คำถามแห่งปริศนามหาภารตะ


บทบันทึก รายละเอียดบางส่วนแห่งปริศนาธรรม จากโศลกประพันธ์ชิ้นงามของโลก มหากาพย์เรื่องยิ่งใหญ่ นามมหาภารตะ แง่งามแห่งเรื่องราวคำถามสู่บทประพันธ์บทละครเวที ของนักประพันธ์ชาวฝรั่งเศส และอังกฤษ ทื่ได้รับการถ่ายทอดสู่ภาคภาษาไทย

คำถามแห่งปริศนามหาภารตะ

อ้างอิง - ภาพ http://www.lomography.com/folkways

ในบทแห่งความงดงาม

เพื่อสอนใจผู้คน

หนึ่งในบทมหากาพย์อันยิ่งใหญ่ของโลก

นามว่า มหาภารตยุทธ์ หรือนาม มหาภารตะ นับเป็นอัญมณีล้ำค่าแห่งภูมิปัญญามนุษยชาติ ซึ่งเก็บซ่อนเรื่องราว ปริศนาธรรมคำทายต่อก้าวย่างทางปัญญา ยามมนุษย์ค้นหาความจริงเบื้องหน้า

เมื่อยามมนุษย์ถามตนเอง

ถึงหนทางเบื้องนี้ แลเบื้องหน้าชีวิต

จึงมีคำถามอันยิ่งใหญ่ไว้คอยเตือนใจ

หนึ่งในบทประพันธ์ชั้นมหากาพย์เรื่องนี้ นับได้ว่าละเอียดละออ และต่อเนื่องอย่างยาวนาน บ่อยครั้งที่จำต้องมีผู้ดัดแปลงตัดทอน เฉพาะช่วงตอนเรื่องราว เพื่อนำแก่นสารมาสู่การเรียนรู้ บทประพันธ์และงานสร้างสรรค์ จึงดำรงอยู่แลวัฒนาอย่างต่อเนื่องในสายธารแห่งภูมิธรรม

Jean-Claude Carriere

นักประพันธ์และนักการละครชาวฝรั่งเศส

ปรารถนาจะสร้างสรรค์ผลงานละครเวทีครั้งยิ่งใหญ่

ด้วยการถ่ายทอด มหาภารตะ สู่เนื้อความบทละครเวที โดยยกย่องความยิ่งใหญ่เพื่อปรับแต่งเรื่องราวคำกล่าวบางด้านมุม จากวรรณกรรมยิ่งใหญ่เรื่องหนึ่งของโลก ในนามวรรณกรรมร้อยกรอง ซึ่งกล่าวกันว่ามีความยาวที่สุดที่เคยมีมา นับตั้งแต่มีการเขียนมหากาพย์ กล่าวอ้างอิงว่า คำประพันธ์มหากาพย์เรื่องนี้ ที่ประพันธ์คำสันสกฤต ที่เรียกว่า โศลก

มีจำนวนถึง 100,000 บท

กล่าวกันว่า มีความยาวเป็น 15 เท่าของพระคัมภีร์ไบเบิล

Jean-Claude Carriere จึงตัดสินใจ

แปลเรื่องราวและบทมหากาพย์อันยิ่งใหญ่ชิ้นนี้ ในรูปของบทละครเวที เป็นภาษาฝรั่งเศส โดยได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ The Mahabharata โดย Peter Brook ผู้ร่วมเขียนบทประพันธ์ร่วม และรองศาสตราจารย์จักรกฤษณ์ ดวงพัตรา ได้ถ่ายทอดบทละครเวที แห่งมหากาพย์อันยิ่งใหญ่ชิ้นนี้ สู่บทละครเวทีภาคภาษาไทย ในปลายปี 2537

 

สาระสำคัญอันงดงาม

ซึ่งปรากฎในรูปภาษาไทย นำเสนอเรื่องราวแห่งคำถาม ปริศนาธรรม แลรูปเงาแห่งชีวิต แห่งโศลกองค์ที่ 2 ในภาคละครเวที บทเนรเทศสู่ป่า และการรวบรวมพล เมื่อมีเสียงแห่งธรรม ปรากฏขึ้นท่ามกลางคำถาม ต่อองค์ยุธิษเฐียร

อะไรที่เร็วกว่าลม

ความคิด

อะไรที่ห่อหุ้มโลกอยู่

ความมืด

ชีวิตกับความตาย อะไรยิ่งใหญ่กว่ากัน

ความีชีวิต เพราะความตายนั้นไม่จีรัง

ความว่างเปล่าคือะไรบ้าง จงยกตัวอย่าง

มือทั้งสองข้างของข้าในขณะนี้ เป็นตัวอย่างหนึ่ง

อะไรคือความโศกเศร้า

ความโง่เขลา

แล้วยาพิษเล่า

ความปรารถนา

แล้วการต่อสู้คืออะไร

ชัยชนะ

สัตว์ชนิดใดที่สง่างามที่สุด

สัตว์ที่มนุษย์ไม่เคยรู้จัก

 

กลางวันกับกลางคืน อะไรมาก่อนกัน

กลางวัน แต่กลางวันก็เพียงนำหน้ากลางคืนมาเท่านั้น

โลกเกิดจากอะไร

ความรัก

อะไรเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับตัวเจ้า

ตัวเราเอง

อะไรคือความบ้า

ความหลงผิด

แล้วความน่ารังเกียจเล่า

ความน่ารังเกียจ คือการแสวงหาความงดงาม ไม่ว่าขณะที่มนุษย์ยังมีชีวิตอยู่หรือเมื่อตายแล้วก็ตาม

สิ่งที่มนุษย์ไม่อาจหลีกหนีได้พ้น

ความสุข

อะไรคือความน่าพิศวงที่สุด

ความตายคืบคลานมาสู่ชีวิตมนุษย์ทุกขณะจิต แต่มนุษย์ก็ยังใช้ชีวิตอย่างผิดศีลธรรม นี่เป็นสิ่งที่น่าพิศวงนัก

เมื่อนั้น

ฤาษีวยาส กลับมาหายุธิษเฐียร

กระทั่งเสียงจากหนองน้ำก็พูดขึ้นว่า น้องน้องของเจ้า จะฟื้นคืนชีวิตทุกคน ข้า คือ ธรรมเทพ บิดาของเจ้าเอง เรื่องราวจึงดำเนินต่อไปหลังคำถามแลคำตอบแห่งภูมิธรรมได้บังเกิด เพื่อถามไถ่ตัวเรา

ปริศนาธรรมบทนี้ จึงเป็นเช่นนี้แล

หมายเลขบันทึก: 152300เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2007 22:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 19:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท