได้สะท้อนบารมีและความสามารถของจันสิตตาและเหล่านักรบไว้ว่า …
“จันสิตตาได้จัดเตรียมกำลังอยู่ก่อน ณ เขตเจ้าก์แซ เมื่อมาถึงเมืองทีลาย เจ้าบ้านทีลายได้ยกธิดาให้และถวายตนเป็นทาส พระองค์จึงได้พระนามว่าเจ้าทีลาย(5ut]Ab'Nia'N)มาแต่บัดนั้น หลังจากนั้นพระองค์จึงรวบรวมกำลังพลเข้าโจมตีทัพของงะระมันกาน งะระมันกานพลาดท่าเสียทัพก็ด้วยเพราะพระปรีชาสามารถของจันสิตตาและด้วยความกล้าหาญของเหล่านักรบ….”
พม่ายังยกย่องพระเจ้าจันสิตตาในความชาญฉลาดในการประนีประนอม พระองค์ทรงยกย่องคนมอญและยอมรับวัฒนธรรมมอญให้เป็นส่วนหนึ่งในราชสำนักพม่า ทั้งนี้เพื่อเอกภาพและสันติสุขในราชอาณาจักร การสยบมอญให้อยู่ในพระราชอำนาจดังกล่าวได้รับการเอ่ยเน้นเป็นพิเศษในแบบเรียนอ่านประวัติศาสตร์เมียนมา ชั้น ๓ (หน้า ๙–๑๐) ดังนี้ …
“ในแผ่นดินพุกามนั้น เมื่อสิ้นพระเจ้าอโนรธาแล้วราชบุตรซอลูจึงขึ้นครองบัลลังก์ งะระมันกาน('i,oNdoNt)เจ้าเมืองพะโคได้ก่อการกบฏพร้อมกับสังหารเจ้าซอลู พอไม่มีเจ้าซอลู จันสิตตาจึงสืบบัลลังก์พุกาม จากนั้นก็ทรงสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับราชอาณาจักร
ในรัชสมัยของพระเจ้าจันสิตตานั้น ทรงมีสัมพันธไมตรีกับประเทศเพื่อนบ้านด้วยดี ดังนั้นจึงรอดพ้นจากภัยต่างชาติ และประเทศก็พลอยสงบสันติ พระจ้าจันสิตตาทรงสามารถดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างมอญและเมียนมาจนเป็นผลสำเร็จต่อความมั่นคงในด้านเอกภาพ พระองค์ทรงปรารถนาที่จะรักษาไมตรีระหว่างมอญ-เมียนมาซึ่งมีมาแต่ครั้งสมัยพระเจ้าอโนรธา ดังนั้นในเพลาที่ทรงขึ้นครองราชย์ พระองค์จึงทรงมอบยศศักดิ์ให้กับนักปราชญ์ชาวมอญที่พร้อมด้วยความสามารถ ทั้งนี้เพื่อรักษาความเป็นสมานฉันท์ของชาวมอญกับชาวเมียนมาไว้
นอกจากนี้ พระองค์เองยังได้ยกขิ่นอู(-'NFt)ราชธิดาชาวมอญขึ้นเป็นมเหสี อีกทั้งในการขึ้นครองบัลลังก์ก็ทรงให้จัดราชพิธีตามแบบมอญอีกด้วย
พระองค์ทรงให้สร้างศิลาจารึกเป็นภาษามอญเพื่อเล่าถึงพระราชพิธีราชาภิเษก และด้วยการที่พระองค์ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญแห่งมิตรภาพมอญ-เมียนมา จึงได้ทรงมอบโอกาสอันเสมอภาคทั้งแก่ชาวมอญและชาวเมียนมา
ด้วยเหตุนี้ ชาวมอญทั้งหลายจึงน้อมรับความเป็นสมานฉันท์ระหว่างมอญ-เมียนมาด้วยความชื่นชอบเป็นอย่างยิ่ง ในรัชสมัยพระเจ้าจันสิตตานั้น มอญและเมียนมาจึงมีความรักใคร่ปรองดอง และประเทศก็สงบสันติ”
จันสิตตายังได้รับการยกย่องในความปรารถนาดีต่อประเทศชาติเยี่ยงมหาบุรุษของชาติที่พยายามลดความขัดแย้งต่างๆเพื่อสร้างความปรองดองในชาติจนสำเร็จทั้งด้วยการศึกและการเมือง ดังกล่าวในแบบเรียนอ่านประวัติศาสตร์เมียนมาชั้น ๕ (หน้า ๑๐) ไว้ว่า …
“จันสิตตาทรงมีความปรารถนาที่จักให้ประเทศชาติเจริญรุ่งเรือง ทรงเป็นกษัตริย์ที่เพียบพร้อมด้วยสติปัญญา และทรงปกครองประชาราษฏร์อย่างเสมอภาคโดยมิทรงแบ่งแยกเชื้อชาติและศาสนา ถึงแม้อาณาจักรพุกามที่สร้างโดยพระเจ้าอโนรธาจะเกิดความระส่ำระสายเพราะเจ้าซอลูผู้ไร้ปรีชาชาญก็ตามที แต่จันสิตตากลับทรงรักษาอาณาจักรไว้ได้ด้วยการศึก และมิเพียงแค่นี้ยังทรงใช้การเมืองสร้างความปรองดองของคนในชาติไว้ได้อย่างมั่นคงกว่าแต่ก่อน”
จันสิตตายังตระหนักในไมตรีอันมีต่อมอญ และเห็นประโยชน์ชาติยิ่งกว่าประโยชน์ตน โดยทรงยกพระธิดาของพระองค์ให้กับเจ้าชายมอญ เพื่อรักษาสายเลือดมอญพม่าให้กับราชวงศ์พุกาม ทั้งยังทรงตั้งพระราชนัดดาอันเกิดจากสายเลือดมอญ-พม่านั้นให้สืบบัลลังก์ แทนที่จะมอบราชสมบัติให้กับราชบุตรของพระองค์เอง ดังแบบเรียนการอ่านภาษาเมียนมา ชั้น ๒ (หน้า ๙) กล่าวไว้ว่า …
“พระเจ้าจันสิตตาทางสร้างความสมานฉันท์ในชาติ พระองค์ทรงมอบราชบัลลังก์ให้กับพระราชนัดดานามอลองซีตูซึ่งมีสายเลือดมอญเมียนมา ทั้งนี้เพื่อความสมัครสมาน”
แต่ความข้อนี้ในแบบเรียนซึ่งใช้มาตั้งแต่สมัยสังคมนิยมกลับไม่ตรงกับแนวคิดของนักประวัติศาสตร์ฝ่ายที่นิยมอิงพงศาวดาร ซึ่งกล่าวว่าจันสิตตายกพระธิดาของพระองค์ให้กับเจ้าชายขาเป๋นามว่าซอยูนผู้เป็นราชบุตรของเจ้าซอลู โดยให้เหตุผลว่าเพื่อรักษาสายเลือดพม่าของพระเจ้าอโนรธา ส่วนการตีความว่าอลองซีตูมีสายเลือดมอญนั้น เป็นการตีความของนักประวัติศาสตร์ฝ่ายอิงศิลาจารึกที่มีศาสตราจารย์ลูซ(Luce)เป็นผู้นำโดยดูจากจารึกมอญและเชื่อว่าพระเจ้าจันสิตตาน่าจะยกราชธิดาให้กับนาคสมันผู้เป็นหลานของพระเจ้ามนูหา จึงอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่าในยุคสังคมนิยมและปัจจุบันนั้นตำราเรียนต่างได้ให้ความสำคัญต่อความปรองดองระหว่างชนชาติเป็นพิเศษ แต่กระนั้นกระแสความคิดทางประวัติศาสตร์กระแสหลักของพม่าในปัจจุบันกลับสะท้อนแนวคิดเผ่าพันธุ์นิยมโดยยึดตามพงศาวดารกันมากขึ้น ซึ่งย่อมขัดกับตำราเรียนของรัฐเอง  ดังพบว่านักเขียนพม่าสายรัฐบาลและนักเขียนนิยายมักยอมรับในทำนองเดียวกันว่าอลองซีตูเป็นสายเลือดพม่าที่สืบมาแต่อโนรธา ปรากฏการณ์เช่นนี้น่าจะมีแนวคิดการเมืองชี้นำเพราะรัฐได้หันมาเน้นการรักษาเผ่าพันธุ์ เพียงหมายโจมตีนางอองซานซูจีซึ่งมีสามีเป็นชาวอังกฤษ ส่วนครูสอนประวัติศาสตร์ในโรงเรียนนั้นย่อมต้องสับสน เพราะคติการรักษาเผ่าพันธุ์พม่ากำลังเป็นกระแสทางการเมืองและยังขัดกับคติความปรองดองระหว่างชนต่างชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นสาระสำคัญในแบบเรียน 
นอกจากจันสิตตาจะเป็นนักรบและนักปกครองแล้ว พระองค์ยังเป็นพุทธกษัตริย์ แบบเรียนได้สะท้อนว่าพุทธศาสนาซึ่งเป็นสามัญสำนึกของชาวพม่านั้นถูกใช้เพื่อบ่งชี้ความเป็นผู้นำพม่า เพราะงานสร้างพุทธเจดีย์และงานพุทธศิลป์ต่างอ้างถึงความใจบุญสุนทานของกษัตริย์พม่าและการมีสันติภาพ นอกเหนือจากอำนาจทางการเมืองที่มีเหนือประชาชน ในแบบเรียนอ่านประวัติศาสตร์เมียนมา ชั้น ๓ (หน้า ๑๐) กล่าวว่า …
“นอกจากพระเจ้าจันสิตตาจะสร้างความปรองดองระหว่างมอญ-เมียนมาแล้ว พระองค์ยังทรงบำรุงพระศาสนาให้รุ่งเรืองอย่างมากมาย พระองค์ทรงสืบงานสร้างพระเจดีย์ชเวซีโข่ง(gU­0PNt-6"g09u)ที่เริ่มค้างไว้ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโนรธาจนแล้วเสร็จ นอกจากนี้ยังได้ทรงสร้างพระเจดีย์อานันดา(vkoO·k46ikt)ขึ้นเพื่อการสักการะบูชา  พระเจดีย์องค์นี้มีความโดดเด่นเป็นอย่างยิ่งด้วยเพราะมีภาพเขียนสีบนฝาผนังและภาพแกะสลักเต็มตัวชั้นยอดทางหัตถศิลป์”
นอกจากนี้ จันสิตตายังถูกเผยภาพให้เห็นเป็นกษัตริย์ที่เปี่ยมด้วยความกรุณาต่อราษฎรของพระองค์ ดังปรากฏในแบบเรียนการอ่านภาษาเมียนมา ชั้น ๒ (หน้า ๙) ดังนี้ …
“เมื่อพระเจ้าจันสิตตาขึ้นเสวยราชย์ พระองค์ทรงดูแลผลประโยชน์ของประเทศ พระองค์ทรงประกาศว่าจะทรงมอบข้าวปลาอาหารแก่พสกนิกรด้วยพระหัตถ์ขวา และมอบเครื่องนุ่งห่มด้วยพระหัตถ์ซ้าย”
ในการพัฒนาเศรษฐกิจ จะถูกมองว่าเป็นอานิสงส์จากการเมืองที่มั่นคง และแบบเรียนได้ยกย่องความสามารถของจันสิตตาที่ช่วยสร้างภาวะให้บังเกิดความเจริญทางเศรษฐกิจในอาณาจักร ดังกล่าวในแบบเรียนอ่านประวัติศาสตร์เมียนมา ชั้น ๕ (หน้า ๑๐)ไว้ว่า …
“เมื่อมีความปรองดองของคนในชาติเช่นนี้และเกิดความสงบสันติขึ้นแล้ว ประชาราษฎร์จึงสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ ด้วยจันสิตตาเป็นกษัตริย์ที่มีความสามารถ จึงดำเนินการปรับปรุงไร่นา เขื่อน ฝาย และอ่างเก็บน้ำ ซึ่งจำเป็นต่องานด้านเกษตรกรรมอของประเทศ อีกทั้งดำเนินการค้าขายกับต่างประเทศ อาทิ จีน และอินเดีย เป็นต้น ดังนั้นพลังทางเศรษฐกิจของประเทศจึงเติบโตขึ้นมา”
อีกทั้งแบบเรียนอ่านประวัติศาสตร์เมียนมา ชั้น ๕ (หน้า ๑๐) ยังกล่าวถึงภาพรวมของพุกามในสมัยนั้นไว้ว่า …
“ด้วยเหตุนี้ นับได้ว่าพระเจ้าจันสิตตาได้ทรงดำเนินการให้ประเทศมีความสงบสันติ บังเกิดความปรองดองในชาติ และมีความเจริญรุ่งเรือง”
เมื่อพิจารณาเนื้อหาจากแบบเรียน นับว่าจันสิตตาได้รับความสำคัญในฐานะผู้มุ่งแก้ไขวิกฤติทางการเมืองด้วยการประนีประนอมทางชนชาติ   โดยการใช้กำลังปราบปรามภาวะคุกคาม และการยอมรับเพื่อสยบอำนาจต่อรอง และแบบเรียนยังได้เสนอภาพความสำเร็จของความปรองดองในชาติว่าเกิดจากความสามารถของผู้นำ ส่วนการทำนุบำรุงพุทธศาสนาด้วยการสร้างหรือบูรณะพุทธเจดีย์ในแบบเรียนนั้นเป็นการฉายภาพสันติสุข และความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าจะให้ภาพของความรุ่งเรือง ดังนั้นวีรกรรมของจันสิตตาต่อประเด็นดังกล่าวจึงชี้แบบอย่างของผู้นำที่เป็นได้ทั้งนักรบ นักปกครอง และนักพัฒนา และดูเหมือนว่าแบบเรียนจะได้พยายามนิยามให้ผู้นำคือผู้เป็นที่พึ่งของประชาชน และเป็นผู้คอยมอบความอบอุ่นใจแก่ประชาชนทั้งในยามสันติและในช่วงวิกฤต 
นอกจากนี้ แบบเรียนยังชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างผู้นำที่เข้มแข็งกับผู้นำที่อ่อนแอ กล่าวคือจันสิตตาเป็นผู้นำที่กล้าหาญ รู้จักการประนีประนอม มีเมตตา เสียสละ และซื่อสัตย์ ประเทศชาติจึงมั่นคงและสงบสุข ต่างจากซอลูซึ่งอ่อนแอจนส่งผลร้ายต่ออาณาจักร  แบบเรียนจึงพยายามสร้างความประทับใจให้กับเยาวชนต่อภาพบวกของนักรบที่จะสามารถปกครองและป้องกันประเทศ ต่างจากผู้นำอย่างซอลูที่ขาดคุณสมบัติอย่างนักรบจนฝ่ายมอญก่อการกบฏขึ้น อีกทั้งภาพสืบเนืองของอโนรธากับจันสิตตายังเสมือนจะจงใจให้เป็นภาวะจำเป็นต่อการก่อเกิดและการดำรงอยู่ของอาณาจักรพุกามภายใต้การนำพาของนักรบที่เก่งกล้า นับเป็นความสอดคล้องกับบทบาทของกองทัพแห่งชาติต่อการกระทำให้ได้เอกราชและการรักษาความมั่นคงทางการเมือง ความสมนัยดังกล่าวนั้นคงมิใช่ความบังเอิญ หากเกิดจากการผูกเอาความทรงจำในอดีตของยุคตั้งอาณาจักรพุกามมาอธิบายความชอบธรรมทางการเมืองให้แก่กองทัพพม่า โดยยกเงื่อนไขของความอ่อนแอของผู้นำอย่างเจ้าซอลู และการก่อกบฏของชนต่างเผ่าอย่างกบฏมอญมาเป็นอุทาหรณ์
เรื่องราวของจันสิตตาในฐานะวีรกษัตริย์ผู้กอบกู้สถานการณ์แห่งพุกามตามที่ปรากฏในแบบเรียนนั้น จึงน่าจะเป็นความพยายามอันหนึ่งในการสร้างภาพซ้ำรอยทางประวัติศาสตร์เพื่ออ้างความชอบธรรมในการ
ปกครองประเทศโดยกองทัพแห่งชาติสมัยรัฐบาลปฏิวัติของนายพลเนวิน ที่ก้าวขึ้นมามีอำนาจโดยกล่าวโทษอูนุผู้นำพลเรือนว่าขาดความเข้มแข็งทางการเมืองและเป็นต้นเหตุให้เกิดกบฏหลากสี(การต่อสู้ทางการเมืองของ
ชนกลุ่มน้อยและพรรคคอมมิวนิสต์พม่า) หรือแม้แต่ในสมัยรัฐบาลทหารชุดปัจจุบันซึ่งสืบต่ออำนาจจากระบอบเนวินก็ยังสมคล้อยกับภาพซ้ำดังกล่าวไปด้วย แต่ปรากฏในภาพที่อูเนวินกลายเป็นผู้นำที่ล้มเหลว เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและความระส่ำระสายทางการเมือง ดังนั้นวงจรทางการเมืองและแนวคิดต่อการล้มล้างเพื่อสืบต่ออำนาจทางการเมืองของกองทัพพม่า จึงอาจอาศัยวีรกรรมต่างๆของพระเจ้าจันสิตตาเป็นแบบอย่างไว้อ้างอิงต่อกรณีที่เกิดวิกฤติทางการเมืองในพม่า
วิรัช นิยมธรรม

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15572เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 18:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2012 18:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท