ตำนานบุหรี่ : เรื่องเล่าเมื่อ 59 ปีมาแล้ว


เอาบทความของอาจารย์เก่าสมัยเรียนมาให้อ่านหนะ....ลองอ่านดูหนะครับ
ผมเป็นคนชอบสงสัย สงสัยแล้วก็อยากรู้  บางทีก็ถามเอาจากคนโน้นคนนี้ แต่บางทีก็หาคนถามไม่ได้ ต้องสืบค้นจากการอ่านหนังสือบ้าง จากอินเทอร์เน็ตบ้าง แต่บางครั้งก็จนปัญญาหาคำตอบไม่ได้  นี่เป็นวิถีปกติครับ  แต่ถ้าไม่อยากรู้ไม่อยากเห็นอะไร  จะบอกเล่าอะไรให้ฟังก็ไม่ชอบ เอาแต่เฉยๆ นับเป็นวิถีที่ผิดวิสัยธรรมชาติของมนุษย์ครับ

            เกริ่นนำมานี่ก็เพื่อเข้าสู่เรื่องความสงสัยว่า  ที่นั่งสูบบุหรี่อยู่นี่ บุหรี่ที่สูบนี้มาจากไหนกัน?  ท่านเคยสงสัยบ้างไหม?  ผมเลยต้องหาหนังสือมาอ่าน โชคดีว่า ที่บ้านผมมีหนังสือเก่ามากอยู่เล่มหนึ่ง คือ ชุมนุมพระนิพนธ์  ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ตีพิมพ์โดยโรงพิมพ์เจริญธรรม แถวเสาชิงช้ากรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. 2494 หรือเมื่อ  56 ปีมาแล้ว  ได้อธิบายเรื่องตำนานบุหรี่เอาไว้ อ่านแล้วน่าสนใจมาก จึงเอามาเล่าสู่กันฟังครับ

         ที่เขียนชื่อเรื่องเอาไว้ว่า เรื่องเล่าเมื่อ 59 ปีนั้นไม่ผิดครับ เพราะสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ท่านเขียนเอาไว้ในวารสารศิลปากร ปีที่ 1 เล่ม 2  ตุลาคม     พ.ศ.  2491  ก่อนผมเกิด 8 ปีทีเดียว

  

         สมเด็จฯ ท่านเล่าไว้ว่า  บุหรี่มาจาก ใบยา ที่มีรสชาติจับใจคนผิดใบไม้อย่างอื่น ตามตำนานฝรั่งกล่าวว่า มีอยู่ในทวีปอเมริกา เมื่อครั้งค้นพบในปี    พ.ศ. 2035  พวกอินเดียนแดงซึ่งเป็นชนพื้นเมืองใช้เป็น ยา หรือ โอสถ  กันมานานแล้ว  อินเดียนแดงเรียกใบยานี้ว่า โตบัคโค Tobacco โดยใช้กัน 4 แบบคือ เอาใบยาตากแห้งโรยบนกองไฟแล้วดม หรือหั่น บดเป็นผงใช้นัดทางจมูก หรือ อมในปาก หรือใส่กล้องสูบ  เชื่อกันว่า เป็นยาช่วยปลดเปลื้องความรำคาญ ทำให้สำราญใจ  พอฝรั่งเข้าไปและลองใช้ก็ติดใจ

        

       ใบยาโตบัคโค แพร่หลายไปยังยุโรปโดยเริ่มต้นจากประเทศสเปนเมื่อ พ.ศ. 2101 โดยนายแพทย์ฟรานซิสโค เฟอร์นันเดส นำเข้ามาตามรับสั่งของพระเจ้าฟิลิปที่ 2 ที่โปรดให้สำรวจพันธุ์พืชในอเมริกา และฝรั่งสเปนก็นิยมใช้กันและแพร่หลายไปยังประเทศฝรั่งเศส ทวีปอาฟริกาและอาเซียตามลำดับ  ผู้รู้ในยุโรปได้ตั้งชื่อใบยาโตบัคโคเป็นภาษาละตินว่า นิโคติน (Nicotin) ตามชื่อของนิโคต์ ราชทูตฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้โฆษณาเผยแพร่ให้รู้จักอย่างกว้างขวาง 

  

          ท่านลองสังเกตชื่อต่างๆ ที่เกี่ยวกับใบยาโตบัคโคให้ดีนะครับ  เพราะแต่ละชื่อนั้นเป็นที่มาของคำต่างๆ ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน อย่าง ในบุหรี่มีสารนิโคติน ก็เอามาจากชื่อนี้ครับ คำราชาศัพท์ บุหรี่ ก็ใช้ว่า พระโอสถมวน ก็ไปทางยาเช่นกัน

  

          สมเด็จฯ ท่านเล่าต่อไปว่า ใบยาโตบัตโคมีชื่อเรียกต่างกันไปตามภาษาในประเทศต่างๆ  เช่น เปอร์เซีย เรียก ตัมบากู  ฮินดูเรียกว่า ตะมาซู  มลายูเรียก เตมบาเกา  ยุโรปบางประเทศเรียก ตะบัค   ท่านค้นตำนานทางอาเซียแถบจีน  ใบยาของจีน ภาษาแต้จิ๋วเรียกว่า หุน ซึ่งได้มาจากเมืองลูซ่งในหมู่เกาะฟิลิปปินส์  ซึ่งไทยเราในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตามหลักฐานจดหมายเหตุของลาลูแบร์ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ก็ได้บอกว่ากรุงศรีอยุธยาได้ใบยานี้มาจากเกาะมนิลาบ้าง เมืองจีนบ้าง ไทยเราจึงไม่เรียกใบยานี้ว่า โตบัคโค

  

          ทำไมคนไทยเรียกโตบัคโคว่า ใบยา แท้จริงไทยเรามีใบไม้ที่ใช้สูบ ดม รม นัด เป็นยาอยู่แล้ว พอโตบัคโคเข้ามา ก็เลยเรียกรวมเป็นใบยาด้วย

  

          ทีนี้มาถึงเรื่องการสูบบุหรี่อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ไทยเริ่มสูบบุหรี่กันมานานแล้ว คือเอาใบยาอย่างอื่นมามวนเป็นแบบบุหรี่แต่เราไม่เรียกว่าบุหรี่   แต่เรียกว่า สูบยา    แม้แต่คำว่า       ซิคาเรต (cigarette) หรือ ซิการ์  ชาวบ้านก็ยังเรียกว่า  ยากาแรต  คำว่า บุหรี่  เป็นคำของผู้ดีเรียกกัน  ดังนั้น คำว่า บุหรี่ จึงไม่ใช่คำไทย   ไม่ใช่คำพม่า (พม่าเรียกว่า เฉะลิบ)  ไม่ใช่คำเขมร (เขมรเรียกว่า บารี แต่คำนี้ไม่มีในภาษาเขมร)  สุดท้ายพบคำว่า บุรี (Buri) ในภาษาเปอร์เซีย ซึ่งแปลว่า แหลม  ก็เห็นว่าจะเข้าเค้า เพราะยาสูบที่สูบกันแต่เดิมใช้ใบจากบ้าง ใบตองบ้าง มวนเป็นก้นแหลมแบบเดียวกับหมากพลู  ซองที่ใส่ยาสูบก็แหลมปลายเพื่อใส่ยาสูบได้  บุหรี่อย่างเป็นมวนที่เห็นปัจจุบันเพิ่งจะมามีในสมัยปลายรัชกาลที่ 4  เพราะฉะนั้น สรุปความว่า  คำว่า สูบบุหรี่ เป็นคำที่เกิดมาตามพวกเปอร์เซียไม่นานมานี้   ส่วนคำว่า สูบกล้อง  มาจากพวกจีน

            เรื่องสูบบุหรี่ก็มีมาเท่านี้  ทุกวันนี้มิได้สูบเป็นยาจริงจังดังก่อน แต่เพื่อความเก๋ เท่ และถือเป็นยาเสพติดชนิดหนึ่ง สูบและติดแล้วก็เลิกยาก  พิษภัยก็มีมหันต์  รัฐบาลต่างรณรงค์ให้คนหันมาเลิกสูบบุหรี่ ขีดวงจำกัดพื้นที่การสูบบุหรี่ ไม่ให้สูบในร้านอาหาร ภัตตาคาร สถานการศึกษา โรงภาพยนตร์ สนามบิน  บนเครื่องบิน  และในที่สาธารณะตามอำเภอใจดังก่อน  มีกฎหมายห้ามโฆษณาบุหรี่ ณ ที่ขาย และห้ามโฆษณาทางสื่อทุกชนิด ต้องปกปิด  ห้ามจำหน่ายแก่เด็กที่อายุไม่ถึง 18 ปี เป็นต้น  รวมไปถึงไม่ถวายบุหรี่แก่พระภิกษุ สามาเณรด้วย   ผมว่าเมืองไทยเรารณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจังพอสมควร  ผมเห็นด้วยครับ  ตอนนี้พวกสูบบุหรี่ก็กลายเป็นพวกชนกลุ่มน้อย น่ารังเกียจเข้าไปทุกที ผมเองก็อยู่ในจำพวกนี้ กำลังตัดใจเลิกอยู่นะครับ ให้กำลังใจกันด้วย

 ผมอยากเป็นคนรุ่นใหม่ ไม่สูบบุหรี่ ครับผม       

หมายเลขบันทึก: 153125เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2007 16:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 17:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เอาใจช่วยนะคะ ขอให้เลิกได้เร็วๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท