ลอย (ทุกข์)กระทง


         ลอยกระทง  เป็นประเพณีที่สืบทอดเป็นมรดกทางสังคมมาช้านาน  เป็นสิ่งสะท้อนความเป็นเอกลักษณ์และคุณค่าทางสังคม  สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจละเลยมองข้ามไป นอกความสนุกสนาน การรวมกลุ่มเพื่อสร้างความบันเทิง  คือการเป็นกระบวนการขัดเกลาทางสังคม  ที่แอบแฝงมากับวิถีชีวิตและพิธีกรรมความเชื่อ  ที่คนรุ่นก่อนเก่าได้รังสรรค์เป็นกุสโลบายเพื่อรวมพล รวมคน รวมใจ และรวมทำ  โดยอ้างอิงเอาสิ่งที่มีอยู่เหนืออำนาจการพิสูจน์กับพฤติกรรมให้มีความเชื่อมโยงกัน  เพื่อให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียว  การลอยกระทงจึงมีปริศนาที่ซ่อนอยู่ในพิธีกรรม  ที่หลากหลาย

           มิติในมิติทางศาสนา  โดยเฉพาะพุทธศาสนา การกระทงเป็นบูชารอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าที่ประดิษฐ์สถานอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทา  การบูชาในพุทธศาสนามี 2 ลักษณะ  คือ อามิสบูชา การบูชาที่ประกอบด้วยเครื่องสักการะต่างๆ  และปฏิบัติบูชา  คือการบูชาด้วยการปฏิบัติ  อันได้แก่  ทำดี ละชั่ว ทำจิตใจให้ปลอดบริสุทธิ์จากความเศร้าหมอง  ดังนั้น  จะเห็นว่า  กระทงที่ลอยกันในวันเพ็ญเดือนสิบสองจึงนิยมทำเป็นรูปดอกบัว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนา  ที่แสดงการบูชาด้วยอามิส  โดยอาศัยการปฏิบัติบูชา พัฒนาตนไปสู่ความเป็นบัวที่พ้นน้ำ

     ตามตำราพรหมณ์คณาจารย์กล่าวว่า พิธีลอยประทีปหรือตามประทีปนี้ แต่เดิมเป็นพิธีทางศาสนาพราหมณ์ ทำขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้าทั้งสามคือ พระอิศวร พระนารายณ์และพระพรหม เป็นประเภทคู่กับลอยกระทง ก่อนจะลอยก็ต้องมีการตามประทีปก่อน ซึ่งตามคัมภีร์โบราณอินเดียเรียกว่าทีปาวลีโดยกำหนดทางโหราศาสตร์ว่า เมื่อพระอาทิตย์ถึงราศีพิจิก พระจันทร์อยู่ราศีพฤกษ์เมื่อใดเมื่อนั้นเป็นเวลาตามประทีปและเมื่อบูชาไว้ครบกำหนดวันแล้ว ก็เอาโคมไฟนั้นไปลอยน้ำเสีย ต่อมาชาวพุทธเห็นเป็นเรื่องดี จึงแปลงเป็นการบูชารอยพระพุทธบาท และการรับเสด็จพระพุทธเจ้า ดังที่กล่าวมาข้างต้น โดยมักถือเอาเดือน 12 หรือเดือนยี่เป็งเป็นเกณฑ์ (ยี่เป็งคือเดือนสอง ตามการนับทางล้านนา ที่นับเดือนทางจันทรคติ เร็วกว่าภาคกลาง 2 เดือน)
               
ในมิติแห่งเกษตรกรรม  น้ำและแม่น้ำคือหัวใจของการดำรงชีพของมนุษย์  การลอยกระทงจึงเป็นทั้งการขอบคุณ  รักษา  และขอขมาโทษไปพร้อมกัน  สังคมไทยเชื่อว่า ทุกสถานที่มีผู้ดูแลคุ้มครองและรักษา  เช่น ต้นไม้มีรุกขเทวดารักษา  แผ่นดินมีภุมมเทวดารักษา  บ้านเรือนมีผีบ้านผีเรือนรักษา เป็นต้น  แม่มีแม่คงคาเป็นผู้รักษา การกตัญญูรู้คุณต่อสิ่งที่มีอุปการะต่อตนเองและสังคม จึงเกิดขึ้นในรูปลักษณ์ของการบูชา เมื่อมนุษย์มีพฤติกรรมเป็นเอกลักษณ์เดียวกัน จึงนำไปสู่การรักษา เพื่อได้ใช้ประโยชน์จากน้ำ และเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมให้อยู่ร่วมกับมนุษย์อย่างเท่าเทียม

             พระยาอนุมานราชธน ได้สันนิษฐานว่า ต้นเหตุแห่งการลอยกระทง มูลฐานมาจากคติของชนชาติที่ประกอบกสิกรรม ซึ่งต้องอาศัยน้ำเป็นสำคัญ เมื่อพืชพันธุ์ธัญชาติงอกงามดี และเป็นเวลาที่น้ำเจิ่งนองพอดี ก็ทำกระทงลอยไปตามกระแสน้ำไหล เพื่อขอบคุณแม่คงคา หรือเทพเจ้าที่ประทานน้ำมาให้ความอุดมสมบูรณ์ เหตุนี้ จึงได้ลอยกระทงในฤดูกาลน้ำมาก และเมื่อเสร็จแล้ว จึงเล่นรื่นเริงด้วยความยินดี เท่ากับเป็นการสมโภชการงานที่ได้กระทำว่า ได้ลุล่วงและรอดมาจนเห็นผลแล้ว ท่านว่าการที่ชาวบ้านบอกว่า การลอยกระทงเป็นการขอขมาลาโทษ และขอบคุณต่อแม่คงคาก็คงมีเค้าในทำนองเดียวกับการที่ชาติต่างๆ  มิได้มีแต่ในประเทศไทยเท่านั้นในประเทศจีนอินเดียเขมรลาวเวียดนามและพม่า

          ส่วนที่ว่าลอยกระทงในวันเพ็ญ เดือน 11 หรือวันออกพรรษา เพื่อเฉลิมฉลองวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้า เสด็จกลับมาสู่โลกมนุษย์ หลังการจำพรรษา 3 เดือน ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อแสดงอภิธรรมโปรดพุทธมารดานั้น ก็ด้วยวันดังกล่าว เหล่าทวยเทพและพุทธบริษัท พากันมารับเสด็จนับไม่ถ้วน พร้อมด้วยเครื่องสักการบูชา และเป็นวันที่พระพุทธองค์ได้เปิดให้ประชาชนได้เห็นสวรรค์ และนรกด้วยฤทธิ์ของพระองค์ คนจึงพากันลอยกระทง เพื่อเฉลิมฉลองรับเสด็จพระพุทธเจ้า สำหรับคติที่ว่า การลอยกระทงตามประทีป เพื่อไปบูชาพระเกศแก้วจุฬามณี บนสรวงสรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น ก็ว่าเป็นเพราะตรงกับวันที่พระพุทธเจ้า เสด็จออกบรรพชาที่ริมฝั่งแม่น้ำอโนมา ทรงใช้พระขรรค์ตัดพระเกศโมลีขาด ลอยไปในอากาศตามที่ทรงอธิษฐาน พระอินทร์จึงนำผอบแก้วมาบรรจุ แล้วนำไปประดิษฐานไว้ในจุฬามณีเจดีย์ บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (ตามประทีป คือ การจุดประทีป หรือจุดไฟในตะเกียง /โคม หรือผาง-ถ้วยดินเผาเล็กๆ) ซึ่งทางเหนือของเรา มักจะมีการปล่อยโคมลอย หรือโคมไฟที่เรียกว่า ว่าวไฟ ขึ้นไปในอากาศเพื่อบูชาพระเกศแก้วจุฬามณี

          คติความเชื่อของพม่า เล่าว่า ครั้งหนึ่งในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงมีพระประสงค์จะสร้างเจดีย์ให้ครบ 84,000 องค์ แต่ถูกพระยามารคอยขัดขวางเสมอ พระองค์จึงไปขอให้พระอรหันต์องค์หนึ่ง คือ พระอุปคุตช่วยเหลือ พระอุปคุตจึงไปขอร้องพระยานาคเมืองบาดาลให้ช่วย พระยานาครับปากและปราบพระยามารจนสำเร็จ พระเจ้าอโศกมหาราช จึงสร้างเจดีย์ได้สำเร็จสมพระประสงค์ ตั้งแต่นั้นมา เมื่อถึงวันเพ็ญเดือน 12 คนทั้งหลายก็จะทำพิธีลอยกระทง เพื่อบูชาคุณพระยานาค เรื่องนี้ บางแห่งก็ว่า พระยานาค ก็คือพระอุปคุตที่อยู่ที่สะดือทะเล และมีอิทธิฤทธิ์มาก จึงปราบมารได้ และพระอุปคุตนี้เป็นที่นับถือของชาวพม่าและชาวพายัพของไทยมาก

             คติความเชื่อโบราณของชาวล้านนาว่า เกิดอหิวาต์ระบาด ที่อาณาจักรหริภุญชัย ทำให้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก พวกที่ไม่ตายจึงอพยพไปอยู่เมืองสะเทิม และหงสาวดีเป็นเวลา 6 ปี บางคนก็มีครอบครัวอยู่ที่นั่น ครั้นเมื่ออหิวาต์ได้สงบลงแล้ว บางส่วนจึงอพยพกลับ และเมื่อถึงวันครบรอบที่ได้อพยพไป ก็ได้จัดธูปเทียนสักการะ พร้อมเครื่องอุปโภคบริโภคดังกล่าวใส่ สะเพา ( อ่านว่า สะ - เปา หมายถึง สำเภาหรือกระทง ) ล่องตามลำน้ำ เพื่อระลึกถึงญาติที่มีอยู่ในเมืองหงสาวดี ซึ่งการลอยกระทงดังกล่าว จะทำในวันยี่เพง คือ เพ็ญเดือนสิบสอง เรียกกันว่า การลอยโขมด แต่มิได้ทำทั่วไปในล้านนา ส่วนใหญ่เทศกาลยี่เพงนี้ ชาวล้านนาจะมีพิธีตั้งธัมม์หลวง หรือการเทศน์คัมภีร์ขนาดยาวอย่างเทศน์มหาชาติ และมีการจุดประทีปโคมไฟอย่างกว้างขวางมากกว่า (การลอยกระทง ที่ทางโบราณล้านนาเรียกว่า ลอยโขมดนี้ คำว่า โขมด อ่านว่า ขะ-โหมด เป็นชื่อผีป่า ชอบออกหากินกลางคืน และมีไฟพะเหนียงเห็นเป็นระยะๆ คล้ายผีกระสือ ดังนั้น จึงเรียกเอาตามลักษณะกระทง ที่จุดเทียนลอยในน้ำ เห็นเงาสะท้อนวับๆ แวมๆ คล้ายผีโขมดว่าลอยโขมดดังกล่าว)

          คติความเชื่อของจีนสมัยก่อน ทางตอนเหนือ เมื่อถึงหน้าน้ำ น้ำจะท่วมเสมอ บางปีน้ำท่วมจนชาวบ้านตายนับเป็นแสนๆ และหาศพไม่ได้ก็มี ราษฎรจึงจัดกระทงใส่อาหารลอยน้ำไป เพื่อเซ่นไหว้ผีเหล่านั้นเป็นงานประจำปี ส่วนที่ลอยในตอนกลางคืน ท่านสันนิษฐานว่า อาจจะต้องการความขรึม และขมุกขมัวให้เห็นขลัง เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับผีๆสางๆ และผีก็ไม่ชอบปรากฏตัวในตอนกลางวัน การจุดเทียนก็เพราะหนทางไปเมืองผีมันมืด จึงต้องจุดให้แสงสว่าง เพื่อให้ผีกลับไปสะดวก ในภาษาจีนเรียกการลอยกระทงว่า ปล่อยโคมน้ำ (ปั่งจุ๊ยเต็ง) ซึ่งตรงกับของไทยว่าลอยโคม (อมรรัตน์ เทพกำปนาท)    

         จากปฐมบทเกี่ยวกับ การลอยกระทง เป็นประเพณีที่แสดงออกซึ่งความกตัญญู ระลึกถึงสิ่งที่มีคุณต่อมนุษย์ เช่น พระพุทธเจ้า เทพเจ้า พระแม่คงคา และบรรพชน เป็นต้น และแสดงความกตเวที (ตอบแทนคุณ) ด้วยการเคารพบูชาด้วยเครื่องสักการะต่างๆ โดยเฉพาะการบูชาพระพุทธเจ้า หรือรอยพระพุทธบาท ถือได้ว่าเป็นคติธรรมอย่างหนึ่ง ที่บอกเป็นนัยให้พุทธศาสนิกชน ได้เจริญรอยตามพระบาทของพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความดีงามทั้งปวงนั่นเองประเพณีลอยกระทง นอกจากจะเป็นประเพณีที่สะท้อนคุณค่าในมิติต่างๆ ยังเป็นประเพณีที่หลอมรวมคนในชุมชน สังคม ครอบครัว ได้ทำความดี  ทำให้สมาชิกในครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน ทำให้ชุมชนได้ร่วมมือร่วมใจกัน และทำความดีความงามแก่สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะจิตสำนึกสาธารณะที่นับวันจะหดไปจากใจคนไทยและสังคมไทย

คำสำคัญ (Tags): #ประเพณี
หมายเลขบันทึก: 148855เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2007 13:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท