ข้าราชการพม่าออกจากงาน


การวิพากษ์วิจารณ์ปรากฏการณ์ต่างๆในสังคมพม่า เป็นเรื่องที่ต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง อย่างไรก็ตามใช่ว่าจะหมดหนทางเสียทีเดียว
ข้าราชการพม่าออกจากงาน

 

การวิพากษ์วิจารณ์ปรากฏการณ์ต่างๆในสังคมพม่า เป็นเรื่องที่ต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง อย่างไรก็ตามใช่ว่าจะหมดหนทางเสียทีเดียว การเล่าถึงความทุกข์ยากของชาวพม่าที่ต้องดิ้นรนในกระแสลำบากแห่งชีวิตนั้น สามารถถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของสารคดีชีวิต อย่างเรื่องที่จะเสนอในคราวนี้ เป็นเรื่องเล่าที่แต่งโดย อูหั่นทวน มีชื่อเรื่องฟังดูประชด ว่า "อยากเป็นคนอยู่หรือ" เรื่องนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Myanmar Manager ฉบับที่ ๔ เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๒ เนื้อเรื่องเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตข้าราชการพม่าคนหนึ่ง ที่จำต้องลาออกจากงานไปด้วยเหตุผลที่ยากจะกล่าวให้ได้ชัด แต่กระนั้นผู้เขียนก็สามารถนำเสนอผู้อ่านให้เข้าใจและเห็นใจตัวละครได้อย่างแนบเนียน โดยไม่ถูกเซนเซอร์จากฝ่ายรัฐบาล

 

ผู้เขียน(อูหั่นทวน)พบซอแพต่าครั้งสุดท้ายที่เมืองย่างกุ้ง ซอแพต่าเคยทำงานเป็นเสมียนสังกัดกรมภาษีที่ดิน เขาแต่งงานและมีลูกแล้ว ๑ คน ซอแพต่าเป็นชาวดอยในรัฐกะเหรี่ยง เรียนจบเพียงชั้นสิบ(มัธยมปลาย) แล้วเข้าทำงานเป็นเสมียนที่บ้านเกิดของตน ซอแพต่าเป็นคนเรียบง่าย สุภาพ และออกจะซื่อๆ หน้าที่เสมียนของเขาคือเก็บภาษีที่ดินตามหมู่บ้านในพื้นที่รับผิดชอบ พื้นที่ที่เขาปฏิบัติงานเป็นเขตผู้ก่อการร้าย มีการสู้รบกันอยู่เนือง ๆ บางคราวเขาต้องเสี่ยงอันตรายเพื่อเก็บภาษีให้ได้ครบกำหนด บ่อยครั้งที่เขาต้องรับผิดชอบเงินกว่าแสนจั๊ตเพื่อนำไปส่งให้กับสำนักงานเก็บภาษีถึงในเมือง จากความอุตสาหะและความซื่อตรงของซอแพต่า ทำให้เขาได้รับการยกย่องเป็นข้าราชการตัวอย่างในระดับรัฐ และได้รับเลื่อนตำแหน่งเป็นเจ้าพนักงานเล็กๆคนหนึ่ง แต่ซอแพต่าก็ไม่อาจเป็นข้าราชการได้ต่อไป เขาลาออกจากงาน แล้วหายหน้าไปนาน จนพบกับผู้เขียนอีกครั้งที่ถนนแห่งหนึ่งในย่างกุ้ง ซอแพต่ามีท่าทางซึมเศร้า นัยน์ตาซ่อนความขมขื่นอยู่ภายใน แต่โดยมิทันได้ถามไถ่ทุกข์สุข เขาก็ยกมือไหว้ผู้เขียน แล้วผินหลังปลีกตัวจากไปพลัน

 

ผู้เขียนรู้สึกสูญเสียและเสียดายคนดีๆอย่างซอแพต่า และคงจะเข้าใจสภาพปัญหาของซอแพต่าพอควร แต่ผู้เขียนก็กลับเลี่ยงไปกล่าวถึงความแตกต่างของคนโดยวัดกันที่ตำแหน่งหน้าที่ในการงาน และยังบ่นถึงปัญหาที่ข้าราชการระดับล่างถูกผู้ร่วมงานที่มีตำแหน่งสูงกว่ากดขี่ จากนั้นผู้เขียนก็ตัดบท หันไปพิจารณาชีวิตของคนอย่างสามัญ ที่แม้ว่าจะเป็นพนักงานเล็กๆในหน่วยงาน แต่สำหรับครอบครัวแล้วเขาเป็นดุจเทพประจำบ้าน (vb,NFto9N) ซึ่งเป็นที่พึ่งของลูกและเมีย หาได้เป็นทาสของผู้หนึ่งผู้ใด ผู้เขียนคงตั้งใจจะบอกว่าผู้มีอำนาจมักลืมฐานะเช่นนี้ของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา เหตุนี้กระมังที่ทำให้ซอแพต่ารู้สึกเจ็บปวดและน้อยใจจนต้องลาออกจากงาน ผู้เขียนพบซอแพต่าในขณะที่มือของเขาถือหนังสือเดินทางเพื่อไปทำงานยังต่างประเทศ ผู้เขียนนั้นเป็นคนเชื้อสายพม่าแท้ ๆ ส่วนซอแพต่ามีเชื้อสายกะเหรี่ยง แม้จะต่างชาติพันธุ์กัน แต่ผู้เขียนก็กล่าวอย่างเห็นใจในชะตาชีวิตของซอแพต่าที่ครั้งหนึ่งเคยพากเพียรทำงานอย่างข้าราชการที่ดีคนหนึ่ง

 

ผู้เขียนเขียนเรื่องนี้คงต้องการสะท้อนเหตุที่ข้าราชการพม่าบางส่วนลาออกจากงาน ซึ่งมีหลายปัจจัยด้วยกัน อาทิ เงินเดือนน้อย กฎระเบียบที่เข้มงวด การถูกย้ายบ่อยๆ และความไม่เป็นธรรมในหมู่ผู้ร่วมงาน ภาพชีวิตแบบซอแพต่าเป็นตัวอย่างหนึ่งของการสูญเสียกำลังคนที่ดีในหน่วยงานของรัฐ จึงนับว่าอูหั่นทวนนำเสนอสารคดีชีวิตได้ไม่ห่างไกลจากความเป็นจริงนัก

 

วิรัช นิยมธรรม

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15506เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 17:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท