“ครูวิทย์ พิชิต Blog” เชื่อมเครือข่ายครูวิทยาศาสตร์ด้วยอินเทอร์เน็ต โดย ผู้จัดการออนไลน์ 16 ธันวาคม 2550 12:27 น.


ทีเอ็มซีจัดโครงการ ครูวิทย์ พิชิตบล็อกจับกระแสโลกอินเทอร์เน็ต นำเว็บบล็อกเชื่อมโยงเครือข่ายครูวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์การเรียนการสอน ก่อนขยายผลสู่การเรียนการสอนนอกห้องเรียน ต่อยอดเด็กเก่งวิทยาศาสตร์ของประเทศ
       

       บล็อก (Blog) คำๆ นี้คงคุ้นหูกันดีสำหรับคนที่ท่องไซเบอร์สเปซเป็นประจำ และด้วยความคล่องตัวสูง ทลายข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่ลงได้ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ทีเอ็มซี) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จึงจัดโครงการนำร่อง ครูวิทย์ พิชิต Blog” ขึ้น โดยเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี
       
       ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ที่ปรึกษาฝ่ายพัฒนาบัณฑิตและนักวิจัย ทีเอ็มซี กล่าวว่า โครงการ ดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อสร้างเครือข่ายครูวิทยาศาสตร์จากที่ต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารคือ บล็อก ซึ่งเป็นที่นิยมมาเป็นสื่อกลางถ่ายทอดประสบการณ์การเรียนการสอนระหว่างครู วิทยาศาสตร์ ในลักษณะชุมนุมวิทยาศาสตร์ออนไลน์ มีความคล่องตัวสูง ประหยัด และมีบทบาทสำคัญทดแทนการเดินสายอบรมครูวิทยาศาสตร์อย่างมีประสิทธิภาพ
       
       เบื้องต้น โครงการได้สรรหาครูวิทยาศาสตร์ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลตามความสมัครใจร่วมนำร่อง 20 ราย ส่วนหนึ่งเป็นครูวิทยาศาสตร์ในโครงการครูวิทยาศาสตร์ในดวงใจของทีเอ็มซี เมื่อต้นปี 2550 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์และประสบความสำเร็จด้านการเรียนการสอนมาแล้ว ทว่าอาจไม่ชำนาญเรื่องบล็อกมากนัก อีกส่วนหนึ่งคือครูวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่จากโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มี ความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของเครือข่ายครูวิทยาศาสตร์ในอนาคต
       
       ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือกันของทีเอ็มซี สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) และมูลนิธิบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (บวท.) โดยจัดอบรมเทคนิคการทำบล็อกแก่ครูในโครงการระหว่างวันที่ 14 -15 ธ.ค. ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศ ซึ่งทางโครงการยังได้จัดเว็บบล็อก www.nstda.or.th/blogwit ไว้รองรับบล็อกจากครูวิทยาศาสตร์ในโครงการแล้ว อีกทั้งจะเชื่อมโยงไปยังเว็บบล็อก gotoknow.org ซึ่งมีฐานสมาชิกจำนวนมากด้วย
       
       “ครู มัธยมฯ มีบทบาทสำคัญมากต่อเด็ก เพราะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะบอกได้ว่าเด็กชอบวิทยาศาสตร์หรือไม่ ซึ่งเว็บบล็อกเป็นสื่อหนึ่งที่ทำให้เกิดชุมชนออนไลน์ในวงกว้าง และยังสามารถปรับใช้กับการเรียนการสอนนักเรียนในชั้นเรียนได้ด้วย ซึ่งแนวคิดนี้เป็นที่นิยมมากในต่างประเทศ โดยความสำเร็จของโครงการคือการที่ครูวิทยาศาสตร์จะหมั่นเข้ามาเพิ่มเติม ข้อมูลใหม่ๆ บ่อยครั้งเพียงใดผศ.ดร.เจษฎา กล่าว

โดย 3 เดือนต่อจากนี้จะมีการประเมินผลการนำร่องโครงการก่อนจะตัดสินใจขยายการ ดำเนินการไปยังภูมิภาคอื่นๆ ต่อไปหรือไม่
       
       อ.ศรีผกา เจริญยศ ครูชำนาญการ ผู้สอนวิชาโครงงานวิทยาศาสตร์ ม.3 และวิชาเคมี ม.4 โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย จ.นครปฐม ครูในโครงการครูวิทยาศาสตร์ในดวงใจ กล่าวว่า หลังการอบรมแล้วจะนำเทคนิคที่ได้นำไปปรับใช้กับการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ ต่อไป อาทิ การนำเอกสารการสอนหรือความรู้นอกห้องเรียนไปใส่ไว้ในบล็อกเพื่อให้นักเรียน ที่สนใจได้ติดตาม ซึ่งทั้งครูและนักเรียนต่างมีความพร้อมด้านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และ อินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว จึงไม่มีปัญหาเรื่องการเข้าถึงบล็อกดังกล่าวแต่อย่างใด
       
       “เคล็ด ลับการสอนวิทยาศาสตร์คือ การยั่วยุและชวนทะเลาะให้เด็กมีความสนใจ รู้จักคิดและหาคำตอบด้วยตัวเอง เด็กที่สนใจทางวิทยาศาสตร์อาจไม่ใช่เด็กเก่ง แต่เขามีแรงบันดาลใจภายในอยู่แล้ว เพียงแต่เราต้องเสริมแรงบันดาลใจภายนอกให้เขาด้วย สนับสนุนเขาทีละนิด แล้วปล่อยให้เขาหาคำตอบเองครูวิทยาศาสตร์ในดวงใจ จ.นครปฐม กล่าว ซึ่งเจ้าตัวเผยว่าการที่ลูกศูนย์ยกย่องให้เป็นครูวิทยาศาสตร์ในดวงใจถือ เป็นความประทับใจที่สุดของชีวิตที่ทำงานโดยไม่หวังผลตอบแทน
       
       ส่วนการสร้างเครือข่ายครูวิทยาศาสตร์ผ่านบล็อกจะประสบความสำเร็จ หรือไม่นั้น อ.ศรีผกา เชื่อว่าครูทุกคนมีความตั้งใจดี อย่างไรก็ตาม เนื่องจากครูแต่ละรายมีภาระมาก ทางโครงการจึงต้องหมั่นกระตุ้นเตือนและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง
       
       ด้าน อ.ดุสดี เปียกบุตร ครูวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ในโครงการ สควค. ผู้สอนวิชาฟิสิกส์ ชั้น ม.4 โรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ กรุงเทพฯ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวถือเป็นโอกาสดีที่ตัวเองจะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ตลอดจนวิธีการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์กับครูคนอื่นๆ เพื่อนำไปใช้กับการสอนวิทยาศาสตร์ให้ผู้เรียนเข้าใจมากขึ้น และจะพยายามนำแนวคิดเรื่องบล็อกขยายไปสู่การเพิ่มเติมเนื้อหานอกห้องเรียน ให้แก่นักเรียนด้วยเช่นกัน

ทีเอ็มซี-“ทำอย่างไรให้นักเรียนเรียนวิทยาศาสตร์อย่างมีความสุขเป็นโจทย์ที่ท้าทายครูสอนวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ และเพื่อให้การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในห้องเรียนมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ร่วมกันจัดโครงการพิเศษสำหรับครูสอน วิทยาศาสตร์โดยเฉพาะให้มีนวัตกรรมใหม่ไปใช้ในห้องเรียน
       
       ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ทีเอ็มซี) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (สวทช.) จัดโครงการ ครูวิทย์ในดวงใจ ที่ต้องการสร้างสรรค์การสอนให้เด็กรักวิทยาศาสตร์ผ่านโครงการเครือข่ายนวัตกรรมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในระดับโรงเรียน รุ่นที่ 1 ครั้งที่ 2 โดยมีครูเข้าร่วมทั้งหมด 28 คน ในการแบ่งปันประสบการณ์แก่กัน และนำเอานวัตกรรมการสอนวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ ไปพัฒนาการสอนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตลอดจนระดมความคิดแนวทางการสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนการ สอนวิทยาศาสตร์ระหว่างคณะครูและโรงเรียนอื่นๆ ในอนาคต เพื่อพัฒนาเด็กไทยให้มีใจรักวิทยาศาสตร์มากขึ้น
       

       ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผอ.ทีเอ็มซี กล่าวว่า การดำเนินโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง ก็เพื่อให้คุณครูทุกท่านได้ใช้เวทีนี้แบ่งปันประสบการณ์ที่ดีๆ ไปพัฒนาการสอนวิทยาศาสตร์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเด็กเก่งจะเก่งและดีได้นั้นจะต้องเริ่มต้นตั้งแต่สถาบันครอบครัวที่จะ มอบความรัก ความเอใจใส่ การอบรมเลี้ยงดู ตลอดจนสถาบันการศึกษา ซึ่งคุณครูจะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนากระบวนการเรียนรู้และ ศักยภาพของเยาวชน ดังนั้นทีเอ็มซีจึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาครูวิทยาศาสตร์ เพื่อให้มีการพัฒนาการเรียนการสอนให้เป็นครูนำทางมากกว่าการเป็นครูผู้สอน โดยมุ่งเน้นให้เด็กคิดเป็น และคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์
       
       ทั้งนี้ โครงการ ครูวิทย์ในดวงใจ ที่ต้องการสร้างสรรค์การสอนให้เด็กรักวิทยาศาสตร์รุ่นที่ 1 ครั้งที่ 1 ได้จัดไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งก็ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ได้มีการนำเสนอและรวบรวมนวัตกรรมการสอนใหม่ๆ หลายอย่าง เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคณะครูที่เข้าร่วม และคาดว่าได้มีการกระจายความรู้ไปสู่ครูในโรงเรียนอื่นๆ ต่อไป
       
       โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง ทีเอ็มซี และมูลนิธิบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (บวท.) โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
หมายเลขบันทึก: 154320เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2007 22:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 10:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท