ไปไหว้พระธาตุอินทร์แขวน


สหภาพพม่ามิได้คงภาพของความเป็นแผ่นดินแห่งพุทธศาสนาแต่เพียงซากโบราณสถานเท่านั้น
ไปไหว้พระธาตุอินทร์แขวน
สหภาพพม่ามิได้คงภาพของความเป็นแผ่นดินแห่งพุทธศาสนาแต่เพียงซากโบราณสถานเท่านั้น หากแต่ยังเป็นดินแดนแห่งพุทธศาสนาที่มีชีวิตชีวาแห่งหนึ่งในโลกปัจจุบัน พุทธศาสนิก-ชนชาวพม่ายังนิยมถวายทานจุนเจือต่อพระสงฆ์ ชี โยคี และผู้ปฏิบัติธรรม แทบทุกบ้านนิยมประดับไฟบูชาพระพุทธ วัดยังเป็นที่พึ่งทางการศึกษา พุทธเจดีย์และพุทธปฏิมาถือเป็นกองบุญที่ช่วยบันดาลความสุขให้กับชีวิต  และเป็นจุดหมายแห่งการแสวงบุญของชาวพุทธพม่า
ชาวพม่าศรัทธาต่อพระเจดีย์ดุจเดียวกับศรัทธาในองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงใช้คำเรียกขานพระเจดีย์ว่า พยา (46ikt) เช่นเดียวกับการเรียกขานพระพุทธองค์หรือพระพุทธรูป คำว่า พยา เป็นคำเดียวกับคำว่า พระ ของฝ่ายไทย มีที่มาจากคำว่า วร ในภาษาสันสกฤต แต่ด้วยเหตุที่ชาวพม่าออกเสียง ร เป็น ย เสียงจึงเพี้ยนไปเป็นพยา ในการนับเรียกเจดีย์ ทางพม่าจะใช้ ซู (C^)  ซึ่งเป็นคำที่ใช้เฉพาะกับสิ่งอันควรให้ความเคารพสูงสุด ความหมายของคำนี้จึงเทียบได้กับคำว่า องค์ ในภาษาไทย ดังคำเรียกพระเจดีย์สามองค์ว่า พยาโตงซู (46iktl6"tC^<เจดีย์-สาม-องค์) เป็นอาทิ คำเรียกขานพระเจดีย์ในสังคมพม่านอกจากจะใช้คำว่าพยาแล้ว ยังมีคำว่า เซดี (g09u) ในความหมายว่าพระเจดีย์อีกด้วย คำว่า เซดี มาจากภาษาบาลีว่า เจติย มีความหมายรวมเป็นเจดีย์ทั้งสี่ อันได้แก่ ธาตุเจดีย์ ธรรมเจดีย์ อุทเทสิกเจดีย์ และบริโภคเจดีย์ แต่ด้วยชาวพม่าออกเสียง จ เป็น ซ จึงทำให้เจติยมีเสียงเพี้ยนไปเป็นเซดี และมักเรียกเจดีย์อย่างยกย่องว่า เซดีด่อ (g09ug9kN) ด้วยเหตุที่พม่ามีคำเรียกพระเจดีย์ว่า พยา หรือ เซดีด่อ ดังนั้นชื่อพระเจดีย์ต่างๆในพม่าจึงลงท้ายด้วยคำทั้งสองนี้ ดังเช่น อานันดาพยา (พระเจดีย์อนันท์) ชเวซีโก่งพยา (พระเจดีย์ชเวซีโก่ง) ชเวมอด่อพยา (พระเจดีย์มุเตา) และชเวติโก่งพยา (พระเจดีย์ชเวดากอง) เป็นต้น ท้ายชื่อพระเจดีย์ที่กล่าวมาอาจเปลี่ยนจาก พยา เป็น เซดีด่อ ได้ อย่างไรก็ตาม พม่าจะนิยมใช้คำว่า พยา มากกว่า เซดี
ในบริเวณพม่าตอนล่างมีพระเจดีย์จำนวนหลายองค์ที่มีชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่า ไจ้ก์ (dy7bdN) ดังเช่น ไจ้ก์ขมีเยแลพยา(dy7bd¢,ugi]PN46ikt) ไจ้ก์ตังลันพยา(dy7bdNlÅ]koN46ikt) ไจ้ก์เข้าก์เซดีด่อ(dy7bdNg-jdNg09ug9kN) ไจ้ก์กะโละไจ้ก์กะและเซดีด่อ (dy7bdNd]6bhdy7bdNd]cHg09ug9kN) และไจ้ก์กะซังเซดีด่อ(dy7bdNd0"g09ug9kN) พระเจดีย์เหล่านี้อยู่ในบริเวณพม่าตอนล่างเป็นส่วนใหญ่โดยเฉพาะแถบย่างกุ้งและในรัฐมอญ คำว่าไจ้ก์นี้เชื่อว่ามาจากคำในภาษาบาลีสันสกฤต คือ เจติย หรือ ไจตย ที่ออกเสียงอย่างภาษามอญ และมีความหมายว่าพระเจดีย์เช่นเดียวกับคำว่า พยา และ เซดี จากการที่มีคำว่าไจ้ก์ปรากฏในชื่อพระเจดีย์ของพม่านั้น จึงพออนุมานได้ว่า
พระเจดีย์ทั้งหลายนี้น่าจะเป็นมรดกของวัฒนธรรมรามัญมาแต่ครั้งอดีต และในบรรดาพระเจดีย์ที่กล่าวมานี้ พระธาตุอินทร์แขวน ก็เป็นพระเจดีย์องค์หนึ่งที่มีนามเรียกขานในภาษาพม่าที่ขึ้นต้นด้วยคำว่าไจ้ก์ด้วยเช่นกัน คือ ไจ้ก์ทีโยพยา (dy7bdN5utU6bt46ikt)
พระธาตุอินทร์แขวนหรือพระเจดีย์ไจ้ก์ทีโยเป็นพระเจดีย์ที่น่าสนใจทั้งในตำนาน น่าทึ่งในรูปลักษณ์ขององค์เจดีย์ และมีความเป็นมาที่ค่อนข้างเร้นลับอยู่มาก หากพิจารณาที่ชื่อองค์พระธาตุ เชื่อว่าเป็นชื่อที่ได้มาจากภาษามอญ ที่ว่า ไจ้ก์-อิสิ-โย (dy7bdNBlbp6b ~ dykNBlbp6N) ชื่อนี้เทียบได้กับภาษาพม่าว่า ไจ้ก์-ยเต๊ะ-ยแวะ (dy7bdNiglHU:dN<เจดีย์-ฤษี-ทูน) มีความหมายตามรูปศัพท์ว่า "พระเจดีย์ที่ฤษีทูนไว้" ชื่อพระเจดีย์นี้มีความสอดคล้องต้องกันกับรูปลักษณ์ขององค์เจดีย์และตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาจนเป็นนิยายปรัมปรา
พระเจดีย์ไจ้ก์ทีโยตั้งอยู่บนภูเขาไจ้ก์ทีโย ซึ่งอยู่ในเขตเมืองไจ้ก์โถ่ (dy7bdN56b) ทางตอนบนของรัฐมอญ ห่างจากเมืองพะโค (หงสาวดี) ไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๖๕ กิโลเมตร องค์พระเจดีย์เป็นเจดีย์ปิดทองขนาดย่อมสูงราว ๔๔ ฟุต มีรูปองค์เป็นก้อนศิลาขนาดใหญ่สูงราว ๒๒ ฟุต วัดรอบองค์ได้ราว ๘๔ ฟุต สวมยอดด้วยเจดีย์สูงราว ๒๒ ฟุต มีรูปทรงดูคล้ายศีรษะมนุษย์ องค์พระเจดีย์นี้ตั้งอยู่บนเชิงผาหินสูงราว ๘๐ ฟุต โดยวางแตะหน้าผาอย่างหมิ่นเหม่และเอนออกมาทางหุบเหว จนดูประหนึ่งว่าจวนจะกลิ้งตกลงมาจากผานั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับตั้งสงบนิ่งผ่านแดดฝนมานานปี ชาวพม่าเล่าว่าแต่ก่อนนี้องค์พระเจดีย์มิได้แตะสัมผัสเชิงผา หากแต่ลอยอยู่จนแม่ไก่หมอบอยู่ได้ ครั้นกาลต่อมาองค์เจดีย์ได้ค่อยๆลดต่ำลงมาจนเกือบติดพื้นล่าง แต่ก็ยังสามารถนำเชือกมาพาดผ่านใต้องค์พระเจดีย์ได้ จนถึงบัดนี้เข้าใจว่าองค์พระเจดีย์ลดต่ำจนแตะเชิงผาแล้ว แต่ก็ยังสามารถโยกหินให้ไหวได้อย่างน่าอัศจรรย์ นอกจากนี้ยังมีการเล่าไขปริศนาที่องค์พระเจดีย์ลอยลดต่ำลงมาเรื่อยๆนั้นว่าเป็นด้วยพระศาสนาได้เสื่อมถอยตามกาลเวลาดังพุทธทำนาย และด้วยความน่าพิศวงนี้ ทางฝ่ายไทยจึงเรียกพระเจดีย์ไจ้ก์ทีโยอีกนามว่า เจดีย์หินลอย และที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ก็มีกกกมีเจดีย์ในลักษณะคล้ายกับที่พม่าเช่นกัน คือ เจดีย์หินกิ่ว
ความอัศจรรย์ของพระเจดีย์ทำให้ก่อเกิดเป็นตำนานไจ้ก์ทีโยพยาขึ้นหลายแนว ตำนานหนึ่งกล่าวว่าหลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และเสด็จโปรดโยมมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ คราเสด็จกลับมายังโลกมนุษย์ พระองค์ได้พบพระฤษีสองพี่น้อง คือ ติสสะ (9bÊ) และ สีหะ (lus) จึงเทศนาสั่งสอน ก่อนจากกันพระฤษีทั้งสองได้ทูลขอเครื่องอนุสติ พระองค์จึงได้ทรงประทานพระเกศาให้ ๔ เส้น พระฤษีจึงสร้างเจดีย์บรรจุพระเกศาธาตุสามเส้นไว้บนเขาสามแห่งคือ ซแวกะเปง (=:cdx'N) และ เกลาสะ (gd]kl) ซึ่งอยู่ในรัฐกะเหรี่ยง และอีกเจดีย์หนึ่งคือ ซีงไจ้ก์(='Ntdy7bdN) ซึ่งอยู่ในรัฐมอญ ส่วนพระเกศาเส้นสุดท้ายนั้น พระฤษีผู้พี่ได้เก็บไว้บูชาโดยแซมไว้ในมวยผมของตน เมื่อพระฤษีทั้งสองเดินทางมาบำเพ็ญพรตที่เขาไจ้ก์ทีโย ติสสฤษีผู้พี่เกิดเจ็บหนัก เมื่อใกล้ละสังขาร จึงได้ขอร้องให้บุตรบุญธรรมคือเจ้าชายติสสธัมมสีหราช(9bÊT,Álusik=k) ที่มาเฝ้าดูอาการให้ช่วยสร้างพระเจดีย์เพื่อเก็บรักษาพระเกศาธาตุนั้น โดยขอให้หาหินที่มีลักษณะคล้ายศีรษะของตนมาเป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุ เมื่อเรื่องล่วงรู้ถึงพระอินทร์ พระอินทร์จึงลงมาช่วยหาหินจากใต้ท้องสมุทรมาให้พระฤษีเลือกจนได้ก้อนหินที่พอใจ พระอินทร์ได้ใช้พระขรรค์เจาะหินเป็นช่องและบรรจุพระเกศาธาตุไว้ภายใน จากนั้นจึงทรงอธิฐานลอยพระเจดีย์ไว้บนยอดผาบนเขาไจ้ก์ทีโย เค้าเรื่องในตำนานนี้จึงสอดคล้องกับชื่อที่ชาวไทยรู้จักพระเจดีย์ไจ้ก์ทีโยกันในนามพระธาตุอินทร์แขวน
เมื่อพิจารณาเนื้อหาในตำนานที่กล่าวมานี้ สะท้อนให้เห็นว่าความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับลัทธิฤษีคงมีมาก่อนที่พุทธศาสนาจะเผยแผ่เข้ามาในภายหลัง อีกทั้งปูมในตำนานช่วยให้ภาพของภูเขาไจ้ก์ทีโยกลายเป็นขุนเขาอันศักดิ์สิทธ์มาจนถึงทุกวันนี้ และด้วยปริศนาที่ไขจากตำนานและความพิศวงขององค์พระเจดีย์ ทำให้ผู้ได้ยินเรื่องราวเกิดศรัทธาประสาทะ หมายมั่นที่จะมีปีติในพุทธานุภาพ จึงนิยมเดินทางไปแสวงบุญกันถึงไจ้ก์ทีโย แม้หนทางสู่ไจ้ก์ทีโยจะผ่านป่าดงอันยาวไกลและต้องเดินไต่ภูเขาสูงขึ้นสู่องค์พระธาตุก็ตาม แต่ผู้แสวงบุญกลับเชื่อมั่นว่าการเดินจาริกผ่านความยากลำบากนี้เป็นการแสดงจิตศรัทธาที่แท้จริง และเชื่อว่าในชีวิตนี้หากมีโอกาสก็ควรเดินทางไปนมัสการพระธาตุอินทร์แขวนให้ครบ ๓ หน จึงจะถือว่าเป็นการสั่งสมบุญกุศลอันยิ่งใหญ่
ปัจจุบันการเดินทางไปนมัสการพระธาตุอินทร์แขวนค่อนข้างสะดวก หากเดินทางจากเมืองย่างกุ้ง สามารถไปได้ทั้งทางรถยนต์หรือรถไฟผ่านเมืองพะโคไปจนถึงรัฐมอญ แต่ก่อนเข้าเขตรัฐมอญ จะถึงสะพานข้ามแม่น้ำสะโตง หรือ ซิตตอง(00Ng9k'Nt)  จากนั้นจะต้องเดินทางรถอีกราวหนึ่งชั่วโมงไปยังด่านกิงโมน (d'N,:oNt0-oNt) หรือด่านบ้านคลองส้มป่อยซึ่งอยู่ตีนเขาไจ้ก์ทีโย การเดินทางขึ้นดอยไปได้สองทางคือเดินทางเท้าใช้เวลาราว ๓ - ๔ ชั่วโมง หรือเช่ารถกระบะขึ้นไป ซึ่งเป็นเส้นทางไต่เขาทุลักทุเลพอควร ใช้เวลานั่งรถราว ๑ ชั่วโมง แล้วลงที่ยะเต๊ะต่องหรือดอยฤษีซึ่งเชื่อว่าเป็นที่ซึ่งพระฤษีในตำนานไจ้ก์ทีโยพยาเคยมาบำเพ็ญภาวนาก่อนที่จะสิ้นชีวิตลง และที่จุดนี้จะมองเห็นองค์พระธาตุปรากฏเด่นบนหน้าผาอยู่แต่ไกล จากนั้นต้องเดินเท้าขึ้นไปอีกราว ๔๕ นาที จึงจะถึงยอดดอย หากเดินไม่ไหวก็อาจจะนั่งเสลี่ยงขึ้นไปก็ได้ เส้นทางขึ้นช่วงนี้ค่อนข้างวกวนคล้ายเขาวงกต และบางตอนเป็นทางลาดชัน ตามเส้นทางขึ้นจะมีร้านค้าเล็กๆอยู่เป็นระยะ ขายน้ำมะพร้าว ขนม ผลไม้ ไม้เท้า และใช้เป็นที่นั่งพักออมแรงหรือชมวิวได้เป็นช่วงๆ ด้วยเหตุที่เส้นทางขึ้นดอยค่อนข้างวกเวียนไปมา จึงทำให้เห็น
องค์พระธาตุเป็นบางช่วง และบางช่วงก็หายลับตาไป ราวกับว่าเดินหลงทางไปบ่อยๆ นับว่าช่วยสร้างความตื่นเต้นเร้าใจได้ไม่น้อย บางจุดมีพระเจดีย์หินลอยทำจำลองตั้งอยู่เป็นระยะ และที่น่าประทับใจอีกอย่างหนึ่งคือทางเดินเท้าจากเชิงดอยจนถึงยอดเขาไจ้ก์ทีโยจะมีการตั้งชื่อกำหนดที่หมายของเส้นทางเป็นตอนๆ เช่น เนินแน่นอุรา (ซเวยินโซะ) ทางลาดสบายอุรา (ซเวยินตา) เนินปู่ถอยกลับ (โบเปี่ยงต่อง) เนินวัวแดงแหงนคอ (ไซ่ตะเมาะ) ทางนาคขด (นะกาบัต) และทางลาดเย็นอุรา (ซเวยินเอ) การกำหนดชื่อบอกทางนี้นับเป็นป้ายสัญจรที่ให้ความเพลิดเพลินและสร้างกำลังใจให้แก่ผู้แสวงบุญได้ทางหนึ่ง เมื่อใกล้ถึงยอดดอยจะเห็นทิวทัศน์เวิงว้างอยู่เบื้องล่าง มีดอยลูกอื่นตั้งกระจายอยู่โดยรอบ และแทบทุกยอดดอยจะมีเจดีย์ประดิษฐานอยู่ สำหรับดอยที่องค์พระธาตุอินทร์แขวนตั้งอยู่นั้นอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลราว ๓,๖๐๐ ฟุต เป็นยอดเขาที่ดูจะเด่นกว่าดอยลูกอื่นที่อยู่โดยรอบ บนบริเวณองค์พระธาตุเป็นเนินผาหินตั้ง มีศาลเทพ (นัต) ศาลาลม เรือนพัก ร้านจำหน่ายดอกไม้ ใบไม้ และแผ่นทองคำเปลว และมีร้านค้าขายของและอาหารอยู่รอบเชิงผาหินเป็นจำนวนมาก ตลอดปีจะมีผู้แสวงบุญมาไหว้องค์พระธาตุอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะในเดือนนอกฤดูฝน
ความน่าพิศวงในองค์พระเจดีย์ผนวกกับแรงศรัทธาต่อองค์พระธาตุ ทำให้สถานที่แห่งนี้เป็นดุจสวรรค์ของนักแสวงบุญทั้งหลาย ทุกคนต่างให้ความเคารพยำเกรง การเดินไปมาบนเนินผาหิน จะต้องถอดรองเท้าตามธรรมเนียมของชาวพม่า ระวังการกล่าววาจาที่ไม่เหมาะสม หากเป็นสตรีจะต้องไม่เข้าใกล้องค์พระธาตุ ด้วยเชื่อว่าอาจเกิดอาเพศฝนตกฟ้าผ่าและไม่เป็นมงคล ส่วนจุดมุ่งหมายสำคัญที่ผู้แสวงบุญมักจะไม่ละเลย คือการขอพร (ซุตอง) จากองค์พระเจดีย์ และทำบุญทำทาน (อลู-เป) เป็นกุศล แต่หากต้องการบนบานศาลกล่าว ชาวพม่าจะบนต่อเทพหรือนัตซึ่งตั้งเป็นศาลและตั้งเป็นปะรำอยู่โดยรอบผาหิน แม้ชาวพม่าจะนิยมขอพรจากพระเจดีย์หรือพระพุทธรูป แต่กลับไม่นิยมติดสินบนกับองค์พระ ส่วนการทำบุญต่อองค์พระธาตุนั้น นอกจากจะเป็นการบริจาคด้วยปัจจัยแล้ว อาจถวายเป็นแรงกายช่วยเหลือดูแลศาสนสถาน เช่น ช่วยเก็บขยะหรือช่วยถางทางขึ้นองค์พระธาตุ เป็นต้น อย่างไรก็ตามสำหรับผู้แสวงบุญทั่วไป มักจะบริจาคทรัพย์ให้กับชาวบ้านหรือข้าวัดที่มาคอยช่วยดูแลเส้นทางขึ้นพระธาตุมากกว่าการออกแรงทำเอง
การไปแสวงบุญที่พระธาตุอินทร์แขวน หรือเจดีย์หินลอย หรือไจ้ก์ทีโยพยา ช่วยให้เห็นภาพวิถีชีวิตของชาวพุทธพม่าในยามปีติสุขด้วยอานิสงส์แห่งความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระเจดีย์ ชาวพม่าทั่วไปจึงมักไม่ฉงนใจในความพิศวงของหินลอยที่บรรจุพระเกศาธาตุ และเชื่อมั่นว่าเป็นด้วยเทวานุภาพและพุทธานุภาพที่ทำให้องค์พระเจดีย์ตั้งมั่นอยู่ได้ แต่หากมีข้อสงสัยว่าปุถุชนใดเป็นผู้สร้างหรือมีพลังธรรมชาติแฝงเร้นอยู่ ก็ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ เพราะเท่ากับเป็นการลบหลู่ต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปด้วยซ้ำ ความเชื่อถือยำเกรงดั่งนี้จึงเปรียบดุจพลังอัศจรรย์ที่องค์พระธาตุมีให้แก่สังคมพม่าอย่างไม่เลือกเผ่าพันธุ์ ไม่เลือกฝ่ายหรือลัทธิ นับเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยเอื้อให้เกิดเอกภาพในสังคมและเป็นปัจจัยที่เนรมิตความสงบสุขให้กับปัจเจกชนชาวพม่าตลอดมา
และไม่ว่าสังคมพม่าจะพัฒนาไปตกอยู่ในสภาวะใด เชื่อว่าวิถีชีวิตของชาวพม่าระดับสามัญชนน่าจะคงความเป็นอยู่แบบจารีตนิยมไว้ได้อีกนาน ไม่ว่าจะเป็นความศรัทธาต่อพุทธศาสนาหรือความเชื่อถือยำเกรงต่อเทพนัต เกรงแต่ว่าค่านิยมสมัยใหม่ที่ยื่นความสะดวกสบายให้กับมนุษย์ อาจแปรเปลี่ยนสภาพแวดล้อมขององค์พระธาตุ และธรรมเนียมการเดินเท้าสร้างกุศล กลายภาพพระธาตุอินทร์แขวนเป็นเพียงสวรรค์ของนักท่องเที่ยว แทนปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์สำหรับผู้แสวงบุญไปในที่สุด
อรนุช นิยมธรรม
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15551เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 18:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 15:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท