ประโยชน์จากการวิจัย


วิจัยในชั้นเรียน

เมื่อวันที่ 30 – 31 ตุลาคม 2550  สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา  ได้จัดการประชุมวิชาการ การวิจัยในชั้นเรียน  ครั้งที่ 4  ประจำปี 2550  ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ สุขุมวิท 11  โดยมีการเสวนาเรื่อง  การใช้ประโยชน์จากงานวิจัยในชั้นเรียน  วิทยากรนำการเสวนาได้แก่  ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.นงลักษณ์  วิรัชชัย  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิชิต  ฤทธิ์จรูญ  และ  ดร.สมลักษณ์  สุเมธ

ดร.สมลักษณ์  สุเมธ  รองผู้อำนวยการ  โรงเรียนพระมารดานิจจานุเคราะห์  ได้กล่าวถึงการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยในชั้นเรียนไว้ 3 ประเด็น  คือ

ประเด็นที่ 1      ใครเป็นผู้ใช้  และใช้อย่างไร

ผู้ใช้ประโยชน์เป็นอันดับแรก  คือ  ครูผู้ทำวิจัยเอง  ใช้ในการต่อยอดความรู้  ทำให้รู้ลึก  รู้กว้าง  เป็นผู้เชี่ยวชาญ  เป็นผู้ชำนาญการในเรื่องนั้นๆ  ดังนั้นในการทำงานวิจัยต้องมีการพัฒนาขึ้น  ไม่ใช่ทำซ้ำแบบเดิมทุกประการ  หรือทำเรื่องโน้นบ้าง  เรื่องนี้บ้าง  ไม่เชื่อมโยงกัน  และที่สำคัญคือ  ทำแล้วต้องทำอีก  อย่าพอใจแค่ 1 – 2 เรื่อง  ต้องทำต่อเนื่อง  ต้องทำให้การสอนกับการวิจัยเป็นเรื่องเดียวกัน  เมื่อไรมีการสอนเมื่อนั้นต้องมีการวิจัย

ผู้ใช้ประโยชน์ลำดับที่สอง  คือ  เพื่อนครู  การได้อ่านงานวิจัยของผู้อื่นบ้าง  จะทำให้ได้แนวคิด  ได้แบบอย่างของการทำวิจัย  งานวิจัยของครูคนหนึ่งอาจเป็นแรงบันดาลใจให้กับครูอีกหลายคน  ดังคำกล่าวที่ว่า       ครูธรรมดา          สอน      

           ครูที่ดี                 ทำให้ดู

          ครูที่ดีที่สุด        สร้างแรงบันดาลใจ

ผู้ใช้ประโยชน์ลำดับที่สาม  คือ  โรงเรียน  ผู้บริหารหรือฝ่ายวิชาการควรรวบรวม  สรุป  และสังเคราะห์งานวิจัยในชั้นเรียนที่ครูทำในแต่ละปี  เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการวางแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน  ทั้งในส่วนที่เสริมจุดเด่น  และแก้ปัญหาจุดด้อย

ผู้ใช้ประโยชน์ลำดับสุดท้าย  คือ  ผู้ปกครอง  โดยครูผู้ทำวิจัยอาจนำเสนอข้อมูลให้ผู้ปกครองทราบ  และสร้างความร่วมมือในการพัฒนาผู้เรียนระหว่างครูและผู้ปกครอง

ประเด็นที่ 2      ใครเป็นผู้ใช้  และใช้อย่างไร

ผู้ที่ทำและใช้ประโยชน์จากงานวิจัยบ่อยๆ  จะได้ฐานการคิด  ได้ความเจริญงอกงามทางปัญญา  มีวิธีการทำงานที่เป็นระบบ  ครบวงจรคุณภาพ  และมีการพัฒนางานเสมอ  นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างเครือข่ายทางวิชาการ  เกิดความเข้มแข็งทางวิชาชีพ  เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งภายในและภายนอกองค์กร  นำไปสู่การจัดการความรู้ภายในองค์กร  และยังใช้ประกอบการพิจารณาประเมินผลงานทางวิชาการได้ด้วย  แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด  คือ  การใช้งานวิจัยจะทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน  ซึ่งน่าจะเป็นเป้าหมายอันดับแรกของการทำและใช้ผลงานวิจัย

ประเด็นที่ 3      การสนับสนุนและส่งเสริมให้ครูทำและใช้ประโยชน์จากงานวิจัย  ทำได้อย่างไร

จากประสบการณ์ของโรงเรียนพระมารดานิจจานุเคราะห์  ผู้บริหารได้สนับสนุนและส่งเสริมหลายรูปแบบ  ได้แก่  การจัดหาพี่เลี้ยงให้ความช่วยเหลือ  การทำเป็นแบบอย่าง  การรวมกลุ่มสนใจ  การอำนวยความสะดวกในเรื่องเวลา  สถานที่  อุปกรณ์  การให้การเสริมแรง  การใช้กระบวนการกลุ่มในการสร้างแรงจูงใจ  การประกาศเกียรติคุณครูที่มีผลงานวิจัย  การสร้างวัฒนธรรมองค์กรในเรื่อง  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้  และการส่งเสริมการทำวิจัยแก่บุคลากรทุกระดับ  ทั้งนักเรียน ครู และผู้บริหาร  รวมถึงการทำวิจัยร่วมกับหน่วยงานภายนอก

ท้ายสุด  ดร.สมลักษณ์  สุเมธ  ได้สรุปว่า  จากการพูดคุยกับครูที่ประสบความสำเร็จในการทำและใช้ประโยชน์จากงานวิจัย  พบว่า  ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ครูทำวิจัย  ต้องเริ่มต้นที่ตัวครูเอง  ครูต้องมีความมุ่งมั่น  ตั้งใจจริง  จึงจะทำได้สำเร็จ  และครูต้องเปลี่ยนวิธีคิด  ต้องคิดว่า  การวิจัยเป็นวิถีแห่งการทำงาน  ไม่มีภาระเพิ่ม  ครูต้องสอนและทำวิจัยไปพร้อมๆ กัน  และเมื่อทำแล้วต้องสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้  ไม่ใช่มีไว้โชว์  ไม่ทำเพราะมีคำสั่งหรือมีข้อกำหนดให้ทำ  แต่ทำด้วยใจที่จะพัฒนาผู้เรียน  ครูจึงจะมีความสุขในการทำงานและการทำวิจัย

หมายเลขบันทึก: 145996เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2007 09:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 10:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ทัศนีย์ ไพฑูรย์พงษ์

ฝากชม ดร.สมลักษณ์ด้วยนะคะว่าบรรยายได้หมดจดครบถ้วน  และชมผู้เขียนบล็อกด้วยว่าใช้ภาษาอ่านเข้าใจง่ายดีค่ะ   รวมทั้งขยันสม่ำเสมอด้วย

ดร.สมลักษณ์ขอบคุณอาจารย์อย่างมากที่ฝากชมมาค่ะ    ท่านบอกว่าจะพยายามหาเวลาว่างเขียนเรื่องเล่าที่ได้จากการปฏิบัติงานแล้วประสบผลสำเร็จ   แถมฝากชมว่าอาจารย์ขยันจังเลย   ดูเวลาที่อาจารย์กำลังเขียน blog  แล้วทำให้มีกำลังใจว่ายังมีเพื่อนร่วมงานในเวลาเดียวกัน

ขอบคุณอาจารย์มากค่ะ    ครูเอียดลงตามที่ท่านดร.สมลักษณ์  ท่านเขียนค่ะ   ดีใจค่ะที่ได้ทำหน้าที่คุณวิศาสตร์และดีใจอย่างมากที่สุดเมื่อเห็นสีหน้าของเจ้าของบทความแสดงดีใจที่บทความได้ลง  blog 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท