วิบากกรรมสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแห่งชาติ


ผมติดตามเรื่องนี้มาหลายปีเพราะเป็นเรื่องสำคัญและเป็นพื้นฐานความก้าวหน้าของคนในสาขาเทคโนโลยีการศึกษาทุกคน แต่มันเป็นวิบากกรรมที่เหมือนนิยายน้ำเน่าเรื่องยาวที่วนไปวนมาสร้างใหม่แล้วก็สร้างใหม่อีก จนถึงปีนี้ 2550 ฝากเอาไว้ก่อ่นสิ้นปี ถ้าไม่ผ่านสภาฯ ในสมัยนี้ ก็รอกันต่อไป แต่นั้นคือความเสียหายของชาติ

วิบากกรรม  สถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแห่งชาติ

 

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 หมวดที่ 9   ว่าด้วยเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาระบุเอาไว้ชัดเจนว่าจะต้องจัดตั้งหน่วยงานดูแลเรื่องเทคโนโลยีการศึกษาคือ สถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแห่งชาติ และจัดตั้งกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา       จนป่านนี้กี่ปีมาแล้วที่กระบวนการในการจัดตั้งยังไม่ประสบผลสำเร็จ   สะท้อนภาพอะไรบางอย่างของกระทรวงศึกษาธิการ  ที่น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง    วิบากรรมของสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแห่งชาติ  ไม่แตกต่างไปจากวิบากกรรมของการปฏิรูปการศึกษา    และนั่นคือวิบากกรรมของเด็กไทยอนาคตของชาติ   เส้นทางที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแห่งชาติ   จะช่วยให้เข้าใจถึงความล้มเหลวของการปฏิรูปการศึกษา   และความไม่ก้าวหน้าของสาขาเทคโนโลยีการศึกษาเช่นกัน

 

มติชน  วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10384

ดันตั้งกองทุนเทคโนเพื่อการศึกษา

 

นายรุ่ง แก้วแดง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากการประชุม 9 หน่วยงานในกำกับเมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ได้เสนอว่ามีโครงการทำเรื่องการสอนทางไกลสำหรับโรงเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และต้องการเงินทุนเพื่อดำเนินการ ซึ่งตนเห็นว่าแหล่งเงินทุนที่จะทำมีอยู่ เพียงแต่ยังไม่สามารถนำมาใช้ได้ เนื่องจาก พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ มาตรา 68 กำหนดให้มีกองทุนเทคโนโลยีทางการศึกษา และมาตรา 69     กำหนดให้มีหน่วยงานดูแลเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการศึกษา ขณะเดียวกันตามระเบียบของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ได้ระบุว่าเมื่อ กทช.มีรายได้จะ

ต้องจัดสรรรายได้ส่วนหนึ่งมาให้กองทุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา แต่ขณะนี้ยังไม่มีการจัดตั้งกองทุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา และยังไม่มีหน่วยงานที่จะดูแลเรื่องดังกล่าว      ซึ่งทีผ่านมาทราบว่ามีความพยายามที่จะจัดตั้งหน่วยงานกลางมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น ตนจึงได้เร่งรัดให้มีการจัดตั้งหน่วยงานและกองทุนดังกล่าวอีกครั้ง โดยในสัปดาห์นี้จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือต่อไป

 

"ช่วงรัฐบาลรักษาการหากเราสามารถจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลเรื่องเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาโดยเฉพาะได้ก็น่าจะทำให้การทำงานคล่องตัวมากขึ้น โดยหน่วยงานที่จะจัดตั้งนั้นจะไม่ใช่รวมหน่วยงานที่มีอยู่แล้วเข้าด้วยกัน แต่จะเป็นการตั้งหน่วยงานใหม่ขนาดเล็กๆ เพื่อกำหนดนโยบายที่จะใช้ร่วมกัน และภายใต้หน่วยงานจะมีกองทุนที่จะได้เงินมาจาก กทช. และหน่วยงานนี้ก็จะเป็นผู้พิจารณาจัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยงานต่างๆ ตามโครงการที่มายื่นขอต่อไป ทั้งนี้ จะพยายามเร่งรัดการจัดตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือนนี้ เพื่อจะได้ไปขอรับเงินจาก กทช.มาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่การศึกษาต่อไป" นายรุ่งกล่าว

 

หน้า 27

สยามรัฐ  เคาะร่างจัดตั้งทศช. คุมสื่อ-คลื่นการศึกษา - 12/4/2549

 

เคาะร่างจัดตั้งทศช. คุมสื่อ-คลื่นการศึกษา

++ คาดเห็นผลก่อนปี 50

 

เมื่อวันที่ 11 เม.ย.49 คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) กระทรวงศึกษาธิการ ว่าที่ประชุมได้หารือถึงการเตรียมการจัดตั้งหน่วยงานกลาง ด้านเทคโนโลยีทางการศึกษา ตามมาตรา 69 ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ซึ่งคณะทำงานได้ยกร่างพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแห่งชาติ มาเสนอ โดยมีสาระสำคัญ คือให้จัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแห่งชาติ (ทศช.) ขึ้นเป็นองค์การมหาชน มีอำนาจหน้าที่ต่างๆ อาทิ การพิจารณาเสนอนโยบาย และแผนเกี่ยวกับความต้องการใช้คลื่นความถี่ สื่อตัวนำและโครงสร้างพื้นฐานอื่นที่จำเป็นต่อการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ วิทยุโทรคมนาคม และการสื่อสารในรูปอื่นเพื่อใช้ประโยชน์สำหรับการ ศึกษาในระบบ การศึกษานอกโรงเรียน การศึกษาตามอัธยาศัย การทะนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมต่อรัฐมนตรี ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุน และวิจัยเพื่อการศึกษา เป็นต้น ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยกับร่างดังกล่าว และทั้ง 5 องค์กรหลักก็ตกลงร่วมกันว่า ควรจะมี ทศช. เพื่อทำหน้าที่เป็นองค์กรกลาง แต่จะไม่ยุบรวมหน่วยปฏิบัติโดยคงไว้เพื่อให้การสนับสนุน ปลัด ศธ.กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะทำงานไปปรับปรุงร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ตามข้อเสนอของที่ประชุมและส่งต่อไปยัง กพร.ใหญ่ ในขณะเดียวกันก็จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด เพื่อทำหน้าที่ประสานและผลักดันเรื่องดังกล่าวก่อนที่พระราชกฤษฎีกาจะมีผลบังคับใช้ ประกอบด้วยคณะกรรมการอำนวยการ ซึ่งมี รัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นประธาน และผู้บริหารองค์กรหลักเป็นกรรมการ และมี คณะทำงาน ซึ่งมีนายอุฤทธิ์ บุญมาก ผู้ตรวจราชการ ศธ.เป็นประธาน โดยที่คณะทำงานจะต้องประสานงานกับกองทุนของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) เพื่อขอจัดสรรงบประมาณที่เป็นส่วนหนึ่งของผลกำไรมาเพื่อการศึกษา พร้อมทั้งจัดทำแผนการจัดตั้ง ทศช.โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะสามารถจัดตั้งสถาบันดังกล่าวได้ ก่อนปีงบประมาณ 2550

 

http://www.moe.go.th/websm/news_mar06/news_mar93.htm

ข่าวที่ ๙๓ เดือนมีนาคม ๒๕๔๙

รมว.ศธ. ประชุมคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างระบบราชการ ศธ.

 News Line 93/2006 (March 2006)

Structural development of MOE

  

 นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างระบบราชการ ศธ. ครั้งที่ ๑/๒๕๔๙ เมื่อวันที่   ๑๓ มีนาคม ๒๕๔๙ ณ ห้องประชุมกระทรวงศึกษาธิการ    ที่ประชุมได้มีการหารือเรื่องการจัดตั้งสถาบันต่างๆ  ได้แก่  สถาบันภาษาต่างประเทศและการแปล  สถาบันวิจัยระบบการศึกษาแห่งชาติ  สถาบันวิจัยหลักสูตรการเรียนการสอน  สถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแห่งชาติ  และสำนักส่งเสริมประสิทธิภาพการมัธยมศึกษา  โดยมีข้อสรุปเบื้องต้น  ดังนี้   สถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแห่งชาติ เป็นการจัดตั้งหน่วยงานตามมาตรา ๖๙ แห่ง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒  จึงให้จัดตั้งเป็นองค์การมหาชน  โดยมอบ สป.  รับผิดชอบในการจัดตั้งหน่วยงาน 

    

ศธ.จัดตั้ง4สถาบัน เร่งปฏิรูปการศึกษา

 ที่ประชุมพัฒนาระบบราชการของ ศธ.ไฟเขียว ตั้ง 4 สถาบันเร่งปฏิรูปการศึกษา

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างระบบราชการของ ศธ.เห็นชอบตั้ง 4 สถาบันเพื่อเร่งปฏิรูปการศึกษาคือ สถาบันวิจัยพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน สถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแห่งชาติ ทำหน้าที่คิดเนื้อหาสาระ และพัฒนาสื่อการเรียนการสอนให้ทันกับการแจกเครื่องคอมพิวเตอร์พกพา ในปีการศึกษา 2549 และดูแลรายการโทรทัศน์และสื่อทางไกล

 

คมชัดลึก   ฉบับที่ 1531 [หน้าที่ 14 ] ประจำวันที่ 23 ธันวาคม 2548

เคลื่อนโครงสร้างใหม่ ศธ.ตั้งรักษาการเก้าอี้ใหญ่ปองพล ลงนามชื่อ ผอ.เขตการศึกษา นักวิชาการติง แค่เหล้าเก่าในขวดใหม่

ตามที่ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ 2546 มีผลบังคับใช้แล้วในวันที่ 7 ก.ค.46 เป็นการเข้าสู่โครงสร้างใหม่ ของการปฏิรูประบบราชการ โดยภารกิจของ

นายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เริ่มขึ้นในเวลา 08.30 น. ด้วยการเป็นประธานประชุมคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่สภาการศึกษา  และมีการแบ่งภาระงาน  สำหรับ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ.นั้น มอบหมายให้กำกับดูแลและเสนอเรื่องผ่านไปยังรัฐมนตรีว่าการในส่วนราชการและหน่วยงานดังต่อไปนี้

สำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา สถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแห่งชาติ กลุ่มโรงเรียนสมบูรณ์แบบ เขตพื้นที่การศึกษา เขตตรวจราชการที่ 8-10

 

แหล่งที่มา บ้านเมือง   ฉบับที่ 14741 [หน้าที่ 8 ] ประจำวันที่ 8 กรกฎาคม 2546

 

   

จี้กศน.เพิ่มศักยภาพสื่อการสอนออนไลน์ ชงตั้งศูนย์รวมสื่อเรียนรู้/ครูหยิบสอนสะดวก

--------------------------------------------------------------------------------

ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา กศน.: เมื่อวันที่ 23 ก.ค. นางมัณฑนา ศังขะกฤษณ์รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กล่าวในการประชุมสัมมนาเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ ซึ่งจัดโดยสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน(กศน.) ว่า สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ ถือเป็นเรื่องที่กำลังได้รับความนิยม โดยเฉพาะในเรื่องของการศึกษา ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญมาก และมีนโยบายในการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศในการศึกษาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ปี 2542 ก็ระบุไว้ถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ว่าให้มีการพัฒนาสื่อทุกประเภทที่ใช้ในการสอน เพื่อให้ครูได้ใช้สื่อที่มีคุณภาพและเป็นการพัฒนาการสอนไปในตัว ซึ่งขณะนี้ ศธ.มีโครงการจัดตั้งกองทุนดูแลเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เพื่อดูแลด้านงบประมาณในการผลิตสื่อการสอน และพัฒนาเทคโนโลยีในการสอนโดยเฉพาะ โดยกองทุนนี้เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ซึ่งอยู่ระหว่างการ

ร่างกฎหมาย โดยมีสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ .) เป็นแกนหลัก

 

สยามรัฐ   ฉบับที่ 18715 [หน้าที่ 7 ] ประจำวันที่ 24 กรกฎาคม 2547

 

 

ศธ.ตั้งเป้าทำสคูลเน็ตครบ 3.8 หมื่น ร.ร.ปี 47

   กระทรวงศึกษาธิการ สานต่อโครงการสคูลเน็ต หนุนเป้าหมายติดตั้งครบ 38,000 แห่งในปี 47 พร้อมตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาผลิตเนื้อหารองรับ เล็งหาความร่วมมือมหาวิทยาลัยชั้นนำ

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า กระทรวงพร้อมขยายโครงการติดตั้งอินเทอร์เน็ตในโรงเรียน (สคูลเน็ต) ให้ครบ 38,000 แห่ง ภายในปีงบประมาณ 2547 ส่วนภายในเดือนกันยายนปีนี้ จะสามารถให้บริการในโรงเรียนที่ร่วมโครงการประมาณ 14,000 แห่งก่อน ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ได้โอนรับโครงการสคูลเน็ตมาดำเนินงานต่อ หลังจากกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบโครงการดังกล่าวมาประมาณ 8 ปี     ขณะเดียวกัน ยังมีแผนจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีการศึกษาไทย เพื่อเข้ามาดูแลในการพัฒนาเนื้อหาสนับสนุนโครงการดังกล่าว โดยจะมีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในสังกัดของกระทรวง ประกอบด้วย กรมการศึกษาพื้นฐาน สถาบันราชภัฏ

 

 กรุงเทพธุรกิจ   ฉบับที่ 5459 [หน้าที่ 5 ] ประจำวันที่ 3 กันยายน 2546

  

คอลัมน์ชีพจรการศึกษา"ความก้าวหน้าของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษา ของศธ.

  

มีข้าราชการครู บุคลากรทางการศึกษาไม่น้อยกว่า 6 แสนคน มีความสนใจเกี่ยวกับกฎหมายปฏิรูปการศึกษา จำนวน 19 สมัย และคอยติดตามความก้าวหน้าว่าขณะนี้กระทรวง ศึกษาได้ดำเนินการไปถึงไหนแล้ว ส่วนด้านปฏิรูปอื่นๆ นั้นไม่ติดใจอยากจะเรียนให้ทุกคนได้ทราบว่าในจำนวน 19 ฉบับ มีความก้าวหน้าดังต่อไปนี้ โดยแยกเป็นพระราชบัญญัติที่ได้ประกาศใช้แล้ว คือ

 ส่วนร่าง พ.ร.บ.ที่อยู่ในความรับผิดชอบของทบวงมหาวิทยาลัย มี 4 ฉบับ คือ พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศอยู่ที่ กมธ.วุฒิสภา พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนใน

สถาบันอุดมศึกษา พ.ศอยู่ที่ กมธ. สภาผู้แทนฯ และร่าง พ.ร.บ.สถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา พ.ศ.. อยู่ที่คณะกรรมการกลั่นกรอง คณะที่ 4 

แหล่งที่มา มติชนรายวัน   ฉบับที่ 9126 [หน้าที่ 20 ] ประจำวันที่ 3 มิถุนายน 2546

http://db.onec.go.th/thaied_news/index1.php?id=6286

 

 

ตั้งทีมประเมินโครงการสร้างศธ.3ปี

 ดร.สิริกร มณีรินทร์ รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการโครงสร้างและกรอบอัตรากำลังของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้มีคณะกรรมการประเมินภายนอกเพื่อประเมินผลการจัดโครงสร้างและกรอบอัตรากำลังทุก 3 ปี โดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จะรับผิดชอบเรื่องอัตรากำลังและคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) รับผิดชอบเรื่องโครงสร้างและระบบงาน นอกจากนี้ได้พิจารณาจัดโครงสร้างสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาที่มีการเสนอให้ทบทวนโครงสร้างใหม่ โดยในระยะแรกให้หลอมรวมศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาของกรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ศูนย์พัฒนาหนังสือของกรมวิชาการ และสำนัก

งานบริการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาของทบวงมหาวิทยาลัย มาจัดตั้งเป็นสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ภายใน 3 ปี นับตั้งแต่ พ.ร.บ.จัดตั้งสถาบันฯ มีผลบังคับใช้  ส่วนระยะต่อไปให้จัดตั้งเป็นองค์การมหาชนรองรับงานการผลิตสื่อ จากเดิมที่มีการเสนอให้สถาบัน ดังกล่าวเป็นองค์กรในกำกับขึ้นตรงต่อ รมว.ศึกษาธิการ

เดลินิวส์   ฉบับที่ 19501 [หน้าที่ 14 ] ประจำวันที่ 5 มีนาคม 2546

  

กระแส  ชนะวงศ์ (2545) โครงสร้างใหม่ของกระทรวงการศึกษาลงตัวแล้ว

http://www.onec.go.th/move/news_45/pr_gen/struct13_9.htm

 

ฯพณฯ นพ.กระแส ชนะวงศ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมจัดระบบบริหารของส่วนราชการตามโครง สร้างใหม่ของกระทรวงการศึกษา ครั้งที่ 4/2545 เมื่อวันที่ 10 ก.ย.2545 ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบโครงสร้างและการแบ่งส่วนราชการของกระทรวงใหม่ ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของบรรดาข้าราชการและประชาชนทุกคนอยู่ในขณะนี้ คือ สำหรับองค์กรมหาชน และองค์กรในกำกับภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ จะประกอบด้วย สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา คุรุสภา สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ สำนักงานส่งเสริมสวัสดิการครูและบุคลากรทางการศึกษา มหาวิทยาลัย/สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ สถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา สถาบันภาษา และโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

 

 

สงบ  ลักษณะ (2545) การปฏิรูปการศึกษา. กรุงเทพมหานคร : กระทรวงศึกษาธิการ

http://www.moe.go.th/main2/article/article-sagob/article45_8.htm

 

การปฏิรูปการศึกษาตามแนวพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542  เกิดจากความ       จำเป็นที่สังคมต้องการแก้ไขความอ่อนด้อยในผลการจัดการศึกษาในช่วงที่ผ่านมา

โดยมีจุดหมายไป  ที่การพัฒนาคนให้มีคุณลักษณะที่พึงปรารถนาอย่างสมบูรณ์ เพื่อให้คนไปพัฒนาชาติให้เจริญก้าวหน้าทันต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง  ๆ ของโลก  การเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพของการจัดการศึกษา จำเป็นต้องมีการปฏิรูปองค์ประกอบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา  คือ

1. หลักสูตร และกระบวนการเรียนรู้

2. ครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา

3. ระบบสื่อและเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

4. โครงสร้างการบริหารและการจัดการ

5. ระบบตรวจสอบประเมินคุณภาพการศึกษา

6. ระบบงบประมาณและทรัพยากรเพื่อการศึกษา

7. การมีส่วนร่วมของสังคมในการจัดการศึกษา

            หลักการจัดการศึกษาที่สำคัญ คือ การกระจายอำนาจ การมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย การมีเอกภาพในนโยบายแต่หลากหลายในการปฏิบัติ การยึดมาตรฐาน และการยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ สปศ.ได้ดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติที่สำคัญ23 ฉบับ และพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศ อีก 15 ฉบับ 

            ร่างพระราชบัญญัติที่สำคัญ เช่น   พระราชบัญญัติจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

จุดหมายสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาคือการสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพของผลผลิตและการบริการทางการศึกษา รับประกันในคุณลักษณะของผู้จบการศึกษาอบรมทุกระดับการศึกษา ที่จะ   มีความสมบูรณ์และสมดุลในการเป็นมนุษย์ปัญญา มนุษย์คุณธรรม และมนุษย์ที่ปรับตัวเก่ง เรียนรู้ตลอดเวลา ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ของสังคม      ความสำเร็จของการบรรลุจุดหมายของการปฏิรูปการศึกษา จะขึ้นกับความสำเร็จในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวิธีการปฏิบัติในองค์ประกอบต่าง ๆ ให้สามารถนำไปสู่จุดหมายได้อย่างสมบูรณ์   หัวใจของการปฏิบัติตามแนวการปฏิรูปการศึกษาคือคน  คนที่เป็นครู คณาจารย์  คนที่เป็นผู้บริหารสถานศึกษา  และคนที่ทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนด้านนโยบาย วิชาการ การจัดสรรทรัพยากร และการบริหารจัดการ

     

ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน.(2550) เร่งชงพ.ร.บ.พัฒนาเทคโนโลยีการศึกษาเข้าสนช.

คมชัดลึก  17 ธันวาคม 2550 17:18 น.

  

วิจิตรเร่งดันร่างพ.ร.บ.เทคโนโลยีทางการศึกษาเข้าสนช.วาระที่ 2-3 ชี้ไม่มีร่างกฎหมายรองรับ ส่งผลตั้งกองทุนไม่ได้ทำให้สูญรายได้กว่า 700 ล้าน พร้อมเดินหน้าเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีทางการศึกษาเป็นองค์กรมหาชนรองรับ หวังใช้เทคโนโลยีทางการศึกษาให้คุ้ม

 

เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2550 ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.)กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.)พิจารณาร่างพ.ร.บ.เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ได้รับหลักการในวาระที่ 1 ของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้แล้ว และคณะกมธ.ฯก็ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ฯเสร็จแล้ว จะเร่งผลักดันให้ร่างกฎหมายนี้เข้าสู่สนช.ในวาระที่ 2 และ 3 มีผลบังคับใช้ในรัฐบาลชุดนี้ เพราะร่างพ.ร.บ.นี้ค้างมานานแล้ว ทำให้การศึกษาไม่ได้รับประโยชน์เพราะไม่ได้มีการตั้งกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีทางการศึกษา

 

เนื่องจากไม่มีร่างกฎหมายรองรับทั้งที่พ.ร.บ.ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ(กสช.)และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.)กำหนดให้จัดสรรรายได้ส่วนหนึ่งมาเข้าสู่กองพัฒนาเทคโนโลยีทางการศึกษา เมื่อไม่ได้ตั้งกองทุนนี้จึงไม่ได้รับจัดสรรรายได้ ซึ่งควรได้รับจัดสรรรายได้นี้ตั้งแต่ปี 2548-2549 แล้ว ทำให้สูญเสียเงินไปกว่า 700 ล้านบาทเพราะขอจัดสรรรายได้ย้อนหลังไม่ได้ เนื่องเงินคืนคลังไปหมดแล้ว

 

ร่างพ.ร.บ.ฯจะมีคณะกรรมการขึ้นมาดูแลนโยบาย และมีกองทุนพัฒนาเทคโลยีทางการศึกษา จึงจะต้องเร่งรัดจัดตั้งกองทุนนี้ขึ้นมา ซึ่งร่างพ.ร.บ.ฯกำหนดให้มีกองทุนรองรับและมีหน่วยงานจัดสรรโดยนำรายได้ของกสช.และกทช.มาใช้ดำเนินงานเป็นหลัก จึงไม่เป็นภาระงบประมาณแผ่นดินรมว.ศธ. กล่าว

  

ศ.ดร.วิจิตร กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันปัจจุบันเทคโนโลยีทางการศึกษาของศธ.กระจัดกระจายอยู่ตามหน่วยงานต่างๆในสังกัด เมื่อลงทุนแล้วอาจจะไม่คุ้ม จึงจะมีหน่วยงานกลางซึ่งเป็นองค์กรมหาชนขึ้นมาทำหน้าที่ประสาน ส่งเสริม วิจัยและพัฒนาทั้งคน เครื่องมือจะคุ้มค่ากว่า จะรวบรวมหน่วยงานต่างๆที่ดูแลด้านเทคโนโลยีทางการศึกษาของศธ.ทั้งหมดแล้วจัดระบบใหม่สถาบันกลางที่เป็นองค์กรมหาชนนี้ เพื่อจัดและพัฒนาเทคโนโลยีทางการศึกษาและบุคลากรให้เกิดการใช้งานที่คุ้มค่า

 

รวมถึงเชื่อมโยงเทคโนโลยีการศึกษาของโรงเรียนทั่วประเทศเข้ามาไว้ด้วยกันเพราะเทคโนโลยีสมัยนี้ต่างคนต่างทำไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนไม่สมบูรณ์เช่น การวางระบบโครงข่ายเชื่อมโยงโรงเรียน 4 หมื่นแห่ง ต่างคนต่างวางระบบก็ไม่จบ หรือโทรทัศน์เพื่อการศึกษาต่างคนต่างมีก็ไม่คุ้มและคลื่นก็ไม่พอ ส่วนเรื่องไหนที่แต่ละหน่วยงานทำได้ก็กระจายออกไป

 

การจัดตั้งสถาบันนี้ซึ่งเป็นองค์กรมหาชนต้องมีพระราชกฤษฎีการองรับขณะนี้ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันนี้นั้นคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเสร็จแล้ว จะเสนอต่อรัฐบาลให้ออกพระราชกฤษฎีกานี้ต่อไปรมว.ศธ. กล่าว

 

บทสรุป

 

                สถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแห่งชาติ  ????????????????   คือ ยังสรุปไม่ได้

               

 

เกี่ยวกับผู้เขียน

ดร.ปรัชญนันท์  นิลสุข

ภาควิชาครุศาสตร์เทคโนโลยี

คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม  สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

[email protected]

http://www.prachyanun.com

 
หมายเลขบันทึก: 154371เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2007 08:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 20:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

โปรดติดตามตอนต่อๆ ๆ ไป เรื่อยๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท