พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า(ฉบับที่2) พ.ศ.2546


พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2546

-----------------------

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2546 เป็นปีที่ 58 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติ บางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่ง
มาตรา 29 ประกอบกับ มาตรา 48 และ มาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติ สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2546"
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองโดยยังไม่ได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมาย หากมาแจ้งรายการเกี่ยวกับชนิดและจำนวนของสัตว์ป่าคุ้มครองที่อยู่ในความครอบครองของตนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ให้บังคับ ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
หากเจ้าหน้าที่หรือผู้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองนั้น ประสงค์จะเลี้ยงดูสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นต่อไป ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสภาพการเลี้ยงดูสัตว์ป่าคุ้มครองของผู้นั้นว่าอยู่ในสภาพอันสมควรและปลอดภัยแก่สัตว์นั้นเพียงใด หากเห็นว่าสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นได้รับการเลี้ยงดูด้วยความเอาใจใส่ในสภาพอันสมควร และปลอดภัยให้อธิบดีอนุญาตให้ผู้นั้นครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นต่อไปได้ โดยออกใบอนุญาตครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองชั่วคราวไว้ให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครอง ใบอนุญาตดังกล่าวให้มีอายุเพียงเท่าอายุของสัตว์ป่าคุ้มครองนั้น ผู้รับใบอนุญาตดังกล่าวต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยการเลี้ยงดูสัตว์ป่าคุ้มครองที่รัฐมนตรีกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ และเมื่อสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นตามหรือเพิ่มจำนวนขึ้นโดยการสืบพันธุ์ ผู้รับใบอนุญาตต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการเพิ่มจำนวน หรือตาย
หากผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองนั้น ไม่ประสงค์จะเลี้ยงดูสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นต่อไป หรือเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบตามวรรคหนึ่งแล้ว เห็นว่าสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นไม่อาจได้รับการเลี้ยงดูด้วยความเอาใจใส่ในสภาพอันสมควรและปลอดภัยได้ ให้

                                                         

เจ้าของหรือผู้ครอบครองจำหน่ายสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นให้แก่ผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะตาม มาตรา 29 แห่ง พระราชบัญญัติ สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 หรือจำหน่ายสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่กำหนดตาม มาตรา 17 แห่ง พระราชบัญญัติ สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ให้แก่ผู้รับใบอนุญาตเพาะพันธุ์ตาม มาตรา 18 แห่ง พระราชบัญญัติ สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ ได้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือวันที่ได้รับแจ้งคำสั่งไม่อนุญาตจากอธิบดี แล้วแต่กรณี และเมื่อสิ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ยังมีสัตว์ป่าคุ้มครองเหลืออยู่เท่าใดให้สัตว์ป่าคุ้มครองนั้นตกเป็นของแผ่นดิน และให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองส่งมอบสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นให้แก่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช หรือกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หรือกรมประมง แล้วแต่กรณี เพื่อนำไปดำเนินการ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
แบบและวิธีการแจ้งและ การออกใบอนุญาตให้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองชั่วคราวให้เป็นไป ตามกฎกระทรวงที่ออกตามความใน
มาตรา 61 วรรคสอง แห่ง พระราชบัญญัติ สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
มาตรา 4 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรักษาการ ตามพระราชบัญญัตินี้


:: ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
:: พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

*หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันมีผู้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ชอบด้วย กฎหมายจำนวนมากที่ไม่ได้นำสัตว์ป่าคุ้มครองมามอบให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม มาตรา 66 หรือไม่ได้มาแจ้งรายการเกี่ยวกับชนิดและจำนวนของสัตว์ป่าคุ้มครองตาม มาตรา 67 แห่ง พระราชบัญญัติ สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่สามารถควบคุมดูแล ให้ผู้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของการครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองได้ สมควรกำหนดให้ผู้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายมาแจ้ง การครอบครองและขออนุญาตมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองดังกล่าว ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยไม่ต้องรับโทษ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
(รก. ล.120 ต.41 ก น.1)     ที่มา www.fisheries.go.th

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 14688เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2006 20:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท