กองทุนเงินให้ยืมเพื่อการศึกษา ... ดี หรือ ไม่ดี ???


เงินที่มาจากหยาดเหงื่อแรงงานของตัวเอง ย่อมมีคุณค่ามากกว่า เงินที่ได้มาจากสิ่งสกปรกหรืออบายมุข หรือแม้กระทั่งการแบมือขอจากกองทุนฯ

กองทุนเงินให้ยืมเพื่อการศึกษา

อ้างจากหมายเหตุของ "พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2541"

"....เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบันมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อสนองตอบความจำเป็นดังกล่าว จึงสมควรเร่งรัดพัฒนาทางการศึกษา โดยการหาทางแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาในสังคมด้วยการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น ให้แก่นักเรียน นักศึกษา ที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย อันจะมีส่วนสำคัญในการช่วยยกฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น และด้วยการสนับสนุนการพัฒนา ระบบการศึกษาทางด้านอุปสงค์ โดยการเพิ่มขีดความสามารถในการรับภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของประชาชน เพื่อดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว จำเป็นต้องจัดตั้งกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้..." 

อ่านได้จาก http://www.studentloan.or.th/index.php?option=com_content&task=view&id=14&Itemid=131

ทำไมถึงเขียนเรื่องนี้ ?

บังเอิญผมอยู่ในแวดวงสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งมีนักศึกษาที่ยากจน ขอใช้บริการ "กองทุนเงินให้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)" เป็นจำนวนมาก ผมประมาณว่า เกินกว่าร้อยละ 50 ของนักศึกษาทั้งหมด

ภาคการเรียนนี้ ... เงินกองทุนของนักศึกษาออกช้ากว่าปกติ จนมีข่าวคราวที่เกิดมาหลายเรื่อง เช่น นักศึกษาที่ภาคใต้ฆ่าตัวตาย นสพ.อ้างว่า เกิดจากความเครียดที่เงิน กยศ. ยังไม่ออกมา

หรือ ท่านจะเห็นได้จากเว็บบอร์ดบนเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะมีคน Post ขึ้นมาถามว่า เมื่อไหร่เงินจะออกสักที เดือดร้อนกันมากแล้วนะ ... ว่าง ๆ ท่านลองเข้าไปอ่านดูนะครับ จะเห็นความคิดเห็นแปลก ๆ มากมาย บางทีก็ว่า เจ้าหน้าที่เร่งหน่อยไม่ได้หรือไง ให้ลดเงินเดือนตัวเองเองแล้วจะรู้ อะไรแบบนี้ ... พาลไปเรื่อย ๆ ในช่วงที่เงินไม่ออก

ท่านคิดอย่างไรบ้างในเรื่อง เงิน กยศ. บ้างล่ะครับ ?

สมัยผมเรียน .. กองทุนแบบนี้ไม่มีหรอกครับ ... สิ่งที่นักศึกษายากจนจะทำได้ก็คือ

1. ขอทุนจากมหาวิทยาลัยที่มีผู้ใจดีนำมาให้

2. หางานพิเศษทำเพิ่ม เพื่อจะได้มีรายได้มาจุนเจือตนเองจนเรียนจบ

3. ประหยัดอดออมจากเงินที่พ่อแม่ให้มาในแต่ละเดือน ซึ่งทุกคนจะทราบว่า พ่อแม่ลำบากแค่ไหนที่จะหาเงินมาให้เรียนได้

นักศึกษาที่เรียนจบจะมีความภาคภูมิใจในตนเองที่ทำสำเร็จ เมื่อหางานทำได้ ก็ไม่ต้องมาใช้หนี้คืนหลวงเหมือน เงิน กยศ. แบบทุกวันนี้

นักศึกษาที่ขอทุน กยศ. ในยุคปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง ???

ขออ้างอิงจากสิ่งที่ตัวเองเห็นและคิดนะครับ

รับฟังจากเสียงบ่นว่า เงินไม่ออก ๆ ....

เหมือนนักศึกษาแบมือขอเงินจากพ่อกับแม่ตัวเองหรือไม่ครับ เปลี่ยนจากการแบมือขอพ่อแม่ มาเป็น แบมือ ขอจากหลวง (ผ่านมหาวิทยาลัย)

พอไม่มี ไม่ได้ ... ก็ลงไปดิ้นกระแด่ว ๆ บ่นโน้น พาลนี่ ว่าทำอะไรอยู่ ไม่สนใจคนเดือดร้อนหรือไง อย่างที่ท่านเห็นตามเว็บบอร์ดนั่นแหละ

ตลกดี .... รัฐกำลังทำให้เปลี่ยนนิสัยของนักศึกษาจากผู้ที่เคยเป็นนักต่อสู้ชีวิต มาเป็น นักศึกษาผู้กระหายเงิน ทำอะไรไม่เป็น นอกจากแบมือขอเงินอย่างนั้นหรือ

คงมีคนบอกว่า คิดแบบนี้แรงไปนะอาจารย์ ... ผมว่า ก็คิดแบบสุดขั้วไว้ก่อนก็ดีครับ

แต่น่าเป็นห่วงนะครับ วัฒนธรรมการแบมือขอเงิน มันน่ากลัวต่อสังคมไทยและตัวนักศึกษาเหล่านั้นเหลือเกินครับ ... ลองมองดูนะครับ ถ้านักศึกษาที่มีลักษณะแบบนี้จบไปครับ ... เมืองไทยจะเป็นอย่างไรบ้างครับ

นั่นคือ เงิน

ความฟุ้งเฟ้อ วัฒนธรรมบ้าเทคโนโลยี เช่น ถ้าเพื่อนมีมือถือใหม่ ชั้นก็ต้องมีให้เหมือนเพื่อนหรือดีกว่าเพื่อน เข้ามาครอบงำเด็กเหล่านี้ครับ ... ดังนั้น การกระเสือกกระสนของการได้มาซึ่งสิ่งเหล่านี้ ย่อมมีไม่สิ้นสุด

พ่อแม่อาจให้เงินมาบ้าง ... ตัวเองก็อ้างว่า ยากจน ขอทุน กยศ. บ้าง ... เมื่อแหล่งเงินไม่พอ ทำอย่างไรครับ ถ้าคิดดีหน่อย ก็หางานพิเศษทำ ทำกลางวัน แบบไม่อบายมุขมาก ก็ดีไป แต่ถ้าแบบงานกลางคืนล่ะ ... จนเกิดกรณีที่ผมเคยเขียนไว้ที่ http://gotoknow.org/blog/wasawatdeemarn/141854 "การเรียนตก" เพราะ "ใจแตก" ถ้าท่านได้อ่านนะครับ

เมื่อเด็กเคยตัวกับสิ่งที่ได้เงินมาง่าย ๆ ย่อมทำให้เกิดการหลงผิด แล้วก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า ชีวิตจะเป็นแบบนี้ไปอีกนานเท่าไหร่

เงินที่มาจากหยาดเหงื่อแรงงานของตัวเอง ย่อมมีคุณค่ามากกว่า เงินที่ได้มาจากสิ่งสกปรกหรืออบายมุข หรือแม้กระทั่งการแบมือขอจากกองทุนฯ

ถ้าเด็กทุกคนคิดแบบนี้ จะมีหรือที่เราจะเห็นเสียงบ่น เสียงสาบแช่งจากเว็บบอร์ดเหล่านั้น .. ผมว่า ไม่มีแน่นอน

ความตระหนักรู้ในตนเอง การสร้างจิตสำนึกในเรื่องการต่อสู้เหล่านี้ ... ไม่ใช่เรื่องที่สร้างกันง่าย ๆ นะครับ .... และเด็กเรา นักศึกษาเรา ก็จะเป็นแบบนี้ต่อไป หากไม่มีใครสนใจที่จะแก้ปัญหา ...

ขออภัย ... ถ้าใช้คำแรง ... ถ้าเป็นคนดี เป็นนักต่อสู้ ไม่ต้องมาสนใจ เพราะผมไม่ได้ว่า "คุณ" ...  แน่นอน

บุญรักษา ครับ

:)

หมายเลขบันทึก: 146655เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2007 16:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีครับ

อาจารย์แสดงความคิดเห็นตรงไปตรงมาดีครับ

การให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาเป็นเรื่องให้โอกาสคนที่ไม่มีเงินเรียนจะได้มีเงินเรียนตามที่ตัวเองใฝ่ฝัน ผมรู้จักเด็กที่สอบเข้าเภสัชฯได้แต่ไม่มีเงินเรียน ก็ได้อาศัยเงินกองทุนได้เรียนจนจบ แต่ผมก็รู้จักลูกของเพื่อนที่กู้เงินมาแล้วเรียนมั่งไม่เรียนมั่ง จนไม่จบ แต่ก็ไปทำงานแล้ว เงินเดือนก็ไม่เคยคิดจะคืนกองทุนพอเขาฟ้องศาลก็วิ่งแจ้นมาปรึกษา ผมก็เลยเฉ่งเข้าให้ เฉ่งมันทั้งพ่อทั้งลูก เพราะความไม่รับผิดชอบ

สมัยก่อนผมถูกส่งมาเรียนหนังสือที่ กทม.อยากได้ของเล่นไปฝากน้องเวลาปิดเทอม ก็ไปขายสลากกาชาดเอาเปอร์เซนต์ เอาเงินไปซื้อของฝากน้อง  ผมถูกทำบัญชีส่งคุณพ่อว่าแต่ละวันใช้อะไรมาบ้าง พอเห็นเขารณรงค์ทำบัญชีครัวเรือน ผมกับพี่หัวเราะเลยเพราะเราทำกันมาก่อนตั้งแต่เด็กๆ ในขณะที่เพื่อนๆไม่เห็นมีใครต้องทำ

ผมว่าเราคงต้องกลับมาคิดแบบ อ.ว่าแหละครับ เราถูกป้อนจนคิดหาเงินเองไม่เป็นทุกเรื่องของสังคม แล้วนับประสาอะไรที่จะมาอ้างว่าเด็กสมัยนี้คิดไม่เป็น ก็ใครทำล่ะ...ยังงี้ต้องไปฟังเพลง "ดูมันทำ" หุหุหุ

สวัสดีครับ .. ท่านอัยการชาวเกาะ

  • ขอบพระคุณครับที่แวะมาช่วยมาตอบบันทึกของผมหน่อย อิ อิ
  • ท่านแวะมาฮา พร้อมกับสาระ ชอบครับ
  • มหาวิทยาลัยที่ผมทำงานอยู่นั้น นักศึกษาเป็นเด็กขาดโอกาสมากมายครับ ... บางคนเพิ่งลงมาจากดอย จากบ้านที่อยู่ห่างไกลเป็นครั้งแรก
  • พอไปเจอแสง สี เสียง ในเมืองใหญ่ เจอเพื่อน ๆ ที่ชอบหาอะไรตื้นเต้นตอนกลางคืน ก็หลุด
  • ใช้ชีวิต "หลุด" ลุ่ย ไงครับ :)
  • ทุกเย็นเป็น "ก๊ง" ซึ่งเป็นการนำพาความเจริญมาให้กับตัวเองมาก
  • ขอท่านอัยการร้องเพลง "ดูมันทำ" ให้ผมฟังอีกรอบ ครับ

ขอบคุณท่านอัยการอีกครั้งครับ ฮาจริง ๆ

  • เด็กๆๆของเราคิดวิเคราห์สังเคราะห์ไม่เป็นครับอาจารย์
  • มีสังคมที่ฟุ้งเฟ้อเขาก็หลงไปตามนั้น
  • คงต้องช่วยกันดึงเด็กๆๆกลับมา
  • แต่อันนี้
  • ส่งรูปถ่ายได้
  • อิจฉา
  • มีแต่คนสวยๆๆ
  • x-beautiful ... คนงามประจำบล็อก
  • ฮ่าๆๆๆๆ
  • ที่อาจารย์เอาไปเช้าแพลนเน็ต
  • ผมรู้จัก พบตัวเป็นๆเกือบหมดแล้ว
  • แต่อยากพบ
  • อาจารย์
  • ฮือๆๆๆๆๆๆ

สวัสดีค่ะ

ขอให้ความเห็นหน่อยค่ะ

สมัยเด็กๆ ดิฉันมีพ่อแม่ส่งเรียน แต่เวลาจะขอพิเศษ คุณพ่อให้ช่วยทำงานเลี้ยง+ ให้ปุ๋ยกล้วยไม้ ที่บ้านเราเลี่ยงกล้วยไม้เยอะมากๆ เรียกว่า ใช้เวลารดน้ำก็เป็น 2 ช.ม. ถ้าวันไหนให้ปุ๋ย ก็เป็น 4 ช.ม.ค่ะ

ดิฉันเป็นคนรู้ค่าของเงินมาก เพราะพ่อแม่สอนให้รู้จักหาและใช้อย่างมีคุณค่า

แต่สังคมเปลี่ยนไป ปัจจุบัน ใกล้ๆบ้านดิฉัน มีมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีชื่อเสียง เขาให้ทุนเด็กจำนวนมาก เป็นการทำการตลาดอย่างหนึ่ง เพื่อเรียกเด็กมาเรียน บางคนไม่ขาดแคลนเลยค่ะ ตกเย็นไปเล่นสนุ้ก กินเบียร์ เด็กผู้หญิงแต่งตัว ใช้ของเกินเด็ก

เคยพบอาจารย์และคุยกัน อาจารย์บอกว่า เด็กที่นี่ มีแต่ขอทุนทั้งนั้น ไม่รู้ บรรทัดฐานของการให้ทุนคืออะไร

สรุป ดิฉัน มีความรู้สึกว่า เด็กๆ ได้เงินง่ายไป ชินกับการกู้ยืม จนเป็นนิสัยค่ะ

เห็นด้วยกับพี่ sasinanda อย่างยิ่งนะครับที่ว่า เด็กๆ ได้เงินง่ายไป ชินกับการกู้ยืม จนเป็นนิสัย

บรรทัดฐาน ขึ้นอยู่กับ ผู้มีอำนาจ หรือ ผู้บริหาร คิดมั้งครับ ...

ดังนั้น ปัจจุบัน คำว่า "บรรทัดฐาน" เหลือคำว่า คุณธรรม หรือ จริยธรรม บ้างหรือไม่ อันนี้ไม่ทราบจริง ๆ ครับ

ขอบคุณพี่ sasinanda มาก ๆ นะครับ ที่ทำให้บันทึกหน้านี้ สมบูรณ์มากขึ้น

:) บุญรักษา ครับ

สวัสดีครับ คุณครูขจิต

  • อาจารย์แวะมาแกะรอย x-beautiful ... คนงามประจำบล็อก แพลนเน็ตของผม อิ อิ ... ผมว่าจะเปลี่ยนชื่ออยู่ แต่คิดไม่ออก
  • อาจารย์รู้จักผมที่ความคิดแปลก ๆ ของผมก็พอแล้วล่ะ ผมว่านะ อิ อิ
  • ขอบคุณมากครับที่ให้เกียรติผม

บุญรักษา ครูดี ครับ

ทำไมดอกเบี้ยมันโหดอย่างนี้

สวัสดีครับ คุณ บักหำน้อย :)

ค่า กยศ. ชำระหลังเรียนจบ ผมก็ต้องไปชำระให้น้องผมทุกเดือนเช่นกัน หลังจากการขึ้นศาล แล้วศาลท่านไกล่เกลี่ยให้จ่ายทุกเดือน พร้อมดอกเบี้ย ตอนนี้เหลืออีกตั้งเกือบสองแสน อีกกี่ปีจะหมดก็ไม่ทราบเหมือนกันครับ

แต่อย่างน้อย ดอกเบี้ยก็น้อยกว่าค่าบ้านของผมอยู่หลายเท่า หาเรื่องคิดในแง่ดี เผื่อจะอารมณ์ดีมากขึ้นครับ

ขอบคุณครับ :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท