แรมซาร์ไซต์กับการอนุรักษ์ของไทย(2) ลุ่มน้ำสงครามตอนล่างพื้นที่ต้นแบบ


ที่กระบี่และเชียงรายเรามีการจัดทำยุทธศาสตร์สำหรับแรมซาร์ไซต์ โดยในส่วนของนโยบายเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ในช่วงลงมือปฏิบัติ
 

แรมซาร์ไซต์กับการอนุรักษ์ของไทย(2) ลุ่มน้ำสงครามตอนล่างพื้นที่ต้นแบบ

          ปัญหาการลดลงของพื้นที่ชุ่มน้ำที่ยังคงมีอยู่แม้ว่าจะมีการประกาศให้พื้นที่หลายแห่งอยู่ในแรมซาร์ไซต์ ทำให้ต้องมีการทบทวนถึงการจัดการก่อนที่จะมีการอนุรักษ์อย่างจริงจัง “10 พื้นที่ที่ประกาศไปแล้วยังไม่มีแผนการจัดการเป็นของตัวเอง บางแห่งชุมชนเองก็ไม่อยากให้มีการประกาศ เพราะมีข้อจำกัดบางอย่างที่ทำให้เขาไม่อยากยอมรับ” ดร.นวรัตน์ ไกรพานนท์ ผู้จัดการโครงการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนในพื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำโขง ระบุ   ปัญหาที่หนักที่สุดที่พื้นที่ชุ่มน้ำทั่วประเทศกำลังเผชิญอยู่ก็คือ การบุกรุกเพื่อการเกษตร โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ที่มีการบุกรุกเพื่อปลูกปาล์มน้ำมันหลังจากปาล์มน้ำมันมีราคาดีขึ้นเรื่อย ๆ !!!  ขณะที่พื้นที่ชุ่มน้ำอื่น ๆ ยังไม่มีแผนการจัดการที่แน่ชัด สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำแผนการเชิงรุกโดยได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเดนมาร์ก เพื่อจัดทำแผนการจัดการใน 2 พื้นที่นำร่องคือ กระบี่และเชียงราย  ที่กระบี่และเชียงรายเรามีการจัดทำยุทธศาสตร์สำหรับแรมซาร์ไซต์ โดยในส่วนของนโยบายเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ในช่วงลงมือปฏิบัติ”  นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดโครงการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนในพื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำโขง (Mekong Wetlands Biodiversity Conservation and Sustainable Use Programme : MWBP) ขึ้นโดยโครงการนี้เป็นโครงการในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดำเนินการโดย 4 ประเทศในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ได้แก่ ลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทยโดยมีโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN) และคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ร่วมบริหารโครงการ  มีระยะเวลาในการดำเนินการ 5 ปี (2547-2552) ในพื้นที่นำร่องของแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทยพื้นที่ที่ได้รับการคัดเลือกก็คือ พื้นที่ลุ่มน้ำสงครามตอนล่าง ซึ่งในขณะนี้ยังไม่ได้ประกาศให้เป็นแรมซาร์ไซต์ แม้ว่าในพื้นที่ดังกล่าวนี้จะมีความเหมาะสมในหลาย ๆ ด้านพร้อมอยู่แล้วก็ตาม   สำหรับลาวได้เลือกจังหวัด Attapeu เป็นพื้นที่นำร่อง ส่วนกัมพูชาเลือกพื้นที่แรมซาร์ Stung Treng และเวียดนามคือพื้นที่ Plain of Reeds  พื้นที่ลุ่มน้ำสงครามตอนล่างเป็นบริเวณที่แม่น้ำสงครามไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขง เป็นที่ราบน้ำท่วมถึงหรือพื้นที่ชุ่มน้ำ มีอาณาเขตอยู่ในจังหวัดอุดรธานี หนองคาย สกลนคร และนครพนม มีพื้นที่ทั้งหมด 12,367 ตารางกิโลเมตร ถือเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากบริเวณหนึ่ง โดยเฉพาะในฤดูน้ำหลากจะมีระบบนิเวศน้ำท่วมกินพื้นที่ 500,000-600,000 ไร่ ความยาวประมาณ 200 กิโลเมตร นับจากปากแม่น้ำขึ้นไป น้ำท่วมนี้เกิดจากการที่แม่น้ำโขงไหลย้อนกลับคล้ายกับทะเลสาบเขมร รวมกับภาวะน้ำหลากจากทางเหนือ “พื้นที่นี้จะเป็นตัวอย่างให้กับโครงการ MWEP เพราะเป็นพื้นที่แรกที่ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร ซึ่งอีก 3 ประเทศที่เข้าร่วมโครงการนี้ก็จะนำตัวอย่างที่ได้จากลุ่มน้ำสงครามตอนล่างนี้ไปใช้ในพื้นที่ของตัวเองด้วย”  การดำเนินการเพื่อหาแนวทางในการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้ นอกจากจะต่างกับแห่งอื่น ๆ ตรงที่ความพยายามหาแนวทางที่เหมาะสมก่อนการประกาศให้เป็นแรมซาร์ไซต์แล้ว  ความแตกต่างอีกอย่างก็คือ ลักษณะวิธีการทำการวิจัยที่ให้ชุมชนเข้ามาเป็นส่วนหลัก ผ่านการวิจัยที่เรียกกันว่า “วิจัยไทบ้าน”  โดยมีตัวแทนชุมชนจาก 4 หมู่บ้านในลุ่มน้ำสงครามตอนล่าง คือบ้านท่าบ่อ บ้านอ้วน บ้านปากยาม และบ้านยางอย อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม  หลังงานวิจัยที่จัดทำขึ้นโดยนักวิชาการไม่เคยแก้ไขปัญหาของชุมชนได้อย่างแท้จริง และบางครั้งยังก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งตามมาอีกหลายระลอก

         ที่มา:หนังสือพิมพ์เดลินิวส์  ฉบับวันที่  8  กุมภาพันธ์  2549



คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15072เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2006 17:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 19:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท