การบริหาร


การศึกษา

ข้อคิดเพื่อการบริหาร

การบริหารคืออะไร   ใครคือผู้บริหาร    การบริหารนั้นสำคัญไฉน     อะไรบ้าง....ที่ต้องบริหาร  บริหารอย่างไร ให้สำเร็จ

 

การบริหารคืออะไร

การบริหารคือ การนำทั้งทรัพยากรบุคคล  วัตถุดิบ  เงินทุน  เวลา และองค์ประกอบอื่น ๆ มาประสานเข้าด้วยกันให้ขับเคลื่อนสู่วัตถุประสงค์เดียวกัน

การบริหารคือ  เทคนิคการใช้คน  ทรัพยากร  และเวลาที่มีอยู่ เพื่อทำให้เป้าหมายที่วางไว้ประสบความสำเร็จ

การบริหารเปรียบได้กับการทอผ้าซึ่งต้องสอดด้ายแต่ละเส้น แต่ละสีในตำแหน่งที่เหมาะสมและลงจังหวะจะโคนของหูกให้ถูกต้อง  เพื่อให้ด้ายหลายร้อย  หลายพัน  หลายหมื่นหลายแสนเส้น  รวมพลังสำแดงภาพแห่งความงามบนผ้าผืนเดียวกันตรงตามต้นแบบที่วางไว้

 

ใครคือผู้บริหาร

การบริหารเป็นเรื่องของคนทุกคนที่ต้องการไปถึงเป้าหมาย

คนที่ปรารถนาความสำเร็จคือคนที่ต้องรู้จักคำว่า  "บริหาร"

การบริหารเป็นเรื่องของคนเท่านั้น  ช้าง  ม้า  วัว  ควาย  และสัตว์ต่าง ๆ  ไม่รู้จักการบริหารเพราะมันไม่มีเป้าหมายในการดำเนินชีวิต

ผู้บริหารคือ  ผู้ประสานความชำนาญที่แตกต่างให้กลายเป็นหนึ่งเดียว

 

การบริหารนั้นสำคัญไฉน

การจะทำให้เป้าหมายสำเร็จจะทำอย่างสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้ต้องวางแผนอย่างรอบคอบดำเนินการทุกขั้นตอนอย่างระมัดระวังใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด  นี่แหละ.......การบริหาร

การบริหารเปรียบเสมือนอุปกรณ์ที่เราใช้เพื่อทำงานให้สำเร็จยิ่งเราใช้อุปกรณ์ต่างเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพและมีเป้าหมายที่ชัดเจนมากเท่าไรโอกาสประสบความสำเร็จก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

เราจำเป็นต้องบริหารหากต้องการทำงานทีใหญ่เกินตัวให้สำเร็จ

การบริหารทำให้ความจำกัด   เกิดผลที่ไม่จำกัด

การทำงานให้ได้ผลผลิตมากขึ้น   ไม่จำเป็นต้องใช้เวลานานกว่าเดิมหรือลงแรงหนักกว่าเดิม  เพียงแต่ใช้ความฉลาดในการบริหารมากกว่าเดิมก็พอ

 

อะไรบ้าง....ที่ต้องบริหาร

"ตนเอง"        "เวลา"        "งาน"        "ทีมงาน"

ตนเอง 

บุคคลแรกที่ผู้บริหาร  ควรทำความรู้จัก  คือ   ตนเอง

คนที่บริหารตนเองได้ดี  คือ  คนที่มุ่งมั่นสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จ

ผู้บริหารที่ดีไม่ควรเย่อหยิ่งและภูมิใจในความสำเร็จของตนมากจนเกินไป  ไม่ควรคิดว่าตนเองรู้ดีทุกอย่างจนไม่ยอมฟังผู้อื่นบ้าง

 

เวลา

เวลาไม่ได้เป็นเพียงแค่ตัวเลขหรือเข็มนาฬิกาที่เคลื่อนผ่านเลยไปเท่านั้นแต่หมายถึงชีวิตที่ผ่านไป  การบริหารเวลาก็คือการบริหารชีวิตนั่นเอง

คนที่สามารถบริหารชีวิตได้เป็นอย่างดีก็จะสามารถทำงานต่าง ๆ ที่ต้องรับผิดชอบได้มากมาย

 

งาน

ควรจัดลำดับงานประเภทที่ต้องใช้สมาธิสูงไว้ในช่วงเวลาที่เรามีโอกาสอยู่เงียบ ๆ เพื่อมีเวลาในการคิดใคร่ครวญอย่างรอบคอบจริง ๆ

อย่าปล่อยให้งานเร่งด่วนที่ไม่สำคัญและไม่ได้อยู่ในแผนมาทำลายงานสำคัญที่เราวางแผนล่วงหน้าไว้แล้ว

เตือนตัวเองว่าจำทำงานที่มีอยู่บนโต๊ะทำงานให้หมดสิ้นเสมอในแต่ละวัน

งานทุกชิ้น  แม้เร่งรีบทำเสร็จให้ทันเวลา  แต่ก็ต้องไม่ลืมที่จะทำอย่างดีที่สุดด้วย

ทำให้ดีที่สุด  สุดเวลาที่มีอยู่  ถ้าทำเสร็จก่อนเวลา  ก็ทวนซ้ำตรวจสอบจนมั่นใจว่าได้ผลงานคุณภาพดีเลิศ

 

ทีมงาน

คนที่ทำงานคนเดียวย่อมไม่มีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน  แต่เขาจะได้ชิ้นงานน้อยตามไปด้วย  สู้เรายอมทำงานร่วมกับผู้อื่นดีกว่า  แม้ต้องฟันฝ่าปัญหาที่อาจมีต่อกันแต่ก็คุ้มค่าเพราะทำให้เราได้ผลงานทวีคูณ

แต่ละคนในทีมงานเหมือนจิ๊กซอว์หนึ่งตัว  ที่ไม่มีใครอาจทดแทนกันได้  ต่างก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว  มีตำแหน่งหน้าที่ที่เจาะจง มีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างกันและกัน

ความสัมพันธ์ที่ดีในทีมงาน  เปรียบเหมือนน้ำมันที่คอยหล่อลื่นเครื่องยนต์ให้ทำงานไปโดยไม่ติดขัดทำให้งานเสร็จอย่างราบรื่น

ลองเปลี่ยนจากคำว่า "คุณต้องทำ" เป็น "คุณคือคนสำคัญที่เหมาะสมจะทำงานนี้" เราจะได้ผู้ร่วมงานที่ทำงานด้วยใจให้กับเรามากขึ้น

บริหารอย่างไร..............ให้สำเร็จ

"มีวิสัยทัศน์"            "มีเป้าหมาย""มีแผน"            "มีการกระจายงาน"

"มีการตรวจสอบ"        "มีการพัฒนา"                    "มีการแก้ปัญหา"

 

มีวิสัยทัศน์

การบริหารจะมีพลังต้องเริ่มต้นด้วยการกำหนดวิสัยทัศน์ที่พึงปรารถนา

วิสัยทัศน์ช่วยให้เราไม่ทำงานไปวัน ๆ  เพื่อแลกกับรายได้แต่จะทำงานด้วยความรู้สึกเป็นเจ้าของที่ต้องรับผิดชอบดำเนินการจนกระทั่งวิสัยทัศน์นั้นเป็นจริง

วิสัยทัศน์นำไปสู่การกำหนดเป้าหมายและการวางแผนปฏิบัติการในแต่ละขั้นตอนที่ชัดเจน

เราต้องตั้งวิสัยทัศน์ให้สูงกว่าความสามารถเสมอและท้าทายใจทีมงานทุกคนให้เกิดความปรารถนาที่จะแตะเส้นชัยนั้น

 

เป้าหมาย

ทุกหน่วยงานและทุกคนในองค์กรต้องทำงานอย่างมีเป้าหมาย  หากผู้บริหารละเลยในเรื่องนี้  ก็เท่ากับกำลังบริหารสู่ความล้มเหลว

เป้าหมายที่ชัดเจนช่วยให้เรารู้ว่า  เรากำลังจะไปไหนและเราจะทำอย่างไรต่อไปเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น

วิสัยทัศน์นำไปสู่การตั้งเป้าหมาย  ทุกครั้งที่จะทำอะไร  เราต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนเสมอ ทั้งเป้าหมายระยะสั้นและเป้าหมายระยะยาว

ก่อนหัวถึงหมอน เราควรกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนให้เรียบร้อยก่อนว่า  วันรุ่งขึ้นจะทำอะไรบ้างและวางแผนให้ทำได้สำเร็จ    เพื่อที่ว่าเมื่อหลับตาลงเราจะเห็นความสำเร็จของวันพรุ่งนี้

 

มีแผน

เราบริหารปัจจุบัน  ก็เพื่อเป้าหมายที่กำหนดไว้ในอนาคต  แผนงานต่าง ๆ ที่กำหนด  จึงไม่เพียงเพื่อความสำเร็จในวันนี้  ไตรมาสนี้  ไตรมาสหน้า  หรือในปีนี้  แต่เป็นแผนการเพื่อความสำเร็จในอีก  5 ปี   10 ปี จนถึง  20  ปีข้างหน้า  ตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้

เราควรคิดวางแผนการทำงาน   อย่างรอบคอบว่า   เราจะใช้ใคร     ใช้วิธีการอะไร   จะดำเนินการเมื่อไร   จะกำหนดตารางเวลาอย่างไร  เพื่อให้การทำงานนั้นเกิดประสิทธิภาพสูงสุด  ภายในเวลาและทรัพยากรอันจำกัด

เมื่อทุกคนมีความชัดเจน  ในภาพแห่งความสำเร็จ  ก็จะเกิดความพยายามช่วยกันทำ  จนกระทั่งสัมฤทธิผล

 

มีการกระจายงาน

หลักการบริหารที่ฉลาด  คือ เราไม่ควรทำงานทุกอย่างด้วยตนเอง  แต่ควรกระจายให้กับคนที่เหมาะสมที่สุด  ตามกำลังคนที่มีอยู่

ผมจะพยายามไม่ทำอะไรที่คนอื่นทำได้  ถ้ามีคนอื่นสามารถทำในสิ่งที่ผมทำได้  ผมจะกระจายงานให้เขาทำทันที  เพื่อที่ผมจะได้ทำสิ่งอื่น  ที่คนอื่นทำไม่ได้

การมอบหมายงาน  เป็นหน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งของผู้บริหาร  เป็นเรื่องที่ต้องใช้เทคนิคและไม่สามารถทำอย่างสุ่มสี่สุ่มห้าได้

 

มีการตรวจสอบ

งานหลายชิ้นที่ผิดพลาดหรือไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร   ไม่ได้เกิดจากเวลาน้อยเกินไปแต่เกิดจากการไม่ใส่ใจในการตรวจสอบคุณภาพเท่าที่ควร

เมื่อเห็นจุดดำเล็ก ๆ  บนกระดาษที่ควรจะขาวสะอาด อย่าบอกว่า "ไม่เป็นไร"  แต่ควรถามว่า "เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น"

 

มีการพัฒนา

ตัวเราและทุกคนที่เราบริหาร ควรเขียนรายงานว่า  ในแต่ละวันเราได้คันพบสิ่งใหม่อะไรบ้าง  จากการทำงานและจะสร้างสรรค์การทำงานให้ดีขึ้นอย่างไร

งานทุกชิ้นที่เราทำและรับผิดชอบเรียบร้อยแล้ว  ควรทำคู่มือการทำงานบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อคนรุ่นหลังไม่ต้องให้เขาเสียเวลาเริ่มต้นจากศูนย์และลดการเสียเวลาในการลองผิดลองถูกไปได้อย่างมหาศาล

จงยึดปรัชญาการฝึกคนที่ว่า  จะไม่ยอมปล่อยให้คนใดคนหนึ่งหยุดนิ่งอยู่กับที่โดยไม่พัฒนาตนเอง

 

มีการแก้ปัญหา 

เมื่อพบเห็นความผิดพลาดเกิดขึ้น   ผู้บริหารจะต้องเข้าไปค้นหาสาเหตุอย่างกระตือรือร้น  เพื่อแก้ปัญหา   มิใช่เพื่อจับผิด

ความผิดครั้งแรกเป็นครู  ความผิดครั้งที่สองถือเป็นความโง่เขลา   เพราะแสดงว่าเราไม่ยอมเรียนรู้

ถ้ามีปัญหาต้องรีบแก้ไขทันที  ไม่ควรเก็บงำไว้  หรือบอกว่าเดี๋ยวก่อน  เพราะความผิดพลาดหรือล่าช้าเพียงเล็กน้อยอาจนำไปสู้ปัญหาใหญ่ได้

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนหนึ่ง  ควรนำไปเป็นบทเรียนในการเรียนรู้สำหรับคนอื่น ๆ

ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกครั้งอย่างน้อยก็มีประโยชน์  คือทำให้ผู้รับผิดชอบได้เรียนรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น  เพื่อมีทางแก้ไขสำหรับครั้งต่อไป

เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้น  ควรพยายามค้นหาสาเหตุความผิดพลาด  เพื่อแก้ไขที่ต้นตอรากเหง้าของปัญหา

ทุกครั้งที่มีความผิดต้องค้นหาผู้รับผิดชอบในความผิดพลาดที่เกิดขึ้น   มิใช่เพื่อจับเขามาลงโทษแต่เพื่อให้ผู้ที่ทำผิดตระหนักว่าเขาทำผิดเพราะเหตุใดและแก้ไขที่สาเหตุจริง

ความผิดทุกครั้งจะมีคุณค่า  หากแก้ไขที่ต้นตอปัญหาเพื่อสิ่งนั้นจะไม่เกิดซ้ำสอง

คำสำคัญ (Tags): #การบริหาร
หมายเลขบันทึก: 148365เขียนเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2007 11:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การบริหารคนเป็นโจทย์ที่ไม่เคยล้าสมัยเลยนะครับ...

สำหรับผมแล้ว...

ยึดแนวทาง

ศรัทธาต่อตนเอง แต่ต้องไม่ลืมที่จะเชื่อมั่นต่อคนรอบข้าง

....


ขอบคุณสาระดี ๆ ..จากบันทึกนี้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท