รับงานแสดงเพลงอีแซว (ตอนที่ 2) เพื่อความรู้ความเข้าใจ


การที่ผมต้องเข้ามาเล่นเรื่องนี้โดยรับงานแสดงในทุกสถานที่ก็เพื่อที่จะเป็นเครื่องยืนยัน และเพื่อเป็นการเตือนความทรงจำของคนเก่า ๆ ว่า เพลงจริงของแท้เขาเล่นกันอย่างไร ฝึกหัดกันมาอย่างไร

 

รับงานแสดงเพลงอีแซว

และมหรสพพื้นบ้าน

ตอนที่ 2  เพื่อความรู้ความเข้าใจ

โดย ชำเลือง มณีวงษ์ (รางวัลชนะเลิศประกวดเพลงอีแซว 2525)

          ผมรับงานแสดงเพลงอีแซว และเพลงพื้นบ้านอื่น ๆ อีกหลายชนิด แต่โดยมากจะนำเสนอเฉพาะเพลงพื้นบ้านที่ยังอยู่ในความนิยม ดูแล้วสนุก ได้แก่ เพลงอีแซว ลำตัด เพลงพวงมาลัย เพลงฉ่อย เพลงขอทาน เพลงแหล่ ลิเก (ตอนสั้น ๆ) เพลงเต้นกำ เพลงเรือ เสภา  ในการแสดงบางครั้งก็ไม่จำเป็นที่จะต้องขึ้นไปเล่นบนเวทีเสมอไป  ที่ลานวัดหน้าโบสถ์ วิหาร บนศาลาก็เคยไปแสดง ที่ลานหน้าบ้าน ที่หน้าศาลเจ้าในชุมชน ในเต็นท์แสดงผลงานที่เขาจัดให้มีการแสดงผลผลิตหรือในห้องโถงขนาดใหญ่อย่างที่ไบเทค ที่เมืองทองธานี เขาจัดเป็นบูธออกร้านก็สามารถที่จะทำการแสดงได้ 

          การแสดงเพลงพื้นบ้านในเชิงวิชาการ โดยการนำเอาเพลงพื้นบ้านไปผสมผสานกับการประชุม อบรม สัมมนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกิจกรรมของหน่วยงาน ขององค์กรต่าง ๆ  มีบริษัทและบุคคลที่เล็งเห็นคุณค่าของศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้าน  ให้โอกาสพวกเราได้ไปเผยแพร่ผลงานด้านการแสดงในหลายสถานที่ มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมได้รับเชิญจากบุคคลท่านหนึ่ง (เป็นผู้ใกล้ชิดกับผมนี่แหละ) บอกว่าให้นำคณะนักแสดงไปร่วมให้ความรู้เพลงพื้นบ้านในงานสำคัญ โครงการรุ่งอรุณ ที่ อยุธยาพาร์ค ปี 2543 งานอยู่ในบริเวณห้างโลตัส จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เจ้าของงานจัดสถานที่ว่าง ๆ เอาไว้ให้ประมาณ 2X3 เมตร ผมนำคณะนักแสดงไป 6 คน รวมทั้งผมด้วยเป็น 7 คน มีเครื่องขยายแบบหิ้วเคลื่อนที่ได้ไปด้วย 1 ชุด ไมโครโฟน 1 ตัว เครื่องดนตรีใช้ฉิ่งและกรับ (2 ชิ้นเท่านั้น) พอเริ่มนำเสนอผลงานเด็ก ๆ ถามผมว่า อาจารย์ค่ะ จะมีคนมาดูเราไหม ผมตอบเด็ก ๆ นักแสดงว่า ต้องเริ่มแสดงก่อนจึงจะตอบเธอได้ ขณะนี้ครูคาดการไม่ได้ แต่ขอให้ทำให้ดีที่สุด ผมร้องเพลงขอทานขึ้นต้นนำเด็ก ๆ ก่อนเลย ผู้คนที่ได้ยินเสียงร้องก็มายืนดูกันและค่อย ๆ หนาแน่นขึ้นทุกขณะจนเต็มพื้นที่ จากนั้นให้นักแสดงออกมาร้องเพลงโต้ตอบกันคนดูก็ยิ่งแน่นมากขึ้น เราหยุดบรรยายวิธีการเล่นเพลง และเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้สอบถามและแสดงความเห็น ตกลงว่า งานนั้นเด็ก ๆ เขาสนุกสุขใจไปตาม ๆ กัน (นุ่น-สุพรรณิกา นักร้องนำได้รับรางวัลจากผู้ขมด้วย)

           การแสดงอีกครั้งหนึ่งที่โรงแรมอยัล คลิฟฟ์ รีสอร์ท พัทยา  จ.ชลบุรี  นักเพลงของโรงเรียนได้รับเชิญไปแสดงเพลงแหล่ด้นกลอนสดในการสัมมนาขององค์กรภาครัฐและเอกชนในการแลก เปลี่ยนเรียนรู้งานเปิดตัวโปรแกรมระบบปฏิบัติการ วินโดวส์วิสต้า กทม. วันที่ 24 พฤศจิกายน 2549  จำนวน 8 รอบการแสดง คือ ก่อนที่จะเข้าสู่พิธีการในการสัมมนา จะใช้เพลงพื้นบ้านเกริ่นนำจนถึงเชิญพิธีกรขึ้นไปปรากฏตัวบนเวที เพลงพื้นบ้านหยุด นักแสดงยืนนิ่ง พิธีกรจึงกล่าวนำเข้าสู่รายการ วิทยากรเดินขึ้นที่บรรยาย นักแสดงเข้าไปพักด้านใน จนจบช่วงของการบรรยาย  เมื่อจะเข้าสู่ขั้นตอนต่อไป เสียงเพลงแหล่ดังขึ้น ด้วยเนื้อหาตรงตามที่จะสัมมนาของช่วงนั้น เวลาในการนำเสนอ ประมาณตอนละ 3-5 นาที สลับกับการประชุม สัมมนา ไปจนจบการดำเนินงาน ในช่วงเย็นจะเป็นการร้องอำลา อวยพรให้ท่านที่เข้าร่วมประชุมอบรม งานแบบนี้เคยได้รับการติดต่อเชิญให้นำคณะเพลงพื้นบ้านไปร่วมกิจกรรมหลายครั้ง ได้แก่ 

                 -  แสดงเพลงอีแซว และเพลงพื้นบ้าน ในงานร่วมคิดร่วมสร้าง เส้นทางสุขภาพ งานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ปี 2546 ณ ศูนย์แสดงนิทรรศการและการแระชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ

        

            -  แสดงร้องเพลงแหล่ อยู่อย่างพอเพียง ณ ห้องประชุม มหิศร ธนาคารไทยพาณิชย์  ถนนรัช  โยธิน  ลาดพร้าว กรุงเทพฯ โดย DTAC    วันที่  19  ธันวาคม  2548

            -  ได้รับเชิญไปแสดงเพลงแหล่ด้นกลอนสดในการสัมมนาของ กทม. ที่โรงแรมรอยัล คลิฟฟ์ รีสอร์ท พัทยาใต้  จ.ชลบุรี วันที่ 24 พฤศจิกายน  2549

          - แสดงเพลงอีแซวประกอบการอบรมสัมมนาชมรมเทคโนโลยีสารสนเทศรัฐวิสาหกิจแห่ง  ประเทศไทย ณ ห้องวิภาวดี แกรนด์บอลรูม โรงแรมโซพีเทล  เซ็นทรัล  ลาดพร้าว    กรุงเทพฯ  วันอังคารที่  13  มีนาคม  2550

          - แสดงเพลงอีแซวในงานเปิดตัว คุณปัทมา จันทรักษ์ กรรมการ ผจก.ไมโครซอฟท์ประเทศ  ไทย ณ ตึก CRC TOWER  All Season  ชั้น 38 ถนนวิทยุ เพลินจิต สวนลุมพินี เขตปทุมวัน    กรุงเทพฯ   วันที่  23  เมษายน  2550

         

          - แสดงเพลงอีแซวในงานแสดงความยินดี ได้รับรางวัลบุคคลดีเด่นนายหน้าประกันชีวิต ปี 2550 ณ โรงแรม มิราเคิล ถนนวิภาวดี  หลักสี่ กรุงเทพฯ วันที่ 15 มิถุนายน 2550 

                 เป็นส่วนหนึ่งที่ผมได้นำเอามาเสนอให้เห็นว่า เพลงอีแซวพื้นบ้านยังมีงานให้แสดง ยังมีเวทีขนาดใหญ่ให้ไปนำเสนอผลงานอีกหลายสถานที่ งานที่เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประชุมอบรมสัมมนาที่เคยเงียบเหงา ง่วงนอน ซบเซา น่าเบื่อเมื่อตอนบ่าย ๆ แต่พอมีนักแสดงวัยรุ่นนำเอาของเก่า ๆ มาเล่น ทำให้เกิดสีสัน ตื่นเต้นเร้าใจ เมื่อเด็ก ๆ เขาร้องด้นกลอนสด ๆ ที่หน้าเวทีได้อย่างมหัศจรรย์ เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่ช่วยเสริมหรือเป็นการผสมผสานที่ช่วยส่งเสริมให้งานวิชาการมีคุณค่า นักวิชาการทั้งหลายที่มาร่วมประชุม สัมมนา ได้มีโอกาสย้อนรอยวัฒนธรรมดั้งเดิมที่คนเก่า ๆ เขาเล่นเพลงกัน เพียงแต่ได้มาเห็นภาพเยาวชนเป็นผู้แสดงแทนคนเก่า  ถ้าเป็นนักวิชาการที่เคยเรียนรู้มากับนักเพลงชาวบ้านจะรู้สึกภูมใจไปกับความสามารถของเด็ก ๆ มาก  แต่ถ้านักวิชาการผู้นั้นมีความรู้มาจากตำรา อาจจมองว่าเป็นการกระทำที่ไม่เข้าท่า ล้าสมัย ไม่สร้งสรรค์ก็ได้ มนุษย์นานาจิตตัง ไม่อาจที่จะกำหนดลงไปอย่างชัดเจนได้ว่า จะเดินทางไหน นอกจากเจ้าของเส้นทางเท่านั้นที่จะเป็นผู้ตัดสินใจเองว่า จะไปในทางใด

          -   เลือกใช้แต่สิ่งใหม่ ๆ โดยเดินตามวัฒนธรรมของต่างประเทศ

          -   เลือกใช้ของเก่า โดยนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะพื้นบ้านมาย้อนรอยให้เห็นบ้าง

          -   เป็นการผสมผสาน โดยการร่วมยุคผูกสมัยทั้งของเก่าของใหม่ใช้ร่วมกันตรงนี้เองที่ผมต้องเดินหน้าไปกระทบความคิดของคนบางคนที่ได้ชื่อว่าเป็นนักวิชาการ และมีความมั่นใจว่า ผลงานของท่านเป็นผลงานที่ช่วยทำให้เกิดการเรียนรู้เพลงพื้นบ้าน ทำให้เพลงพื้นบ้านไม่มีวันสูญหาย แต่บุคคลเหล่านั้นไม่ได้ถ่ายทอดความรู้ด้วยการเป็นนักแสดงจริง ๆ ให้กับเยาวชนเลย การที่ผมต้องเข้ามาเล่นเรื่องนี้โดยรับงานแสดงในทุกสถานที่ก็เพื่อที่จะเป็นเครื่องยืนยัน และเพื่อเป็นการเตือนความทรงจำของคนเก่า ๆ ว่า เพลงจริงของแท้เขาเล่นกันอย่างไร ฝึกหัดกันมาอย่างไร ด้วยวิธีไหน บางทีความรู้ความเข้าใจของผู้ชม ผู้ที่ใฝ่รู้ ตลอดจนนักวิชาการ จะเกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกทางมากยิ่งขึ้น และจะได้เข้าไปหา ไปแสดงความนับถือบุคคลที่เป็นต้นกำเนิดตัวจริงที่ท่านแอบนำเอาความคิดของท่านมาใช้เสียนานเดยไม่ได้บอกเจ้าของให้ได้รู้ตัว  

ชำเลือง มณีวงษ์. งานแสดงเพลงอีแซวและมหรสพพื้นบ้านหลายชนิด เพื่อความรู้ความเข้าใจ ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมสาขาศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้าน ปี 2547 รางวัลราชมงคลสรรเสริญ

 

หมายเลขบันทึก: 149704เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2007 21:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

รู้สึกผมจะเคยดูอาจารย์แสดง  ตอนที่พานักศึกษา วปอ.ไปดูงานที่จังหวัดครับ

ขอบคุณ ลุงเอก

  • ขอบคุณมากครับ ที่มีความสนใจในเพลงพื้นบ้าน
  • คงได้มีโอกาสพบกันในฐานะผู้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางภูมิปัญญา
  • เด็ก ๆ ในวงเพลงของผมมีการฝึกซ้อมทุกวันครับ ในตอนเย็น 16.00-17.30 น.

ติดต่องานแสดงได้ที่ไหน อย่างไรคะ รบกวนติดต่อกลับ  แหม่ม 086-325-1273

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท