ศาสตร์ว่าด้วย “จิตวิญญาณครู” (เพิ่มเติม)


"ตัวอย่างที่ดี มีค่ากว่าคำสอน"

วิถีปฏิบัติสู่ความถึงพร้อมแห่งจิตวิญญาณครู ที่ช่วยในการเสริมสร้างความดีอันเจริญงอกงามให้มีขึ้นทั้งต่อบุคคลและสังคมอย่างยั่งยืน (Sustainable) นั้น ประกอบด้วย

1) มีความเจริญและสมดุลทั้งด้าน IQ และ EQ ( I.Q. ย่อมาจาก Intelligence Quotient   หมายถึง ความเฉลียวฉลาดทางสติปัญญา ส่วน E.Q. ย่อมาจาก Emotional Quotient หรือ Emotional Intelligence หมายถึง ความฉลาดทางอารมณ์) ซึ่ง IQ นั้นเกิดจากการศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์ พินิจพิจารณา สร้างความรู้ให้มีขึ้นในตัวเอง ส่วน EQ นั้นเกิดจากการฝึกและพัฒนาภายในตัวตนของบุคคล ซึ่งคนที่มี IQ สูงหรือมีอัจฉริยภาพเพียงอย่างเดียวนั้นอาจไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตได้ เพราะภาวะสังคมที่เป็นพิษ ทำให้จิตใจคนแปรเปลี่ยนไป สมองเฉื่อยชา ไม่รู้วิธีจัดระบบให้กับตัวเอง ทั้งนี้คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต EQ มักจะนำ IQ 6 ดังนั้นในความเป็นครูทั้งสองส่วนนี้ต้องสมดุลกัน มิฉะนั้นจะเป็นไปได้ยากที่จะพัฒนาบุคคลอื่นได้

2) ยึดหลักศาสนธรรม ทั้งนี้เพราะศาสนธรรมเป็นหลักพื้นฐานในการดำรงชีวิตร่วมกับคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นศีล 5 มรรค 8(อัฏฐังคิกมรรค) พรหมวิหาร 4 อิทธิบาท 4 หิริ-โอตตัปปะ (ความละอายเกรงกลัวต่อบาป) เป็นต้น เพื่อให้การดำเนินชีวิตเต็มไปด้วยความสุขุมลุ่มลึก มีสติ และขัดเกลาจิตใจให้มีความนบน้อม อ่อนโยน เมตตาจิต มีจิตประภัสสร เชื่อมั่นในเรื่องผลแห่งกรรม (การกระทำ) ดังพุทธพจน์ที่ว่า ธมฺโม สุจิณฺโณ สุขมาวหาติ ผู้ประพฤติธรรมดีแล้วย่อมนำความสุขมาให้

3) เคารพต่อตนเองและผู้อื่น เชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ มองเห็นคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมีพลังศักยภาพที่สามารถพัฒนาได้ รวมทั้งมีสำนึกดีต่อสังคม มุ่งมั่นในการทำความดีในทุกขณะ มองโลกในแง่ดี ศรัทธาในพุทธพจน์ที่ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

4) ใช้ชีวิตอยู่ทั่วจักรวาล มีคำกล่าวว่า มนุษย์เป็นสัตว์ชนิดเดียวที่อยู่ทั่วจักรวาล ทั้งนี้เพราะมนุษย์มีอดีต มีปัจจุบัน และมีอนาคต ดังนั้น ครูจะต้องเชื่อมโยงทั้ง 3 มิตินี้เข้าด้วยกัน โดยการนำเอาอดีตมาเรียงร้อยประสานเข้ากับปัจจุบัน แล้วมองภาพอนาคต (Scenario) ที่พึงปรารถนาให้เห็น โดยมีสมมติฐานว่า อนาคตที่ดีมาจากการวางรากฐานของปัจจุบันที่พัฒนามาจากประสบการณ์ของอดีต

5) ครึ่งหนึ่งของชีวิตอุทิศเพื่อสังคม คนเราไม่ได้เกิดมาด้วยตัวคนเดียวโดดๆ แต่ชีวิตคือผลรวมของความมุ่งมั่นจากสิ่งรอบตัว เพราะฉะนั้นชีวิตแต่ละชีวิตต่างติดหนี้สังคมอยู่ครึ่งชีวิต การกระทำที่ยุติธรรมทั้งต่อตนเองและบุคคลอื่นคือ การแบ่งผลประโยชน์ครึ่งหนึ่งของชีวิตคืนให้แก่สังคม เปิดกระบวนทัศน์ ( Paradigm ) ของตัวเองให้พ้นกรอบของความเห็นแก่ตัว ความยึดมั่นถือมั่น และการไขว่คว้าเพื่อสนองตัณหาเฉพาะในช่วงชีวิตของตัวเอง ต้องระลึกอยู่เสมอว่า มนุษยชาตินั้นมีระยะเวลาที่ยาวไกลมากนัก เราในฐานะ ผู้มาเยือนจะหลงเหลืออะไรไว้บ้าง นั่นจะเป็นคำ ขอบคุณหรือ ประณามกันแน่?

6) ครูคือผู้สร้างค่านิยม-กระแสสังคม การกระทำใดๆ จะต้องใส่ใจและรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ใช่เพื่อสนองตอบต่อมายาคติของตนเองเท่านั้น ทั้งนี้เพราะบทบาทของครูนั้นมีอิทธิพลต่อการกำหนดค่านิยม ทัศนคติ และกระแสสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นตัวอย่างที่ดีย่อมมีความสำคัญเสมอ

 

จิตวิญญาณครู ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ไม่ใช่โลกในอุดมคติ แต่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนในตัวบุคคล หากเรามุ่งมั่นที่จะทำ ซึ่งถือเป็นความคาดหวังของสังคมโดยรวม เพราะนั่นหมายถึง การเผื่อแผ่เจือจานกระจายคุณความดี ความงาม ระหว่างชีวิตต่อชีวิต คนต่อคน ซึ่งเชื่อแน่ครับว่ากลิ่นอายหอมจรุงอันละไมนี้จะสถิตอยู่ในสังคมอย่างยั่งยืนยาวนาน

 

            สิ่งสำคัญที่สุดนั้น จะต้องระลึกไว้เสมอครับว่า ครูที่ดีต้องเต็มเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณครู คือการเป็นครูทั้งชีวิตและวิญญาณ ไม่ใช่เพียงเพราะมีอาชีพเป็นครูเท่านั้น

หมายเลขบันทึก: 153240เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2007 08:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 19:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท