เปิดห้องเรียนการตลาด เมื่อหลักสูตรปรับตัวรับมือ "Gen Y"


"เราตั้งใจให้ทรัพยากรที่ค่อนข้างจำกัด เพราะการทำงานภายใต้ความไม่พร้อมนี้เองจะทำให้คนสามารถใช้ขีดความสามารถที่มีอยู่ทั้งหมดออกมา ซึ่งทำให้เขาเกิดความพร้อมและสามารถรับมือได้กับความกดดันในโลกของการทำงานจริงและอะไรที่มันยากเขาจะจำมันไปตลอดชีวิต"

บทสัมภาษณ์จากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ (citation ด้านล่างครับ) 

หลักสูตรการเรียนการสอนในระดับปริญญาโทที่มีอยู่มากมาย การปรับตัวในช่วงที่ผ่านมานอกจากจะตอบโจทย์ตลาดแรงงานเป็นที่ตั้ง ในอีกขาหนึ่งถ้ามองว่า "หลักสูตร" คือ "สินค้า" โจทย์ที่สำคัญไม่แพ้กันคือการตอบสนองความต้องการของ "ลูกค้า" นักศึกษาที่เข้ามาเรียน ไม่เพียงแค่แบรนด์และราคาที่ถือเป็นเหตุผลสำคัญที่สุดในการตัดสินใจเข้ามาเรียนของนักศึกษา วันนี้รูปแบบการเรียนการสอน บรรยากาศห้องเรียน ก็เป็นปัจจัยสำคัญไม่แพ้กันในการตัดสินใจเลือกสถาบันการศึกษาเข้ามาเรียน เรื่องเหล่านี้กำลังทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ในวันที่การแข่งขันของหลักสูตรต่างๆ เข้มงวดขึ้นเป็นลำดับ

โดยเฉพาะในวันที่กลุ่มเป้าหมายกำลังเปลี่ยนไป !!

"ตอนนี้คนที่จะเข้ามาเรียนในระดับปริญญาโทถือเป็นช่วงยุครอยต่อระหว่างเจเนอเรชั่นเอ็กซ์ (generation X) และเจเนอเรชั่นวาย (generation Y) ทำให้เป็นโจทย์ที่ทำให้วิทยาลัยจำเป็นต้องปรับปรุงรูปแบบการเรียนการสอน วันนี้ถ้าหลักสูตรไหนยังไม่รู้ว่ากลุ่มเป้าหมายที่จะผลิตออกไปจะเป็นอย่างไร ในอนาคตก็อยู่ไม่ได้" บุริม โอทกานนท์ ประธานสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว

มากกว่า "บุฟเฟต์มาร์เก็ตติ้ง"

หลักสูตรการจัดการ สาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการมหิดล แม้จะเป็นหลักสูตรที่ได้รับความนิยมมากที่สุดแห่งหนึ่งสำหรับการศึกษาในระดับปริญญาโท โดยมีอัตราส่วนผู้ได้รับเลือกเข้ามาเรียนและผู้สมัครสอบอยู่ในสัดส่วน 1 : 4 แต่ในช่วงที่ผ่านมาก็มีการเปลี่ยนแปลงโดยปรับโฟกัสจากแค่การเป็นหลักสูตรการตลาดที่ป้อนองค์กรธุรกิจทั่วไปมาเป็น การผลิตคนเพื่อป้อนตลาดกลุ่ม "สินค้าอุปโภคบริโภค" (consumer product) โดยเลือกวิชาบางส่วนที่ไม่จำเป็นออก และใส่วิชาใหม่ๆ

อาทิ trade marketing retail marketing ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่ใหม่มากมาใส่ ขณะเดียวกันมีการปรับบางวิชา เช่น วิชาวิจัยให้รองรับกับสิ่งที่นักศึกษาในสายนี้จะนำมาใช้ได้จริงมากขึ้น มากกว่านั้นยังเน้นในเรื่องการให้ความสำคัญกับการออกแบบการเรียนการสอนที่เปลี่ยนไป โดยใช้ problem base learning มาเป็นแกน ซึ่งในวิธีคิดเช่นนี้ทำให้ "นักศึกษา" กลายเป็นศูนย์กลางของการเรียนการสอน

"6-7 ปีที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าหลักสูตรการตลาดที่มีอยู่เป็นจำนวนมากน่าจะเรียกว่าบุฟเฟต์มาร์เก็ตติ้ง คือมีอะไรใหม่ที่พูดกันในวงการก็ใส่เข้าไปโดยไม่รู้ว่าสุดท้ายปลายทางที่ต้องการว่า นักศึกษาที่จบมา (end product) คืออะไร เราจึงหันมาโฟกัสเฉพาะนักศึกษาที่จบออกไปทำในกลุ่มธุรกิจที่เป็น "consumer product"

โยนปัญหาให้เรียนรู้

หนึ่งในกิจกรรมใหม่ที่อยู่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงนี้ คือการจัดงานสัมมนาวิชาการทางการตลาดซึ่งนักศึกษาจะได้มีโอกาสนำองค์ความรู้ทางด้านการตลาดทั้งในภาคทฤษฎี ประสบการณ์แนวคิด เทคนิควิธีการจัดการด้านการตลาด เครื่องมือทางการตลาด และการจัดทำกรณีศึกษาเพื่อนำมาเสนอและเผยแพร่สู่สังคม ภายใต้มุมมองของนักการตลาดรุ่นใหม่


โดยถือเป็น 1 ใน 4 module ของหลักสูตรในการจัดการเรียนการสอนซึ่งประกอบด้วย strategic plan เพื่อสอนให้คนคิดและวิเคราะห์เป็น business plan การสอนเขียนแผนธุรกิจ case base learning ที่ไม่ได้เรียนเฉพาะกรณีศึกษาธุรกิจภายในห้องเรียนแต่นักศึกษาต้องเขียนกรณีศึกษาเพื่อตีพิมพ์ในนิตยสาร และ problem base learning ผ่านกิจกรรมเสวนา วิชาการ

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาห้องเรียน 5 ห้อง บริเวณชั้น 6 ของอาคาร CMMU ถูกแปลงโฉมให้กลายเป็นห้องสัมมนา 5 ห้อง ซึ่งเปิดให้ผู้สนใจภายนอกเข้าร่วมฟัง โดยนักศึกษาแต่ละกลุ่มจะต้องเริ่มตั้งแต่คิดหัวข้อทางการตลาดที่อยู่ในความสนใจของคนทั่วไป ทำข้อมูลและกรณีศึกษาเพื่อจะนำเสนอผลงานรวมทั้งเชิญวิทยากร

โดยงานสัมมนาทั้ง 5 ห้องนั้นจะจัดขึ้นในเวลา ที่พร้อมกัน โดยมีตัวอย่างหัวข้อสัมมนา เช่น "หมดยุคสงครามราคา ค้นหาตลาดใหม่ด้วย Blue Ocean" หรือ "สู้วิกฤติเศรษฐกิจปี"51 ด้วยหลักพอเพียง" เป็นต้น

ในภาพ คุณกฤษฎา สันติศักดิ์ นักศึกษาปริญญาโทสาขาการตลาด ภาคYoung Executive

"การที่เราจัดให้เวลาชนกันมันเป็นโจทย์ที่ท้าทาย จริงๆ เราจัดเวลาเหลื่อมกันก็ได้ แต่ อย่างนั้นก็เหมือนว่าจัดกันเอง ฟังกันเอง แต่เราไม่ต้องการแบบนั้น เราต้องการให้เขาท้าทายตัวเองในการทำงานที่จะสามารถสร้างผลงานที่ได้รับความสนใจจากคนภายนอกจริงๆ ซึ่งรวมถึงการประเมินผลจากคนข้างนอก"

สร้างศักยภาพบนข้อจำกัด

ในวันนั้นมีคนเข้าฟังทั้งหมดกระจายตามกลุ่มต่างๆ 5 กลุ่มไม่น้อยกว่า 400 คน ซึ่งไม่ธรรมดากับการทำงานภายใต้ข้อจำกัด ทั้งเงื่อนเวลาเพียง 6 สัปดาห์ที่เริ่มตั้งแต่คิดหัวข้อ รวบรวม องค์ความรู้ ติดต่อวิทยากร เตรียมงาน โฆษณา ประชาสัมพันธ์ ด้วยงบประมาณในการจัดงานทั้งหมดไม่เกิน 15,000 บาท

"เราตั้งใจให้ทรัพยากรที่ค่อนข้างจำกัด เพราะการทำงานภายใต้ความไม่พร้อมนี้เองจะทำให้คนสามารถใช้ขีดความสามารถที่มีอยู่ทั้งหมดออกมา ซึ่งทำให้เขาเกิดความพร้อมและสามารถรับมือได้กับความกดดันในโลกของการทำงานจริงและอะไรที่มันยากเขาจะจำมันไปตลอดชีวิต"

แม้ว่าบุริมจะเชื่อว่าการเรียนรู้ในรูปแบบนี้แต่ละคนย่อมได้เรียนรู้ไม่เท่ากัน คนทำมากก็จะได้เรียนรู้มาก โดยหลังจากนี้นักศึกษาจะต้องทำบันทึกการเรียนรู้และนำบทเรียนไปแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดประสบการณ์ต่อรุ่นน้องต่อไป

 

"การที่เราเลือกมาในทิศทาง problem base learning เพราะเราต้องการให้เด็กจบออกไปสามารถทำงานได้จริง เป็นการโยนปัญหาลงไปให้เขาจัดการ เพราะการที่เราโยนงานให้เป็นกลุ่มให้ทำให้สำเร็จ มันมีสิ่งต่างๆ ที่ให้เรียนรู้มากมาย โดยเฉพาะเมื่อการทำงานแล้วเสร็จเขาจะได้เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ดีกว่า ว่าเพราะเหตุใด ในทางธุรกิจมันก็เหมือนกับการทำเกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark) ว่าระดับที่ดีที่สุดคืออะไร และเราทำอย่างไรถึงจะก้าวไปถึงตรงนั้นวันนี้ problem base learning ไม่ได้ถูกนำมาใช้แต่เฉพาะในระดับมหาวิทยาลัย แต่เป็นแนวคิดที่เริ่มมีมาตั้งแต่ในระดับโรงเรียน ทุกคนก็เริ่มเปลี่ยน ฉะนั้นถ้าเรายังจัดการเรียนการสอนแบบ teacher center เราก็ถอยหลัง"

ทิศทางหลักสูตรรับมือ Gen Y

หากย้อนกลับไป จุดเปลี่ยนที่มีการนำรูปแบบนี้มาใช้ในการเรียนการสอนเป็นเพราะสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ ม.มหิดล ต้องการสร้าง "ความแตกต่าง" จากสถาบันอื่นให้การสร้างนักศึกษาที่จบออกไปให้เน้นการสัมผัสกับชีวิตจริงในธุรกิจ "ตอนนั้นเราก็มองหาว่าจะมีวิชาอะไรที่จะเอาความรู้ทุกอย่างที่เขาเรียนทั้งหมดมาสามารถทำให้เขาได้คิดและได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ซึ่งเป็นวิธีการเรียนการสอนแบบใหม่"

 

มากกว่านั้นนี่เป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่หลักสูตรการตลาด วิทยาลัยการจัดการมหิดล เชื่อว่าจะตอบสนองกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นนักศึกษาในยุคนี้ได้มากที่สุด สุพรรณี วาทยากร อาจารย์ในหลักสูตรการตลาดและผู้ดูแลนักศึกษาในการจัดนำเสนองานสัมมนาวิชาการ กล่าวว่า

"จากที่ได้ทำวิจัยกับกลุ่มผู้เรียนก่อนที่จะเข้ามาสอนในหลักสูตรจะเห็นได้ชัดเจน ว่าเด็กใน เจเนอเรชั่นวายนั้นค่อนข้างแตกต่างจากคนรุ่นก่อนเพราะเขาจะรักอิสระและมีความเป็นตัวเองสูง ฉะนั้นสิ่งสำคัญในการเรียนการสอนกับเด็กรุ่นนี้คือต้องพยายามผลักให้เขาคิดออกมาจากตัวเขาเอง ซึ่งทำให้เชื่อว่าทิศทางการเรียนการสอนในระดับปริญญาโทจะต้องปรับเปลี่ยนทิศทางไปมากขึ้น นับจากนี้"

สำหรับ "บุริม" หากมองภาพรวมเขาเห็นว่าทิศทางในอนาคตของหลักสูตรปริญญาโทในอนาคตจะเปลี่ยนไปใน 2-3 เรื่อง เพื่อรับมือกับคนรุ่นใหม่ที่กำลังจะเข้ามาเรียน ตั้งแต่หลักสูตรจะได้รับการออกแบบให้เวลาเรียนลดลง โดยจะควบรวมปริญญาตรีและโทในเวลาเพียง 5 ปี หลักสูตรปริญญา 2 ใบ หรือ double degree จะมีมากขึ้น นอกจากนี้หลักสูตรจะได้รับการออกแบบให้ลงลึก อย่างแนวโน้มที่เกิดขึ้นกับหลักสูตรปริญญาเอก เพราะไม่เพียงความต้องการของผู้เรียน แต่ในโลกข้างหน้าการชิงตัวผู้รู้จริงในแวดวงธุรกิจจะมีมากขึ้น

ที่มา: น.ส.พ. ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3959 หน้า 39
ภาพถ่าย: วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล
การนำภาพถ่ายในไปใช้ กรุณาแจ้งความจำนงก่อนนะครับ

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 155129เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2007 11:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 00:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท