ทอดกฐินสำนักปฏิบัติธรรมสวนป่ากู่ทองโพธิญาณ


ข้าพเจ้าอยากถามกลุ่มคนเหล่านี้เหลือเกินว่า ที่ท่านมาในครั้งนี้มีใครบังคับท่านมา มีใครจำใจมาหรือป่าว ที่ท่านมาในครั้งนี้บางท่านต้องมานั่งกลางดิน มานอนตากหมอก มืดก็มืดอยู่กลางป่า ใครหนอบังคับท่านมา

ทอดกฐิน ณ สำนักปฏิบัติธรรมส่วนป่ากู่ทองโพธิญาณ

          เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2550 ผู้เขียนมีโอกาสได้เดินทางติดตามครูบาอาจารย์ไปร่วมงานทอดกฐิน ณ สำนักปฏิบัติธรรมสวนป่ากู่ทองโพธิญาณ ต.กู่ทอง อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม ขออนุญาตเอ่ยนาม นำโดย ดร.ชุมพร ดร.ครรชิต ดร.กัมปนาท คุณแม่ศิลป์ ช่างจงประดิษฐ์ ,คุณไพศาล ช่างจงประดิษฐ์,คุณวิชัย ช่างจงประดิษฐ์,คุณรำจวน ช่างจงประดิษฐ์ และญาติสนิทมิตรสหายรวมถึงบุตรหลานของท่านเหล่านี้ และประชาชนทั่วไป ภิกษุสามเณรที่ทราบข่าวต่างหลั่งไหลกันมาร่วมงานบุญในครั้งนี้อย่างเนืองแน่น ซึ่งคณะศรัทธาได้เดินทางมาจากจังหวัดจันทบุรี อยุธยา ขอนแก่น มหาสารคาม ชัยภูมิ ยโสธร บุรีรัมย์ เลย นครพนม เป็นต้น รวมถึงชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงต่างออกมาต้อนรับคณะกฐินด้วยความปลาบปลื้ม

กองทัพธรรม

กรรมหล่อเลี้ยงกายไว้เพื่อปฏิบัติธรรม

          สภาพทั่วไปและบริเวณที่ตั้งของสำนักปฏิบัติธรรมสวนป่ากู่ทองโพธิญาณ จะเป็นป่าไม้ร่มรื่น เงียบสงบ เนื่องจากเป็นป่าช้าเก่าแก่ของชุมชนแห่งนี้ ซึ่งปัจจุบันนี้ชาวบ้านไม่ได้ทำพิธีฌาปนกิจแห่งนี้แล้ว เขาไปใช้ที่ฌาปนสถานเมรุแห่งอื่น บริเวณล้อมรอบด้วยคลองน้ำชลประทานเพื่อการเกษตร และทุ่งนาของชาวบ้าน ซึ่งขณะนี้มีการปรับปรุงพัฒนาบริเวณและสถานที่กันอย่างมาก เนื่องจากตั้งขึ้นได้ไม่นาน เมื่อ พ.ศ.2544 นี้เอง มีกุฎี3-4 หลังซึ่งทำขึ้นด้วยไม้ไผ่ มุงหญ้า พื้นปูฟาก เป็นที่หลบแดดฝนเพื่อปฏิบัติธรรมของภิกษุสามเณรได้ ศาลาปฏิบัติธรรมยังไม่มี โรงครัว โรงฉันยังไม่มี กุฎีถาวรยังไม่มี ห้องน้ำถาวรยังไม่มี ระบบไฟฟ้า น้ำประปามีแล้ว ขออนุญาตเอ่ยนาม หัวหน้าสำนักหรือเจ้าอาวาส ณ สถานที่ปฏิบัติธรรมแห่งนี้ท่านชื่อว่า พระอาจารย์ไพฑูรย์ ชาวบ้านชอบเรียกท่านสั้นๆว่าพระอาจารย์ฑูรย์ ในวันที่ทอดกฐินคือวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2550 ก็ได้มีการวางศิลาฤกษ์เพื่อที่จะก่อสร้างองค์พระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ ปวงมารวิชัย โดยวิธีการหล่อองค์พระในแบบพิมพ์ขนาดใหญ่ ขนาดฐานพระสูง 8 ศอก ความสูงองค์พระ 16 ศอก รวมความสูงจากพื้นถึงปลายยอด 24 ศอก

ทางเดินภายในบริเวณวัด

ธรรมะ

คือธรรมชาติ

          ข้าพเจ้าเข้าไปถึงบริเวณงานเวลาหนึ่งทุ่มกว่าของคืนวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2550  ซึ่งในขณะนั้นคนส่วนใหญ่จะเดินทางมาถึงแล้ว ศาลาปฏิบัติศาสนกิจไม่มีจึงกางเต๊นท์ใหญ่ทำเป็นประรำพิธี ในงานไม่มีมหรสพ มีแต่การเทศน์อบรมชาวบ้านผู้มาร่วมงานตลอดคืน พระภิกษุสายพระป่ากัมมัฏฐานมาร่วมงานประมาณร้อยกว่ารูป ที่นั่งไม่พอ ผู้เขียนลองนับคร่าวๆที่ท่านนั่งอยู่ในประรำพิธีมีประมาณ 50 60 รูป ที่เหลือจะอยู่ตามโคนไม้ บริเวณรอบๆ ชาวบ้านที่นั่งอยู่ข้างในเต็มหมด มีอีกส่วนมากที่อยู่บริเวณรอบๆ ตามโคนไม้บ้าง ตามลานบ้าง ทางเดินบ้าง ข้าพเจ้าอยากถามกลุ่มคนเหล่านี้เหลือเกินว่า ที่ท่านมาในครั้งนี้มีใครบังคับท่านมา มีใครจำใจมาหรือป่าว ที่ท่านมาในครั้งนี้บางท่านต้องมานั่งกลางดิน มานอนตากหมอก มืดก็มืดอยู่กลางป่า ใครหนอบังคับท่านมา แต่ข้าพเจ้าก็ไม่ได้ถาม ข้าพเจ้าเข้าใจโดยมโนสำนึกของข้าพเจ้าว่าทุกคนที่มาร่วมงานครั้งนี้จะมีใครบังคับก็หาไม่ ต่างหลั่งไหลเดินทางกันมาด้วยความศรัทธา ความเคารพครูบาอาจารย์ เดินทางมาเพื่อปฏิบัติในสิ่งที่คนดีเขานิยมปฏิบัติกัน เดินทางมาด้วยความสมัครใจ และยังชักชวนบุคคลที่เรารักให้ได้มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย ข้าพเจ้าปลาบปลื้มเกิดปีติน้ำตาพาลจะไหลเลยรีบหลับตาลงเพราะกลัวคนอื่นเขาจะเห็น

ยังไม่มีศาลาปฏิบัติธรรมต้องอยู่อย่างนี้ไปก่อน

          อีกอย่างที่ข้าพเจ้าประทับใจคือพระอาจารย์ไพฑูรย์และหมู่คณะพระภิกษุสงฆ์สามเณรเหล่านี้ พวกท่านต้องอยู่กันอย่างลำบาก ปัจจัยพื้นฐาน ที่อยู่อาศัยสิ่งอำนวยความสะดวก ความเป็นอยู่ที่สะดวกสบาย พวกท่านเหล่านั้นมิได้คำนึงถึง ท่านเห็นความสำคัญของพระพุทธรูปองค์ใหญ่ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาและเป็นรูปแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นลำดับที่หนึ่ง ท่านจึงได้นำปัจจัยที่ได้รับในครั้งนี้ไปก่อสร้างพระพุทธรูปก่อนสิ่งอื่นใด ความสะดวกสบายของพระเณรลูกวัดเอาไว้ทีหลัง ทั้งหมดนี้ผู้เขียนมิได้สอบถามใคร แต่ความจริงมันปรากฏ คือปรากฏเป็นอย่างนี้ ปรากฏเช่นนี้ มิจำเป็นต้องอธิบายหรือตอบคำถาม 

สถานที่ก่อสร้างพระพุทธสิริมหามงคล(หลวงพ่อกู่ทอง)

พิธีวางศิลาฤกษ์

เทพบุตรในพิธีวางศิลาฤกษ์

เทพธิดาในพิธีวางศิลาฤกษ์

          ความประทับใจอีกอย่างหนึ่งคือการเทศน์อบรมชาวบ้านโดยพระป่าสายกัมมัฏฐานแทนการว่าจ้างมหรสพ พระอาจารย์จากทั่วสารทิศท่านจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นเทศนา ตลอดคืนยันรุ่ง พระท่านไม่หนี ชาวบ้านก็ไม่หนี พระท่านนั่งเทศนาบนธรรมาสน์ ชาวบ้านนั่งสมาธิฟังด้วยความสงบ เป็นภาพที่ข้าพเจ้าประทับใจมาก จะต่างกับการแสดงของมหรสพบนเวที ชาวบ้านดื่มเหล้ารื่นเริงและทะเลาะวิวาท ซึ่งดูแล้วห่างไกลกันนัก ต่างกันโดยสิ้นเชิง พระอาจารย์รูปแรกที่ขึ้นธรรมาสน์เทศน์เป็นองค์แรก และท่านก็เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ด้วย คือพระอาจารย์โสภณ ท่านมาจากจังหวัดอยุธยา ท่านเล่าว่าท่านรับกิจนิมนต์ที่ประเทศออสเตรเลียเทศนาอบรมชาวต่างชาติเสร็จแล้วนั่งเครื่องมาลงกรุงเทพฯเมื่อตอนเช้า เสร็จแล้วท่านก็นั่งรถต่อมายังสำนักปฏิบัติธรรมกู่ทองโพธิญาณทันที มาถึงเย็นๆ โดยมิได้พัก ท่านมาด้วยความตั้งใจ พวกเราก็มาด้วยศรัทธา พระรูปที่ 2 ที่ขึ้นเทศนาคือพระอาจารย์สวัสดิ์จากจังหวัดมหาสารคาม ตามด้วยพระรูปที่ 3,4,5ไปเรื่อยๆ ทุกท่านเทศน์จุใจถึงใจทุกรูปทุกองค์ ตอนกลางดึกอากาศหนาวก็มีผู้ใจบุญมีจิตศรัทธานำผ้าห่มกันหนาวมาแจกชาวบ้านจำนวนหลายร้อยผืน ท่านช่างเป็นมหาเศรษฐีที่ใจบุญเหลือเกินพิธีกรก็ได้ประกาศชื่อของท่านเหมือนกันแต่ผู้เขียนมิได้บันทึกชื่อท่านจึงทำให้หลงลืมจำไม่ได้ ดังนั้นข้าพเจ้าจึงขอสรรเสริญในน้ำใจของท่านเศรษฐีท่านนี้ไว้ ณ ตรงนี้ ว่าจิตใจของท่านช่างงดงามเหลือเกิน เผื่อแผ่เมตตาต่อผู้อื่น องค์สุดท้ายพระอาจารย์เทียนชัยขึ้นธรรมาสน์ ท่านได้เทศน์ทิ้งท้ายไว้ว่า พวกเราชาวพุทธทุกท่านขอจงประพฤติปฏิบัติให้เป็นนิจอยู่ 3 ประการคือ 1)แผ่เมตตาอุทิศส่วนบุญ 2)อโหสิกรรม และ 3)เปิดใจรับส่วนบุญ ท่านจะเทศน์อธิบายเป็นฉากๆ เป็นประเด็น ผู้ฟังเข้าใจง่าย ใจท่านอยากเทศน์ต่อ ผู้ฟังก็อยากฟังต่อ แต่มาติดที่เวลา เพราะเทศนามาตลอดคืน เดี๋ยวนี้ก็เช้าแล้ว เรียกว่าฟังเทศน์กันจนตะวันขึ้น ผู้เขียนไม่เคยเห็นชาวบ้านที่ไหนนั่งฟังเทศน์โดยไม่หลับไม่นอนได้นานขนาดนี้ คนส่วนใหญ่ฟังแป๊บเดียวเบื่อก็เดินหนีแล้ว แต่ที่นี่ก็ไม่น้อยทั้งคนเทศน์คนฟัง ไม่ยอมหนีกัน นี่ก็เป็นภาพความประทับใจของผู้เขียนอีกส่วนหนึ่งที่ถูกบันทึกไว้ในความทรงจำที่มิลืมเลือน

เรียบเรียงโดย

สักทอง ร่มไม้ใหญ่ใกล้ทาง

หมายเลขบันทึก: 148177เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2007 15:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เคยไปทำบุญที่วัดนี้ ครั้งนึง

 

 

มาเยี่ยม 

นึกถึงครั้งพุทธกาล  สะภาพคงเป็นอย่างนี้นะครับ...

เสียดายที่ไม่ได้มีโอกาศดีดี อย่างนี้ แต่ก็ขออนุโมทนากับทุกท่าน ที่ร่วมบุญคร้งนี้

คนที่นั่งอยู่นานโดยฟังะรรมได้โต้รุ่งต้องใจตั้งมั่นเป็นสมาธิ แต่น่ากลัวที่สุดคือนิวรณ์ ตัวง่วงหงาวหาวนอนนี่แหละครับ

หากกำลังใจไม่มั่น ก็ไม่สามารถ ผ่านเนสัชชิก โต้รุ่งได้หรอกครับ น่าอนุโมทนายิ่งครับ

เห็นภาพแล้วน่าปีติครับ พระป่าที่น่าเลื่อมใส ดูสงบ เย็น......

ที่กรุงเทพก็มี วัดสังฆทาน พระราม5 ( เจ้าอาวาส หลวงพ่อสนอง กตปุญโญป )ก็ มีเนสัชชิกทุกวันพระ บรรยากาศคล้ายที่ท่านกล่าวคือ มีครูบาอาจารย์เทศทั้งคืน และภาวนากนยันรุ่ง เห็นแล้วน่าปลื้มใจและน่าอนุโมทนากับผู้ปฎิบัติธรรม ส่วนลานธรมก็ไม่มีหลังคา นั่งกันใต้ต้นไม้ฟังธรรม เหมือนสมัยพุทธกาล เห็นแล้วก็ปีติครับ.

บุญรักษาทุกท่านครับ

สวัสดีครับคุณ ค้นหาความตาย

       มันเป็นความสุขของคนที่ได้ทำในสิ่งที่ตนชอบและไม่ได้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ได้เบียดเบียนตนเอง ยินดีที่ได้มาพบผู้มีเป้าหมายในการดำเนินชีวิต ได้ฟังธรรมครูบาอาจารย์ ได้พบปะสหธรรมิก จิตฟูอิ่มเอิบ

        หลวงพ่อสนองกระผมก็ได้ฟงธรรมของท่านบ่อย ทางแผ่นซีดี หรือวิทยุกระจายเสียงตอนกลางคืน

  • สวัสดีค่ะ
  • ไม่ได้เข้า blog นี้มานาน
  • เข้ามาทีไรมีแต่เรื่องสุขใจทุกที
  • สบายดีไหมคะ  ขอให้มีความสุขนะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท