สิ่งแวดล้อมกับวิถีชีวิตชาวพม่า


ดินแดนที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านวัฒนธรรมมายาวนานนับตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนกระทั่งเข้าสู่ยุคสมัยปัจจุบัน
สิ่งแวดล้อมกับวิถีชีวิตชาวพม่า
สหภาพพม่านับเป็นประเทศหนึ่งในอุษาคเนย์  ซึ่งเป็นดินแดนที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านวัฒนธรรมมายาวนานนับตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนกระทั่งเข้าสู่ยุคสมัยปัจจุบันและเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นทางเอกลักษณ์วัฒนธรรมชาติหนึ่ง  จากลักษณะทางด้านภูมิศาสตร์ของ ประเทศพม่านั้น  พม่าได้ตั้งอยู่ระหว่างอู่อารยธรรมอันเก่าแก่ของโลกตะวันออกสองแหล่งคือ จีนและอินเดีย และเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก   ทั้งยังเป็นดินแดนอันเก่าแก่ของมนุษย์ที่มีความหลากหลายทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม ดำรงอยู่ร่วมกันบนผืนแผ่นดินที่รุ่มรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติแห่งนี้ และได้หล่อหลอมให้พม่ามีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านวัฒนธรรม  รูปแบบสถาปัตยกรรม  ประเพณี  วิถีชีวิต  สภาพสังคม อันเป็นเอกลักษณ์ของตนเองมาช้านาน
จากปัจจัยทางด้านภูมิศาสตร์และสภาพแวดล้อมของพม่าได้มีอิทธิพลอย่างยิ่งในการกำหนดแบบแผนทางด้านวัฒนธรรม อาหารการกิน สภาพวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชนชาวพม่าและชนชาติอื่นๆ จากหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์จะพบว่าราชธานีโบราณที่สำคัญของชาวพม่ามักจะกระจุกตัวอยู่แต่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดีในบริเวณพื้นที่ราบทางตอนกลางของประเทศ ซึ่งเป็นเขตที่แห้งแล้ง  อันเนื่องมาจากแนวเทือกเขายะไข่และแนวเทือกเขาฉิ่นที่ได้พาดผ่านจากด้านทิศเหนือลงมาสู่ด้านทิศใต้ ทางด้านทิศตะวันตกของประเทศ  ซึ่งได้ขวางกั้นลมมรสุมที่พัดพาเอาความชุ่มชื้นจากอ่าวเบงกอลมาสู่บริเวณนี้   แต่เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้มีแม่น้ำลำคลองไหลผ่านหลายสาย อาทิเช่น แม่น้ำอิรวดี แม่น้ำชิดวินห์  แม่น้ำมฺยิดแหง่  แม่น้ำมู  แม่น้ำซอจี  แม่น้ำปางล่อง  แม่น้ำซโม่ง ฯลฯ  ซึ่งแม่น้ำเหล่านี้ได้พัดพาเอาดินตะกอนอันโอชะที่มีความอุดมสมบูรณ์ลงมาสู่บริเวณพื้นที่ราบลุ่มในเขตนี้ โดยเฉพาะบริเวณที่ราบลุ่มเจ๊าก์แซ ( gdykdNCPN)  ที่ถือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออาณาจักรโบราณของชนชาวพม่า  โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาณาจักรพุกกามอันรุ่งโรจน์ ความยิ่งใหญ่ของศาสนสถานทางพระพุทธศาสนาและหมู่พระเจดีย์อันงดงามกว่าสี่พันองค์          ที่หลงเหลือเป็นมรดกมาให้กับชาวพม่าและผู้คนทั่วโลกได้ภาคภูมิใจในทุกวันนี้ อาจกล่าวได้ว่าความสำเร็จของอาณาจักรพุกกามมาจากผลผลิตทางด้านเกษตรกรรมจากนาข้าวบริเวณพื้นที่ราบเจ๊าก์แซ ผนวกกับวิทยาการทางด้าการชลประทานอันซับซ้อน ประกอบกับความสามารถในการจัดการด้านแรงงาน      อันมีประสิทธิภาพของกษัติริย์พม่าแต่โบราณ ในด้านความเป็นองค์เทวสิทธ์ ที่ได้รับคติจากพราหมณ์-ฮินดูนี้เองที่ทำให้อาณาจักรพุกกามสามารถดำรงความยิ่งใหญ่มายาวนานนับพันปี
นอกเหนือจากการเพาะปลูกข้าวที่เป็นพืชที่มีความสำคัญมาตั้งแต่อดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้แล้ว บริเวณที่ราบลุ่มทางตอนกลางอันแห้งแล้งนี้ยังเหมาะสมต่อการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ  อาทิเช่น ข้าวฟ่าง  ข้าวโพด ข้าวบาร์เลย์  งา  ไม้ยืนต้นจำพวก ต้นตาล  มะม่วง ขนุน  ฝรั่ง มะพร้าว พืชผักสวนครัวและถั่วชนิดต่างๆ โดยเฉพาะถั่วหรือที่ชาวพม่าเรียกว่า “ แบ” ( xc) นั้นชาวพม่ารู้จักถั่วและนิยมบริโภคถั่วมากมายสารพัดชนิด  การบริโภคถั่วจึงเข้ามาเป็นบริโภคนิสัยของชาวพม่าและถือเป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมการกินที่โดดเด่นชาติหนึ่ง ชาวพม่าสามารถนำถั่วมาดัดแปลงและประกอบปรุงเป็นอาหารสารพัดอย่าง  และด้วยเหตุที่ถั่วเข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันของคนพม่านี้เอง จึงทำให้คำว่าถั่วเข้าไปปรากฏในสำนวน สุภาษิต  และคำเปรียบเปรยต่าง ๆ ที่สะท้อนหรือสื่อให้เห็นถึงความสำคัญและมีนัยยะที่สัมพันธ์ต่อวิถีการดำรงชีวิตในสังคมของชาวพม่า นอกจากนี้แล้วบริเวณพื้นที่ทางตอนกลางของประเทศพม่านี้  ยังอดุมไปด้วยทรัพย์ในดินที่มีคุณค่าในทางเศรษฐกิจ อาทิเช่น น้ำมันดิบและแร่รัตนชาติ ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่เป็นที่ต้องการของตลาดโลกในปัจจุบัน
ส่วนผืนแผ่นดินบริเวณตอนล่างของประเทศพม่านั้น  ลักษณะภูมิประเทศประกอบด้วยพื้นที่ราบลุ่มดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอันอุดมสมบูรณ์สามแห่งใหญ่ๆ คือ ที่ราบลุ่มดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี  ที่ราบลุ่มปากแม่น้ำสะโตงและที่ราบลุ่มปากแม่น้ำสาละวิน ทำให้บริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่มีการกระจายตัวของประชากรหนาแน่นที่สุดในพม่า โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ราบลุ่มดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดีนั้น  แม่น้ำอิรวดีได้ฉีกตัวเองออกเป็นรูปพัด ก่อนที่จะไหลลงสู่อ่าวเมาะตะมะ ก่อให้เกิดพื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอันอุดมสมบูรณ์สูงสุดที่หลากหลายทางด้านชีวภาพและมีความเหมาะสมต่อการเกษตรกรรมโดยเฉพาะการทำนาข้าว  ทั้งยังเป็นแหล่งปลาน้ำจืดที่สำคัญนา ๆ ชนิด     ความเกื้อกูลของแม่น้ำอิรวดีที่มีต่อชาวพม่านี้เองทำให้ชาวพม่ายกย่องเทิดทูนเสมือนเส้นโลหิตใหญ่ที่หล่อเลี้ยงและโอบอุ้มชีวิตของประเทศนี้เอาไว้
นับตั้งแต่อดีตเป็นต้นมาบริเวณพื้นที่ทางตอนล่างที่มีความอุดมสมบูรณ์ของประเทศพม่านี้  เป็นเขตอิทธิพลทางวัฒนธรรมของชนชาติมอญมาก่อนหน้าที่ชนชาวพม่าจะแผ่อิทธิพลลงมาครอบคลุมบริเวณพื้นที่เหล่านี้ไว้ได้ทั้งหมด ด้วยความเหมาะสมในด้านทำเลที่ตั้งและลักษณะภูมิประเทศที่เอื้ออำนวย ประกอบกับความอุดมสมบูรณ์ของผิวดิน พันธุ์พืชและทรัพยากรธรรมชาติ  มอญจึงเป็นชนชาติหน้าด่านแรกๆ ที่รับเอาความเจริญรุ่งเรืองทางด้านวัฒนธรรมมาพร้อมๆ กับพระพุทธศาสนาที่เผยแพร่เข้ามาจากอินเดีย ซึ่งเข้ามามีอิทธิพลและมีบทบาทต่อวิถีชีวิตและสังคมชาวมอญ  ก่อนที่ชนชาติมอญจะถ่ายทอดวิทยาการอันรุ่งโรจน์นี้ให้กับชนชาติพม่าและชนเชื้อชาติอื่นๆ ในอุษาคเนย์ โดยเฉพาะอิทธิพลทางด้านพระพุทธศาสนานั้นได้หยั่งรากลึกลงในสังคมของชาวพม่าผสมผสานกับความเชื่อปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ และผีสางเทพยดาหรือนัต ( o9N)  จนหล่อหลอมให้เกิดจารีตและประเพณีเพื่อให้สามารถดำรงวิถีชีวิตได้อย่างร่มเย็นสงบสุขสอดคล้องกับความเป็นไปของธรรมชาติและสภาวะแวดล้อม
อิทธิพลของลมมรสุมก็มีความสำคัญยิ่งต่อวิถีชีวิตของชาวพม่า ในฐานที่เป็นปัจจัยหรือเป็นตัวกำหนดฤดูกาลเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยว ในอดีตเมื่อลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดพามาถึงซึ่งจะพัดพานำเอาความชุ่มชื้นจากมหาสมุทรอินเดียมาสู่ผืนแผ่นดินพม่า ฤดูแห่งการเพาะปลูกจึงได้เริ่มขึ้น ทั้งยังพัดพาหรือนำเอากองเรือคารวานสินค้าทั้งจากในยุโรบ  เอเชีย  และตะวันออกกลางเข้ามาค้าขายและหลบลมมรสุม ยังแถบหัวเมืองท่าทางภาคใต้ของพม่าที่มีชื่อเสียงในอดีตเช่น  สะเทิม     สิเรียม  หงสาวดี  เมาะลำไย  ตะเกิง ( ย่างกุ้ง )  ทวาย มะริด และตะนาวศรี จนทำให้บริเวณพื้นที่แห่งนี้กลายเป็นศูนย์กลางการค้าโลกที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง  และกองคาราวารเรือสินค้าเหล่านี้ก็จะนำเอาสินค้าประเภทที่เป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศของตน อาทิเช่น เครื่องเทศ ไม้หอม หนังสัตว์ งาช้าง ปรอท ทองคำ ข้าว แร่รัตนชาติ ฯลฯ ที่มีอยู่อย่างชุกชุมในบริเวณพื้นที่แห่งนี้กลับออกไป  ความอุดมสมบูรณ์นี่เองทำให้บริเวณแห่งนี้ได้รับการขนานนามว่า “สุวรรณภูมิ” หรือแผ่นดินทอง อันมีนัยยะที่สำคัญถึงความอุดมสมบูรณ์และความมั่งคั่งร่ำรวยของบริเวณพื้นที่แห่งนี้นั่นเอง
ในบริเวณพื้นที่ทางภาคใต้ของประเทศพม่านั้นลักษณะภูมิประเทศประกอบด้วยที่ราบชายฝั่งทะเลและที่ราบลุ่มแม่น้ำแคบๆ เป็นแม่น้ำสายสั้นๆ ที่ไหลลงสู่ทะเลอันดามันอาทิเช่น แม่น้ำทวาย แม่น้ำตะนาวศรี  แม่น้ำเย และแม่น้ำปากจั่น  ซึ่งที่ราบชายฝั่งเหล่านี้ได้ขนานไปกับแนวเทือกเขาตะนาวศรี ทั้งยังประกอบไปด้วยหมู่เกาะใหญ่น้อยมากมายหลายร้อยเกาะ ที่มีชื่อเสียงที่รู้จักกันดีคือหมู่เกาะมะริด นอกจากนี้แล้วบริเวณชายฝั่งเหล่านี้ยังมีความเหมาะสมในการสร้างเป็นท่าเทียบเรือน้ำลึกได้เป็นอย่างดี อีกทั้งในช่วงฤดูลมมรสม เนื่องจากบริเวณเหล่านี้ไม่มีแนวเทือกเขาที่เป็นตัวขวางกั้นทิศทางลม จึงทำให้ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมอย่างเต็มที่  ซึ่งส่งผลให้มีฝนตกชุกเกือบตลอดฤดู  พืชพรรณธรรมชาติจึงมีลักษณะแบบป่าดงดิบชื้น  ด้วยลักษณะสภาพภูมิอากาศเช่นนี้จึงทำให้มีความเหมาะสมต่อการทำสวนผลไม้ อาทิเช่น  ลางสาด เงาะ ทุเรียน  มังคุด  ลองกอง ส้มโอ ฯลฯ  และพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ  อาทิเช่น  ยางพารา หวาย  และเครื่องเทศ เป็นต้น  อีกทั้งตามแนวชายฝั่งทะเลก็พบป่าชายเลนกระจายอยู่ทั่วไปเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และอนุบาลพันธุ์สัตว์น้ำทะเลที่สำคัญในระบบนิเวศ  นอกจากนี้แล้วในบริเวณอ่าวเมาะตะมะ และทะเลอันดามัน ยังอุดมไปด้วยสินในน้ำทั้งสัตว์น้ำทะเลนาๆ ชนิดและก๊าซธรรมชาติ  แม้ว่าในสภาวะที่เศรษฐกิจถดถอยในปัจจุบัน ประชาชนชาวพม่าก็สามารถดำรงชีวิตได้อย่างไม่อัตคัตนักซึ่งก็เนื่องมาจากความอุดมสมบูรณ์ของผืนแผ่นดิน ผนวกกับวิธีชีวิตแบบพอเพียงตามแนวทางพระพุทธศาสนาที่สอดประสานไปกับประเพณีและวิถีความเชื่อของสังคมที่สอดคล้องกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ   จึงทำให้พม่ายังคงความอุดมสมบูรณ์และเต็มไปด้วยความหลากหลายทางด้านชีวภาพกระทั่งปัจจุบัน
ในแถบที่ราบสูงฉาน และรัฐกะเหรี่ยงซึ่งประกอบไปด้วยภูเขาสูงสลับซับซ้อนแม้ว้าจะมีพื้นที่ราบที่เหมาะแก่การเกษตรอยู่เพียงเล็กน้อยแต่บริเวณพื้นที่เหล่านี้ก็มั่งคั่งไปด้วยทรัพยากรอันมีค่าที่เป็นที่ต้องการของตลาดโลก โดยเฉพาะไม้สัก แร่ธาตุและอัญมณี ทั้งสภาพอากาศที่มีควาามเหมาะสมต่อการปลูกพืชเศรษฐกิจเมืองหนาว อาทิเช่น ชา  กาแฟ สตรอเบอร์รี่  และพืชผักผลไม้เมืองหนาวอื่นๆ โดยเฉพาะบริเวณทางตอนเหนือของรัฐฉานซึ่งในอนาคตบริเวณพื้นที่เหล่านี้จะกลายเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีความสำคัญเป็นทวีคูณยิ่งขึ้นและอาจจะกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนที่พึ่งพาอาศัยธรรมชาติเป็นหลักก็อาจเป็นได้  นอกจากนี้แล้วบริเวณที่ราบสูงฉานนี้ยังเต็มไปด้วยความหลากหลายทางด้านเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์  โดยเฉพาะพวกฉานหรือไทยใหญ่ กะเหรี่ยง ปะหล่อง ปะโอะ  ว้า  อีงตา ฯลฯ 
ความแตกต่างของสภาพพื้นที่ ได้เป็นปัจจัยกำหนดแบบแผนทางด้านวัฒนธรรม  รูปแบบทางสังคมและ วิถีการดำรงชีวิต  ให้สอดคล้องไปกลับสภาพภูมิประเทศและสภาพแวดล้อมที่แวดล้อมสังคมหรือชุมชนนั้นๆ  อาทิ  ชาวไทใหญ่หรือชาวฉานมักอาศัยอยู่ตามที่ราบลุ่มแม่น้ำที่สำคัญหรือที่ราบลุ่มบริเวณหุบเขา ประกอบอาชีพการเกษตรเป็นหลัก โดยเฉพาะการทำนาและการทำสวนผัก แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ที่บริเวณพื้นที่เหล่านี้เต็มไปด้วยภูเขาจึงต้องใช้วิธีการทำนาในรูปแบบที่เรียกว่าการทำนาขั้นบันได  ชาวฉานนับถือพระพุทธศาสนา วิถีการดำรงชีวิตจึงผสมผสานเข้ากับธรรมชาติได้อย่างลงตัว  สังคมชาวฉานจึงมีประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาและการอนุรักษ์ธรรมชาติอันเป็นภูมิปัญญาเชิงจิตวิทยา เพื่อให้สามารถจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  ชาวกะเหรี่ยงและชาวปะหล่อง อาศัยอยู่ในเขตภูเขาสูงดำรงชีวิตด้วยการเพาะปลูกที่เรียกว่าการทำไร่ดอย ซึ่งจะย้ายไปทำการเพาะปลูกในพื้นที่ใหม่ทุก 2-3 ปี  เพื่อฟื้นคืนสภาพของดิน ให้สามารถกลับมาเพาะปลูกได้อีกครั้งนับเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สามารถจัดการกับทรัพยากรธรรมชาติและการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติได้อย่างเหมาะสม  นอกจากนี้แล้ว ชาวอีงตาก็เป็นภาพลักษณ์อันโดดเด่นชนชาติหนึ่งที่สามารถดำเนินวิถีชีวิต ให้สอดคล้องกับสภาพสิ่งแวดล้อมที่แวดล้อมสังคมและชุมชนของตน ชาวอิงตาหรือที่ชาวไทใหญ่เรียกว่า “ม่านหนอง” ได้อาศัยและตั้งหลักแหล่งอยู่บริเวณทะเลสาบอิงตาซึ่งเป็นหนองน้ำใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพ ข้อจำกัดทางด้านภูมิศาสตร์ในการทำการเกษตรกรรมจึงทำให้ชาวอิงตาใช้ภูมิปัญญาที่สั่งสมมาแต่บรรพชนผนวกกับวิทยาการอันซับซ้อนและความคิดสร้างสรรค์  ทำให้ชาวอิงตารู้จักนำเอาวัชพืชที่มีอยู่อย่างมากมายในทะเลสาบแห่งนี้มารังสรรค์เป็นสวนน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถเพาะปลูกพืชผักนาๆชนิดได้ผลอย่างดียิ่ง
ในบริเวณพื้นที่ทางภาคตะวันตกของประเทศอันเป็นที่ตั้งของรัฐยะไข่ในปัจจุบันนี้พื้นที่บริเวณนี้ประกอบด้วยพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำและพื้นที่ราบชายฝั่งแคบๆขนานไปกับอ่าวเบงกอลและขนาบไปด้วยเทือกเขาสูงที่เป็นฉากอยู่เบื้องหลัง แม่น้ำที่ถือว่ามีความสำคัญและถือเป็นจุดกำเนิดของอารยธรรมของชนชาวยะไข่คือแม่น้ำกะลาดาน และถือเป็นเขตการเกษตรกรรมที่มีความสำคัญและมีส่วนช่วยเสริมสร้างความมั่งคั่งให้กับราชธานีโบราณของชาวยะไข่ในอดีต  จากลักษณะภูมิประเทศของรัฐยะไข่ซึ่งทำให้ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมที่พัดพามาจากอ่าวเบงกอลอย่างเต็มที่ในทุกๆปี  และมักก่อให้เกิดอุทกภัยอยู่เนืองๆ ด้วยลักษณะทางธรรมชาติที่เป็นเช่นนี้อาจมีส่วนให้อุปนิสัยของชาวยะไข่มักมีลักษณะดุดัน ตรงไปตรงมา  จนทำให้ชาวพม่าเปรียบเปรยชาวยะไข่ว่า ถ้าหากพบงูพิษกับชาวยะไข่ ก็ให้ตีชาวยะไข่ก่อน  ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงนัยยะที่แฝงทัศนคติของชาวพม่าที่มีต่อชาวยะไข่ ชาวยะไข่เป็นชนชาติที่นับถือพระพุทธศาสนา และเป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัด ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีของชาวยะไข่จึงถูกถ่ายทอดออกมาให้สอดคล้องกับวิถีการดำรงชีวิตตามแบบฉบับของสังคมพุทธ
ในบริเวณพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศประกอบไปด้วยเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนน้อยใหญ่ พื้นที่ราบที่เหมาะสมต่อการเกษตรมีน้อยจึงเป็นเขตที่มีประชากรอาศัยอยู่เบาบางที่สุด กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความสำคัญในบริเวณนี้คือ พวกกะฉิ่น ชาวกะฉิ่นมิได้นับถือพระพุทธศาสนาแต่มีความเชื่อในเรื่องของผีบรรพบุรุษ นัต  และมีบางส่วนนับถือศาสนาคริสต์  ประเพณี สังคมและวัฒนธรรมของชาวกะฉิ่นจึงดำเนินให้มีความเป็นไปและใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ เพื่อความผาสุก  เพื่อความกินดีอยู่ดีของชาวกะฉิ่น
สภาพภูมิศาสตร์และสภาพสิ่งแวดล้อมที่มีความแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาคของประเทศพม่าได้เป็นตัวกำหนดบทบาทวิถีการดำเนินชีวิต กิจกรรมทางสังคม ประเพณี และศิลปวัฒนธรรม ที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชนชาติในแต่ละพื้นที่  อิทธิพลของพระพุทธศาสนาที่เผยแพร่มายังดินแดนแถบนี้เมื่อหลายพันปีก่อนได้เข้ามามีอิทธิพลต่อกลุ่มชนที่ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาอย่างเช่น มอญ และ พม่า  พร้อมกับอารยธรรมที่หลั่งไหลเข้ามาพร้อมกับพระพุทธศาสนาจากอินเดีย  ผสมผสานกับวิถีความเชื่อดั้งเดิมของชาวพม่าที่กราบไหว้บูชาผีบรรพบุรุษและเทพยดา หรือที่เรียกว่า นัต ที่หยั่งรากลึกลงในสังคมพุทธของชาวพม่า ซึ่งไม่อาจสามารถที่จะแยกความสำพันธ์ระหว่างพุทธ และนัตในสังคมชนชาวพม่าได้แม้ในปัจจุบัน ความเป็นไปในจักรวาลและธรรมชาติถูกนำมาเชื่อมโยงให้สอดคล้องกับวิถีแห่งพุทธและนัต  ก่อให้เกิดเป็นประเพณีที่กำหนดแบบแผนการดำรงชีวิตในวิถีทางสังคมตามแนวทางพม่าที่อาศัยภูมิปัญญาที่ได้สั่งสมกันมาและการปรับตัวให้เข้ากับความเป็นไปในระบบวัฏจักรแห่งธรรมชาติเพื่อให้บังเกิดความผาสุกร่มเย็น วิถีการดำเนินวิถีชีวิต  จึงสะท้อนออกมาเป็นอัตตลักษณ์ทางสังคม  พม่าจึงเป็นสังคมที่ดำเนินวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมที่แวดล้อมสังคมอยู่ผสมผสานกับความเชื่อ ภูมิปัญญาและวิถีทางที่เรียบง่ายตามแนวพระพุทธศาสนา  สังคมพม่าจึงดำเนินไปได้อย่างไม่อัตคัตภายใต้ดินแดนที่รุ่มรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติแห่งนี้ 
สามารถ บุตรแก้ว
นิสิตเอกพม่าศึกษา ปี 3
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15547เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 18:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์
  • ขอขอบคุณอาจารย์ ทีมงาน และนิสิตทุกท่าน
  • เรื่องนี้คล้ายกับใน website ของศูนย์พม่าศึกษา ถ้าจัดหน้าใหม่ ให้มีภาพประกอบสัก 1 ภาพ และมีการแบ่งย่อหน้า เติมสีระบาย เพื่อแยกหัวข้อออกไป น่าจะทำให้อ่านได้ง่ายขึ้น
  • บทความของศูนย์พม่าศึกษามีประโยชน์มาก ช่วยให้คนไทยเข้าใจเพื่อนบ้านดีขึ้น
  • ขอขอบคุณทุกท่านอีกครั้ง...

ต้องการรูปค่ะไม่ใช่ตัวหนังสือ

เข้าจัยก่

ขอบคุณค่ะ เป็นบทความที่มีประโยชน์มาก

สู้ๆนะคะ : -)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท