ภาพลักษณ์ทั่วไปของสหภาพพม่า


สหภาพพม่ามีพื้นที่ทอดยาวจากเหนือลงมาทางใต้ เป็นผืนแผ่กว้างในตอนกลาง เรียวแหลมไปทางเหนือและใต้ บ้างกล่าวว่าประเทศพม่ามีรูปร่างคล้ายว่าวปักเป้า
ภาพลักษณ์ทั่วไปของสหภาพพม่า

 

สหภาพพม่ามีพื้นที่ทอดยาวจากเหนือลงมาทางใต้ เป็นผืนแผ่กว้างในตอนกลาง เรียวแหลมไปทางเหนือและใต้ บ้างกล่าวว่าประเทศพม่ามีรูปร่างคล้ายว่าวปักเป้า บ้างว่าคล้ายเพชร และบ้างว่าคล้ายกับร่างคนที่ยืนผินหน้าสู่ตะวันออก ภูมิประเทศของสหภาพพม่าแวดล้อมด้วยเนินเขาและพื้นที่สูง สลับด้วยที่ราบลุ่มน้ำ แม่น้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงผืนแผ่นดินพม่า ได้แก่ แม่น้ำชิดวิน แม่น้ำอิระวดี แม่น้ำพะโค และแม่น้ำสาละวิน ทางตอนล่างของสหภาพพม่ามีชายฝั่งทะเลเหยียดยาวจากอ่าวเบงกอลทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ แล้วค่อยอ้อมมาทางด้านตะวันออกเรื่อยลงไปทางด้านใต้ทางฟากทะเลอันดามัน

 

ประเทศพม่าอุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติทั้งบนดิน ใต้ดิน และในทะเล อาทิ ป่าไม้ อัญมณี แร่ธาตุ น้ำมัน และแหล่งอาหาร พม่ายังคงสภาพผืนป่าธรรมชาติไว้ถึงครึ่งหนึ่งของพื้นที่ประเทศ และเป็นแผ่นดินที่อุดมด้วยทับทิม หยก และพลอย มีโลหะมีค่า อาทิ ทอง เงิน เหล็ก ตะกั่ว ทองแดง ดีบุก และสังกะสี มีแหล่งพลังงาน อาทิ น้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน ในน้ำอุดมด้วยกุ้งและปลานานาชนิด ผืนแผ่นดินพม่าจึงมีสภาพแวดล้อมและทรัพยากรที่ออกจะสมบูรณ์อยู่ภายในตัว

 

สหภาพพม่าแบ่งการปกครองเป็นรัฐ ๗ รัฐ และภาค ๗ ภาค รัฐทั้ง ๗ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สูงรอบนอกที่ชนส่วนน้อยเผ่าต่างๆอาศัยอยู่ รัฐดังกล่าวได้แก่ รัฐกะฉิ่น รัฐฉาน รัฐคะยา รัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ รัฐฉิ่น และรัฐยะไข่ ชื่อรัฐถูกกำหนดตามกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นชนส่วนใหญ่ในแต่ละรัฐ ส่วนภาคทั้ง ๗ นั้น เป็นพื้นที่ราบลุ่มที่ชนชาติพม่าอาศัยอยู่เป็นส่วนมาก ได้แก่ มะเกว สะกาย มัณฑะเล พะโค ย่างกุ้ง อิระวดี และตะนาวศรี แม้การแบ่งพื้นที่จะจำแนกแบ่งตามชาติพันธุ์ แต่โดยสภาพแท้จริงแล้ววัฒธรรมพม่าได้แพร่ขยายไปเกือบทั่วทุกภูมิภาคเนื่องด้วยสื่อของรัฐและอำนาจการปกครองจากส่วนกลาง วัฒนธรรมพม่า ภาษาพม่า พุทธศาสนา และประวัติศาสตร์ชาติ นับเป็นหัวใจสำคัญในการหล่อหลอมความเป็น เอกภาพ ในปัจจุบันแม้พม่าจะพยายามปลูกฝังวัฒนธรรมพม่าจากส่วนกลางเพื่อสร้างสำนึกแห่งชาติก็ตาม แต่พม่าก็มีท่าทีผ่อนปรนเพื่อให้มีการแสดงออกทางวัฒนธรรมท้องถิ่นของชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ตราบใดที่ไม่มีปฏิกริยาที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ และการที่รัฐบาลพม่าใช้ระบบการปกครองที่เข้มแข็งเด็ดขาด สหภาพพม่าจึงสามารถดำรงความเป็นปึกแผ่นอยู่ได้นับแต่ได้รับเอกราชเป็นต้นมา

 

พม่าเป็นแผ่นดินแห่งชาติพันธุ์ ระบุว่ามีจำนวนทั้งหมด ๑๓๕ เผ่าพันธุ์ ตัวเลขนี้เป็นข้อมูลจากผลการสำรวจคร่าวๆโดยจำแนกพื้นที่ตามรัฐและภาคต่างๆทั้ง ๑๔ แห่ง จำนวนกลุ่มชาติพันธุ์ดูจะมากกว่าที่ควร อย่างไรก็ตามจำนวนกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าวช่วยทำให้เห็นภาพการกระจายตัวของกลุ่มวัฒนธรรมต่างๆในประเทศพม่า กลุ่มชนที่มีจำนวนประชากรค่อนข้างมากและมีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์เด่นชัดมีเพียง ๘ กลุ่ม คือ พม่า ยะไข่ มอญ ฉาน กะฉิ่น กะเหรี่ยง ฉิ่น และคะยา แต่ละกลุ่มมีภาษาและเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่ม และแม้ประเทศพม่าจะมีภาษาท้องถิ่นมากมาย แต่ภาษาพม่าของคนพื้นราบถือเป็นภาษาราชการและเป็นภาษากลางของคนทุกเผ่าพันธุ์ พม่ามองว่าความแตกต่างหลากหลายของประชากรในประเทศเป็นเพียงความแตกต่างทางวัฒนธรรม แต่ทุกเผ่าพันธุ์ต่างมีสายเลือดเดียวกันและต่างถือเป็นพันธมิตรร่วมแผ่นดิน

 

ทางด้านอารยธรรมของชาติ พม่ามักกล่าวเน้นว่าแผ่นดินพม่ามีความเก่าแก่ยาวนานมาก่อนยุคประวัติศาสตร์ ยิ่งเมื่อมีการค้นพบซากมนุษย์โบราณที่มีอายุหลายพันปีเมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลพม่าถึงกับประกาศว่า เผ่าพันธุ์มนุษย์อาจเริ่มที่แผ่นดินพม่า และกล่าวยืนยันอยู่เสมอว่าประเทศพม่าไม่ใช่ประเทศที่เพิ่งเกิดใหม่เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ หากแต่มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ยาวนานร่วมสองพันปี ดังพบร่องรอยของอาณาจักรโบราณในพม่าหลายแห่ง ได้แก่ อาณาจักรพยู อาณาจักรมอญ อาณาจักรยะไข่ และท้ายสุดคืออาณาจักรเมียนมาหรือพม่า อาณาจักรเมียนมาเริ่มสมัยพุกาม ตามด้วยตองอู และสิ้นสุดในสมัยคองบอง แล้วจึงตกเป็นทาสอาณานิคมของอังกฤษ

 

รัฐบาลพม่าปัจจุบันถือว่าอุดมการณ์ชาตินิยมเป็นพลังสำคัญที่ช่วยให้พม่าได้รับเอกราช และกองทัพเป็นสถาบันหลักในการนำพาประเทศตลอดมา และไม่ว่าระบอบการปกครองหรือระบบเศรษฐกิจจะปรับเปลี่ยนไปในรูปใดก็ตาม รัฐบาลพม่ามักกล่าวเสมอว่าประชาชนจะขาดกองทัพไม่ได้ อย่างไรก็ตาม แม้พม่าจะปกครองในเชิงอำนาจ แต่ในสังคมพม่าทั่วไปกลับพบว่ามีความสงบ และประชาชนส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย พุทธศาสนานับว่ามีอิทธิพลต่อโลกทัศน์ของชาวพม่า และถือเป็นแม่แบบทางวัฒนธรรมและการดำเนินชีวิต การดำรงความเป็น พุทธนิยมบนฐานประชาชนและชาตินิยมภายใต้กองทัพแห่งชาติยังเป็นแนวทางที่รัฐบาลพม่าใช้สร้างความเข้มแข็งให้กับการปกครองและสังคมพม่าจนถึงปัจจุบัน

 

วิรัช นิยมธรรม

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15543เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 18:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 23:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท