สำนวนคนนครศรีฯ


ภาษาถิ่น

อย่าให้ชาว blog ได้รู้จักคนนครศรีฯ ด้านภาษาถิ่น วันนี้เลยนำสำนวนคนคอนมาฝาก เช่น

กดไม่ติด  คือ ระงับความโกรธหรือความไม่พึงพอใจไว้ไม่ได้  ต้องพูดหรือแสดงอาการให้รับรู้ว่าโกรธหรือไม่พอใจ  เปรียบว่าได้พยายามที่จะบังคับจิตใจให้สงบนิ่งแล้ว  แต่บังคับไม่ได้ปล่อยให้หลุดออกมา 

ขอแหลง คือ การขอคืนดี  ตามปกติโดยทั่วไปคนที่โกรธเคืองกันนั้นจะไม่พูดคุยกัน  แต่เมื่อหายโกรธเคืองหรือคืนดีกนแล้วก็จะพูดจากันอีก  ดังนั้นการเอ่ยปากขอพูดด้วยจึงถือว่าเป็นการขอคืนดีนั่นเอง (แหลง คือ พูด มาจาก แถลง)

ขายหาน คือ แสดงความโง่ออกมาให้คนอื่นรู้เห็น  เปรียบการแสดงความโง่ออกมาให้คนอื่นรู้เห็นนั้นว่าเหมือนกับการนำห่านไปขายที่ตลาด  ไม่สามารถจะปกปิดหรือซุกซ่อนไม่ให้ใครรู้ไม่ได้  เพราะธรรมชาติของห่านจะส่งเสียงร้องเอะอะ  จนคนรู้ไปทั่วว่าห่านอยู่ตรงไหน สำนวนในภาคกลางว่า ปล่อยไก่ (หาน คือ ห่าน)

เข้าเส้น  คือ ประพฤติปฎิบัติบ่อยๆ จนกลายเป็นความเคยชินหรือหลงใหลในเรื่องนั้นจนไม่อาจจะเลิกราได้  เปรียบว่าเหมือนกับเรื่องนั้นเข้าไปอยู่ในเส้นสายเลือดแล้ว จึงเป็นเรื่องยากที่จะเอาออกมาได้ (เส้น หมายถึง เส้นเลือด)

ค้นขอนหาแข็บ คือ ดิ้นรนหาเรื่องเดือดร้อนมาใส่ตัวเอง  โดยเปรียบกับธรรมชาติของตะเข็บตะขาบ ว่า มักจะซุกซ่อนตัวอยู่ใต้ขอนไม้ไม่ได้ออกมาทำอันตรายผู้ใด  แต่ถ้าใครไปเที่ยวรื้อขอนไม้นั้น โดยไม่ระมัดระวัง  ก็จะถูกตะเข็บตะขาบขบกัดทำให้ได้รับความเจ็บปวดได้  การไปรื้อขอนไม้จึงเหมือนกับไปค้นหาตะเข็บตะขาบให้มาขบกัดตัวเองนั่นเอง (ค้น คือ รื้อค้น , แข็บ คือ ตะเข็บ

คำไหนคำนั้น  คือ รักษาคำพูด พูดเป็นจริงเป็นจัง  เปรียบว่าพูดคำไหนไว้อย่างไรก็ยึดถือปฏิบัติตามคำพูดนั้นไม่เปลี่ยนแปลง (หนั้น คือ นั้น)

เดินหน้าพักเดียว คือ ทำต่อไปไม่หยุดยั้งไม่นานก็จะเห็นผล โดยบอกว่าเมื่อมุ่งมั่นก้าวเดินไปข้างหน้าสักพักหนึ่งก็จะเห็นผลสำเร็จได้ (พักเดียว คือ พักหนึ่ง  ระยะเวลาหนึ่ง)

แด็กไม่รู้สา คือ คนที่ไม่รู้จักการวางตน  ไม่รู้จักยั้งคิด ไม่รู้ว่าอะไรควรไม่ควร  เปรียบว่ามีนิสัยหรือความประพฤติเหมือนกับเด็กที่ไร้เดียงสาหรือไม่รู้ประสีประสานั่นเอง (แด็ก คือ เด็ก  รู้สา คือ รู้เดียงสา  รู้ประสีประสา)

ได้เรือถีบแพ คือ ได้สิ่งที่ดีกว่าก็สลัดท้งของเดิมเสีย  เมื่อพบของใหม่ที่ดีกว่าก็ลืมคุณค่าของของเก่าที่เคยได้ใช้ประโยชน์หรือเคยมีบุญคุณแก่ตนเองเสีย  เปรียบว่าในยามที่ลำบากได้ใช้แพไม่ไผ่หรือแพหยวกกล้วยเป็นพาหนะข้ามแม่น้ำลำคลอง  ต่อมาเมื่อมีเรือซึ่งมั่นคงแข็งแรงกว่า  ก็สลัดทิ้งแพเสียอย่างไม่สนใจไยดี

ได้หนังใจ  คือ ได้ตามใจปรารถนา ได้ตามที่ต้องการ  ถือว่าได้ดังใจนั่นเอง (หนังใจ คือ ดังใจ)

ตอไส้ คือ ขอแบ่งกิน  เมื่อเห็นคนอื่นกินอาหารอยู่แล้วไปขอแบ่งกินด้วย  จึงเปรียบว่าเหมือนกับเอาลำไส้ของตนไปต่อกับเข้าเพื่อจะได้รับอาหารด้วยนั่นเอง  (มักใช้ในกรณีที่อาหารมีน้อยำม่พอกิน , ตอ คือ ต่อ , ไส้ คือ ลำไส้)

ตั้งตาย คือ ตั้งใจทุ่มเททำสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยไม่คิดถึงความเหนื่อยยากลำบากหรืออันตรายที่จะได้รับ  เหมือนกับว่าได้ตั้งใจเอาไว้แล้วว่าพร้อมที่จะยอมตายเพื่อทำสิ่งนั้นให้ได้ตามต้องการ

ตั้งหลัก คือ ตั้งสติหรือตั้งตัวเพื่อคิดแก้ปัญหาหรือเผชิญหน้ากับเรื่องที่เกิดขึ้น  เปรียบว่าเหมือนกับการตอกหลักยึดให้มั่นคง  ซึ่งจะสามารถต่อสู้กับอุปสรรคปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมั่นใจ

ตัวตายไม่คิด  คือ ตั้งใจทุ่มเททำสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยไม่คิดถึงความเหนื่อยยากลำบากหรืออันตรายที่จะเกิดขึ้นกับตัวเอง เหมือนกับได้ตั้งใจเอาไว้แล้วว่าจะทำสิ่งนั้นให้ได้ตามต้องการ โดยไม่ได้คิดถึงว่าสิ่งนั้นจะทำให้ตัวเองต้องถึงตาย

ตามไม่เผาผี  คือ โกรธแค้นชิงชังมากจนไม่สามารถให้อภัยได้  โดยปกติวิสัยของคนโดยทั่วไปนั้น  ไม่ว่าจะโกรธแค้นกันอย่างไร  แต่เมื่อคนหนึ่งล้มตายไป  ก็ถือว่าสิ้นสุดกัน คนที่เหลืออยู่ก็จะอภัยให้  โดยไปขอขมาอโหสิ  ต่อกันในวันเผาศพกันก็ถือว่าโกรธแค้นชิงชังมากที่สุดถึงขนาดไม่ยอมให้อภัยกันที่เดียว

ถ้ากันเหือกแห้ง คือ รอคอยนานมาก โดยเปรียบว่าต้องคอยชะเง้อตั้งหน้าตั้งตารอคอย  โดยคอยจ้องจะยิ้มรับอยู่นายมากจนเหงือกโดยลมและแห้งไปในที่สุด (ถ้า คือ รอคอย  รอท่า , เหือก คือ เหงือก)

ไถนาแห้ง  คือ ลงโทษโดยวิธีใช้นิ้วดันตีนผมด้านหลังขึ้นข้างบน คนถูกลงโทษจะเจ็บจนน้ำตาเล็ดที่เดียว  เรียกอย่างนี้ เพราะว่าเหมือนกันการไถนาที่ดินแห้งนั่นเอง

ทรงภาษา คือ การพูดจาชี้แจงทำความเข้าใจให้ชัดเจน  เหมือนกับการทำให้ภาษาที่สื่อกันไม่เข้าใจหรือไม่ตรงกันนั้น  ได้มีความหมายที่ตรงกัน  ซึ่งก็จะทำให้เข้าใจกันได้ (ทรง คือ ทำให้ตรง  ตั้งขั้นให้ตรง)

ท้อเหมือนพลัดหนำ  คือ ท้อถอย  ท้อใจในทันทีทันใด  เนื่องจากผิดหวังอย่างรุนแรง  จึงเปรียบว่าเหมือนกับนั่งสบายใจอยู่บนขนำ  แต่เกิดตกลงจากขนำโดยไม่คาดคิดมาก่อน  ทำให้ตกใจและหมดกำลังใจไปในทันที  ทันใด (ท้อ คือ ท้อถอย  ท้อใจ , พลัด คือ ตก , หนำ คือ ขนำ  กระท่อม)

วันนี้(26 พฤศจิกายน 2550)ไว้แค่นี้ก่อนนะ แล้วจะหามาให้เพื่อนร่วม blog อ่านอีกนะคะ

แหล่งอ้างอิง:สารนครศรีธรรมราช ปีที่ 30 ฉบับที่ 5 พฤษภาคม 2543

 

คำสำคัญ (Tags): #ภาษาถิ่น
หมายเลขบันทึก: 149413เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2007 20:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สวัสดีค่ะ

ติดตามมาชมผลงานจ๊ะ

  • ตกแต่ง Blog ได้หวานน่ารักจังค่ะ
  • ภาษาถิ่น (ใต้) แต่ละท้องถิ่นก็ไม่เหมือนกันเน้อ
  • แต่เราคนใต้ ด้วยกันเข้าใจดี
  • ทรงภาษากันรู้เรื่อง  ชับแล่ะ
  • แตหว่าเพื่อนภาคเอินคงไหม้เข้าใจ อิอิอิ
  • ต้องแปลไว้กันดีแล้ว

เป็นกำลังใจให้นะคะ...

สวัสดีคะ

ขอบคุณมากนะที่ติดตามผลงานตลอดมา

  • การตกแต่ง Blog ได้ความรู้จากพี่ที่สงขลาคะในนาม "พุทธรักษา" ใจดีจัง
  • ช่วงนี้ไม่ได้นำผลงานมาเสนอให้อ่านอีกนะคะ  เพราะงานที่สำนักงานเยอะ  แต่ถึงอย่างไรก็ตามจะหาเวลามา พบปะกับชาว G2K อยู่เสมอ
  • ภาษาถิ่น(ใต้)  เพื่อนทางภาคอื่นคงไม่รู้จักและไม่เข้าใจ  จึงอยากให้เพื่อนภาคอื่นได้อ่านและได้รู้จักภาษาบ้านเราบ้าง 
  • เราต้องเอาสิ่งดี ๆ บ้านเราเล่าให้เพื่อนฟังบ้าง  เดียวใครจะไม่รู้จัก   ยังแต่พวกเราที่รู้จักกันเอง

โอกาสหน้าจะสรรหามาเล่าให้ฟังอีกนะคะ

ขอแสดงความชื่นชม ที่รักและห่วงแหนภาษาถิ่นใต้คนคอนเราครับ

น่าจะมีมากกว่านี้นะค่ะ

ดีใจที่ได้อ่านสำนวนคนนครอีก

เคยอ่านที่อาจารย์บุญเสริม แก้วพรหม เขียนไว้ในสารนครศรีธรรมราช หลายปีแล้ว ชอบใจมาก

แต่พักหลังนี้ จะหายไป เสียดายครับ

อยากให้ช่วยกับรื้อฟื้นและถ่ายทอดกันมากๆครับ

ดีจังเลยค่ะ...ที่มีการรวบรวมแบบนี้...ภาษาถิ่นใต้ของเราไปรอดแน่นอนค่ะ

ขอช่วยให้สรุปภาษาถิ่นนครท่หายสาบสูญไปขึ้นมาใหม่ เช่น

เสดสา - ลำบากมาก

ฯลฯ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท