อนุทินครูนิภา รร.วัดบางน้ำชน


ท่านเสียชีวิตไปแล้ว แค่ยังอยู่ในความทรงจำของผมเสมอมา แม่ครูที่แสนดีของเด็ก ๆ พี่ที่แสนดีของเพื่อนครูด้วยกัน

อนุทิน  นางนิภา    ธชาศรี

สารบัญเหตุการณ์

                             เหตุการณ์                                                                   วัน / เดือน /  ปี

“แพ้ไม่เป็น”
23 พ.ค. 45
“ตึงจนเครียดเกือบขาด”
7 มิ.ย. 45
“ทฤษฎีปลากัด”
13 ส.ค. 45
“ผิดแล้วแก้ไขไม่อายที่จะทำ”
10 ก.ย. 45
“โอ้มาดาของผม”
9 ธ.ค. 45
“การค้นพบของครูทำให้หนูเขียนสวย” 
22 ก.พ. 46

                                                                23 พ.ค. 45

เข้าสอนแทนชั่วโมง  อ. ณรงค์  ซึ่งไปทำงานเลือกตั้งที่เขตให้นักเรียนชั้น  ป.  1  เล่นเกมบอกชื่อพยัญชนะที่ครูติดบนกระดาน  โดยแบ่งนักเรียนเป็น  3  กลุ่มทุกคนในกลุ่มต้องตอบทุกคน  ขณะเกมการแข่งขันดำเนินหมุนเวียนไปเรื่อยๆจากกลุ่มที่ 1 ไป  2 และ 2 ไป 3  จนเวียนมาถึงกลุ่ม  1  อีกครั้ง  ครูติดพยัญชนะ “ น “  ด.ญ. สุจิรา  สมสารตอบ “ ม “  ได้ยินเสียง ด.ช. ศุภชัย   นักเรียนในกลุ่มตะโกนว่า  “ ควายเอ๋ย “  และมองจ้อง ด.ญ. สุจิรา  ด้วยท่าทางโกธรมาก     

จากเหตุการณ์นี้ข้าพเจ้าคิดว่า  การแข่งขันในการเล่นเกม  บางครั้งนักเรียนชั้นเล็กๆ  ( ป. 1 ) จริงจังกับเกมจนเกิดความมุ่งมั่นที่จะเอาชนะ  จึงโกธรเพื่อนที่ทำให้เสียคะแนน  จนไม่สามารถระงับอารมณ์ได้

สำหรับวิธีแก้ไขเหตุการณ์นี้  ได้ชี้แจงให้นักเรียนเข้าใจธรรมชาติของการแข่งขัน  จะต้องมีแพ้มีชนะ  การตอบผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดา  คนเราทุกคนไม่รู้อะไรไปทุกอย่าง  ความตื่นเต้นอาจทำให้เพื่อนตอบผิดพลาดได้  ทุกคนทำผิดพลาดได้แม้กระทั่งตัวเราเอง   จึงควรให้อภัยเพื่อนให้โอกาสเพื่อนได้แก้ตัว

ในการสอนครั้งต่อๆไป  ข้าพเจ้าจะเกิดการเรียนรู้ว่า  ถ้ามีการเล่นเกม  หรือแข่งขัน  จะต้องชี้แจงให้นักเรียน  ชั้น ป. 1  เข้าใจผลที่จะเกิดในการแข่งขัน  ให้ทุกคนเข้าใจ และยอมรับข้อผิดพลาดที่จะเกิดขึ้น  ทั้งจากเพื่อนและตัวเราเองได้  ซึ่งผลปรากฎว่านักเรียนเข้าใจและไม่โกธรหรือโทษเพื่อนที่พลาดอีกเลย

                                                                23 พ.ค. 45

ทุกคนทำงานหนักมาตลอดหนึ่งอาทิตย์  กับแบบบูรณาการ  และยังต้องสอนวันละ  6  ชั่วโมงอีกเนื่องจากครูไม่อยู่ไปอบรม  3  คนจึง            รับสอนไปคนละหนึ่งชั้น  แบบเหมาตลอดอาทิตย์  และเย็นช่วยกันเขียนแผนบูรณาการอีกถึง   2  – 3 ทุ่มทุกวัน  พอทำแล้วรู้สึกไม่ถูกไม่ตรงประเด็นทุกคนจึงถ้อยถึงกับเกิดการเสียอารมณ์  การปรับแบบบูรณาการ  E.M.  ครั้งนี้เหมือนการสร้างหลักสูตรใหม่  โทรเรียนถาม  อ. ภาวิณี  ท่านบอกหลงประเด็นแล้ว  สร้างงานให้ตัวเองเพิ่มขึ้นหรือเปล่า  ทุกคนเหนื่อยและมีบางกลุ่มเสนออาจารย์ใหญ่ให้ถอนตัวจากโครงการ  ขณะนั้นข้าพเจ้าขึ้นไปถ่ายเอกสารบนห้องธุรการ  กลับลงมาได้ยินเสียงอาจารย์ใหญ่พูดอย่างโกธรมีอารมณ์ว่า  “   ไม่ใช่เด็กๆ พออะไรผิดต้องแก้ไข  ก็ท้อถอยชักเข้าชักออก  ก่อนเข้าโครงการถามแล้วทุกคนอยากเข้า  พอมีอะไรทำไม่ได้ก็บอกเลิกเอาดี้อๆ “  ขณะนั้นเหตุการณ์ในห้องประชุมตึงเครียด  ทุกคนพูดด้วยอารมณ์  ทั้งครูใหญ่ครูน้อย  ข้าพเจ้าโทรปรึกษากับ  อ.กฤช  นักวิจัยภายนอกอีกท่าน ก็ได้รับทางออกที่ดีพอสมควรว่า “ ทำอย่างไรนำเสนอต่อที่ประชุม ณ โรงเรียนไผทอุดม  อย่างนั้นตามความคิดของเรา  เพราะการกำหนดเวลา  และจัดตารางสอนสำหรับบูรณาการไม่เหมือนกัน  ถ้ามีเหตุผลตอบคำถามในการทำก็น่าจะใช้ได้

พอกลับมาบอกทุกคนว่า  อ.กฤช  ให้ข้อเสนอแบบนี้  และตัวข้าพเจ้ายินดีจะออกไปรายงานเอง   ทุกคนแสดงความโล่งใจ  ขึ้นแยกย้ายกันกับบ้านเมื่อเวลา  21.30 น.

สิ่งที่เรียนรู้จากเรื่องนี้

1.       การทำงานถ้าเหนื่อย  และหนักจะเกิดความเครียดผลตามมาอารมณ์เสีย  อยู่ทู่ซี้ทำต่อไปไม่ได้อะไร  สมองล้า  ปัญญาไม่เกิด  จงหยุดทำพักผ่อนให้ร่างกายฟื้นคืนสภาพปกติ  จึงค่อยทำใหม่

2.       จงกล้าที่จะเผชิญกับความจริง  ถ้าทุกอย่างที่ทำมีเหตุผล  และ อย่ามัวแต่โทษกันว่าใครผิดใครถูก  ควรช่วยกันแก้ปัญหา  ทางออกที่ดี  และเหมาะสมอย่าใช้ทิฐิมานะต้องการชนะ  ต้องทำเพื่อส่วนร่วม

3.       คงจะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการเอาตัวรอด  จึงควรมีแพะรับผิดชอบเพื่อทุกคน  จะดูเบาลงเพราะยกให้แพะไปแล้ว

4.       การคิดก่อนพูด  ตรึกตรองให้ดี  รู้จักระงับอารมณ์  เป็นคำพูดที่ง่าย  แต่ทำยาก

กลับจากไผทอุดมทุกคนดูผ่อนคลายสบายใจขึ้น  เพราะพอเข้าใจและมีแนวทางที่จะทำงาน  อ . ภาวิณีพูดยกตัวอย่างได้แทงใจดำครูหลายๆคน  ขณะนั่งรถกลับพูดคุยกันทุกคนมีกำลังใจที่จะทำต่อ  เพราะให้แนวทางว่า  ให้ทำแผนและการสอนไปตามที่คิด  ถูกหรือผิดไม่ต้องพูดกัน  ค่อยๆปรับไปเรื่อยๆจะพบวิธีการและเรียนรู้ไปเอง  ข้าพเจ้าอยากรู้ตอนจบของเรื่องนี้เสียเหลือเกิน  คงไม่นานเกิดรอ

                                                                13 ส.ค. 45

วันนี้ทีมงานของข้าพเจ้าจัดการเรียนการสอนบูรณาการเรื่อง  E.M.  คู่คิดพิชิตความสกปรก เป็นการเรียนการสอนรวมระดับ  ป. 1- 2  มีนักเรียนทั้งหมด  40  คน  ตามแผนการสอนวันนั้นเป็นการสำรวจสภาพแวดล้อมบริเวณโรงเรียน  โดยแบ่งนักเรียนเป็น  9  กลุ่ม  คละนักเรียน ป. 1-2 เข้าด้วยกันกลุ่มละ  4 – 5  คน ( เหตุที่ต้องแบ่งอย่างนี้  เพราะครูเกิดการเรียนรู้ว่า  การแบ่งกลุ่มนักเรียนถ้าแบ่งน้อย  จำนวนนักเรียนมากจะมีคนทำงาน  1-2 คน  มีคนช่วยทำบ้าง 2-4  คน  และมีคนไม่ทำอะไรเลย 1-2 คน ) หลังจากรับใบงานและออกไปสำรวจตามบริเวณที่กำหนด  โดยช่วยกันจดบันทึกและกลับเข้ามาร่วมกันทำ  Mind  Mapping  ของกลุ่มซึ่งขณะนั้นข้าพเจ้านั่งสังเกตการพูดคุยและการสรุปข้อมูลของนักเรียน  พบว่านักเรียนชั้น  ป.1  ที่อยู่ในกลุ่มเสนอสิ่งที่พบเห็นหรือออกความเห็นอะไร  จะถูกนักเรียนชั้น  ป. 2  ในกลุ่มจะปรึกษาหารือกันเองและตัดสินใจทำ  จึงเฝ้าสังเกต  และชี้นำให้ครูในทีมดูผลปรากฏว่าเป็นอย่างนี้เกือบทุกกลุ่ม  ถึงแม้ข้าพเจ้าและทีมงานจะเดินไปเตือนให้ฟังข้อเสนอ  หรือความคิดของน้องบ้าง  ก็ยังคงเป็นเหมือนเดิม

หลังจากจบการเรียนการสอนแล้ว  ข้าพเจ้าได้เชิญทีมงานทุกคนพูดคุย  และได้นำข้อปฏิบัติในการทำงานกลุ่มมาพูดคุย  โดยข้าพเจ้าเสนอว่า  ขอให้เปลี่ยนการแบ่งกลุ่มทำงาน  ป. 1 และ ป. 2  ล้วนๆไม่คละกัน  เพื่อจะให้นักเรียนชั้น  ป. 2  ได้ทำงานกับเพื่อนในระดับเดียวกัน  และนักเรียนชั้น ป. 1  ก็จะได้มีสิทธิ์พูดหรือเสนอแนะในกลุ่มของตนเองได้  อ. พัชรี  และ อ. สุนทร  เห็นพ้องกับข้าพเจ้า  แต่ อ. ณัฐวุฒิ  ได้เสนอว่า  ถ้าแบ่งกลุ่มแบบนั้น  นักเรียนชั้น ป. 1  จะไม่เกิดการเรียนรู้  โดยยกตัวอย่าง  “  ปลากัด “  ให้ข้าพเจ้าฟังว่า  ถ้าต้องการให้ปลากัดเกิดการเรียนรู้  กัดเก่งต้องมีคู่ซ้อมเป็นปลากัดที่เก่ง  มีความสามารถมากกว่า  แล้วปลากัดรุ่นเล็กซึ่งเหมือนนักเรียน  ป.1  จะเรียนรู้ด้วยการเลียนแบบ  จะมีประสบการณ์  แต่ถ้าปล่อยให้อยู่กับปลารุ่นเดียวกัน  จะไม่ได้เรียนรู้  ขอให้คงสภาพกลุ่มแบบคละนักเรียนไว้ก่อน  และรอดูผลว่าสนองวิธีการฝึกแบบปลากัดได้หรือไม่

ในเวลาต่อมา  จากการเฝ้าสังเกตการทำงานกลุ่มของนักเรียนชั้น ป. 1 – 2  และทีมงานของข้าพเจ้าพบว่านักเรียนชั้น  ป. 1  มีทักษะการทำงานกลุ่มมากขึ้นตามนักเรียน ป. 2 ที่เป็นผู้นำ  และในบางครั้งนักเรียน ป. 2 ไม่มาก็สามารถแบ่งงาน  ทำงานกลุ่มได้  ดังนั้นความรู้เรื่องการเลี้ยงปลากัด  และฝึกให้กัดเก่ง  ได้นำมาเป็นแนวทางในการเรียนรู้การทำงานกลุ่มของนักเรียน  ป. 1- 2 ทีมงานข้าพเจ้าจึงเรียกทฤษฎีนี้ว่า  “ ทฤษฎีการเรียนรู้แบบปลากัด “

ผลที่ได้จากเรื่องนี้ทำให้ครูเกิดการเรียนรู้ว่าในการสอนนักเรียนเล็กๆ  ระดับ ป. 1-2  รวมกันควรจะให้นักเรียน ป. 1 ได้เรียนรู้โดยใช้วิธีการเลียนแบบก่อนแล้ว  เขาจะเกิดการพัฒนาความคิด  ทักษะการทำงานจากการเลียนแบบเป็นของตนเองสะสมเป็นประสบการณ์  และเมื่อกระบวนการกลุ่มดำเนินไปเรื่อยๆจะเกิดความรัก  สามัคคี  รับผิดชอบ  เกิดการยอมรับ  กระตุ้นให้ทุกคนแสดงศักยภาพ  ซึ่งปรากฏให้เห็นชัดเมื่อเวลาผ่านไปเกิดการยอมรับ  ในกลุ่มว่าใครมีความสามารถเฉพาะทาง  โดยไม่คำนึงถึงว่าเรียนอยู่ชั้นใด

                                                                10 ก.ย. 45

คณะกรรมการ  สมศ. มาขอใช้โรงเรียนเป็นที่ฝึกทดลองประเมิน  สรุปว่ามีผู้ที่จะสอบเป็นกรรมการประเมินมาตรฐานโรงเรียนเข้ามาดู  การเรียนการสอน  และการทำงานของครู – นักเรียน  2  ครั้งแล้ว  ครั้งนี้ข้าพเจ้าในฐานะฝ่ายวิชาการไม่ได้เตรียมอะไรเลยปล่อยทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติทั้งครูและเด็ก  แต่จากการสังเกตการตรวจครั้งนี้  คณะประเมินใช้ข้อมูลคณะประเมินครั้งที่ 1 เป็นข้อมูลเบื้องต้น  โดยเจาะดูการสอนหรือการพูดคุยซักถามจะเจาะตรงจุดอ่อนของโรงเรียนตามที่คณะเก่าค้นพบไว้  เดชะบุญที่โรงเรียนของเรากำลังดำเนินการแก้ไข  และพัฒนาปัญหาที่เป็นจุดอ่อนดังนั้น  เราจึงมีงานหรือกิจกรรมหลายๆอย่างที่อยู่ระหว่างการพัฒนาจุดอ่อน  คณะกรรมการถึงกับพูดว่า  โรงเรียน  ครู  นักเรียน  มีการเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง  และกำลังก้าวหน้าไปในทางที่ดี  ข้าพเจ้าจึงได้เห้นภาพครูที่ฟังการสรุปหน้าบานเป็นบัววิกตอเรียกันทุกคน 

แต่มีเรื่องที่คณะกรรมการประเมินมาเล่าให้ฟังแล้วประทับใจคือ  ในชั่วโมงลูกเสือทีมของเราพานักเรียนเรื่องการจราจร  โดยใช้สะพานลอยข้ามถนน ( สะพานลอยสร้างเสร็จเปิดให้ใช้วันแรก )  เด็กตื่นเต้น  ครูเห็นความจำเป็นที่จะต้องสอนการใช้สะพานลอยให้ถูกต้องปลอดภัย  ให้เหมาะสมกับชีวิตประจำวัน  คณะกรรมการหนึ่งท่านได้ตามออกไปสังเกตการสอนตลอดเวลา  ในการสอนเน้นการเดินตามลูกศรขึ้น-ลงชิดขวา-ซ้ายให้ถูกต้อง  ไม่ชะโงกหรือนำสิ่งของขึ้นไปขว้างปาลงมาที่ถนน

วันรุ่งขึ้นตอนเช้าคณะกรรมการมาถึงโรงเรียนเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า  เขานั่งรถมาด้วยกันสี่คน  ลงจากสะพานกรุงเทพ  เลี้ยวซ้ายแล่นมารถติดไม่สามารถเลี้ยวเข้าโรงเรียนได้  เห็นนักเรียนวัดบางน้ำชนชั้นโต  และนักเรียนชั้นเล็กๆ  คิดว่าเป็น ป. 1 – 2  ของคุณครูที่พาไปสอนเดินข้ามสะพานลอย  กำลังเดินขึ้นไปได้ประมาณ  10  กว่าขั้นมีคนเดินลงสวนลงมา  นักเรียนตัวโตรู้ว่าเดินผิดข้างก็ย้ายกลับไปชิดขวา  แต่ตัวเล็กที่เดินตามมาข้างหลังหยุดและหมุนตัวเดินลงสะพานลอยด้านซ้ายลงมาถึงข้างล่าง  ขณะนั้นกรรมการเล่าว่าเดากันไปต่างๆว่าเด็กจะทำอะไร  เขาเล่าว่าเมื่อเดินมาถึงด้านล่างเด็กหมุนตัวเดินกลับขึ้นสะพานลอยใหม่  โดยเดินชิดด้านขวาให้ถูกต้องตามลูกศรชี้  เขาหัวเราะกันใหญ่  และล้อข้าพเจ้าว่าดีนะอาจารย์ที่เด็กรู้ตัวว่าเดินผิด  เมื่อขึ้นบันไดไปได้สิบกว่าขั้น  ถ้านึกได้ขณะอยู่สูงๆคงเหนื่อยแย่

สิ่งที่เรียนรู้จากเรื่องนี้

เด็กเล็กโดยทั่วไปมีลักษณะซื่อตรง  ยึดมั่นในสิ่งที่ได้รับรู้ถึงความถูกต้องในกฎระเบียบ  ถ้าวางแนวทางหรือแบบแผนให้เป็นมาตรฐานเสียตั้งแต่เริ่มแรก  เด็กจะปฏิบัติได้เป็นอย่างดีทั้งต่อหน้า  และลับหลัง  และในกรณีที่เดินย้อนกลับลงมาเริ่มใหม่  แสดงให้เห็นถึงความซื่อสัตย์  ยึดมั่นในความถูกต้อง  มีความคิดเป็นของตนเองกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ทำผิดโดยไม่ละอายหรือกลัว

                                                                2 ธ.ค. 45

ขณะนั่งเฝ้าห้องสมุดและบริการให้เด็กอ่านหนังสือ  อาจารย์พัชรี  ซึ่งขายอาหารนักเรียนมาบอกว่า  แม่ของสมศักดิ์  เด็กใหม่ชั้น ป. 1  มาฟ้องว่า  ด.ช. พงษ์สิทธิ์ ( บอส )  ข่มขู่รีดไถเงินสมศักดิ์ทุกวันจนลูกเขาไม่อยากมาโรงเรียน  เขาสงสัยเพราะพฤติกรรมลูกเปลี่ยนไป  หงอยเหงา  ไม่ร่าเริง  และบ่นแต่ว่าไม่อยากมาโรงเรียน  ถามว่าครูดุครูตีหรือเปล่า  เด็กก็บอกว่าเปล่า  ครูสอนสนุกดี  แต่ไม่อยากมาโรงเรียน  ซักถามเขาอยู่นานในที่สุดก็บอกว่าถูกบอสไถเงินทุกวันจนไม่มีกินขนม  พอฟังแล้วรู้สึกตกใจมากเพราะถ้าเกิดในห้องเรียนเด็กๆน่าจะรู้และบอก  ขณะเดินออกมาเชิญแม่สมศักดิ์และลูกเข้ามาเพื่อพูดคุยที่ห้องสมุด  ย่าของบอสเดินมาส่งหลานพอดี  บอสร้องไห้ทันทีที่เห็นสมศักดิ์และแม่เดินมา  สมศักดิ์ชี้ให้แม่ดูบอส  ซึ่งร้องไห้มากขึ้นทั้งๆที่ยังไม่มีใครพูดอะไร  แม่ของสมศักดิ์พูดกับบอสว่า  “ ป้าขอร้องเถอะอย่าขู่ไถเงินอีกเลย  ป้าย้ายลูกมาจากต่างจังหวัดมาเรียนที่นี้  หนูทำให้ลูกป้าไม่อยากอยู่กรุงเทพ  อยากกลับบ้านนอก  ป้าเดือดร้อน  ป้าขอร้องนะ “  ย่าของบอสหันมาทำหน้าโกรธถามสมศักดิ์ว่า  “  อย่ามาว่าบอสนะฉันให้สตางค์เขามาทุกวัน  เขาจะมาเอาของเธอทำไม “  และหันมาตะคอกใส่บอสพร้อมกระชากตัวเด็กเขย่าไปมาพร้อมพูด  เอาเขาจริงหรือเดี๋ยวกูจะกระทืบให้ตายห่าเลย 

ขณะนั้นข้าพเจ้าได้ห้ามให้ทุกคนหยุดสอบสวนหาสาเหตุก่อน  แม่สมศักดิ์ยกมือไหว้ย่าของบอสพร้อมพูดว่า  เขาไม่ติดใจอะไรเด็กทำไปแล้วก็แล้วกันไป  ขอร้องว่าอย่าทำอีกแล้วกัน  ถามแม่ค้าได้เลยพอเขากินข้าวเช้าในโรงอาหารเสร็จฉันจะให้เขาทุกวันๆละ  20  บาท

ย่าบอสตบหน้าหลานด้วยความโกธร  และไม่ฟังการห้ามปรามของข้าพเจ้า  กระชากแขนหลานเดินกลับบ้าน  และทุบไปตลอดทาง  ข้าพเจ้าเชิญแม่สมศักดิ์และลูกเข้ามาพูดคุยถามว่า  บอสแอบมาเอาเงินทุกวันตอนเข้าห้องน้ำอยู่กันสองคน     และจะชกหน้าถ้าไม่ให้หรือไปบอกใครทำมาหลายครั้งแล้วเขากลัว     ข้าพเจ้าขอร้องให้แม่สมศักดิ์กลับไปก่อนขอเวลาสอบสวนอีกนิดเพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย  แม่ของสมศักดิ์หายไปสักพัก  เดินร้องไห้กลับมาหาข้าพเจ้าทรุดตัวลงนั่งกับพื้นยกมือไห้วข้าพเจ้าร้องไห้ไปพูดฝากลูกให้ดูแล  ไม่ให้ใครมาทำร้าย  สอบถามได้ว่า  ย่าของบอสและเครือญาติยืนดักด่าอยู่หน้าวัด  เขากลัวจะถูกทำร้าย  ตอบเขาไปว่าไม่ต้องกลัวถ้าลูกเธอถูกไม่ได้โกหกแกล้งว่าเขา  โรงเรียนต้องคุ้มครองเธอกับลูก  ให้เธอกลับไปทำงานด้วยความสยาบใจ

บอสขาดโรงเรียนไป  4  วันมีข่าวฝากเด็กๆมาว่าจะย้ายไปเรียนวัดบุคคโล  ข้าพเจ้าทำเฉยกับข่าวไม่ไปตามทั้งๆที่ต้องผ่านบ้านเขาทุกวัน  พอถึงวันจันทร์ย่าพาบอสเดินมาโรงเรียนแต่เช้ามายกมือไห้วพูดขอโทษข้าพเจ้าที่ทำอะไรด้วยอารมณ์  ข้าพเจ้าพูดเตือนสติเขาไปเกี่ยวกับเรื่องเงินว่าบอสถูกแม่ตามใจให้เงินใช้จ่ายในการซึ้อของเล่น  หรือพาไปเที่ยว  กินอาหาร  หรือห้าง  จนเคยตัว  เมื่อแม่แยกทางกับพ่อไม่ส่งเสีย  ไม่มีเงินหรือได้เงินน้อย  เขาจึงหาวิธีที่จะได้เงินมากินหรือใช้  คือมีลักษณะ “ จมไม่ลง “  ขอให้ผู้ปกครองยอมรับความจริงเด็กๆ  สามารถทำผิดได้ทุกคนไม่ใช่เรื่องประหลาดอะไร

สิ่งที่ได้จากเรื่องนี้

บางครั้งความรักที่ผู้ใหญ่มอบให้เด็กมันมากเกินไปจนครอบงำเด็กไว้ในอำนาจของตนเอง คิดแทน  ทำแทนเหมือนละครโอ้มาดา  ที่จัดการในบ้านทุกอย่าง  ย่าของบอสก็เหมือนกันรักมากจนชี้ทางเดินให้เด็กกลัวหงอ  ต่อหน้าจึงทำอย่างลับหลังก็ทำอีกอย่าง  เพื่อปลดปล่อยความรู้สึกที่ถูกกดไว้ขณะอยู่บ้านตลอดเวลา  และการใช้เงินเลี้ยงดูเด็กเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

                                                                22 ก.พ. 45

อาจารย์ใหญ่นำปึกคัดไทยของชั้น  ป. 1 มาส่งให้แล้วบอกว่า  “  ลูกศิษย์ครูภาชนะคัดไทยระดับเขต  ได้ที่ 1  จากทั้งหมด  17  โรงเรียน  “  ดีใจและภูมิใจในลูกศิษย์ตัวน้อยๆเป็นที่สุด  ที่พากเพียร  เคี่ยวเข็ญเขามาเป็นเวลา  1  ปีเต็มๆ  จากที่เขาหัดเขียนได้นิดหน่อย  หรือเขียนไม่ได้เลย  จนเขียนสวยเกือบทุกคน  (  การประกวดครั้งนี้ทุกโรงเรียนต้องคัดเลือกชั้นที่เขียนสวยที่สุด  และต้องส่งทุกคนยกชั้น  โดยตรวจคะแนนของทุกคนแล้วหารเฉลี่ย )

การชนะครั้งนี้ต้องขอบคุณครูพัชรี  และครูณัฐวุฒิที่มีส่วนช่วยให้เด็กลายมือสวยได้ด้วยไม่ไช่ข้าพเจ้าเพียงคนเดียว  เพราะทีมของเราช่วยกันกวดขัน  การเขียนไปพร้อมๆกันในทุกวิชาที่สอน  สำหรับวิธีที่จะทำให้เด็กลายมือสวยนั้น  ข้าพเจ้าได้พยายามมาหลายวิธีด้วยกัน  เช่น

-          ฝึกคัดตามแบบ

-          ยกเปรียบเทียบกับเพื่อน  ในห้องลายมือดีกว่าไม่ได้ผล

-          ว่ากล่าวตักเตือน  ให้รางวัลก็ยังแก้ไม่ได้

จึงหาวิธีโดยใช้ธรรมชาติของเด็กๆที่ต้องการคำชมหรือต้องการการยอมรับโดยใช้หลัก  “  การค้นพบของครูทำให้หนูเขียนสวย  โดยปฏิบัติดังนี้

-          พยายามหาจุดดีๆให้เขาพัฒนาตนเอง  โดยเวลาตรวจงานคัดไทยจะวงรอบพยัญชนะตัวที่นักเรียนเขียนสวยที่สุดไว้  และบอกว่าครูชอบตัวนี้นะ  หนูเขียนได้สวยมากถูกต้องตามแบบ  ครูอยากให้หนูเขียนแบบนี้ให้ครูอีก

-          ชมเชยให้กำลังใจว่าหนูเขียนได้ดีกว่าครั้งก่อนมากนะ

-          ลายมือหนูดีขึ้นเรื่อยๆเลยครูภูมิใจในตัวหนูมากนะ

ข้าพเจ้าได้คิดวิธีนี้อยู่ประมาณ  3  เดือน นักเรียนชั้น ป. 1  มีพัฒนาการเขียนดีข้นเรื่อยๆ  เกือบทุกคน

สิ่งที่ได้จากเรื่องนี้

ถ้าครูมีความตั้งใจในการจะทำอะไรสักอย่างมุ่งมั่นที่จะทำ   พยายามแสวงหาวิธีต่างๆแบบลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ  แล้วค้นพบวิธีที่จะแก้ปัญหาในสิ่งต่างๆได้  เป็นการเรียนรู้ด้วยตนเองที่ดีที่สุด 

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 14675เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2006 17:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 22:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อิอิอิอิอิอิอิอิอิ

ปอืเ แดป้กะ ด้ก ก้กะพเกพเกเกพ้ กเพหดกอก เกเกพัถ 555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555555

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท