ปลาพะยูน


พะยูนในจังหวัดภูเก็ต

ปลาพะยูน

คำนำ
พะยูนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในทะเลและกินหญ้าทะเลเป็นอาหาร ลักษณะโดยทั่วไปที่มองเห็นพะยูนก็คือมีรูปร่างคล้ายโลมาอ้วน ๆ ขนาดและรูปร่างของพะยูนกับโลมาโดยทั่วไปเมื่อมองจากผิวน้ำดูคล้ายกัน แต่โดยบรรพบุรุษพะยูนจัดอยู่ใกล้เคียงกับช้างมากกว่าพวกโลมา
พะยูน หมูน้ำหรือวัวทะเล (Sea cow) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า "Dugong dugon (ดูกอง ดูกอน)" เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งในจำนวน 4 ชนิดของสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมในลำดับไซรีเนีย (Order Sirenia) ซึ่งทุกชนิดจัดว่าเป็นสัตว์ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Endangered species) พะยูนกลุ่มใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ในพื้นที่ของประเทศออสเตรเลีย สมาชิกอื่นของพะยูนประกอบไปด้วย มานาตีในพื้นที่เวสอินเดียน (ฟลอริดา) มานาตีในเขตลุ่มน้ำอะเมซอน และมานาตีในเขตแอฟริกาตะวันตก มานาตี ต่างจากพะยูนอย่างชัดเจน คือ ลักษณะของหางและถิ่นที่อยู่อาศัย โดยที่มานาตีมีปลายหางกลมแบน และอาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำจืด น้ำกร่อยและทะเล ส่วนพะยูนมีปลายหางแฉกและอาศัยอยู่ในทะเลเท่านั้น พะยูนโตเต็มที่ยาว 3 เมตรเศษและน้ำหนักกว่า 300 กิโลกรัม ลูกพะยูนแรกเกิดยาวเมตรเศษและน้ำหนักเพียง 20-30 กิโลกรัม โดยทั่วไปพะยูนที่มีความยาวน้อยกว่า 2 เมตรยังจัดอยู่ในกลุ่มที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปี

 

พะยูนตัวแรก
พะยูนหรือที่ชาวใต้มักนิยมเรียกว่า "ดูหยง" หรือ "ตูหยง" ซึ่งเป็นคำมลายูคาดว่าเพี้ยนมาจากคำว่าดูกอง (Dugong) เมื่อราวสัก 40 - 50 ปีมาแล้วยังพอมีพะยูนให้พบเห็นบ้างในจังหวัดภูเก็ต แต่ในปัจจุบันแทบจะไม่ได้ข่าวคราวการพบเห็นพะยูนเลย เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2522 สถาบันวิจัยชีววิทยาและประมงทะเล จังหวัดภูเก็ต (ศูนย์ชีววิทยาทางทะเลในขณะนั้น) ได้รับมอบพะยูนมีชีวิตตัวแรกจากทับละมุ จังหวัดพังงา เป็นพะยูนเพศเมีย ลำตัวยาว 165 ซม. ถูกจับได้เนื่องจากติดอวนลอยของชาวประมง พะยูนตัวนี้นับได้ว่าเป็นพะยูนตัวแรกของประเทศไทยที่ได้นำมาอนุบาล ได้รับความสนใจมาก มีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาชมแน่นขนัดเกือบทุกวันจากทั้งในจังหวัดภูเก็ต พังงาและจังหวัดใกล้เคียง แม้หลายคนจะพบกับความผิดหวังที่ไม่ได้พบ "เงือกสาว" ตามที่เคยได้ยินมา แต่ก็ได้รู้จักว่า "พะยูน" สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่กินหญ้าทะเลเป็นอาหารนั้นมีรูปร่างหน้าตาจริง ๆ เป็นอย่างไร และที่จริงแล้วพะยูนไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับ "เงือก" อย่างที่ชาวเรือโบราณเล่าขานเป็นนิยายของคนเดินเรือใด ๆ ทั้งสิ้น

 

พะยูนในจังหวัดภูเก็ต
สองปีต่อมา ในวันที่ 2 มีนาคม 2524 สถาบัน ฯ ได้รับพะยูนเพศผู้ตัวใหญ่มาก ยาวถึง 2.80 เมตร หนักราว 300 กิโลกรัม จากอ่าวตังเข็นด้านทิศใต้ของเกาะและอยู่ติดกับสถาบัน ฯ (ดูแผนที่ประกอบในรูปที่ 6) พะยูนเคราะห์ร้ายตัวนี้มัวหลงเพลินกับการกินหญ้าทะเลอยู่ในขณะที่น้ำยังเต็มฝั่งจนกระทั่งน้ำลงจนแห้งขอดจึงไม่สามารถว่ายน้ำกลับออกไปได้ เจ้าหน้าที่ของสถาบันฯ ได้รีบรุดไปดู แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ไม่สามารถช่วยชีวิตพะยูนตัวนี้ได้ จะเห็นได้ว่าพะยูนเป็นสัตว์ที่น่าสงสารมาก นอกจากจะไม่มีอวัยวะใด ๆ ที่ใช้เป็นเครื่องป้องกันตัวมันเองแล้ว มันยังตายง่ายมากดังเช่นกรณีนี้ เพียงติดแห้งอยู่หรือติดอยู่ในโป๊ะมันจะพยายามดิ้นรนหาหนทางสู่อิสรภาพ จนได้รับความบอบช้ำมากและตายภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
ราว 6 เดือนต่อมา (25 สิงหาคม 2524) สถาบันฯ ได้พะยูนเพศผู้มีชีวิต ความยาว 1.80 เมตร ซึ่งติดอวนลอยปูจากอ่าวปอ พะยูนตัวนี้ได้เสียชีวิตจากอนุบาลได้เพียง 77 วัน (รูปที่ 2) ในปีถัดมาสถาบันฯ ได้รับลูกพะยูนเพศผู้อีกตัวมีความยาว 1.20 เมตร ติดอวนลอยบริเวณอ่าวมะขาม (เยื้องเกาะตะเภาใหญ่) ลูกพะยูนตัวนี้มีอายุในบ่อเลี้ยงได้ 111 วัน
นับแต่วันนั้นมานานร่วม 20 ปี เราไม่ได้ข่าวคราวของพะยูนในจังหวัดภูเก็ตอีกเลย จนกระทั่งในช่วงสายของวันที่ 2 สิงหาคม 2541 เราถึงได้รับแจ้งจากคุณสมบัติ บุญโตว่า "มีพะยูนตายที่ท่าเรือน้ำลึก และขณะนี้ได้นำซากพะยูนไปไว้ที่บ้านของคุณสมบัติที่เกาะสิเหร่ เพื่อให้เพื่อนบ้านได้ดู" ด้วยเหตุที่พะยูนเป็นสัตว์น้ำที่หายากมาก หากใครมีโอกาสได้เห็นก็นับว่าเป็นบุญตา คุณสมบัติเล่าว่า "ขณะที่ตนกับพรรคพวกอีก 4 คน คือ คุณสุชาติ เสนแก้ว คุณถาวร ศรีน้ำทอง คุณอำนาจและคุณสำราญ เจ้ยแก้ว กำลังสาวอวนลอยปูที่บริเวณท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต ห่างจากท่าเรือราว 500 เมตร น้ำลึกประมาณ 10 เมตร รู้สึกเหมือนมีตัวอะไรดิ้นอยู่ใกล้ ๆ อวนของตน ทีแรกนึกว่าเป็นฉลาม และเห็นไว ๆ คล้ายกับว่าสัตว์น้ำตัวนั้นทะลึ่งขึ้นมา พอเรือเข้าใกล้ถึงรู้ว่าเป็นพะยูนตายลอยอยู่จึงช่วยกันกับเพื่อนลากพะยูนขึ้นเรือ" คุณอำนาจยังบอกอีกด้วยว่า "คิดว่าพะยูนตัวนี้ถูกเรือชนตายแน่" ตอนแรกที่ฟังคุณอำนาจบอก ผู้เขียนไม่สู้ปักใจเชื่อนัก เพราะว่ารอยช้ำด้านซ้ายเยื้องไปทางช่วงท้ายของลำตัวนั้นเห็นเป็นเพียงรอยถลอกขนาดเล็ก ๆ ยาวเพียง 5-6 เซนติเมตรเท่านั้น (รูปที่ 3)
ผู้เขียนได้นำซากพะยูนกลับมาที่สถาบันฯ เพื่อผ่าศึกษาชันสูตรซาก พะยูนเพศผู้ตัวนี้มีความยาว 2.19 เมตร และหนัก 184 กิโลกรัม จัดว่ายังเป็นพะยูนวัยรุ่น อายุราว 10 ปีต้น ๆ ขณะที่ทำการตรวจสอบลักษณะภายนอกอยู่นั้น เห็นดวงตาใส ๆ ทั้งคู่ของเจ้าพะยูนน้อยและอดนึกสงสารจับใจ ตามันยังใสแป๋วคล้ายตาของเด็กเล็ก ๆ และหลังการชันสูตรก็เป็นจริงอย่างที่คุณอำนาจบอกไว้ คือ พะยูนตัวนี้ต้องถูกของแข็งที่มีความเร็วชนอย่างแรง ประเมินจากตำแหน่งของแผลและรอยแผลแล้วคาดว่าพะยูนน่าจะถูกส่วนของ "มาดเรือ หรือกระดูกงูเรือด้านหัวเรือ" ของเรือหางยาวชนในขณะที่ มันขึ้นมาหายใจ และกำลังจะว่ายกลับลงไปกินหญ้าต่อ สังเกตเห็นว่ายังมีหญ้าสด ๆ จำนวนหนึ่งค้างอยู่ในปากผู้เขียนรู้สึกสงสารเจ้าพะยูนเคราะห์ร้ายตัวนี้อย่างจับใจ เพราะกล้ามเนื้อภายในบริเวณที่ถูกเรือชนเป็นรอยช้ำเลือดยาวถึง 50เซนติเมตร และกระดูกสันหลังตรงบริเวณนี้หักถึง 8 ข้อ มันคงได้รับความเจ็บปวดแสนสาหัสก่อนที่จะสิ้นลมหายใจ นอกจากนี้คุณอำนาจยังเล่าเสริมอีกว่า "ราวปลายปี 2540 พบพะยูนขึ้นหายใจ 1 ตัวที่บริเวณหน้าสะพานหิน ห่างฝั่งราว 1 กิโลเมตร"
เมื่อปี 2543 ที่ผ่านมา มีข่าวการพบพะยูนในภูเก็ตถึงสามครั้งด้วยกันในบริเวณบ้านป่าคลอก-บางโรงครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2543 พะยูนติดอวนตาย บ้านป่าคลอก ชาวบ้านชำแหละเนื้อไปกิน เจ้าหน้าที่จากสำนักงานประมงจังหวัดได้เข้าไปตรวจสอบแต่ก็ไม่พบหลักฐานอันใด ต่อมาวันที่ 10 เมษายน 2543 พะยูนอีกตัวติดโป๊ะที่บางโรง (ติดกับหาดป่าคลอก) ชาวบ้านได้ช่วยเหลือทันโดยการรีบปล่อยกลับสู่ทะเล และครั้งสุดท้ายปลายปีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2543 พะยูนติดอวนปลากะพงตายที่บ้านป่าคลอก ผู้ไม่ประสงค์ออกนามเล่าว่า "ตอนเช้ามืดของวันที่ 26 พฤศจิกายน ได้มีการนำซากพะยูนไปชำแหละที่บ้านยามูซึ่งอยู่ติดกับบ้านป่าคลอก และมีการขายเนื้อพะยูนในหมู่บ้านราคากิโลกรัมละ 80 บาท" ผู้เขียนพร้อมด้วยคุณธงชัย พัฒนกุล (ผู้ช่วยประมงจังหวัดภูเก็ตในขณะนั้น) ได้ไปตรวจสอบชิ้นเนื้อ จากประสบการณ์ของผู้เขียนซึ่งคุ้นเคยกับการชันสูตรซากพะยูนมากว่า 10 ปีสามารถยืนยันได้ทันทีว่าชิ้นเนื้อดังกล่าวเป็นเนื้อพะยูนอย่างแน่นอน
การขายพะยูนหรือครอบครองชิ้นส่วนใด ๆ ของพะยูนเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ผู้เขียนและคุณธงชัยพร้อมด้วยชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้เข้าไปหารือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเรื่องการดำเนินคดีทางกฎหมาย แต่ท้ายที่สุดสรุปให้เป็นการว่ากล่าวตักเตือนและภาคทัณฑ์ผู้ขายเอาไว้ และยังได้มีหนังสือออกจากผู้ว่าราชการจังหวัดไปยังผู้ต้องสงสัยว่าเป็นเจ้าของอวนลอยปลากะพงที่พะยูนมาติดแล้วตายและเป็นผู้ชำแหละพะยูนขาย เพื่อขอร้องให้ร่วมมือกับส่วนราชการในการอนุรักษ์พะยูนพร้อมกับให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการอนุรักษ์สัตว์น้ำหายากชนิดนี้

 

สำรวจพบพะยูนที่อ่าวปอ
การตื่นตัวกับพะยูนที่พบในระยะนี้ จึงทำให้ผู้เขียนพยายามหาเงินทุนมาเพื่อทำการบินสำรวจในพื้นที่บ้านป่าคลอกและบริเวณใกล้เคียง ซึ่งก่อนหน้านี้ในปี พ.ศ. 2540 และ 2542 สถาบัน ฯ เคยได้ความอนุเคราะห์จากกองทัพเรือ ให้ใช้เครื่องบินเล็กและเฮลิคอปเตอร์ในการบินสำรวจพะยูนบริเวณนี้มาแล้ว แต่เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าหากจำนวนพะยูนในธรรมชาติมีอยู่น้อยมากและเวลาที่ใช้สำรวจมีจำกัดย่อมทำให้โอกาสที่จะเห็นพะยูนมีน้อยมาก
และในปี 2544 ผู้เขียนได้ร่วมงานกับคุณเอเลนไฮนส์ (Ellen Hines) จากมหาวิทยาลัยวิคตอเรียในประเทศแคนาดา สำรวจพะยูนที่บ้านป่าคลอก-เกาะยาวน้อยและยาวใหญ่ โดยได้รับเงินสนับสนุนจากโอเชียนปาร์คฮ่องกง การสำรวจครั้งนี้เราใช้เครื่องร่อนหรือไมโครไลท์ (Microlite) ยี่ห้อแอร์โบร์น (Airborne) เป็นเครื่องร่อนที่มีล้อ 3 ล้อพร้อมเครื่องยนต์ และปีกกว้าง 10 เมตร ความเร็วสูงสุดประมาณ 150 กม./ซม. ดังนั้นในการขึ้น-ลงแต่ละครั้งจำเป็นต้องใช้พื้นที่โล่งพอสำหรับปีกและทางวิ่งยาวประมาณ 300 เมตร เราได้รับความอนุเคราะห์จากอาจารย์ใหญ่โรงเรียนวีรสตรีอนุสรณ์ (คุณขัมน์ สุขาพันธุ์) ให้ใช้พื้นที่สนามฟุตบอลของโรงเรียนเป็นลานขึ้น-ลงของเครื่องร่อน การขึ้นลงแต่ละครั้งน่าหวาดเสียวพอสมควร เพราะสายไฟฟ้าแรงสูงและดงสนอยู่ชิดขอบสนามมาก ผู้เขียนรู้สึกกลัวว่าจะบินขึ้นไม่พ้นสายไฟฟ้าแรงสูงทุกเที่ยวและภายหลังทราบว่านักบิน (คุณนิมิตร สิทธิโรจน์) ก็รู้สึกหวาดเสียวเช่นกัน เขาบอกว่า "มันบีบหัวใจทุกครั้งที่ต้องเทคออฟที่นั่น" แต่ทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดี เราทำการบินอยู่ 3 วัน ๆ ละ 2 เที่ยว แต่ละเที่ยวใช้เวลาประมาณ 2-2.5 ชั่วโมง การบินสำรวจครั้งนี้พบพะยูนกำลังว่ายน้ำอยู่ที่หน้าอ่าวปอหนึ่งตัว แต่ไม่สามารถถ่ายภาพได้ พะยูนอีกตัวหนึ่งกำลังกินหญ้าอยู่ที่ทิศตะวันออกของช่องเกาะยาวใหญ่ และกำลังว่ายน้ำอยู่อีก 2 ตัว ทางทิศเหนือของเกาะยาวใหญ่
ชาวบ้านเล่าว่า
นอกจากนี้ปลายปี 2543 ยังได้ออกสัมภาษณ์ชาวประมงเกี่ยวกับพะยูนและหญ้าทะเล ในชุมชนชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของเกาะภูเก็ตทั้งหมดรวมทั้งตอนเหนือของอ่าวพังงา คือ บ้านคลองเคียน บ้านหล่อยูง และโคกกลอย ในอำเภอตะกั่วทุ่ง จำนวนรวมทั้งหมด 119 ครัวเรือน
เครื่องมือประมงชนิดที่ชาวบ้านระบุว่าเป็นอันตรายกับพะยูนหรือทำให้พะยูนตายมากที่สุด คือ อวนลอยประเภทต่าง ๆ และโป๊ะ รองลงไปเป็นพวกอวนลาก อวนล้อม และเบ็ดราวกระเบน สมัยก่อนที่คนยังนิยมบริโภคเนื้อพะยูนอยู่ สนนราคาขายกันที่ 25-50 บาท/กก. ปัจจุบันการลักลอบขายกันในราคา 80-100 บาท/กก.

 

ความเชื่อ
แม้ว่าราคาของเนื้อพะยูนดูจะสูงกว่าเนื้อหมู เป็ด และไก่ก็ตาม แต่เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ที่ของยิ่งหามาด้วยความลำบากยากเย็นหรือมีน้อยเหลือเกิน มักถูกเชื่อว่ามีประโยชน์มหาศาล เนื้อพะยูนก็เช่นกันชาวบ้านเชื่อกันว่าการกินเนื้อพะยูนเป็นเหมือนยาอายุวัฒนะการปรุงเป็นอาหารก็กระทำได้หลายอย่าง เช่น แกงกะทิ ผัดพะโล้ ฮ้อง ทอด ผัดเปรี้ยวหวาน และผัดเครื่องใน น้ำมันพะยูนใช้ทาแก้ปวดเมื่อยและแก้น้ำร้อนลวก น้ำตาเป็นยาเสน่ห์ ส่วนกระดูกฝนผสมกับน้ำมะนาวกินแก้พิษจากการถูกเงี่ยงหรือหนามของปลาแทง เช่น ปลาจ้งม้ง (กระเบน) เขี้ยวพะยูนใช้เสริมเดือยไก่ในกีฬาชนไก่ และหนังตรงส่วนหลังหั่นตามยาวตามลำตัวแล้วนำไปตากแห้งใช้ทำไม้เท้าได้
ในต่างประเทศ ก็มีความเชื่อเรื่องการใช้ประโยชน์จากชิ้นส่วนพะยูนเช่นกัน ชนพื้นเมืองในประเทศออสเตรเลียเชื่อว่าน้ำมันพะยูนใช้รักษาโรคต่าง ๆ ได้หลายโรค ในมาดากัสการ์เชื่อว่าน้ำมันพะยูนใช้รักษาโรคไมเกรนได้ นำหนังพะยูนใช้ทำเครื่องหนัง หรือน้ำไปต้มเคี่ยวจนได้กาว ส่วนเขี้ยวหรืองาพะยูนใช้ทำด้ามกริช เป็นของที่ระลึกหรือของฝาก
สถานการณ์พะยูนในภูเก็ต
คาดว่ามีพะยูนจำนวนหนึ่งซึ่งอาจอยู่ในราว 10-20 ตัว อาศัยหากินอยู่ในบริเวณเหนือสุดของเกาะคือท่าฉัตรไชย-บ้านป่าคลอก ลงไปจนถึงตอนใต้คือบริเวณเกาะตะเภาน้อย-ตะเภาใหญ่และเกาะโหลน ถึงแม้จะมีชาวประมงบางคนบอกว่าน่าจะอยู่ไปถึงราไวย์ แต่ยังไม่มีหลักฐานยืนยันการพบเห็น ในปี 2543 มีผู้พบพะยูนกินหญ้าและขึ้นหายใจที่เกาะตะเภาใหญ่และเกาะโหลน ซึ่งทั้งสองแห่งนี้มีหญ้าทะเลอยู่พอควร พะยูนที่พบที่เกาะยาวน้อยใหญ่เมื่อปี 2542 จำนวน 8 ตัวนั้นอาจจะหากินและท่องเที่ยวอยู่ในพื้นที่ระหว่างเกาะยาว-เกาะภูเก็ต หรือพะยูนที่พบในภูเก็ตอาจเป็นคนละกลุ่มกับพะยูนที่พบที่เกาะยาวก็เป็นไปได้ เรากำลังสำรวจเพื่อหาข้อมูลสนับสนุมากกว่านี้จึงจะสามารถระบุได้แน่นอน
โดยธรรมชาติ พะยูนเป็นสัตว์ที่อายุยืนยาวถึง 70 ปี ต้องมีอายุมากกว่า 10 ขึ้นไปจึงจะสมบูรณ์พร้อมที่จะให้กำเนิดลูกได้ ทั้งยังให้ลูกน้อยเพียงครั้งละหนึ่งตัวและต้องเลี้ยงดูลูกอีกนานร่วม 2 ปี ดังนั้นในกลุ่มประชากรน้อย ๆ โอกาสที่พะยูนตัวใหม่จะเกิดและโตมาทดแทนให้เพียงพอหรือมากกว่าจำนวนตัวที่ตายไปนั้นเป็นไปได้ยากมาก อย่างไรก็ตามโอกาสเป็นไปได้สูงมากที่พะยูนจะหายไปหรือสูญพันธุ์ไปจากท้องทะเลของเกาะภูเก็ต

 

http://www.nicaonline.com/articles9/site/view_article.asp?idarticle=186

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 14817เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2006 17:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท