ภาพรวมการพัฒนาจังหวัด ปัญหาอุปสรรค(5)


หน่วยจัดการเพื่อการพัฒนาหมู่บ้าน/ตำบลของภาครัฐใน2ระดับจึงเดินกันคนละทาง แตกเป็นส่วนเสี้ยว

วันที่13-14พ.ย.ผมเข้าร่วมงานวิถีพลังไทจัดโดยพอช.ที่สวนอัมพร ขณะประชุมคณะทำงาน ได้รับโทรศัพท์จากครูนงหารือโครงการอยู่ดีมีสุขของจังหวัด
ผมบอกว่าได้คุยกับคณพัฒน์ซึ่งเป็นแกนนำโครงการความร่วมมือฯที่สสส.กับสกว.ร่วมกับภาคีจากส่วนกลางดำเนินโครงการวิจัยขับเคลื่อนจังหวัดอย่างบูรณาการ20จังหวัด โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนาระบบข้อมูลในการพัฒนาอบต.จากฐานบัญชีครัวเรือนและแผนแม่บทชุมชน

โครงการดังกล่าวสอดคล้องกับชุมชนอินทรีย์ที่พวกเรากำลังขับเคลื่อนกันอยู่

โดยที่โครงการความร่วมมือให้ความสำคัญกับคนทำงานในภาคชุมชน ขณะที่ชุมชนอินทรีย์กำลังพัฒนาคุณอำนวยส่วนราชการอย่างบูรณาการ

ทั้ง2ขบวนเคลื่อนมาบรรจบกันในนาม คณะทำงานพัฒนาและบูรณาการกลไกขับเคลื่อนและตัวชี้วัดเพื่อติดตามประเมินผลกระบวนการชุมชนอินทรีย์ โดยมียุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขสมทบเข้ามาอีกแรงหนึ่ง

เราได้โทรศัพท์หารือกับปลัดวาสนาซึ่งทำหน้าที่ร่างคำสั่งคณะกรรมการขับเคลื่อนกลางในทุกระดับเพื่อให้เกิดการบูรณาการไปในทิศทางเดียวกัน โดยนำแนวทางการหารือของคณะทำงานในก่อนหน้านี้มาพิจารณาด้วย

โดยสรุป ความเห็นของผมมีดังนี้

1)คณะกรรมการอำนวยการโครงการชุมชนอินทรีย์อยู่ดีมีสุข (เรียกย่อ)ประกอบด้วยผู้ว่าราชการ จังหวัดเป็นประธาน รองผู้ว่าราชการจังหวัด(น่าจะเป็นรองวิชิต)เป็นรองประธาน
คณะกรรมการคือหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัดเช่น พัฒนาการจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด รวมทั้งผู้บริหารในสถาบันอุดมศึกษาที่เกี่ยวข้อง

2)คณะที่ปรึกษา ประกอบด้วย ปราชญ์ชาวบ้าน คนเก่าคนแก่ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาจังหวัดนครศรีธรรมราช เช่น พระอาจารย์สุวรรณ คเวสโก น้าประยงค์ รณรงค์ นพ.บัญชา พงษ์พานิช  เป็นต้น

3)คณะทำงานโครงการชุมชนอินทรีย์อยู่ดีมีสุข (เรียกย่อ) ประกอบด้วย ปลัดจังหวัดเป็นประธาน (รองประธานน่าจะเป็นหัวหน้าสำนักงานจังหวัด ผมไม่แน่ใจ) ที่เหลือเป็นกลุ่มคนในชุดคณะทำงานพัฒนาและบูรณาการกลไกขับเคลื่อนและตัวชี้วัดนั่นแหละ เหมาะสมดีแล้ว เพราะประกอบด้วยคนทำงานระดับกลาง(กองพัน)ในภาคส่วนต่างๆครบครัน คือ สำนักงานจังหวัด ปกครอง ท้องถิ่น พช. กศน. เกษตร สาธารณสุข พมจ. ภาควิชาการ ชุมชน และประชาสังคม


ในภาษาจัดการความรู้ ชุดแรกคือ

คุณเอื้อจังหวัด ชุดที่เป็นคณะทำงานคือ คุณอำนวยจังหวัดนั่นเอง

หัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนงานบูรณาการ จากประสบการณ์ที่ทำมาตั้งแต่ปี2548คือ  ทุกส่วนงานต่างมุ่งหน้างานที่เป็นฟังชั่นของตนเอง ส่วนใหญ่ถือว่างานบูรณาการเป็นภาระหรือมิฉะนั้น  ก็ดึงงบประมาณมาเป็นประโยชน์ในงานของตนมากกว่าการมองภาพรวม

หน่วยจัดการเพื่อการพัฒนาหมู่บ้าน/ตำบลของภาครัฐใน2ระดับจึงเดินกันคนละทาง แตกเป็นส่วนเสี้ยว คือ
1)หน่วยจัดการท้องถิ่นซึ่งมีอบต.เป็นเจ้าภาพหลัก
2)หน่วยจัดการระดับกรมที่มีสาขาในจังหวัดต่างๆ ซึ่งต่างก็สนใจที่จะนำเสนอสินค้าของตนเองเท่านั้น

การใช้งบซีอีโอ งบอยู่ดีมีสุขที่กองรวมไว้ที่จังหวัด รวมทั้งเพิ่มอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อบูรณาการการทำงานให้สอดประสานกันจึงเป็นเรื่องยากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา

ชุมชนซึ่งจัดแบ่งเป็นหมู่บ้าน ตำบลจึงถูกกระทำย่ำยีผ่านหน่วยจัดการที่หวังดีต่างๆเหล่านี้ ทั้งนี้ต้องนับรวมความไร้ประสิทธิภาพของระบบงบประมาณประจำปีและระเบียบปฏิบัติต่างๆด้วยที่มักจะสั่งวันนี้เอาพรุ่งนี้กันเป็นประจำ ทำให้งบประมาณถูกใช้ไปอย่างไร้ประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง

ช่องทางที่ชุมชนพยายามหาทางออกในการเข้าถึงงบประมาณของรัฐ ซึ่งมีอยู่2ทาง คือ ผ่านหน่วยงานของรัฐที่เป็นองค์การมหาชนซึ่งมีความคล่องตัวมากกว่า และผ่านกลไกของชุมชนโดยตรง ดังตัวอย่างการดำเนินงานอย่างขนานใหญ่ของกองทุนเพื่อสังคม ก็เข้าถึงได้เฉพาะชุมชน ที่เป็นต้นแบบซึ่งค่อนข้างเข้มแข็งเป็นส่วนใหญ่ โดยที่โครงการกองทุนหมู่บ้านและSMLซึ่งต่อท่อถึงชุมชนโดยตรง อย่างกระจายถึงกลุ่มเป้าหมายทุกหมู่บ้านอย่างครอบคลุม ก็ขาดกระบวนการที่ดี  ผลลัพท์ที่ได้จึงยังไม่บรรลุผลตามเป้าหมายที่คาดหวังไว้สักเท่าไร?

ปัญหาและอุปสรรคของการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายตามที่วาดหวังไว้คืออะไร?

ผมขอสรุปอีกครั้ง(ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่)ว่า มาจาก
1)ระบบงบประมาณประจำปีที่เร่งรีบ ไม่สอดคล้องต้องกันของหน่วยจัดการต่างๆ

2)โครงสร้างอำนาจที่ผูกติดอยู่กับหน่วยจัดการระดับกรมซึ่งไม่เอื้อให้หน่วยจัดการระดับจังหวัดทำงานได้อย่างเต็มที่ โดยที่บทบาทของหน่วยจัดการระดับจังหวัดยังทับซ้อนกันด้วยคือระหว่างจังหวัดกับ   อบจ.

3)หน่วยจัดการระดับท้องถิ่น(อบต.)ขาดอิสรภาพและวิสัยทัศน์ที่จะประกาศตนเป็นหน่วยจัดการที่เปรียบเสมือนรัฐท้องถิ่นอย่างเต็มตัว ดังที่ตำบลท่าข้ามและตำบลหนองสาหร่ายประกาศตัวเป็น
ประเทศท่าข้ามและประเทศหนองสาหร่าย

4)ความอ่อนแอทางการเมือง ซึ่งเห็นได้ชัดจากข้อเสนอเชิงนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆที่กำลังหาเสียงกันในปัจจุบัน ที่ไม่ได้มาจากการสรุปบทเรียน การวิเคราะห์ปัญหาจากฐานข้อมูล ความรู้ รวมทั้งจินตนาการและแรงบันดาลใจที่จะดำเนินนโยบายเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของพี่น้องประชาชนในระยะยาวอย่างจริงจังเท่าที่ควร

5) บทบาทและความอ่อนแอของสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะสถาบันอุดมศึกษาซึ่งทำหน้าที่ได้ดีที่สุดเพียงแค่ช่างเทคนิคที่อาจจะมีความสามารถทางเทคโนโลยีและทางเทคนิคอื่นๆภายใต้ระบบที่อ่อนแอ จึงไม่สามารถจัดการความรู้ในเชิงนวัตกรรมที่เป็นข้อเสนอเชิงระบบที่เป็นองค์รวม โดยเฉพาะการเข้าร่วมขับเคลื่อนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นความรู้ที่มาจากตัวอย่างรูปธรรมในพื้นที่

6)ความอ่อนแอของสังคมที่ถูกสื่อสาร เรียนรู้ผ่านชุดข้อมูล ความรู้เพียงบางส่วนเพื่อประโยชน์ของกลุ่มคนบางพวก โดยที่กลไกของรัฐไร้ประสิทธิภาพในการควบคุมกำกับหรือมิฉะนั้นก็เอาหูไปนาเอาตาไปไร่7)ปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการของหน่วยจัดการในทุกระดับ ทั้งภาคชุมชน ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการเมือง
หมายเลขบันทึก: 147170เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2007 14:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 11:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ทั้งการปกครองและการคลัง (สมมติว่าเป็นท้องถิ่นที่เข้มแข็ง)  เป็นทางออกหรือเปล่าคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท