ข้อคิดจากการสำรวจพื้นที่อำเภอวังเหนือ


การจัดการความรู้ ถ้าหาจุดคานงัดให้พบ งานก็จะดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผล

      เมื่อวานนี้ยังไม่ความคืบหน้าอะไรมากนัก เนื่องจากเป็นวันหยุด ความจริงถ้าผู้วิจัยได้ไปเข้าร่วมประชุม (สังเกตการณ์) ตามที่เครือข่ายฯแจ้งมาเมื่อวานนี้ก็คงจะได้ข้อมูลเพิ่มเติมขึ้นมา แต่นี่เพราะ ติดธุระจริงๆ ก็เลยไม่ได้ไป ทั้งๆที่ได้พยายามรีบแล้ว (รีบซะจนรถของมหาวิทยาลัยขับชนรั้วบ้านของชาวบ้าน รั้วหนะไม่เป็นอะไร แต่กันชนรถหักไปเลยค่ะ ไม่รู้งานนี้จะถูกทางมหาวิทยาลัยสอบสวนหรือเปล่า) กลับมาถึงในเมืองช่วงบ่าย 2 โมงครึ่ง ให้คนขับรถไปส่งที่ โรงเรียนนาก่วมใต้ แต่ก็ไม่พบใคร ผู้วิจัยจึงได้แต่กลับบ้านไปด้วยความผิดหวัง

       ตื่นนอนขึ้นมาตั้งแต่ตี 5 เพื่อเตรียมตัวไปลงพื้นที่ที่อำเภอวังเหนือ ประมาณเกือบ 7 โมงเช้ารถของมหาวิทยาลัยก็มารับ ก่อนออกจากบ้านอธิษฐานอยู่ตั้งนานขอให้หาชุมชนได้ครบและได้เร็วๆด้วยจะได้กลับมาร่วมประชุมเครือข่ายฯ (แม้จะเป็นช่วงท้ายก็ตาม) ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะทันหรือเปล่า (ในที่สุดก็ไม่ทัน) แต่โดยปกติแล้วเวลาเครือข่ายฯนัดประชุมจะมีการพูดคุยกันถึงช่วงเย็น

          จากการลงพื้นทีทำให้ผู้วิจัยถึงบางอ้อ ว่าทำไมที่ผ่านมากหลายวันจึงไม่สามารถหาหมู่บ้านได้ครบสักที ในหลายวันที่ผ่านมาผู้วิจัยไปตามหมู่บ้านที่ทางอำเภอแนะนำ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ได้คุยกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้วิจัยเลือกตามความสะดวก ส่วนใหญ่จะไปคุยกับร้านค้าต่างๆ ปัญหาที่พบ คือ ผู้ให้ข้อมูลไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีที่พักหรือไม่ ยิ่งพอไปพบ หมู่บ้านที่มีโรงเรียนร้างด้วย ยิ่งเหมือนมืดแปดด้าน เนื่องจาก โรงเรียนเป็นที่แรก (และอาจเป็นที่สุดท้าย) ด้วยที่จะเป็นที่พักที่แน่นอน วันนี้ผู้วิจัยเลยเริ่มต้นใหม่โดยการไปที่หมู่บ้านเดิม (รวมทั้งหมู่บ้านใหม่บางแห่งด้วย) แต่มุ่งตรงไปที่บ้านกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเลย ซึ่งได้ผลเกินคาด จากที่คิดว่าอาจฟาล์วไม่มีบ้านให้นักศึกษาพักจริงๆ กลับกลายเป็นว่ากำนัน ผู้ใหญ่บ้านให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี จากที่หาหมู่บ้านได้เพียง 4-5 หมู่บ้าน วันนี้ใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมง (ไม่รวมเวลาเดินทางไป-กลับ) ก็สามารถหาหมู่บ้านและที่พักได้ครบทั้ง 11 หมู่บ้าน ใน 11 หมู่บ้านนี้มีเพียง 2 หมู่บ้านเท่านั้นที่ยังไม่ได้คำตอบที่แน่นอน (แต่ความน่าจะเป็นที่จะได้ประมาณ 90-95 %) แถมยังได้หมู่บ้านสำรองอีกประมาณ 2 หมู่บ้าน วันอังคารนี้คงได้คำตอบแน่นอนว่าจะเรียบร้อยหรือไม่

        ประสบการณ์ในการลงพื้นที่ครั้งนี้สอนให้ผู้วิจัยเห็นว่าเวลาจะทำงานอะไร ต้องพิจารณาให้รอบคอบก่อน การใช้ความมุ่งมั่น พยายามอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องให้เหตุผล ใช้สมอง คิดตรึกตรองด้วย อย่างในการลงพื้นที่ครั้งนี้ผู้วิจัยจะไม่เหนื่อยและเสียเวลามากอย่างนี้ถ้าได้ไปคุยกับผู้มีอำนาจตั้งแต่แรก เพราะ บุคคลเหล่านี้จะสามารถชี้แนะและจัดการในสิ่งที่เราต้องการได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ถ้านำมาเปรียบเทียบกับการจัดการความรู้ ผู้วิจัยเห็นว่าการลงพื้นที่ครั้งนี้จะไม่เสร็จเลยถ้าเราหาจุดคานงัดไม่พบ เช่นเดียวกับการจัดการความรู้ที่ถ้าหาจุดคานงัดให้พบ งานก็จะดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผล แต่ก็ได้แค่คิด เพราะ จนถึงปัจจุบันผู้วิจัยก็ยังรู้สึกว่าตัวเองหาจุดคานงัดไม่พบ หรือถ้าหาพบ (ตามที่สันนิษฐานเอาไว้) ก็ไม่รู้ว่าจะจัดการกับจุดคานงัดนี้อย่างไร เมื่อคิดมาถึงตรงนี้เลยทำให้คิดต่อไปอีกว่าแต่ก่อนตอนเรียนวิจัย อาจารย์มักสอนในเรื่องของมุมมองคนใน คนนอก ตอนนั้นไม่รู้ว่าทำไมต้องสอน มุมมองนี้สำคัญอย่างไร แต่พอตัวเองมาทำงานเอง ชักจะเริ่มมองเห็นแล้วว่าสำคัญอย่างไร

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15255เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2006 17:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 เมษายน 2012 20:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท