บทความเรื่องตลกอีสาน : ภาพสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย (ตอนที่ ๕)


เมื่อผู้มีสถานะสูงในวงถูกล้อเลียน                     

              การล้อเลียนผู้มีสถานะสูงในวง เป็นแนวเรื่องประเภทหนึ่งที่ถูกนำเสนอในการแสดงของคณะเสียงอีสาน โดยที่ไม่พบในการแสดงของคณะเพชรพิณทองเลย ผู้แสดงในคณะไม่ว่าจะเป็นปอยฝ้าย ยายแหลม หรือยายจื้น ต่างล้อเลียนนกน้อยซึ่งมีศักดิ์เป็นหัวหน้าวง และล้อเลียนอาวทิดหลอด ที่เป็นผู้จัดการวง เรื่องราวดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงช่องทางอีกอย่างหนึ่งในการระบายความกดดันทางสังคมที่ผู้แสดงไม่อาจจะกระทำได้ในโลกของความเป็นจริง ประเด็นการนำเสนอดังกล่าวนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในการนำเสนอแนวเรื่อง ซึ่งหากพิเคราะห์ถึงการแสดงของคณะเพชรพิณทองที่ก่อตั้งและแสดงมาก่อนคณะเสียงอีสานนั้น จะเห็นได้ว่า ไม่มีการล้อเลียนผู้มีสถานะสูงในวงดังเช่นที่เสียงอีสานนำเสนอในยุคปัจจุบันเลย                     

               เมื่อมาถึงยุคปัจจุบันที่คนเราต้องการจะระบายความเก็บกดที่ตนไม่อาจแสดงได้ในโลกจริง การสร้างมุขตลกจึงพุ่งเป้าไปที่การล้อเลียนประชดประชัน เสียดสีกลุ่มบุคคลดังกล่าว ซึ่งถือเป็นวัตถุดิบที่จะนำมาเป็นเครื่องปรุงรสอีกอย่างหนึ่งเพื่อสร้างความตลกขบขันในลักษณะการล้อเลียนหรือเสียดสี เพื่อให้ผู้คนในสังคมทั่วไปได้รับรู้ อีกทั้งยังเป็นการระบายความเก็บกดที่มีอยู่ภายในอีกฝ่ายหนึ่งได้                      

             เรื่องราวที่ผู้แสดงในคณะเสียงอีสานนำมาล้อเลียนผู้มีสถานะสูงในวง ได้แก่ เรื่องความตระหนี่ถี่เหนียวของนกน้อยในเรื่องกับข้าว ซึ่งถูกหยิบยกเอามาแซวอยู่ตลอด ดังเช่นที่ยายหากล่าวไว้ว่า ถึงแม้ว่านกน้อยจะเลี้ยงอาหารตน แต่สุดท้ายตนก็ต้องได้ซื้อกินอยู่ดี นอกจากนี้ ในเรื่องการแสดง ยายหายังบ่นว่า ตนทุ่มเทให้กับการแสดงมาก แต่นกน้อยกลับบอกว่า กลัวลูกวงเบิกเงิน ชี้ให้เห็นถึงความตระหนี่ของนกน้อยที่กลายเป็นมุขตลกให้ผู้แสดงนำมาเล่น ซึ่งในความเป็นจริง นกน้อยอาจจะไม่ได้มีนิสัยเช่นนั้นก็ได้

              การเล่นตลกโดยนำเอาเรื่องความตระหนี่ถี่เหนียวของผู้แสดงมาเล่าให้ผู้ชมฟัง จะเห็นได้ว่าเป็นการเล่นตลกประเภทเสียดสี เพื่อสร้างความขบขันให้กับผู้ชม อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ (2536: 40) กล่าวไว้ว่า การเล่นตลกประเภทนี้ ยังทำให้ผู้แสดงเกิดความสะใจที่ได้หัวเราะใส่คนที่ตนกล่าวถึงและเป็นการระบายความคับข้องใจที่ปกติจะถูกเก็บกดเอาไว้ได้อีกด้วย                      

               นอกจากมุขตลกในเรื่องความตระหนี่ถี่เหนียวของนกน้อยแล้ว เรื่องค่าตัวเป็นอีกมุขหนึ่งที่คณะเสียงอีสานสร้างขึ้นเพื่อล้อเลียนเสียดสีและประชดประชันนกน้อย เป็นการระบายความคับข้องใจที่ผู้แสดงถูกเก็บกดเอาไว้อีกทางหนึ่ง คณะเสียงอีสานใช้มุขเรื่องค่าตัวมาแสดงกันมากในการแสดงแทบทุกชุด (ตั้งแต่ชุด 1-5) ส่วนคณะเพชรพิณทองกล่าวถึงเรื่องค่าตัวในการแสดงชุด  ลุงแนบต้มฟังหมอลำซิ่งเพียงชุดเดียว

                 จากตัวอย่างการแสดงของเสียงอีสาน ชุดที่ 2 วิเคราะห์ได้ว่า ผู้แสดงตลกอาจจะได้ค่าตัวน้อยกว่านักร้องยอดนิยมอย่าง     ลูกแพร-ไหมไทย แม้ว่าค่าตัวของตลกกับนักร้องจะอยู่ในอัตราเดียวกัน คือ 500-2,000 บาท แต่จะได้มากน้อยนั้นก็ขึ้นอยู่กับความสามารถ และความนิยมของผู้ชมที่มีต่อผู้แสดงแต่ละคน                      

                เมื่อวิเคราะห์เนื้อหาเรื่องค่าตัวที่คณะเสียงอีสานนำเสนอนั้น จะสังเกตได้ว่า ผู้แสดงสามารถตำหนิเรื่องค่าตัวได้อย่างเต็มที่เพราะถือว่าเป็นการแสดงด้านหน้าเวที และหลังจากที่ผู้แสดงเล่นมุขนี้เพื่อให้ผู้ชมได้หัวเราะกับโชคชะตาที่เลวร้ายของตน และเพื่อระบายความคับข้องใจของตนเองแล้ว ก็จะมีบทสรุปให้ผู้ชมได้ทราบว่า นกน้อยไม่ได้ตระหนี่ถี่เหนียวเรื่องค่าตัวของนักแสดงเลย การที่ผู้แสดงจะได้ค่าตัวขึ้น ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถ และอายุงานของผู้แสดงเอง หากมีความสามารถและอายุงานมาก ก็จะได้ค่าตัวเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ดังเช่นที่นกน้อยกล่าวว่า ขั่นทีมงานเสียงอีสานถอดวิญญาณแสดงจั่งสี้ แม่ใหญ่นกน้อยสิขึ้นค่าโตให้เหมิดปี บ่ต้องเถียงเอาย่อมแสดงให้เห็นว่า ถ้าผู้แสดง แสดงออกถึงความสามารถของตนมาก ค่าตัวก็ย่อมจะขึ้นอยู่แล้ว ฉะนั้น จึงขึ้นอยู่กับความพยายามพัฒนาฝีมือการแสดงของผู้แสดงแต่ละคน ว่าจะทำได้มากน้อยเพียงใด

                ดังนั้น การที่ผู้แสดงนำมุขเรื่องค่าตัวมาเล่น โดยกล่าวตำหนิหัวหน้าวงที่ไม่ขึ้นค่าตัวให้ และที่ตนได้ค่าตัวน้อย เพียงวันละ 150 บาททั้ง ๆ ที่ความจริงแล้ว ค่าตัวของผู้แสดงได้มากกว่านั้น และจะมีการขึ้นค่าตัวให้หากความสามารถและอายุงานมีมาก จึงเป็นเพียงมุขตลกหนึ่งที่ยกเอาเรื่องใกล้ตัว และคนใกล้ตัวซึ่งเป็นหัวหน้าวงที่ผู้ชมรู้จักกันดีมาเล่นเพื่อสร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้ชมได้ง่ายเท่านั้น

หมายเลขบันทึก: 155479เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2007 09:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 22:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท