จูเฉี่ยน คนทำสวนที่หากินกับดอกไม้ : ภาพชีวิตครูพม่าในปัจจุบัน


ซอชิต(g0k-y0N)นักเขียนชาวพม่าผู้ได้รับรางวัลงานประพันธ์ดีเด่นจากรัฐบาลพม่าในยุคสังคมนิยมถึงสองรางวัล คือ รางวัลวรรณกรรมซาเบพิมาน ประจำปี ๑๙๗๘ และรางวัลวรรณกรรมประชาชน ประจำปี ๑๙๘๐
จูเฉี่ยน คนทำสวนที่หากินกับดอกไม้ : ภาพชีวิตครูพม่าในปัจจุบัน

 

ซอชิต(g0k-y0N)นักเขียนชาวพม่าผู้ได้รับรางวัลงานประพันธ์ดีเด่นจากรัฐบาลพม่าในยุคสังคมนิยมถึงสองรางวัล คือ รางวัลวรรณกรรมซาเบพิมาน ประจำปี ๑๙๗๘ และรางวัลวรรณกรรมประชาชน ประจำปี ๑๙๘๐ จากผลงานหนังสือสารคดีชีวิตเรื่อง "คนทำสวนกลางมวลบุปผา" ซอชิตเป็นครูที่ยึดอุดมคติ เขาได้ถ่ายทอดชีวิตของเขาผ่านงานเขียนของตนเองในขณะที่เขาเป็นครูสอนอยู่ในชนบทแห่งหนึ่งแถวเมืองมัณฑะเล เขาเล่าว่าครั้งหนึ่งพ่อแม่ของเด็กเกิดห่วงใยในการเรียนของลูกตนที่อ่อนวิชาภาษาอังกฤษ จึงได้ขอร้องให้ครูซอชิตสอนพิเศษแก่ลูกซึ่งเป็นศิษย์ของครูซอชิตเอง โดยพ่อแม่ของเด็กยินดีจ่ายค่าสอนพิเศษให้ ครูซอชิตปฏิเสธในตอนแรกว่าขัดต่อระเบียบที่ไม่อนุญาตให้ครูหารายได้จากการสอนพิเศษให้กับลูกศิษย์ของตน แต่ก็ทนการรบเร้าจากพ่อแม่เด็กไม่ไหว ครูซอชิตจึงหาทางออกโดยแจ้งให้เด็กทุกคนทราบว่าครูซอชิตจะเปิดสอนพิเศษ และขอเก็บค่าเล่าเรียนด้วย เด็กทุกคนต่างสนใจจะเรียนพิเษ แต่เด็กหลายคนลังเลหากจะต้องจ่ายค่าเรียน ครูซอชิตจึงบอกว่าค่าสอนไม่ใช่เป็นตัวเงิน หากแต่เป็นการบ้านที่เด็กจะต้องทำส่งครูอย่างสม่ำเสมอ ความตั้งใจอันดีของครูซอชิตสร้างความประทับใจให้กับผู้ปกครองและลูกศิษย์ ครูซอชิตจึงไม่ต่างไปจากคนรับจ้างทำสวนที่มีความสุขเพียงแค่ได้ยลไม้ดอกที่ตนเฝ้าดูแลผลิดอกงาม ครูผู้เสียสละเพื่อสังคมอย่างครูซอชิตเป็นครูตามความคาดหวังในยุคที่ประเทศสหภาพพม่ายังปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม พอมาถึงในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อที่อาจเรียกว่าสังคมนิยมก็ไม่ใช่ และทุนนิยมก็ไม่เชิงนั้น ภาพของครูในอุดมคติดูจะค่อยๆเลือนลาง การสอนพิเศษเพื่อหารายได้เสริมของครูกลับกลายเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้นใน สังคมพม่า

 

จูเฉี่ยน(dy&ia'N)มาจากคำว่า tutor ที่ออกเสียงตามสำเนียงพม่า ในสังคมพม่าจูเฉี่ยนก็คือครูที่รับจ้างสอนพิเศษ หรือผู้กวดวิชานั่นเอง ความนิยมจ้างจูเฉี่ยนเพื่อมาสอนพิเศษตามบ้าน หรือเปิดเป็นโรงเรียนสอนกันนอกระบบนั้น นับเป็นความนิยมใหม่ที่พบเห็นดาษดื่นในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา คือนับตั้งแต่ที่ประเทศ สหภาพพม่าเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมมาเป็นระบบเศรษฐกิจกึ่งเสรีตามกลไกตลาด การบูมของอาชีพจูเฉี่ยนซึ่งออกจะเป็นธุรกิจทางการศึกษานั้นได้นำมาสู่คำถามด้านจริยธรรมของ ครูบาอาจารย์ ความไขว้เขวของผู้ปกครองที่ทุ่มสุดตัวเพื่ออนาคตของบุตรหลาน ความไม่มั่นใจในคุณภาพทางการศึกษาของรัฐที่ไม่อาจสนองความต้องการของผู้เรียนได้อย่างเพียงพอ และ จูเฉี่ยนช่วยหรือบั่นทอนระบบการศึกษาของพม่า แต่คำถามเหล่านี้ดูเหมือนจะไม่มีใครสนใจแสวงหาคำตอบกันมากนัก เพราะประเด็นดังกล่าวถูกบดบังด้วยปัญหาปากท้องของข้าราชการครู ประกอบกับผู้ปกครองเด็กเห็นความจำเป็นของจูเฉี่ยนต่อการสร้างโอกาสให้กับบุตรหลานของตนที่จะได้เรียนคณะวิชาดีๆในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งย่อมจะมีผลต่อการทำงานในอนาคต

 

หากพิจารณาสภาพชีวิตของครูพม่าในปัจจุบัน จะพบว่าข้าราชการครูในประเทศสหภาพพม่า ทั้งในระดับการศึกษาพื้นฐานและระดับอุดมศึกษานั้น ครูอาจารย์ส่วนใหญ่จะได้รับอัตราเงินเดือนน้อยมาก จนไม่เพียงพอต่อการครองชีพที่นับวันจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ครูส่วนใหญ่จะได้รับเงินเดือนเพียง ๑ พันกว่าจั๊ต หรือราว ๑๐๐-๑๕๐ บาทต่อเดือน และในแต่ละเดือนครูจะได้รับส่วนแบ่งข้าวสารอีกคนละ ๑๒ ปยี ( ๑ ปยี ราว ๘ กระป๋องนม) แต่ครูอาจนำข้าวสารไปขายต่อให้กับพ่อค้า ตกเป็นเงินราว ๘๐๐ จั๊ต ส่วนการเลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการนั้น มีกำหนด ๒ ปีต่อครั้ง แต่ได้เพียงขั้นละ ๒๕ จั๊ตเท่านั้น หรือราว ๒.๕๐ บาทต่อ ๒ ปี ครูพม่าจึงมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ฝืดเคืองเพราะเงินเดือนไม่สอดคล้องอย่างมากกับภาวะการครองชีพในปัจจุบัน แต่ถ้าพิจารณาตามสภาพการดำรงชีวิตในสังคมพม่าขณะนี้ บางคนเห็นว่าครูควรจะได้รับเงินเดือนอย่างน้อย ๕,๐๐๐ จั๊ต หรือประมาณ ๕๐๐ บาทต่อเดือน ซึ่งคืออีกประมาณ ๕ เท่าของเงินเดือนปัจจุบัน จึงจะพอประทังชีพอยู่ได้ แต่ก็คงพอสำหรับค่าอาหารเท่านั้น ยังไม่ต้องกล่าวถึงเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค และสิ่งจำเป็นพื้นฐานอื่นๆ เพราะในภาวะปัจจุบันค่าอาหารที่ประหยัดที่สุดสำหรับมื้อหนึ่งจะตกราว ๕๐ จั๊ต วันหนึ่งจึงต้องจ่ายค่าอาหารไม่น้อยกว่า ๑๕๐-๒๐๐ จั๊ต หรือประมาณ ๑๕-๒๐ บาทต่อวัน หากต้องดูแลครอบครัวด้วยก็ต้องมากกว่านี้ อัตราเงินเดือนของครูในปัจจุบันจึงแทบไร้ความหมาย แม้จะต้องเพิ่มให้อีก ๕ เท่าก็ตาม ก็เป็นแค่ให้พออยู่ได้ไปวันๆเท่านั้น ครูจึงหมดหนทางที่จะสร้างฐานะด้วยเงินเดือนประจำ ด้วยเหตุนี้ครูซึ่งมีเงินเดือนเพียงหนึ่งพันกว่าจั๊ตนั้น จึงจำเป็นต้องดิ้นรนหาทางออกให้กับตนเองด้วยวิธีการต่างๆ ส่วนการที่รัฐบาลไม่ยอมขึ้นเงินเดือนให้กับข้าราช-การครูและข้าราชการอื่นๆให้เหมาะสมกับภาวะค่าครองชีพได้นั้น กล่าวกันว่ารัฐบาลเกรงว่าหากขึ้นเงินเดือนให้กับข้าราชการในขณะนี้ จะเกิดภาวะเงินเฟ้อมากขึ้น และพ่อค้าจะฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าจนต้องเดือดร้อนหนักกว่าเดิม ข้าราชการพม่าจึงนับว่าเป็นพนักงานของรัฐที่มีความอดทนอย่างสูงยิ่ง ถึงกระนั้นครูพม่าหลายคนยังกล่าวถึงชีวิตครูในแง่ดี และบ้างว่ายังดีกว่าอาชีพอื่นอีกหลายอาชีพด้วยซ้ำ เหตุผลที่มักอ้างกันอยู่เสมอก็คือชาวพม่าจะถือว่าอาชีพครูจะเป็นอาชีพที่มีเกียรติมาตลอดในสังคมพม่า ด้วยสังคมพม่าถือว่าครูเป็นปูชนียบุคคล เป็น ๑ ในองค์ ๕ แห่งคุณอนันต์ อันได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บิดามารดา และครูบาอาจารย์ พ่อแม่จึงมักจะภูมิใจที่มีลูกเป็นครู โดยเฉพาะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย

 

แต่ด้วยครูได้รับเงินเดือนน้อยและเกิดวิกฤตค่าครองชีพ ได้ทำให้เกิดปัญหาสมองไหลอย่างเห็นได้ชัดทั้งในระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ในสถานศึกษาของพม่าครูอาจารย์ส่วนใหญ่มักเป็นครูผู้หญิง ประมาณกันว่ามีผู้ชายที่ยังยึดอาชีพเป็นครูอาจารย์อยู่เพียงประมาณ ๑๐ - ๒๐ % เท่านั้น ครูจำนวนหนึ่งลาออกไปประกอบอาชีพอื่น โดยเฉพาะการค้าขาย บางส่วนไปหางานทำในต่างประเทศ อีกจำนวนหนึ่งที่อยู่ในระบบจำเป็นต้องประกอบอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับตนเอง ซึ่งมีหลาย ๆ ลักษณะ เช่น ขายของ ขายอาหาร ขายหวย ขายหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ขับแท็กซี่ ขายอัญมณี เป็นนายหน้า และเปิดสอนพิเศษ เป็นต้น อาชีพเสริมดังกล่าวทำให้เกียรติของครูลดลงก็จริง แต่ความยากลำบากในเรื่องปากท้องได้ทำให้ครูจำต้องลืมเรื่องเกียรติลงไปบ้าง ครูอาจารย์ที่ยังคงเป็นครูอยู่ได้นั้น ถ้าหากไม่มีวิญญานครูจริง ๆ แล้ว ก็คงเป็นด้วยเพราะไม่มีทางเลือกอื่นที่จะก้าวไปอย่างมั่นคงได้ดีกว่าการเป็นข้าราชการ เพราะอย่างน้อยที่สุดครูก็ยังถือว่ามีเกียรติ และยังได้ชื่อว่าเป็นครูที่มีลูกศิษย์ให้การนับถือกราบไหว้ แรงจูงใจของการเป็นครูในสังคมพม่าจึงมีเพียงเกียรติและความภาคภูมิใจ นอกนั้นก็เป็นเรื่องเบี้ยบำนาญและโอกาสที่จะได้เป็นผู้บริหารของหน่วยงานที่จะช่วยให้ได้รับสิทธิพิเศษอื่นๆตามมา และแม้ว่าอาชีพจูเฉี่ยนอาจไม่ใช่แรงจูงใจของการยึดอาชีพครูมาแต่แรกก็ตาม แต่ครูก็ได้อาศัยฐานะของครูเปิดสอนพิเศษได้ไม่ยากนัก

 

หากพิจารณาด้านผู้เข้ารับการศึกษาในระบบที่รัฐจัดให้นั้น ในการศึกษาระดับพื้นฐาน เด็กจะเริ่มเข้าเรียนตั้งแต่อายุได้ ๕ ขวบ โดยเริ่มเรียนในชั้นอนุบาลเป็นเวลา ๑ ปี สำหรับเด็กบางคนที่ผู้ปกครองมีฐานะดีจะเริ่มเข้าเรียนในชั้นก่อนอนุบาลด้วยซ้ำ ส่วนมากจะเป็นการฝึกเขียนภาษาพม่าเบื้องต้นโดยจ้างครูพี่เลี้ยง ต่อจากชั้นอนุบาล เด็กจึงจะสามารถเข้าเรียนชั้นประถมและมัธยม พม่าแบ่งชั้นเรียนเป็นเกรด(grade) เริ่มจากเกรด ๑ จนถึงเกรด ๑๐ จำแนกได้เป็นชั้นต้น(ประถม)ได้แก่เกรด ๑ - ๔ ชั้นกลาง(มัธยมต้น)ได้แก่เกรด ๕ - ๘ และชั้นปลาย(มัธยมปลาย)ได้แก่เกรด ๙ - ๑๐ ผู้เรียนที่เรียนจบเกรด ๑๐ ส่วนใหญ่จะออกมาทำงาน บางส่วนจะเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา โดยไม่จำเป็นต้องสอบคัดเลือกอีก (มีข่าวว่าพม่าพยายามเปลี่ยนมาใช้ระบบการสอบเอนทรานส์ในปีนี้) การเรียนต่อมหาวิทยาลัยจะพิจารณาจากผลการสอบในระดับ ๑๐ ส่วนการเลือกคณะวิชานั้นจะดูจากคะแนนรวมจากวิชาต่างๆ ได้แก่ วิชาภาษาพม่า วิชาภาษาอังกฤษ วิชาคณิตศาสตร์ วิชาวิทยาศาสตร์(ชีวะ เคมี ฟิสิกส์) และวิชาสังคมศึกษา(ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์) แต่ละวิชามีคะแนน ๑๐๐ คะแนน รวมคะแนนเต็มทั้ง ๕ รายวิชา เท่ากับ ๕๐๐ คะแนน การเรียนในเกรด ๑ ถึง ๑๐ นั้นจะไม่มีการแยกสายศิลป์และสายวิทย์ นักเรียนจะเรียนรายวิชาเหมือนกันหมด ในการสอบเกรด ๑๐ นั้น จะใช้ข้อสอบเดียวกันทั้งประเทศ คณะวิชาที่ได้รับความนิยมสูง ได้แก่ แพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ คอมพิวเตอร์ เศรษฐศาสตร์ วิเทศสัมพันธ์ ทันตแพทย์ พยาบาล เภสัชศาสตร์ และการป่าไม้

 

ผู้เรียนที่ประสงค์จะเรียนในคณะดีๆจะต้องพยายามสอบให้ได้เกียรตินิยมทั้ง ๕ วิชา หรือมีคะแนนรวมสูงพอ คะแนนระดับเกียรตินิยมกำหนดไว้ดังนี้ วิชาคณิตศาสตร์และวิทยา-ศาสตร์จะต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๘๐ ส่วนวิชาภาษาพม่า ภาษาอังกฤษ และสังคมศึกษา จะต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๗๕ เด็กที่สอบได้เกรด ๑๐ จะแยกเป็นบัญชี ก และบัญชี ข เด็กที่สอบได้และมีรายชื่ออยู่ในบัญชี ก เท่านั้นที่จะสามารถเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาได้ ส่วนเด็กที่ผ่านในระดับบัญชี ข จะใช้วุฒิของตัวสมัครทำงาน หรือไม่ก็ต้องพยายามสอบใหม่ให้อยู่ในบัญชี ก ที่ผ่านมาจำนวนผู้สอบได้ในเกรด ๑๐ และขึ้นบัญชี ก ข ในแต่ละปี จะมีเพียงร้อยละ ๖๐ ในจำนวนนี้ บัญชี ก จะมีราว ๒ ใน ๓ ส่วนบัญชี ข จะมีราว ๑ ใน ๓ เด็กที่สอบตกในเกรด ๑๐ ซึ่งมีถึงร้อยละ ๔๐ นั้น หากสอบเกรด ๑๐ ตกต่อเนื่องอีก ๒ ปี จะหมดสิทธิ์สอบในนามของโรงเรียน แต่ผู้เรียนก็ยังคงมีสิทธิ์เข้าสอบเกรด ๑๐ ได้ต่อไป ปัจจุบันผู้เรียนจบชั้นสิบได้ในแต่ละปีมีจำนวนเป็นเรือนแสน แต่สามารถรับเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาได้เพียงไม่กี่หมื่นคน ผู้เรียนจึงพยายามทุกวิถีทางที่จะได้โอกาสในการเรียนในมหาวิทยาลัยซึ่งมีที่นั่งสำหรับนักศึกษาจำนวนจำกัด ด้วยข้อจำกัดในการรับนักศึกษาในแต่ละปี จึงทำให้เกิดการแข่งขันกันสูง ผู้ปกครองจะวางแผนให้บุตรหลานของตนเข้าเรียนในโรงเรียนที่ดีมีชื่อเสียง ซึ่งมีไม่กี่แห่งนักในประเทศพม่า ( เฉพาะในย่างกุ้งมีโรงเรียนที่มีชื่อเสียงประมาณ ๑๐ แห่ง ) โรงเรียนที่มีชื่อมักจะมีการเพิ่มเวลาสอนพิเศษให้กับนักเรียน มีการสอนเต็มที่ และเป็นโรงเรียนที่ผู้เรียนจำนวนมากประสบความสำเร็จในการเข้าเรียนต่อในระดับสูง นอกจากนี้ก็จะให้เรียนกับจูเฉี่ยนควบคู่ไปกับการเรียนในระบบโรงเรียน

 

เด็กที่มีโอกาสดีจะเรียนกับจูเฉี่ยนพร้อมไปกับการเรียนที่โรงเรียน มีทั้งจ้างจูเฉี่ยนมาสอนที่บ้าน ไปเรียนกับจูเฉี่ยนที่บ้านของจูเฉี่ยน หรือที่โรงเรียนกวดวิชาที่สอนกันเป็นกลุ่มใหญ่ เด็กบางคนมีโอกาสเริ่มเรียนกับจูเฉี่ยนตั้งแต่ก่อนขึ้นชั้นอนุบาลเสียอีก ในเวลาปกติเด็กจะต้องเข้าเรียนในโรงเรียนวันละ ๖ ชั่วโมง หากต้องเรียนกับจูเฉี่ยนด้วยก็อาจจะเพิ่มเวลาเรียนอีกวันละ ๔ ชั่วโมง คือต้องเรียนกันถึงวันละ ๑๐ ชั่วโมง การเรียนพิเศษกับจูเฉี่ยนกลายเป็นความจำเป็น เพราะผู้ปกครองเห็นว่าครูประจำได้รับเงินเดือนน้อยย่อมไม่มีกำลังใจที่จะสอน ผู้ปกครองจึงเกรงว่าบุตรหลานของตนจะได้รับความรู้จากโรงเรียนไม่เต็มที่ เด็กพม่าที่มุ่งหวังจะเข้ามหาวิทยาลัยจึงต้องถูกเคี่ยวเข็ญในการเรียนอย่างจริงจังทั้งในระบบและนอกระบบ และจูเฉี่ยนก็เป็นที่พึ่งนอกระบบที่แฝงอยู่กับระบบการศึกษาของพม่า

 

จูเฉี่ยนมีทั้งที่ประกอบกันเป็นธุรกิจที่ต้องมีการลงทุน มุ่งเน้นกำไร และมีการโฆษณา และอีกแบบหนึ่งที่ไม่เป็นธุรกิจและไม่มีการโฆษณา แบบที่เป็นธุรกิจจะเปิดเป็นโรงเรียนกวดวิชา มีการติดป้ายและมีการโฆษณาทางสื่อต่างๆ บางแห่งมีการรับรองคุณภาพ มีการตีพิมพ์คู่มือรายวิชา ครูผู้สอนมักจะเป็นครูที่มีชื่อเสียง บางคนเคยมีประวัติการเรียนดีมาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน นักศึกษา และอาจเคยเป็นอาจารย์ที่สอนในมหาวิทยาลัยมาก่อน โรงเรียนจูเฉี่ยนในย่างกุ้งส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในย่านธุรกิจในตัวเมืองและมักอยู่ในย่านเดียวกัน บางแห่งเปิดสอนอย่างต่อเนื่อง บางแห่งจะเช่าสถานที่เปิดสอนกันช่วงสั้นๆเพียง ๑ - ๒ เดือน โรงเรียนแบบหลังนี้จะผลุดขึ้นราวดอกเห็ดในช่วงก่อนสอบปลายภาคแล้วหายวับไปเมื่อสิ้นฤดูสอบ สำหรับจูเฉี่ยนที่ไม่มีคุณภาพก็มีอยู่มาก บางแห่งมีการโฆษณาชื่อผู้สอนที่เก่งๆเพื่อดึงดูดลูกค้า แต่พอถึงเวลาสอนก็สอนไม่จริงจัง และไม่ต่อเนื่อง บางแห่งสอนดีเฉพาะในช่วงแรก บางทีเปลี่ยนตัวผู้สอนกันดื้อๆ ผู้เรียนจึงต้องเสียเงินอย่างไม่คุ้มไปกับลูกไม้ของจูเฉี่ยนบางประเภท ส่วนจูเฉี่ยนที่ไม่ใช่รูปธุรกิจมีเปิดสอนกัน ๒ รูปแบบ แบบแรกเรียกจูเฉี่ยนกลุ่ม ผู้เรียนมักรวมกลุ่มกันเองและมาเรียนที่บ้านของครูที่เป็นจูเฉี่ยน กลุ่มหนึ่งอาจมีประมาณ ๒ - ๑๐ คน อีกแบบหนึ่งเป็นจูเฉี่ยนที่รับจ้างสอนตามบ้านของผู้เรียน ผู้สอนบางคนมีชื่อเสียงมาก ขนาดต้องมีการจองตัวล่วงหน้าเป็นปีๆเลยทีเดียว และพ่อแม่บางคนติดต่อหาจูเฉี่ยนดีๆให้ลูกก่อนที่จะถึงวัยเข้าเรียนด้วยซ้ำ

 

ในการสอนพิเศษหรือกวดวิชานั้น มีทั้งสอนเป็นรายวิชา หรือสอนเหมาทุกวิชา การสอนมีทั้งการสอนเนื้อหา ทบทวนบทเรียน และสอนแบบกวดวิชาเพื่อแนะแนวการทำข้อสอบ การเรียนมักกำหนดเป็นสัปดาห์ละ ๒ วัน ๆ ละ ๑ ชั่วโมงครึ่ง สำหรับค่าเล่าเรียนนั้น หากเป็นโรงเรียนกวดวิชาซึ่งต้องเรียนเป็นกลุ่มใหญ่จะเสียค่าเล่าเรียนวิชาละ ๓๐๐ จั๊ตต่อเดือน หากเรียนเป็นกลุ่มย่อยจะคิดกลุ่มละประมาณ ๕,๐๐๐ จั๊ต ผู้เรียนจะเฉลี่ยค่าจ้างสอนกันตามขนาดของกลุ่ม แต่ถ้าจ้างจูเฉี่ยนมาสอนที่บ้านก็แล้วแต่จะตกลงกัน ซึ่งมักจะคิดราคากันประมาณ ๕,๐๐๐ จั๊ตต่อเดือน เล่ากันว่าจูเฉี่ยนที่มีชื่อเสียงบางคนสามารถหารายได้พิเศษได้ถึง ๖๐,๐๐๐ จั๊ตต่อเดือน แต่สำหรับจูเฉี่ยนทั่วไปนั้น จะมีรายได้ตกเดือนละประมาณ ๓,๐๐๐ - ๘,๐๐๐ จั๊ต หรือประมาณ ๓ - ๘ เท่าของเงินเดือนที่รัฐให้ รายได้จากการเปิดสอนพิเศษจึงนับว่าพอสมควร ครูพม่าที่ไม่มีรายได้อื่นเสริมส่วนใหญ่มักจะอาศัยการเปิดสอนพิเศษ เพราะจูเฉี่ยนเป็นงานที่ไม่เหน็ดเหนื่อย และไม่เสียเวลามาก จูเฉี่ยนบางคนเป็นเพียงนักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย หรือเป็นบัณฑิตตกงาน บางคนเป็นครูที่ลาออกจากราชการหรือเกษียณอายุแล้ว พอมีเวลาว่างก็เปิดสอนพิเศษหารายได้ ครูบางคนอยากเปิดสอนพิเศษแต่ไม่กล้าทำเพราะกลัวถูกฟ้องฐานผิดวินัย แม้การเปิดสอนพิเศษจะเสี่ยงต่อการผิดวินัยร้ายแรงก็ตาม แต่ครูจำนวนไม่น้อยก็ยังคงเปิดสอนพิเศษกันเป็นปกติ

 

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้จูเฉี่ยนเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายนั้น จึงเนื่องมาจากการแข่งขันเข้าเรียนต่อในคณะวิชาที่ดีในมหาวิทยาลัย และจากความไม่มั่นใจของผู้ปกครองต่อระบบการศึกษาในระดับโรงเรียนที่รัฐจัดให้ ซึ่งสอดคล้องกับความจำเป็นของครูที่ต้องหารายได้เพิ่มขึ้นเพราะเงินเดือนไม่พอใช้ อาชีพจูเฉี่ยนจึงเป็นทางออกทางหนึ่งที่ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับครู และช่วยทดแทนศักยภาพที่ถูกมองว่าขาดหายไปในระบบโรงเรียนส่วนใหญ่ อีกทั้งเด็กบางคนยังเห็นว่าจูเฉี่ยนมีเทคนิคการสอนที่ดีกว่าครูที่โรงเรียน เด็กพม่าส่วนใหญ่จึงคุ้นเคยกับการเรียนกับจูเฉี่ยนเป็นอย่างดี จูเฉี่ยนจึงเป็นที่ยอมรับในสังคม และอาจกล่าวได้ว่าการเกิดอาชีพจูเฉี่ยนจนเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายนั้น เป็นเพราะภาครัฐไม่อาจสนองความต้องการของประชาชนได้เต็มที่

 

ที่ผ่านมา แม้รัฐจะออกกฎระเบียบไม่ให้ครูสอนพิเศษเพื่อหารายได้จากลูกศิษย์ของตนก็ตาม แต่ก็มิได้มีการกวดขันกันอย่างจริงจังนัก บางคนจึงเสนอว่ารัฐน่าจะเป็นฝ่ายริเริ่มในการส่งเสริมการสอนพิเศษด้วยซ้ำ โดยให้เหตุผลว่าจูเฉี่ยนช่วยให้ผู้เรียนมีคุณภาพทางการศึกษาสูงขึ้น เพราะสิ่งที่จูเฉี่ยนสอนก็เป็นไปตามหลักสูตรที่รัฐกำหนด รัฐจึงได้รับประโยชน์ด้วย อีกทั้งอาชีพจูเฉี่ยนยังช่วยผ่อนคลายปัญหาบัณฑิตตกงานและช่วยเพิ่มรายได้ให้กับครู เท่ากับช่วยรัฐแบ่งเบาภาระที่ไม่อาจเพิ่มเงินเดือนให้ครูและข้าราชการได้ บ้างยังกล่าวเหน็บแนมว่าในเมื่อรัฐยังอนุญาตให้มีการแสดงคอนเสิร์ตที่ขัดต่อวัฒนธรรมพม่าได้ การเปิดสอนจูเฉี่ยนที่แม้จะขัดต่อระเบียบข้าราชการครูก็น่าจะยอมรับอย่างเป็นทางการได้เช่นกัน ถือเป็นการปรับให้สอดคล้องตามสภาพแท้จริงของสังคมปัจจุบัน อีกทั้งครูก็จะได้ไม่ถูกประณามบ่อยๆว่าย่อหย่อนอุดมการณ์ ส่วนการที่รัฐมิได้เข้มงวดกับระเบียบนัก ก็น่าจะเป็นการดี เพราะอาชีพจูเฉี่ยนอาจเป็นแรงจูงใจหนึ่งที่ช่วยให้ครูอาจารย์สามารถทำงานอยู่ในระบบได้ต่อไป ซึ่งจะช่วยลดปัญหาสมองไหลออกจากระบบราชการได้อีกทาง

 

ในสภาวการณ์ปัจจุบัน ครูพม่าไม่จำเป็นต้องรอการถูกรบเร้าให้เปิดสอนพิเศษ จนต้องหาทางออกแบบครูอุดมคติอย่างครูซอชิตอีกต่อไป เพราะอาชีพสอนพิเศษได้กลายเป็นอาชีพจำเป็นช่วยเสริมรายได้ให้กับครู และสังคมก็ยอมรับกันมากขึ้น การเป็นครูอยู่ได้จึงอาจไม่ใช่เพียงเพราะความอดทนต่อระบบหรือด้วยอุดมการณ์แท้จริง หากอาจเป็นเพราะครูยังมีทางออกให้กับตนเองอยู่ อาชีพจูเฉี่ยนก็เป็นทางออกหนึ่งในหลายๆทาง ครูซึ่งเคยถูกเปรียบเป็นดุจคนรับจ้างทำสวนกลางมวลบุปผาจำต้องหันมาแอบหากินกับไม้ดอกในสวนไปวันๆ หรือไม่ก็ทิ้งงานที่ตนถนัดและควรต้องรับผิดชอบไปประกอบอาชีพอื่น ในเมื่อรัฐไม่อาจแก้ปัญหาเรื่องปากท้องของครูได้ ครูจึงจำเป็นต้องดิ้นรนหาทางออกให้กับตัวเอง แม้ภาพจะดูไม่งดงามนัก แต่ก็เป็นภาพที่แท้จริงของชีวิตครูพม่าในภาวะเกิดวิกฤตค่าครองชีพเช่นปัจจุบัน

 

วิรัช นิยมธรรม

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15504เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 17:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 17:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ชวยเขียนภาษาพม่าให้หน่อยค่ะ "รับสมัครคนงานชายพม่ามีบัตรถูกต้อง ค่าแรงดี มีที่พักน้ำไฟฟรี"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท