ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์


ภาพสะท้อน จากวัฒนธรรมการเมืองไทย กับหลักคิด หลักประพฤติปฎิบัติ ซึ่งได้รับการสะท้อนจากงานเขียน และวรรณกรรมเรื่องยิ่งใหญ่ นิราศภูเขาทอง ของ สุนทรภู่ กับคำถามต่อท่าที บทบาทการวางตัววางตน ในความเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมือง ของนักการเมืองไทย คนที่มีผู้คนกราบไหว้ ว่าพึงปฏิบัติเช่นไรวางตัวอย่างไรในสังคมไทย

ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์

อ้างอิง - รูปภาพ  http://www.scotthutchison.com/drawings_2006/Kiss.htm

ไม่ใช่พูดดีแล้วจะได้เป็นเช่น

ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม หรือเป็นเช่น

ศรีศักดิ์ จามรมาน

หรือศรีศักดิ์ใดใดในทางวิชาการ ที่สร้างสรรค์งานศึกษาวิจัย หรือกระทั่งในทางมั่งคั่งร่ำรวย แต่เพียงคำเขียนประโยคสั้น ประโยคสวยของบรมครูกวี สุนทรภู่ ก็ได้ทำให้ได้คิด ได้ตระหนักและเข้าใจว่า ควรจะทำเช่นไรกับปาก ความคิด และชีวิตจิตใจบ้าง หรือเราควรไตร่ตรองให้มากเพียงใด ก่อนจะเอื้อนเอ่ยคำ

จึงได้แต่เพียงเก็บเรื่องในใจ

ไปขุดคุ้ยเนื้อหาสาระมาใส่สมอง

ไว้ตรองทวนความบ้าง

หลังจากฟังคำกล่าว ของคุณสมัคร สุนทรเวช ซึ่งมีนามสกุลเกี่ยวเนื่องกับคำพูดคำจา คำจากนามสกุลพระราชทาน ซึ่งกล่าวถึงวิชาหรืออาชีพว่าด้วยการพูดการจา หรือบทบาทหน้างานผ่านมา ซึ่งเกี่ยวข้องกับคำพูดอยู่มิใช่น้อย ใยจะต้องมาตกม้าตายตอนแก่ เพราะคำอุบาทว์ในวาจา เช่นถามลูกหลานนักข่าวว่าเมื่อคืนเสพเมถุนมาหรืออย่างไร คิดไปตรองมาจึงต้องค้นคำกล่าว สุนทรภู่ มาไว้เตือนตน เพื่อมิให้เกิดอาการหลุด

ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์    

มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต

แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร 

จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจาฯ

ยกข้อเขียนในงานนิราศภูเขาทอง ซึ่งสันนิษฐานว่าแต่งขึ้น ในโอกาสเดินทางไปนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งคาดว่าในราวปี พุทธศักราช 2371 หลังจากเกิดมีเรื่องมีราวที่วัดราชบูรณะฯ โดยคาดว่าสุนทรภู่ มีอายุ 42 ปี ในการเขียนงานชิ้นนี้ กล่าวกันว่าเป็นงานเขียนซึ่งสุขุม และมองเห็นชีวิตได้อย่างรอบด้านมากขึ้น

ไม่นับกับสิ่งติดตัว

ในคำสอนสะท้อนใจ

ถึงหลักอันพึงประพฤติปฏิบัติในชีวิต

ซึ่งมิใช่เพียงจะเข้าใจจากหูหนึ่งแล้วออกอีกหูหนึ่ง กระทั่งพาลให้ต้องคิดกันนานว่า ช่องว่างระหว่างสมองนั้น ยังคงอัดแน่นดีด้วยเนื้อหรือไม่ หรือเป็นเพียงวุ้นใสใสบางไว้คอยเก็บสิ่งอันมิพึงประสงค์ หรือไม่สามารถใช้ประโยชน์ในการคิด จดจำ หรือใคร่ครวญได้อีกแล้ว

ใช่ชีวิตจะเป็นเพียงเรื่องเล่าเพียงผ่านไป

แต่ชีวิตยังเป็นบททดสอบของความพลั้งเผลอ

บ่อยครั้งที่เรามักกระทำผิด

ทั้งที่เราก็รู้ถึงผลแห่งการกระทำ ว่าจะบังเกิดอาการตอบรับเช่นไร หากยังคงกระทำเช่นนั้น หรือกระทั่งว่า ผ่านชีวิตมาเพียงใดผ่านบาดแผลบทเรียนผิดพลาดมาเท่าใด จึงยังคงตกปลักตมอันเจ็บช้ำครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะความผิดพลาดที่เราได้ตัดสินใจกระทำ

 

ใช่แต่เพียงผู้ผ่านชีวิตพร้อมบาดแผลจึงจะเข้าใจ

แต่ชีวิตซึ่งมีสติพร้อมอาจเข้าใจได้

หากได้ไตร่ตรอง

เมื่อยามได้คิดได้ไตร่ตรอง ถึงแต่ละย่างก้าวของชีวิตตน เราอาจได้พบบทเรียนมากมายที่สอนให้เราเข้าใจว่า เราควรปฎิบัติเช่นไร ในยามมิสบอารมณ์ มิพึงใจ หงุดหงิด ไม่เข้าใจ หวาดหวั่น หวาดกลัว ไม่แน่ใจ หรือมิปรารถนาให้ตนต้องอยู่ในสถานการณ์บีบบังคับเช่นนั้น

เช่นเดียวกับเรื่องราวในความงาม

จากถ้อยคำข้อเขียน

จากเรื่องราวในวรรณกรรมไทย

เรื่องราวและบทสอนมากมาย ได้ช่วยสรุประยะเวลาอันผิดพลาดพลั้งเผลอให้เราได้เข้าใจได้ บทเรียนมากมายวางไว้ให้อ่าน ศึกษาเข้าใจเพื่อปฏิบัติตน หากยังมีใจจะปรับเปลี่ยนเท่าทัน มิใช่หยุดนิ่งตนไว้กับหัวใจเป็นเจ้าเรือน โดยไม่อินังขังขอบกับสิ่งใด หรือสิ่งมีชีวิตใดรอบตัว

ยิ่งอ่านข้อคิดงานเขียนเก่าของบรรพบุรุษ

เรื่องเล่าผ่านประสบการณ์ผิดพลาดครั้งอดีต

ยิ่งได้แต่เตือนตนถึงหนทางแห่งสติ

จะคิดทำสิ่งใด จะกล่าวเรื่องราวใด จะย่างก้าวไปทิศทางใดของชีวิต ก็ล้วนต้องผูกไว้ด้วยสติ กำกับไว้ด้วยลมหายใจแห่งสติ มิใช่เพียงปล่อยให้เตลิดไป ตามแต่สติจะคะนอง หรือคิดแต่เพียงว่าสตินิ่งพอ แก่กล้าบารมีในชีวิตเพียงพอ จึงต้องไม่กำกับและเข้าใจ กับอารมณ์และสติ

ยิ่งแก่เฒ่าเท่าไร

หัวใจยิ่งต้องพร้อมด้วยสติ

ไม่ใช่เพราะลำพังลูกหลานจะกราบไหว้

แต่เพราะความหย่อนยานของร่างกายและการระวังตน อาจส่งผลสะท้อนกลับมา ถึงกิริยาอาการถอนหงอกบนศีรษะ ใช่แต่เพียงจะเสื่อมเสียเพียงตนเอง ญาติมิตรคนรัก หรือแม้กระทั่งหมู่เหล่าอาจเสื่อมเสีย ด้วยลมปากเพียงเล็กน้อย 

ยิ่งคิดยิ่งสะท้อนใจ

ยิ่งอ่านยิ่งตระหนักถึงหลักปฏิบัติเตือนตน

จึงกระทำได้เพียงเขียนและจดจำเรื่องไว้เตือนตน

 

หมายเลขบันทึก: 146278เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2007 00:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 18:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท