เทพนัตในวิถีชีวิตพม่า


ชาวพม่าติดต่อกับนัตในหลายรูปแบบ มีทั้งการกราบไหว้ เซ่นสรวง ลงทรง เพื่อขอความคุ้มครอง บนบานสานกล่าว หรือบัดพลีเมื่อคำขอเป็นผลสัมฤทธิ์
เทพนัตในวิถีชีวิตของชาวพม่า
ชาวพม่าติดต่อกับนัตในหลายรูปแบบ มีทั้งการกราบไหว้ เซ่นสรวง ลงทรง เพื่อขอความคุ้มครอง บนบานสานกล่าว หรือบัดพลีเมื่อคำขอเป็นผลสัมฤทธิ์ รูปแบบของการเซ่นไหว้นัตในเรือน นัตตามศาล และนัตที่อยู่รายรอบพระเจดีย์นั้นส่วนใหญ่กระทำคล้ายๆกัน มีพิธีรีตองและเครื่องเซ่นแตกต่างกันอยู่บ้างขึ้นอยู่กับนัตแต่ละตน นัตบางตนนิยมมังสวิรัติ กินเฉพาะผลไม้ ดอกไม้ ใบไม้ นัตบางตนชอบอาหารดิบ อาทิ ปลาดิบ เนื้อดิบ นัตบางตนชอบของมึนเมา ดื่มเหล้าเมายายามประทับทรง บางตนชอบพิณ  บางตนชอบขลุ่ย บางตนชอบหมวก บางตนชอบหุ่นม้า และบางตนชอบบุหรี่ เป็นต้น
นอกจากเซ่นไหว้ด้วยสิ่งโปรดของนัตแต่ละตนแล้ว คนพม่ายังนิยมเซ่นไหว้ด้วยเครื่องบูชาที่จัดวางบนถาดหรือพาน เรียกรวมว่ากะเดาะบะแว (doNg9kHx:c) กะเดาะบะแวประกอบด้วยผลมะพร้าว ๑ ผล กล้วย ๓-๕ หวี หมาก พลู และยาเส้น เป็นสำคัญ มะพร้าวที่ถวายต้องเป็นมะพร้าวสด คัดผลงามไร้ตำหนิ บางทีก็ทาผลมะพร้าวเป็นสีทอง อาจชะโลมด้วยน้ำหอมหรือน้ำอบกลิ่นจันทน์ ส่วนกล้วยนั้นต้องเป็นกล้วยดิบ อาจเป็นกล้วยน้ำว้าหรือกล้วยนาก ที่ทาสีทองก็มีเช่นกัน บ้างก็ตกแต่งด้วยมาลัยมะลิหรือกุหลาบ การเซ่นไหว้ด้วยมะพร้าวและกล้วยนั้น พบว่าคล้ายกับการบูชาเทพของชาวฮินดู ต่างกันที่ฮินดูจะบูชาเทพด้วยมะพร้าวที่ปอกเปลือก ส่วนมะพร้าวที่ใช้บูชานัตของชาวพม่านั้นจะถวายทั้งผล โดยไม่ปอกเปลือก และต้องเป็นผลที่มีก้านจุกติดอยู่กับขั้วอีกด้วย นอกจากเซ่นไหว้ด้วยกะเดาะบะแวตามกล่าวนี้ อาจเซ่นไหว้นัตด้วยเครื่องทรง อาทิ ผ้าคาดศีรษะที่เรียกว่าคองปอง (g-j'Ntgxj'Nt) ผ้าคลุมไหล่หรือปะวา (x6;jt) และผ้าโสร่งหรือโลงชี (]6"-yPN) ชาวบ้านนิยมถวายเครื่องเซ่นที่เป็นเครื่องทรงให้กับรูปปั้นนัต ชื่อ โพด่อตะจา (พระอินทร์) กับ โพโพจี (พ่อปู่) ซึ่งประทับยืนอยู่ในเขตพระเจดีย์ โดยนุ่งถวายให้กับรูปปั้นนัต บางคราวนุ่งซ้อนทับกันหลายสิบผืน เพราะต่างคนต่างก็ถวายเครื่องทรง จนรูปนัตดูอ้วนผิดสังเกต การเซ่นไหว้ด้วยกะเดาะบะแวดูจะมีพิธีรีตองน้อยที่สุด ผู้เซ่นไหว้สามารถวางเครื่องบูชาด้วยตนเอง อย่างไรก็ตามในศาลนัตบางศาล จะมีผู้ประกอบพิธี ที่พม่าเรียกว่านัตเทง(o9N5b,Nt) คอยบริการประกอบพิธีให้แก่ผู้มาเซ่นไหว้ นัตเทงนี้จะเป็นผู้ทำหน้าที่ถวายเครื่องเซ่นและช่วยขอพรให้กับผู้เซ่นไหว้ รูปแบบจึงดูคล้ายกับการบูชาเทพเจ้าในเทวาลัยของชาวฮินดู
ในบ้านที่บูชานัตเรือน จะมีการเซ่นไหว้เป็นประจำสม่ำเสมอ หิ้งบูชามีงมหาคีรินัตซึ่งเป็นนัตเรือนจะตั้งอยู่ภายในบ้าน โดยจะต้องตั้งติดอยู่กับผนังซ้ายส่วนหน้าของบ้าน เจ้าบ้านจะเซ่นไหว้นัตเรือนด้วยผลมะพร้าวคาดแถบผ้าสีแดง ใส่ในตะกร้าปิดม่านแดงแขวนไว้ ที่เลือกใช้มะพร้าวบูชานัตเรือนก็เพราะถือว่ามะพร้าวก็คือตัวแทนมีงมหาคีริ มะพร้าวที่จะนำมาบูชาจะต้องเป็นมะพร้าวที่ไม่อ่อนหรือแก่เกินไป เพราะมะพร้าวที่อ่อนเกินไปนั้นจะเน่าเสียง่าย หากเป็นมะพร้าวที่แก่มากไปน้ำมะพร้าวก็จะแห้งไว ดังนั้นจึงต้องเลือกผลมะพร้าวขนาดพอดี มีรูปทรงดูงาม และไม่มีตำหนิ สำหรับแถบผ้าสีแดงที่ใช้คาดผลมะพร้าวนั้น บ้างเชื่อว่าเป็นตัวแทนของชเวเมียตหน่าผู้เป็นน้องสาวของมีงมหาคีริที่กระโดดเข้ากองไฟตายตามพี่ชาย สีแดงจึงเป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวและเคียดแค้น บ้างเชื่อเพียงว่าสีแดงเป็นสีแทนนัต เป็นสีแห่งความกล้าหาญ ความสะดวกราบรื่น และทำมาค้าขึ้น ในภายหลังยังนิยมนำผ้าขาวมาประกอบเครื่องบูชาอีกด้วย โดยนำมาคาดอยู่ใต้ผ้าแดง ด้วยเชื่อว่าเป็นสีแทนมีงมหาคีริ หมายถึงความสุขุมเยือกเย็น บ้างกล่าวว่าเป็นสีแทนพุทธศาสนา ส่วนที่ต้องกั้นผ้าแดงไว้กับเครื่องบูชาด้วยนั้นเป็นเพราะเกรงว่าความร้อนจากแสงไฟอาจกระทบเครื่องบูชา ทั้งนี้เพราะมีงมหาคีรินั้นตายในกองเพลิง หากต้องแสงไฟก็จะทำให้มีงมหาคีริสะเทือนใจและหนีจากไป ผลก็คือบ้านนั้นก็จะอยู่ไม่เป็นสุข บ้างเชื่อว่าอาจเป็นเหตุให้ไฟไหม้บ้านได้อีกด้วย การถวายเครื่องบูชานัตเรือนนี้ถือเป็นกิจของเจ้าของบ้านที่จะต้องคอยหมั่นดูแลอยู่เสมอ คนภายนอกจะเข้ามาแตะต้องเครื่องบูชานี้ไม่ได้ เพราะอาจทำให้เจ้าบ้านเจ็บไข้ เครื่องบูชานัตเรือนนั้นมีนัยน่าสนใจอยู่ว่า ด้วยประเทศพม่าเป็นเมืองในเขตร้อนและบางท้องถิ่นก็แห้งแล้งยิ่งนักโดยเฉพาะฤดูร้อน กอปรกับบ้านช่องมักปลูกสร้างด้วยไม้ จึงมีเหตุเพลิงไหม้อยู่เสมอ ฉะนั้นการบูชามีงมหาคีริไว้ในบ้านนับว่าช่วยสร้างความอุ่นใจและเป็นเครื่องเตือนสติในเรื่องฟืนไฟได้อย่างดี ส่วนมะพร้าวที่ใช้บูชานัตนั้น ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นสมุนไพรที่ช่วยรักษาแผลพุพองที่เกิดจากไฟลวก จึงเหมาะที่จะใช้ถวายมีงมหาคีริ นัยว่าเพื่อเป็นยาดับร้อน การเซ่นไหว้นัตเรือนของชาวพม่านั้น นับว่ามีจุดมุ่งหมายเพื่อความอบอุ่นภายในบ้านเช่นเดียวกับจารีตการบูชาผีบ้านผีเรือนของชาวพื้นเมืองอื่นๆในภูมิภาคแถบนี้นั่นเอง เพียงแต่ว่ามีงมหาคีรินัตมิใช่เป็นผีบรรพบุรุษของเจ้าบ้านเท่านั้น
นอกเหนือจากการเซ่นไหว้นัตตามกล่าวมาแล้ว ชาวพม่ายังมีการบวงสรวงลงทรงนัต เพื่อแก้บน หรือประกอบพิธีประจำปี พิธีลงทรงนัตนี้มักนิยมทำกันที่ศาลนัต ซึ่งอาจอยู่ใกล้พระเจดีย์ แต่ต้องอยู่นอกเขตลานเจดีย์ บ้างสร้างเป็นปะรำชั่วคราวเพื่อประกอบพิธี หรือไม่ก็จัดพิธีกันที่บ้าน แต่ห้ามจัดงานบูชานัตในเขตวัดหรือลานเจดีย์ ช่วงที่นิยมจัดงานลงทรงนัตมักเป็นช่วงก่อนและหลังสงกรานต์ ก่อนเข้าพรรษา และหลังออกพรรษา ในศาลนัตจะมีหุ่นไม้สลักเป็นรูปนัตจำนวนมาก มักมีไม่น้อยกว่า ๓๗ ตน หน้ารูปสลักนัต จะวางเครื่องเซ่น และตกแต่งศาลนัตด้วยผ้าขาวและผ้าแดง ผู้ทำหน้าที่เป็นร่างทรงของนัต เรียกว่า นัตกะด่อ (o9Ndg9kN) ในพิธีแต่ละครั้งมักมีนัตกะด่อร่วมพิธีหลายคน แต่ละคนจะมีนัตเข้าทรงผลัดเปลี่ยนได้หลายตน  ทุกครั้งที่เปลี่ยนนัตลงทรง นัตกะด่อจะต้องเปลี่ยนเครื่องทรงของนัตเฉพาะตน นัตที่เข้าทรงมิใช่มีแต่เพียงนัตพม่าที่ลือนามเท่านั้น หากแต่ยังมีนัตต่างชาติพันธุ์ อาทิ นัตกะเหรี่ยง นัตไทยใหญ่ ตลอดจนนัตแขก และนัตจีน เป็นต้น ในพิธีจะมีการประโคมดนตรีที่เรียกว่า วงซายวาย(C6b'Nt;6b'Nt) มีลักษณะเป็นวงปี่พาทย์ ประกอบด้วย เปิงมางคอก ตะโพน ฆ้องแผง ฆ้องวง ปี่แน กรับไม้ไผ่ และฉาบ  มีการขับกล่อมเพลงประจำนัต เป็นเพลงเศร้าบ้าง ร่าเริงบ้าง คละเคล้ากันไป เมื่อนัตประทับทรงก็จะเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมพิธีได้เข้าใกล้ชิดนัต มีการสอบถามทุกข์สุข ทำนายทายทัก และชี้แนะตักเตือน นัตที่ลงทรงมักกินเหล้าและสูบยา เต้นฟ้อนล้อจังหวะดนตรีกันอย่างถึงอารมณ์ งานบูชานัตจึงเป็นทั้งพิธีกรรมที่ดูเคร่งจริงจัง ขณะเดียวกันก็เป็นงานรื่นเริงพร้อมกันไป พิธีแต่ละครั้งมักจัดติดต่อกันตลอด ๓ วัน ผู้ว่าจ้างนัตกะด่อให้ทำพิธีลงทรงจะต้องเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ราว ๓๐,๐๐๐-๕๐,๐๐๐ จั๊ต หรือราว ๘,๐๐๐-๑๓,๐๐๐ บาท การบวงสรวงจึงมักทำเฉพาะในโอกาสอันสำคัญเท่านั้น
การประกอบพิธีลงทรงนัตของชาวพม่าดังกล่าว ได้สะท้อนให้เห็นการให้ความสำคัญของพิธีกรรมและความเชื่อถือนัตในหมู่สาวกได้เป็นอย่างดี นัตจึงดูจะได้รับการปฏิบัติดุจเดียวกับเทพเจ้าของฮินดู และมีรูปแบบของพิธีกรรมที่ออกจะซับซ้อนกว่าการบูชาผีเจ้าพ่อเจ้าแม่ของไทย ด้วยเหตุนี้ การประกอบพิธีจึงต้องมีผู้ชำนาญงานพิธีในระดับมืออาชีพ และจากการที่นัตของชาวพม่ามีความเป็นสาธารณะมากกว่าผีเรือนหรือผีประจำท้องถิ่น สาวกหรือผู้เชื่อถือจึงอาจมีจิตผูกพันกับนัตแต่ละตนได้โดยอิสระ แต่กระนั้นก็มักอยู่ภายใต้คำแนะนำ(หรือคำบงการ)ของร่างทรง ดังนั้นร่างทรงหรือผู้ชำนาญในพิธีจึงมีบทบาทสำคัญในสร้างสัมพันธ์ระหว่างนัต พิธีกรรม และเหล่าสาวก  และจากการที่ชาวพม่าจำนวนมากยังพึ่งพาอำนาจนัต การประกอบพิธีลงทรงในพม่าจึงสามารถยึดเป็นอาชีพได้ดีพอๆกับอาชีพหมอดู เนื่องจากการจัดพิธีมีองค์ประกอบมาก เหล่าร่างทรง ผู้ประกอบพิธี และคณะปี่พาทย์จึงพึ่งพากันด้วยการสร้างสายสัมพันธ์กันเป็นหมู่คณะ นอกจากนี้ในแต่ละปีจะมีการจัดงานพิธีบูชานัตครู ซึ่งเป็นโอกาสที่บรรดาร่างทรงและเหล่าสาวกจะได้มาพบปะกัน ในประเทศพม่ามีการจัดงานลงทรงในหลายพื้นที่ บางงานเป็นงานลงทรงที่โด่งดังในระดับประเทศ เมื่อมีผู้คนมาชุมนุมกันมาก จึงทำให้พื้นที่จัดงานกลายสภาพเป็นย่านธุรกิจในระดับชุมชน ดังจะขอยกตัวอย่างงานทรงเจ้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพม่าแห่งหนึ่ง คือที่หมู่บ้านต่องปะโยง
ต่องปะโยง (g9k'Nwx7"t) เป็นหมู่บ้านเล็กๆ อยู่ห่างจากเมืองมัณฑะเลไปทางเหนือราว ๒๐ กิโลเมตร พม่ามีตำนานเล่าว่าหมู่บ้านแห่งนี้เป็นถิ่นกำเนิดของเทพนัตสองพี่น้อง เชื้อสายแขกผสมพม่า ผู้เคยเป็นข้ารับใช้ของพระเจ้าอโนรธา นามว่า สองพี่น้องชเวพีญ (gU­zyfNt,'NtPugok'N) นัตทั้งสองจบชีวิตลงด้วยพระเจ้าอโนรธาสั่งประหารที่บ้านต่องปะโยง  เพราะละเลยหน้าที่ขนอิฐคนละก้อนก่อพุทธเจดีย์สมปรารถนา (C6g9k'NtexPNH46ikt) และจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตามที ชาวพม่าจำนวนไม่น้อยได้ให้ความสำคัญกับนัตทั้งสองนี้อย่างมาก โดยเฉพาะบรรดาร่างทรงนัตหรือนัตกะด่อ(o9Ndg9kN) ต่างยกย่องนัตทั้งสองตนเป็นถึงนัตครู ทุกๆปี ทั้งร่างทรง สานุศิษย์ และผู้ศรัทธาต่างเดินทางมาจากทั่วสารทิศ เพื่อมาเซ่นไหว้บวงสรวงนัตสองพี่น้องชเวพีญ
ณ หมู่บ้านต่องปะโยงนี้ ปีหนึ่งๆกำหนดวันบูชาไว้ ๓ ครั้ง คือ ช่วงขึ้น ๑๔-๑๕ ค่ำ ของเดือนนัตด่อ (ตกราวเดือนธันวาคม) เรียก งานฉลองวันออกศึก (00N5:dNx:c) ถือเป็นวันที่พระเจ้าอโนรธาและสองพี่น้องชเวพีญเริ่มยกทัพออกสู่เมืองจีน เพื่ออัญเชิญพระเขี้ยวแก้ว ต่อมาในช่วงขึ้น ๑๐-๑๑ ค่ำ ของเดือนตะปอง (ตกราวเดือนมีนาคม) เป็นงานฉลองวันยกทัพกลับ (00NexoNx:c) ตำนานกล่าวว่าความตั้งพระทัยของพระเจ้าอโนรธาที่จะไปอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วมาจากเมืองจีนนั้นไม่เป็นผลสำเร็จ แต่พระองค์ก็ได้อัญเชิญพระมรกต (e,46ikt) มาแทน และอีกช่วงหนึ่ง ระหว่างวันขึ้น ๑๐-๑๕ ค่ำของเดือนวาข่อง (ตกราวเดือนสิงหาคม) เป็นงานรับขมา (doNg9kH-"x:c)  งานนี้ถือเป็นเทศกาลไหว้นัตที่สำคัญ และเลื่องลือที่สุดของลัทธิบูชานัตของชาวพม่า
อันที่จริงเทศกาลรับไหว้ขมานัตสองพี่น้อง กำหนดวันประกอบพิธีไว้เพียง ๖ วัน แต่ผู้คนจะเริ่มทยอยมาล่วงหน้าก่อนวันงานราว ๘ วัน งานจึงเริ่มตั้งแต่วันขึ้น ๓ ค่ำ และหลังงานรับไหว้ขมาที่จัดในช่วงขึ้น ๑๐-๑๕ ค่ำนั้น จะต่อด้วยงานฉลองและปิดทองรูปสลักนัตอีก ๗ วัน และจบด้วยการนิมนต์พระสงฆ์มาสวดพระปริตรในวันแรม ๘ ค่ำ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของเทศกาล รวมวันงานบูชานัตต่องปะโยงทั้งสิ้น ๒๒ วัน ช่วงเทศกาลนี้ผู้คนจะมากันเนืองแน่นเป็นเรือนแสน เหล่าพ่อค้าแม่ค้าและบรรดาร่างทรงจะมารอนแรมปลูกร้านค้าและตั้งศาลกันก่อนวันงาน
ในช่วงเทศกาลบูชานัตสองพี่น้องแห่งต่องปะโยง ช่วงเดือนสิงหาคมนั้น หมู่บ้านต่องปะโยง ซึ่งเงียบสงบมาเกือบตลอดปี จะกลับฟื้นตัว กลายเป็นย่านธุรกิจที่เนืองแน่นไปด้วยผู้คนจากทุกภาคของพม่า บ้างมาด้วยรถยนต์ บ้างมาโดยรถไฟ และบ้างเดินทางมาทางเรือ ตลอดเส้นทางจากมันฑะเลสู่ต่องปะโยงจะพบรถยนต์ เกวียน และพาหนะต่างๆบรรทุกผู้คนและสิ่งของ ทยอยตามกันมาไม่ขาดสาย หากเป็นรถไฟ  ก็จะคับคั่งไปด้วยผู้โดยสารจนล้นขบวน มีทั้งนั่งบนหลังคาและห้อยโหนรอบตัวรถ ส่วนตามเส้นทางน้ำ ริมฝั่งอิรวดีจะมีเรือยนต์ เรือหางยาว และเรือแจว เข้าออกท่าน้ำต่องปะโยงตลอดเช้าจรดค่ำ ในช่วงเทศกาล หมู่บ้านต่องปะโยงจึงกลายเป็นชุมทางของผู้คนอันหลากหลาย มีทั้งผู้เซ่นไหว้นัต ร่างทรง พ่อค้าแม่ค้า คณะละครเร่ หนังเร่ หมอดู และผู้มาเที่ยวงาน อีกทั้งงานนัตต่องปะโยงยังเต็มไปด้วยหญิงประเภทสองและแม่ม่ายแม่ร้าง นอกจากนี้ยังมีนักการพนัน เหล่ามิจฉาชีพ และหญิงงามเมืองปะปนซ่อนเร้นอยู่ในงาน กล่าวกันว่าก่อนนี้งานต่องปะโยงเป็นงานที่ค่อนข้างไร้ระเบียบ มักเกิดเรื่องรุนแรงอยู่เสมอ ด้วยเต็มไปด้วยพวกขี้เหล้าเมายาและเหล่าหัวขโมย มาในระยะหลัง สภาพการณ์ดูจะดีขึ้นมาก ด้วยทางการส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมากำกับดูแล
ในช่วงเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลไหว้นัตดังกล่าว บริเวณงานจะมีปะรำทรงเจ้าอยู่มากมายร่วมหนึ่งพันแห่ง และวงปี่พาทย์พม่าราว ๗๐ วงมาชุมนุมกัน หมู่บ้านต่องปะโยงจึงมีเงินทองสะพัดสูง โดยเฉพาะในหมู่สินค้าอุปโภคบริโภคและการบริการ อาทิ ด้านการขนส่ง อาหารการกิน ที่พักอาศัย ค่าเช่าที่ดิน ตลอดจนเครื่องเซ่นบูชา แต่ละอย่างมีราคาสูงขึ้นมากกว่าปกติ อาทิ เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๓๙ ที่ผ่านมา ค่ารถยนต์จากมัณฑะเลถึงต่องปะโยง ขึ้นราคาจากปกติเพียงแค่ ๑๐ จั๊ต กลายเป็น ๓๐ - ๘๐ จั๊ต ค่าจอดเรือที่ท่าน้ำก็มีราคาสูง เรือขนาดเล็กเสียค่าจอดถึง ๕๐ จั๊ต ขนาดกลาง ๑๕๐ จั๊ต และขนาดใหญ่ ๒๕๐-๓๐๐ จั๊ต ข้าวสารขึ้นราคาจากเดิม  ปกติ ๑ ปยี(ราว ๘ กระป๋องนม) จะตกราคา ๔๐ จั๊ต ปรับเพิ่มเป็น ๗๐ จั๊ต น้ำมันพืช ๑ แซตา( ๑๖๓ กรัม) ปกติราคา ๑๘ จั๊ต เพิ่มเป็น ๒๒ จั๊ต ไข่ไก่จากเดิมฟองละ ๘ จั๊ต เพิ่มเป็น ๑๐ จั๊ต เนื้อไก่ ๑ ปิตตา (๑.๖ กิโลกรัม) จากเดิม ๒๕๐ จั๊ต เพิ่มเป็น ๓๐๐ จั๊ต เหตุที่สินค้าต่างมีราคาสูงขึ้นในช่วงเทศกาลเป็นเพราะค่าขนส่งมีราคาแพงจากเดิม ประกอบกับผู้บริโภคมีมาก ผู้ขายจึงต่างขึ้นราคาตามความพอใจ
ในส่วนกิจการบ้านเช่า ร้านค้า และที่ดิน นับว่าคล่องตัวมาก ที่ดินแทบทุกตารางนิ้วในหมู่บ้านต่องปะโยงจะมีราคาค่างวดขึ้นทันที เจ้าของบ้านจะเปิดบ้านให้เช่า พื้นที่ว่างรอบบ้านจะถูกดัดแปลงก่อเป็นร้านแผงลอยหรือกั้นเป็นห้องให้เช่า บ่อน้ำในบ้านก็ให้บริการน้ำอาบ จนแม้แต่ส้วมในบ้านก็เปิดบริการหารายได้ ด้วยเหตุนี้ ชาวบ้านในหมู่บ้านต่องปะโยงจึงมีรายได้พิเศษกันทั่วหน้าแทบทุกหลังคาเรือน ส่วนราคาค่าบริการดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นทุกปี อาทิ บ้านเช่า หากเป็นชั้นบน จะคิดราคา ๕,๐๐๐ จั๊ต ชั้นล่าง ๓,๐๐๐ จั๊ต หากเช่าทั้งหลัง ก็ต้องจ่ายถึง ๘,๐๐๐ จั๊ต หากเป็นบ้านที่มีสภาพดีหน่อย จะคิดค่าเช่าชั้นละ ๑๐,๐๐๐ จั๊ต หากเช่าทั้งหลังจะตกหลังละ ๒๐,๐๐๐ จั๊ต หากเป็นเพิงพักชั่วคราว ขนาด ๕x๑๐ ศอก จะคิดค่าเช่า ๓,๐๐๐-๕,๐๐๐ จั๊ต ส่วนค่าบริการอาบน้ำบ่อ คิดค่าบริการคนละ ๕ จั๊ต และเก็บค่าบริการห้องน้ำครั้งละ ๓ จั๊ต สำหรับที่จอดรถ หากเป็นรถยนต์ จะคิดราคาวันละ ๑๐๐ จั๊ต หากจอดค้างคืนจะคิดค่าจอด ๑๕๐ จั๊ต ถ้าเป็นจักรยานยนต์ คิดคันละ ๕๐ จั๊ต และจักรยานคันละ ๒๕ จั๊ต
บนพื้นที่ว่างในหมู่บ้านต่องปะโยง ตลอดจนที่ว่างริมทาง จะปลูกสร้างเป็นร้านค้าให้เช่า ราคาค่าเช่านับว่าแพงพอควร อีกทั้งต้องมีการประมูลและทำสัญญาเช่าพื้นที่ จำแนกเป็นประเภทต่างๆ เช่น โรงละคร  บ่ออาบน้ำ บ่อทิ้งขยะ ที่จอดรถ และร้านค้า ค่าเช่าพื้นที่ก็แพงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในปี ๒๕๓๕ ราคาค่าเช่าแพงขึ้นจากปีก่อนถึงเท่าตัว เช่น ราคาประมูลเช่าตลาดจากเดิมในปี ๒๕๓๔ ตกราคา ๓๐๐,๐๐๐ - ๓๕๐,๐๐๐ จั๊ต เพิ่มขึ้นในปี ๒๕๓๕ เป็น ๖๐๖,๐๐๐ - ๗๐๕,๐๐๐ จั๊ต และแพงขึ้นเรื่อยๆในปีต่อๆมา จนถึงปี ๒๕๓๙ ราคาค่าเช่าตลาดมีราคาสูงถึง ๗๕๓,๕๐๐ - ๘๗๘,๘๐๐ จั๊ต หากเป็นพื้นที่สำหรับปลูกโรงละคร จะตกราคาค่าเช่าราว ๑ แสนจั๊ต ค่าเช่าพื้นที่ปลูกโรงหนังจะตกราคา ๒ แสนกว่าจั๊ต ค่าเช่าบ่อน้ำประมูลกันในราคากว่า ๔ หมื่นจั๊ต ค่าเช่าบ่อขยะมีราคาประมูลกว่า ๘ หมื่นจั๊ต ผู้ประมูลรายใหญ่มักจะเป็นนายทุนจากเมืองมัณฑะเล ย่างกุ้ง และอำเภอมัตตยา บางคนถึงกับมากว้านซื้อที่ดินที่ต่องปะโยง เพื่อปลูกศาลนัตหารายได้จากผู้ศรัทธาที่มาเซ่นไหว้นัต ความเชื่อนัตจึงก่อให้เกิดธุรกิจชุมชน ที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านต่องปะโยง แรงงานท้องถิ่น พ่อค้าต่างถิ่น และผู้ประกอบพิธีนัต ขณะเดียวกันงานต่องปะโยงก็ส่งผลให้ราคาสินค้าในย่านมัณฑะเลแพงขึ้นได้ชั่วขณะ งานบูชานัตจึงมีบทบาททางเศรษฐกิจไม่น้อยไปกว่างานไหว้เจดีย์ของชาวพุทธพม่า
อันที่จริงสังคมพม่าได้ชื่อว่าเป็นสังคมพุทธ แต่ความเชื่อนัตซึ่งถูกกันให้อยู่นอกสาระบบของวิถีพุทธนั้นกลับยังมีผู้เชื่อถือศรัทธาเสมอมา และชาวพุทธพม่าทั่วไปก็มักแฝงความเชื่อเรื่องนัตอยู่ในใจไม่มากก็น้อย ทั้งในลักษณะเปิดเผยถึงขนาดยอมเป็นสาวกหรือไม่ก็แอบแฝงแบบเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง แม้แต่ผู้เคร่งพุทธศาสนาเองก็ไม่กล้าปฏิเสธความเชื่อเกี่ยวกับนัตเสียทีเดียว และไม่กล้าที่จะแสดงอาการลบหลู่ ส่วนใหญ่กล่าวแต่เพียงว่าการบูชาเซ่นสรวงนัตถือเป็นสิ่งงมงาย บ้างกล่าวว่าการลงผีนัตเป็นพิธีกรรมที่หลอกลวงและเหลวไหล มีการดื่มเหล้าเมายา เรียกร้องเงินทอง เสียค่าใช้จ่ายสูง เป็นพิธีที่ผิดไปจากแนวทางพุทธศาสนาที่สอนให้พึ่งพระรัตนตรัย หรือ ยะตะนะโตงบา (i9ol6"txjt) ส่วนการบูชานัตในเรือนนั้น ในบ้านที่เคร่งพุทธจะไม่จัดหิ้งหรือศาลสำหรับบูชานัต ด้วยเหตุผลว่า หากเซ่นดีก็ดี แต่ถ้าทำสิ่งใดผิดพลาดก็อาจมีเคราะห์ถึงเจ้าของบ้านได้เช่นกัน เห็นได้ว่าสำหรับผู้เคร่งพุทธแล้ว แม้จะไม่สนใจที่จะติดต่อกับนัตด้วยพิธีกรรมก็ตาม แต่ก็ยังคงหวั่นเกรงอำนาจนัตอยู่ดี
ภาพที่แสดงให้เห็นว่าชาวพม่ามิได้ปฏิเสธความเชื่อนัตมีพบอยู่ทั่วไปในสังคมพม่า อาทิ ในบ้านพม่าบางหลังนอกจากจะมีหิ้งบูชาพระพุทธรูปแล้ว ยังพบหิ้งนัตตั้งอยู่ใกล้กับหิ้งพระ โดยเฉพาะหิ้งนัตเรือน จะขนาบอยู่ด้านขวาของหิ้งพระนั้น  บางบ้านตั้งศาลนัตไว้ในบริเวณหน้าบ้านหรือร้านค้า ในเมืองย่างกุ้งจะนิยมตั้งศาลนังกะไร่ หรือเจ้าแม่นางกระบือ  และ มยิงผยูชิง(e,'Ntez&ia'N) หรือเจ้าพ่อม้าขาว ซึ่งต้องบูชาด้วยหุ่นม้าขาว หากเป็นร้านหมอดูจะพบรูปนัตตั้งอยู่ที่ร้านเช่นกัน รถเข็นขายของบางคันก็ประดับรูปสลักนัต ที่พบอยู่เสมอมักเป็นรถขายสลากกินแบ่งรัฐบาล รถขายหวยบางคันใช้ชื่อนัตเป็นชื่อร้านก็มี ตามเส้นทางสัญจรจะมีศาลนัตอยู่ริมทางใกล้ทางแยกหรือใต้ร่มไม้ใหญ่ ศาลนัตบางที่มีคนนิยมนำรถใหม่ไปปะพรมน้ำเพื่อความเป็นศิริมงคล ตามบ่อน้ำสาธารณะอาจมีศาลนัตตั้งอยู่ หากไม่มีศาลตั้งไว้ชาวพม่าก็เชื่อว่ามีนัตคอยดูแล แม้แต่ในงานบวชบางที่จะต้องประกอบพิธีบูชานัตด้วยเครื่องเซ่น หากเดินดูตามตลาดสดจะพบว่าแทบทุกแห่งจะมีร้านขายเครื่องบูชานัต มีมะพร้าว กล้วย เครื่องหอม และเครื่องเซ่นอื่นๆ บางที่มีหิ้งนัตเรือนวางขาย พบมากตามร้านค้าใกล้เจดีย์ หิ้งดังกล่าวจะทำเป็นรูปซุ้มปิดทองประดับลวดลายสวยงาม ส่วนที่บ้านของนัตกะด่อหรือร่างทรงจะพบเห็นผู้คนที่มีเรื่องทุกข์ร้อนมาขอคำปรึกษาหรือคำทำนายอยู่เสมอ และในบางช่วงเวลาจะพบพิธีลงนัต ที่จัดกันตามศาล ตามบ้าน หรือไม่ก็ตั้งเป็นปะรำ พบมากทั้งในตัวเมืองย่างกุ้งและมัณฑะเล ที่กล่าวมานี้เป็นภาพความเชื่อเกี่ยวกับนัตนอกเขตพุทธสถาน หากเป็นเขตวัดหรือลานเจดีย์จะพบรูปแบบการบูชานัตและสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆอีกเช่นกัน
รูปนัตตนหนึ่งที่มักพบเห็นบนลานพระเจดีย์ ก็คือ โพโพจี(46bt46btEdut) หรือ "พ่อปู่"   Taw Sein Ko นักปราชญ์ชาวพม่าเชื้อสายจีนกล่าวไว้ในหนังสือของเขาชื่อ Burmese Sketches ว่า โพโพจี เป็นนัตตนหนึ่งคอยดูแลเมืองท่าตอน ซึ่งเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมมอญเมื่อครั้งอดีตของแผ่นดินพม่าตอนใต้ ปัจจุบันโพโพจีเป็นที่บูชาของชาวพม่าทั่วไป เป็นนัตพ่อปู่ที่คอยเฝ้าดูแลพระเจดีย์และบำบัดความเจ็บไข้ได้ป่วยให้กับลูกหลาน คนพม่ามักชอบพาบุตรหลานมาบีบนวดรูปปั้นโพโพจี นัยว่าเพื่อเอาใจพ่อปู่หรือไม่ก็ขอพรจากพ่อปู่ช่วยให้พ้นจากโรคภัย เจดีย์ในพม่าแทบทุกแห่งมักต้องมีรูปปั้นพ่อปู่โพโพจีตนนี้อยู่เสมอ นอกจากพ่อปู่โพโพจีแล้วยังพบรูปนัตตนอื่นสถิตอยู่รายรอบพระเจดีย์อีก อาทิ รูปปั้นยักษ์สองพี่น้อง(pd¢Pugok'N)นั่งชันเข่าถือพระขรรค์ หลายแห่งมีรูปปั้นผู้วิเศษที่พม่าเรียกว่าทวดยะเป้า(5:dNixNgxjdN) ที่พบบ่อยคือ โพโพอ่อง(46bt46btgvk'N) อยู่ในชุดขาว และโพมีงข่อง(46bt,'Ntg-j'N)อยู่ในท่านั่งไขว่ห้าง นอกจากรูปนัตแล้วบริเวณลานพระเจดีย์มักมีรูปปั้นพระอินทร์ เทวดา ตลอดจนรูปพระอรหันต์ ที่พบเห็นเสมอคือ พระสีวลี(ia'Nlu;]b) และพระอุปคุต(ia'Nfx»869µ) นอกจากนี้พบว่าเจดีย์บางแห่งมีรูปปั้นพระสังกระจาย(v,Ntd6"t)และเจ้าแม่กวนอิม(d:,Ni'N,pNg9kN)รวมอยู่ด้วย พระเจดีย์จึงเป็นแดนสถิตของทั้งทวยเทพ พระอรหันต์ ผู้วิเศษ และนัต ด้วยเหตุนี้ชาวพุทธพม่ามิได้ไปวัดเพียงเพื่อกราบไหว้ขอพรจากพระเจดีย์เท่านั้น แต่ยังอ้อนวอนขอความคุ้มครองจากนัตและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่รายรอบพระเจดีย์อีกด้วย อย่างไรก็ตามนัตในเขตพระเจดีย์ที่กล่าวมานี้ชาวพม่าถือเป็นนัตที่ใกล้ชิดพุทธศาสนามากกว่านัตที่เป็นผีอารักษ์ที่จบชีวิตด้วยภัยอันร้ายแรง กล่าวได้ว่าชาวพุทธพม่าจะแยกแยะนัตเจ้าพ่อเจ้าแม่ออกจากนัตฝ่ายพุทธอย่างชัดเจน กำหนดให้นัตนอกจะต้องอยู่นอกเขตลานพระเจดีย์ ถือเป็นนัตฝ่ายโลกียะไม่นำมาปนเปกับนัตฝ่ายพุทธ
ไม่ว่าชาวพุทธพม่าจะแยกนัตนอกตามกล่าวออกจากสารบบของพุทธศาสนาก็ตาม แต่นัตหรือผีอารักษ์ที่เป็นวิญญาณของผู้ที่ตายร้ายนั้น เป็นนัตนอกที่ยังคงมีอิทธิพลต่อชาวพม่าในระดับหนึ่ง และบรรดานัตกะด่อหรือร่างประทับทรงของนัตยังคงมีบทบาทอยู่ได้ก็ด้วยชาวพม่าบางส่วนยังคงพึ่งพิงนัต ส่วนเหตุที่นัตยังคงมีพลังอยู่ในสังคมพม่านั้น อาจเป็นเพราะวิถีพุทธแท้ๆตอบสนองได้เฉพาะทางด้านจิตใจ มีเป้าหมายเพื่อความหลุดพ้น ในขณะที่ความต้องการของคนส่วนใหญ่เป็นเรื่องทางวัตถุที่ตอบสนองความสุขในปัจจุบัน ซึ่งไม่อาจรอเวลาให้กรรมดีส่งผล ยิ่งกว่านั้นการสร้างกุศลเพื่อให้เกิดสัมฤทธิผลในพรที่ปรารถนานั้น ต้องหมั่นสั่งสมผลบุญอยู่เสมอ และบางทีก็ต้องขึ้นอยู่กับกรรมเก่าแต่หนหลัง หรือไม่ก็ต้องจำนนต่อผลกรรม  อีกทั้งเรื่องทุกข์ใจก็มักจะเกี่ยวข้องกับความมั่นคงในชีวิตที่ไม่อาจพึ่งเฉพาะกำลังตน อาทิ ปัญหาความรัก ครอบครัว การแต่งงาน การหย่าร้าง การงาน การศึกษาเล่าเรียน การเดินทาง ของหาย โรคภัยไข้เจ็บ หรือการทำนายโชคลาภ พุทธซึ่งสอนให้พึ่งตนเองนั้นไม่อาจสนองต่อปัญหาเช่นว่านี้โดยตรง ด้วยเหตุนี้ พุทธจึงอาจไม่ใช่ทางออกที่ทันใจนัก ดังนั้นชาวพม่าบางส่วนจึงฝากความหวังไว้กับนัต ด้วยเชื่อว่านัตมีตัวตนและมีอำนาจ อาจช่วยบันดาลสิ่งต่างๆให้ได้นั่นเอง
นอกจากนี้ นัตยังดูจะให้ความรู้สึกที่ใกล้ชิดและเป็นกันเองแก่ผู้เชื่อถือศรัทธาอีกด้วย อาทิ ในเวลาที่นัตประทับทรง ผู้ศรัทธานัตจะสามารถพูดคุยปรับทุกข์และขอคำชี้แนะจากนัตโดยผ่านร่างทรง จนดูประหนึ่งว่าผู้ศรัทธานั้นได้มีโอกาสใกล้ชิดผู้มีอำนาจที่เข้าใจปัญหาของตน บางรายถึงขนาดร่ำไห้ทุกคราวที่นัตองค์ที่ตนศรัทธาลงประทับทรง และบางรายอาจถูกนัตนั้นเข้าสิงโดยไม่มีพิธีอัญเชิญก่อนก็มี ในความรู้สึกของผู้บูชานัตนั้น จะเชื่อว่านัตคือผู้คอยให้ความช่วยเหลือต่อผู้ศรัทธา และแต่ละคนสามารถเลือกบูชานัตตามภาวะวิสัยของตน จึงนิยมบูชานัตเฉพาะตนหรือเชื่อว่าเหมาะกับตนด้วยหวังพรจากนัตที่ตนเคารพเชื่อถือนั้น และหากสิ่งที่ร้องขอสำเร็จผลก็ต้องเซ่นไหว้กันตามความเหมาะสม แต่ถ้าไม่เป็นผลสัมฤทธิ์ก็มิใช่เป็นเหตุให้ต้องเลิกเชื่อถือนัตนั้นเสียทีเดียว ผู้เชื่อมักหวนกลับมาสำรวจตนว่าอาจทำสิ่งไม่เหมาะไม่ควรจนทำให้นัตไม่ให้ความเมตตา ฉะนั้นจึงต้องปฏิบัติตามความพึงพอใจของนัตแต่ละตนอย่างเคร่งครัด อาทิ งดกินเนื้อสัตว์ รักษาศีล และถวายอาหารที่นัตโปรด เป็นต้น ความเชื่อในนัตจึงมักเกี่ยวพันอยู่กับข้อห้ามข้อนิยม ไม่จำเพาะต้องพึ่งการสั่งสมบุญกุศลและอดีตกรรมมากนัก ผลบุญผลกรรมจึงดูจะมีน้ำหนักน้อยกว่าการเอาใจนัตเพื่อให้ได้รับผลสำเร็จตามประสงค์ ด้วยเหตุนี้นัตจึงเปรียบดุจผู้อารักษ์ที่คอยปัดเป่าเรื่องทุกข์กายทุกข์ใจ ที่ชาวพุทธพม่ามักเชื่อกันว่าเป็นผลมาจากข้อด้อยในกุศลและอดีตกรรมที่ก่อไว้นั่นเอง
นัตเป็นคำกลางๆที่มีความหมายรวมทั้งเทพเทวดา สมมุติเทพ เทพารักษ์ และผีอารักษ์ ความเชื่อเกี่ยวกับนัตของชาวพม่าในส่วนที่เกี่ยวกับนัตตามนัยของผีอารักษ์นั้นดูจะเป็นความเชื่อพื้นถิ่นที่ปรากฏอยู่คู่สังคมพม่ามายาวนานยิ่งกว่าพุทธศาสนา บทบาทของนัตในความเชื่อของพม่าดั้งเดิมมีความสำคัญถึงระดับร่วมสร้างบ้านแปงเมืองพุกามในยุคแรกๆ จนได้รับความสำคัญเป็นถึงมิ่งเมือง เป็นไปได้ว่ายุคของพระเจ้าอโนรธาเป็นอย่างช้า การรับพระพุทธศาสนาจากภายนอกได้ทำให้นัตในคติความเชื่อพื้นถิ่นถูกลดบทบาทลงเป็นเพียงนัตที่คอยพิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนา อาทิ อารักษ์พระเจดีย์ จนปัจจุบันพบว่านัตพื้นถิ่น โดยเฉพาะนัตนอก ๓๗ ตนที่เสียชีวิตด้วยภัยร้ายแรงถูกกำหนดให้เป็นนัตในฝ่ายโลกียะ สถิตอยู่เฉพาะในศาลพ้นเขตลานพระเจดีย์ แต่ถึงกระนั้นชาวบ้านก็มิได้ละความเชื่อนัตลง ยังคงมีการเซ่นไหว้นัตกันภายในบ้าน มีการอัญเชิญนัตประทับทรงในพิธีบวงสรวงนัต ร่างทรงนัตจึงยังคงมีบทบาทสืบทอดมาแทบไม่ขาดสาย ส่วนชาวพม่าที่ไม่พึ่งนัตนั้น แม้อาจจะปฏิเสธพิธีกรรมเซ่นสรวงนัต แต่ก็ไม่กล้าปฏิเสธอำนาจนัตอย่างสิ้นเชิง สังคมพม่าจึงเป็นสังคมพุทธที่แฝงอยู่ด้วยความเชื่อในนัตระคนกัน
อรนุช-วิรัช นิยมธรรม
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15549เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 18:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 22:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อยากทราบนัตโจกีจิ เป็นไปมาอย่างไรครั

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท