มุสลิมกับการเผชิญหน้าในโลกยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) (ตอนที่ 2)


สำหรับผมเห็นว่าขณะนี้สังคมโลกยังขาดองค์ความรู้ หรือ ภูมิต้านทานโลกาภิวัตน์ที่ดี นอกจาก อิสลามเท่านั้น อิสลาม เป็นวิถีชีวิตเดียว หรือแนวทางเดียว เท่านั้นที่กล้าท้าทาย กล้าเผชิญหน้ากับโลกาภิวัตน์ในสังคมโลกปัจจุบัน อิสลามเป็นวิถีชีวิตที่ครอบคลุมทุกมิติของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นด้านจิตใจ คุณธรรม จริยธรรม การศึกษา เศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง ฯลฯ เป็นแนวทางหรือวิถีชีวิตที่สมดุล เช่น ความสมดุลระหว่างวัตถุและจิตใจ ความสมดุลระหว่างโลกนี้และโลกหน้า ฯลฯ

มุสลิมเผชิญหน้ากับโลกยุคโลกาภิวัตน์ได้อย่างไร           

           เมื่อสังคมมุสลิมต้องเผชิญหน้ากับโลกาภิวัฒน์ดร.ยูซุฟ     กอรฎอวีย์  ได้จำแนกมุสลิมออกเป็น 3 กลุ่ม  ดังนี้

             1.       กลุ่มที่ยอมรับและมีความคาดหวังอย่างสูงต่อลัทธิโลกาภิวัตน์  พวกเขาคือ กลุ่มคนที่ว่ายน้ำบนกลีบเมฆ  และดำเนินธุรกิจแบบไร้พรมแดน  กล่าวคือ เป็นกลุ่มคนที่ไร้จุดยืนหรือขาดความเป็นตัวของตัวเอง  ดั่งที่ท่านศาสนดาได้กล่าวว่า พวกเหล่านี้จะก้าวตามกลุ่มคนอื่นคืบต่อคืบ  ศอกต่อศอก  วาต่อวา  เมื่อเขาเข้ารูแย้พวกเขาก็จะตามเข้าไปในรูแย้เช่นเดียวกัน  ...

           2.       กลุ่มที่ต้องการหลีกหนีจากการเผชิญหน้าและมีความรู้สึกว่าเพียงพอกับการดำรงอยู่ และ กรอบความคิดของตน  บางที พวกนี้ไม่รู้ว่าโลกหมุนรอบตัวเอง   ด้วยซ้ำไป   คนกลุ่มนี้มักปิดหู  ปิดตา  ไม่รับรู้ปรากฎการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในโลกนี้  ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง  เศรษฐกิจ  สังคม  สิทธิมนุษยชนและอื่น ๆ กลุ่มนี้ไม่กล้าเผชิญหน้าและคบค้ากับกลุ่มบุคคลอื่น ๆ  กลุ่มคนเหล่านี้ คือ กลุ่มอนุรักษ์นิยม และ จารีตนิยม  ซึ่งมักมีทัศนะต่อต้านกับปรากฎการณ์ใหม่ ๆ  อยู่เสมอ

             3.       กลุ่มที่มีแนวคิดสายกลาง  คือ กลุ่ม ที่มีแนวคิดเปิดกว้างต่อกระแสโลกาภิวัตน์  และมีท่าทีที่ระมัดระวังตัวและพร้อมรับการวิพากษ์วิจารณ์   กลุ่มมุสลิมพวกนี้จะมีทัศนคติเป็นของตนเองและภาคภูมิใจในเอกลักษณ์แห่งมุสลิม  สำนึกต่อพันธกิจและยึดมั่นในศาสนาที่ตนเองนับถือ   เชื่อในความเป็นสากลนิยม  และอารยธรรมแห่งประชาชาติ    มุสลิมกลุ่มนี้  จะไม่หลีกหนีจากกระแสการเผชิญหน้าทุกรูปแบบ  และกล้าที่จะสนทนาแลกเปลี่ยน(Dialoque) ความรู้  ประสบการณ์  และแนวคิดอย่างสันติกับทุกกลุ่มของลัทธิโลกาภิวัฒน์  ซึ่งแน่นอนที่สุด  พวกนี้มีทัศนะที่เปิดกว้างและมีจุดยืนที่เข้มแข็ง  ปราศจากแนวคิดที่สุดขั้วหรือตกขอบ

                    ศ.นพ.ประเวศ   วะสี  ราษฎรอาวุโสของไทย  พูดว่า  ไม่มีประโยชน์อีกต่อไปแล้วที่เราจะมาต่อต้านวัฒนธรรมตะวันตก   เพราะเราไม่สามารถหยุดยั้งเขาได้อีกแล้ว  ผมเองเห็นด้วยกับความคิดของ ศ.นพ.ประเวศ   วะสี  เพราะว่าเราไม่มีอำนาจ  ขาดแคลนองค์ความรู้  ขาดแคลนปัจจัยทางการเงิน  ฯลฯ ที่จะไปต่อต้าน การรุกรานของโลกาภิวัตน์ได้    ดังนั้นเราจึงควรที่จะเรียนรู้เพื่อทำความรู้จักกับโลกาภิวัตน์  เพื่อที่จะได้อยู่ร่วมกับมัน  และเผชิญหน้ากับมัน  โดยที่ยังรักษาอัตตลักษณ์ความเป็นมุสลิม  (เสมือนกับความคิดที่ 3 ที่ได้นำเสนอแล้ว)

 แนวทางในการเผชิญหน้ากับสังคมโลกาภิวัตน์          

                    สำหรับผมเห็นว่าขณะนี้สังคมโลกยังขาดองค์ความรู้  หรือ ภูมิต้านทานโลกาภิวัตน์ที่ดี  นอกจาก อิสลามเท่านั้น  อิสลาม เป็นวิถีชีวิตเดียว หรือแนวทางเดียว เท่านั้นที่กล้าท้าทาย  กล้าเผชิญหน้ากับโลกาภิวัตน์ในสังคมโลกปัจจุบัน  อิสลามเป็นวิถีชีวิตที่ครอบคลุมทุกมิติของชีวิต  ไม่ว่าจะเป็นด้านจิตใจ  คุณธรรม จริยธรรม การศึกษา เศรษฐกิจ  สังคม การเมือง การปกครอง ฯลฯ   เป็นแนวทางหรือวิถีชีวิตที่สมดุล เช่น ความสมดุลระหว่างวัตถุและจิตใจ  ความสมดุลระหว่างโลกนี้และโลกหน้า    ฯลฯ                

                  ในเมื่ออิสลามเป็นแนวทางหรือวิถีชีวิตที่สมบูรณ์เช่นนี้   แล้วทำไมอิสลามถึงยังไม่สามารถเผชิญหน้ากับลัทธิหรือแนวคิดโลกาภิวัตน์ได้    นี่คือโจทย์ที่ใหญ่มากสำหรับมวลมุสลิมทั้งหลายที่จะต้องร่วมกันแก้ปัญหาข้อนี้   โจทย์ข้อนี้อาจจะมีหลายคำตอบ  หลายมิติ  หลายมุมมอง  แต่สำหรับผมมั่นใจว่า  ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า   มุสลิมยังขาดองค์ความรู้    และมีเข้าใจอิสลามที่ไม่ถูกต้อง  เช่น  การเข้าใจอิสลามที่ไม่ครอบคลุม  ไม่รอบด้าน  หรือพูดได้ว่า ปัญญาชนมุสลิมส่วนหนึ่งเข้าใจอิสลามในด้านความเชื่อ  และ  พิธีกรรม  ในเชิงลึก  แต่ ขาดความเข้าใจอิสลามในแง่อุดมการณ์  หรือ อิสลามที่เป็นวิถีชีวิต   ในขณะที่มุสลิมอีกบางส่วนมีความเข้าใจอิสลามในเชิงกว้าง  เข้าใจว่าอิสลามคือระบอบแห่งดำรงชีวิต  หรือแนวทางในการดำรงชีวิต    แต่ขาดความเข้าใจเชิงลึกในด้านความเชื่อมั่น                  

                ดังนั้นผมเห็นว่ามีการศึกษาเท่านั้นที่สามารถแก้ปัญหาทั้งหมดนี้ได้        แต่เมื่อมาพิจารณาในด้านการจัดการศึกษาของสังคมมุสลิมในเมืองไทยกลับพบว่าการจัดการศึกษาของมุสลิมในเมืองไทยมีโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจำนวนมากมายแต่ขาดความเข้มแข็ง   ทั้งนี้เพราะโรงเรียนเหล่านี้ยังจัดการศึกษาภายใต้อิทธิพลแนวคิดแบ่งแยกศาสนาออกจากวิถีชีวิต (secularism) จึงทำให้การศึกษาของสังคมมุสลิมไม่สามารถสร้างมุสลิมที่เข้าใจอิสลามทั้งในเชิงลึกและกว้างได้   การจัดการศึกษายังมุ่งหาผลประโยชน์ให้กับเจ้าของกิจการ   การจัดการศึกษายังขาดอุดมการณ์ในการสร้างมุสลิมที่สมบูรณ์                

                  ผมจึงใคร่ขอนำเสนอความคิดเห็นในบทความชิ้นนี้ว่า   มีแนวความคิดหนึ่งที่จะสามารถวางรากฐานในการจัดการศึกษาที่ดีให้แก่โรงเรียนเหล่านี้ได้  นั่นคือ  แนวคิดอิสลามานุวัฒน์กับองค์ความรู้ (Islamization of Knowledge) ของ ศ.ดร.อิสมาอีล   อัลฟารูกีย์  ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในสังคมมุสลิมทั้งหลายควรศึกษา  เรียนรู้  และทำความเข้าใจแนวคิดดังกล่าวเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาในสังคมมุสลิมต่อไป 

                ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า  แนวทางที่จะเผชิญหน้ากับโลกาภิวัตน์ได้นั้น  มีอิสลามเพียงเท่านั้นที่จะเป็นแนวทางในการเผชิญหน้ากับโลกาภิวัน์  และผลิตผลทางความคิดหนึ่งของปราชญ์มุสลิมร่วมสมัยที่จะปลูกฝังความคิดอิสลามที่สมบูรณ์ได้ นั่นคือ แนวคิดอิสลามานุวัฒน์กับองค์ความรู้ (Islamization of Knowledge) ของ ศ.ดร.อิสมาอีล   อัลฟารูกีย์ 

 
หมายเลขบันทึก: 154185เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2007 15:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท