ยี่เป็งธุดงคสถานล้านนา บ้านแม่โจ้ เชียงใหม่


และแล้วก็กลับมาเที่ยวยี่เป็งแม่โจ้...อีกครั้ง

กว่า 10 ปีที่เรียนจบจากแม่โจ้ไปนี้เป็นปีที่ 2 ที่ได้กลับมางานยี่เป็งอีกครั้ง

พิธีกรรมทางล้านนาที่ยังคงประทับใจอยู่ตลอดมา

 

 

 

 บรรยากาศปีนี้แออัดไปด้วยผู้คนจากทั่วสารทิศ  ที่แน่ๆ รถตู้ของนักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่นวิ่งเข้างานต่อๆกันหลายคัน ชาวต่างชาติ นักข่าวจากที่ต่าง   ตากล้องอิสระเดินแทบจะชนกัน  การลอยโคมแต่ละครั้งของแต่ละกลุ่มกลายเป็นนาทีทองที่ตากล้องต่างๆ ต้องการ  บางคนลงทุนนอนถ่ายเพื่อให้ได้ภาพสวยงามออกมา  ดังเช่นภาพลอยโคมนี้น้องสาวของอรรถพร อุตส่าห์ลงไปนอนยาวกับพื้นหญ้าเพื่อให้ได้มุมที่คิดว่าสวยที่สุดมา  ก็ถือว่าประสบผลสำเร็จเป็นภาพที่ได้มุมสวยจริงๆ

 

เวลาที่โคมเป็นพันๆดวงลอยขึ้นบนท้องฟ้าไล่เลี่ยกัน มันเป็นภาพที่สวยงามจริงๆ อธิบายคงนึกภาพไม่ออกเท่ามาดูเอง  

รับประกันมาแล้วไม่เสียใจแน่นอน  ถือว่าครั้งหนึ่งในชีวิต ที่ได้เห็นท้องฟ้าสว่างเป็นสีเหลืองอมส้มทั่วฟ้า พร้อมเสียงเพลงบรรเลงเร้าใจให้ลอยโคม ทำให้ตื่นเต้นและมีความสุขจริงๆ

ด้วยความตื่นเต้นทำให้คณะเรามั่วแต่ไชโยดีใจที่โคมเราลอยออกไปได้ดี จนลืมอธิบายขอขมาลาโทษต่อสิ่งต่างๆ และขอโชคขอพรเสียนี่กระไร...เสียดายขนาดเจ้า 

 

หมายเลขบันทึก: 150625เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2007 23:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
มาเยี่ยม  น่าสนุก  อยากรู้ความหมายการลอยโคม  ว่า สื่อถึงอะไรครับ

 สวัสดีค่ะคุณ UMI   ก่อนอื่นเริ่มความหมายของ

ประเพณียี่เป็งก่อนนะค่ะเป็นประเพณีลอยกระทงตามประเพณีล้านนาที่จัดทำขึ้นในวันเพ็ญเดือน 2 ของชาวล้านนา  ยี่เป็งเป็นภาษาคำเมืองในภาคเหนือ คำว่า "ยี่" แปลว่า สอง และคำว่า "เป็ง" ตรงกับคำว่า "เพ็ญ" หรือพระจันทร์เต็มดวงซึ่งชาวไทยในภาคเหนือ

จะนับเดือนทางจันทรคติเร็วกว่าไทยภาคกลาง 2 เดือน ทำให้ เดือนสิบสองของไทยภาคกลาง ตรงกับเดือนยี่ หรือเดือน 2 ของไทยล้านนา

ตามวัฒนธรรมของล้านนาจะแบ่งโคมไฟออกเป็น 4 แบบ คือ "โคมติ้ว" หรือ โคมไฟเล็กที่ห้อยอยู่กับซีกไม้ไผ่ซึ่งผู้คนจะถือไปในขบวนแห่และนำไปแขวนไว้ที่วัด   แบบที่สองเรียก "โคมแขวน"  ที่ใช้แขวนบูชาพระพุทธรูปแบบด้วยกันเช่น รูปดาว รูปตะกร้า โดยปกติจะใช้แขวนตามวัดหรือตามหิ้งพระก็ได้แบบที่สามเรียก "โคมพัด" ทำด้วยกระดาษสาเป็นรูปกรวยสองอันพันรองแกนเดียวกันด้านนอก

จะไม่มีลวดลายอะไรส่วนด้านในจะตัดแต่งเป็นรูปทรงต่าง ๆ ในทางพุทธศาสนา เมื่อจุดโคมด้านใน แสงสว่างจะทำให้เกิดเงาบนกรวย ด้านนอกก็จะเคลื่อนไหวคล้ายตัวหนังตะลุงแบบสุดท้ายเรียก "โคมลอย" เป็นโคมใหญ่มีรูปร่างคล้ายบอลลูน ตัวโครงทำจากซีกไม้ไผ่หุ้มด้วย   กระดาษสา เมื่อจุดโคม ความร้อนจากเปลวไฟ จะทำให้โคมลอยตัวขึ้น  การปล่อยโคมลอยนี้จะทำกันที่วัดหรือตามบ้านคน โดยเชื่อกันว่าโชคร้ายทั้งหลายจะลอยไปกับโคมถ้าหากโคมลอย

ของพวกเขาขึ้นไปได้สูงและลอยไปได้ไกลมาก นี่ก็แสดงว่าเขาจะประสบความเจริญรุ่งเรือง      

 หากต้องการทราบความหมายของคำนี้ให้เป็นที่แน่นอนชัดเจนลงไป ก็ต้องไปดูจากต้นตำรับที่ว่าด้วยการลอยกระทง ซึ่งก็คือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือ นางนพมาศ และจากเอกสารชื่อนี้ฉบับที่กรมศิลปากร อนุญาตให้ศิลปาบรรณาคารพิมพ์จำหน่ายครั้งที่ ๑๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ หน้า ๙๖ บอกว่าในวันเพ็ญเดือนสิบสองนั้นจะมีพระราชพิธีจองเปรียง ซึ่งเป็นนักขัตฤกษ์ชักโคมลอยโคม ที่มีการเฉลิมฉลองกันถึงสามวัน ครั้งหนึ่ง นางนพมาศได้ประดิษฐ์โคมลอยเป็น “…รูปดอกกระมุท(ดอกบัว) บานกลีบรับแสงพระจันทร์ ใหญ่ประมาณเท่ากงระแทะ(กงเกวียน) …“ และประดับด้วยดอกไม้และผลไม้สลักเป็นรูปนกจับอยู่ตามกลีบดอกบัว ซึ่งพระร่วงก็พอพระทัยมาก “… จึ่งมีพระราชบริหารบำหยัดสาปสรรว่า แต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศ ถึงการกำหนดนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือน ๑๒ พระราชพิธีจองเปรียงแล้ว ก็ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกกระมุทอุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานที ตราบเท่ากัลปาวสาน อันว่าโคมลอยรูปดอกกระมุทบานก็ปรากฏมาจนทุกวันนี้ แต่คำโลกสมมุติเปลี่ยนชื่อเรียกว่าลอยกระทงทรงประทีป… “ (น.๙๙๑๐๐)

หาข้อมูลเพิ่มได้ที่ http://kidsquare.com
www.guidescenter.com
http://www.khomyeepeng.com

  • ตามมาลอยโคม
  • สวยมากเลยค่ะ
  • ช่วงนี้ไม่เฉพาะภาคเหนือเท่านั้นที่ลอยโคม
  • น่าชื่นชมค่ะ

ไม่ทราบว่าปีนี้ที่ธุดงคสถานจะมีการจัดประเพณีโคมลอยไหมค่ะอยากกลับไปเที่ยวจังเลยค่ะ

เท่าที่ทราบเป็นประเพณีที่ต้องทำทุกปีค่ะ เพราะเป็นงานที่น้องใหม่ปี 1 ของแม่โจ้ จะต้องมาเดินขบวนในงานด้วยค่ะ ส่วนพี่ๆ ก็ทำซุ้มขายอาหาร ลูกชิ้น ของปิ้งของย่าง แต่ก็มีอาหารอื่นๆ ด้วยค่ะ ลองมาเที่ยวดูนะค่ะ รับประกันความประทับใจ อ้อ....กล้องที่เอามาเตรียมแบตเตอรี่และความจุมาเยอะๆนะค่ะ ภาพบางภาพถ่ายเป็นวิดีโอจะสวยกว่าค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท