งานอยุธยามหามงคลฉลองตรุษจีนกรุงเก่า


อยุธยาจัดงานตรุษจีนกรุงเก่าเฉลิมฉลอง 60 ปีทรงครองราชย์ ระหว่าง 3-5 ก.พ.49

นับตั้งแต่ผมเกิดมาจนถึงปัจจุบันนี้ (ปี 2549) ผมเพิ่งเคยเห็นงานตรุษจีนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในจังหวัดอยุธยา  ส่วนใหญ่จะจัดแถวๆปากน้ำโพนครสวรรค์

สำหรับปีนี้เป็นปีมหามงคลที่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงครองสิริราชย์สมบัติครบ 60 ปี ดังนั้นชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงพร้อมใจกันจัดงาน "อยุธยามหามงคลฉลองตรุษจีนกรุงเก่า "ระหว่างวันที่ 3-5 กุมภาพันธ์ 2549 ณ บริเวณตลาดเจ้าพรหมตลอดแนวถนนหน้าเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยาไปจนถึงเจดีย์เจ้าอ้ายเจ้ายี่

สิ่งที่น่าสังเกตและเป็นที่สนใจในการจัดงาน"ตรุษจีน"ปีนี้คือ
        1) นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมงาน ร้อยละ 90 เป็นชาวไทยและมีคนอยุธยามาเที่ยวงานจำนวนมาก ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าจังหวัดเพิ่งจัดเป็นงานใหญ่ในปีนี้เป็นครั้งแรก  ส่วนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มาเที่ยวชมน้อยอาจเป็นเพราะการประชาสัมพันธ์ยังไม่ทั่วถึง แม้ว่าทาง ททท.จะพยายามโหมโรงประชาสัมพันธ์ไปแล้วก็ตามแต่เชื่อว่ายังไปไม่ทั่วถึงและยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางเหมือนจังหวัดนครสวรรค์จัด 

       2) กิจกรรมต่างๆที่จัดขึ้นโดยเฉพาะขบวนแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่  การเชิดสิงโต และการแห่มังกรได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม  ซึ่งมีการแสดงพร้อมกัน 3 จุด แต่จุดที่อยู่หน้าสำนักงานเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยาค่อนข้างคับแคบและเวลาจุดพลุหรือจุดดอกไม้ไฟหรือปะทัด สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายเนื่องจากอยู่ใกล้กับอาคารพาณิชย์และตึกแถวบริเวณนั้น  สำหรับปีต่อไปควรขยายไปจัดที่บริเวณด้านเจดีย์เจ้าอ้ายเจ้ายี่ในลักษณะการประชันกันจะทำให้น่าสนใจและปลอดภัยกว่า เพราะบริเวณนั้นมีเนื้อที่กว้างขวางและการสัญจรไป-มาสะดวกกว่า

      3) การตั้งซุ้มออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าต่างๆไม่ต่างจากงานวัดทั่วๆไป ทำให้บรรยากาศ "ตรุษจีนกรุงเก่า"กร่อยลงไปโดยปริยาย  ในปีต่อไปควรมีการคัดสรรร้านค้าหรือสินค้าที่เหมาะสม สอดคล้องกับบริบทของงานตรุษจีน เช่น ร้านจำหน่ายเสื้อผ้าชุดจีน ซุ้มวาดภาพ-ฝึกเขียนหนังสือโดยใช้ภู่กันจีน  เป็นต้น

       4) การจัดพาหนะรับ-ส่งผู้โดยสารโดยใช้"รถเจ๊ก" ซึ่งเป็นรถลากสมัยโบราณ เป็นภาพที่น่าดูน่าชมและเหมาะสมกับบรรยากาศตรุษจีน ขอชมเชยไอเดียของผู้จัดว่ายอดเยี่ยมมาก หากปีหน้าจัดอีกควรเพิ่มจำนวนรถลากให้มากขึ้น และควรกระจายไปตามจุดต่างๆเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มาเที่ยวชมงาน  ส่วนสนนราคาที่กำหนดไว้ 30 บาทต่อเที่ยว (คันหนึ่งนั่งได้ 2 คน) เฉลี่ยคนละ 15 บาท ถือว่าเป็นราคาสมน้ำสมเนื้อดีแล้ว

       5) การจัดเทศกาลตรุษจีนกรุงเก่า ให้ถือเป็นเทศกาลสำคัญของจังหวัดที่จะต้องจัดอย่างยิ่งใหญ่ ควรจะสร้างเครือข่ายพันธมิตรในการมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมต่างๆเหล่านี้ โดยการประสานสัมพันธ์กับสมาคมพ่อค้าไทย-จีน หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย องค์การบริหารส่วนจังหวัด และที่ขาดเสียมิได้คือหน่วยงานสถานศึกษาต่างๆทุกแห่งในจังหวัด เนื่องจากสถานศึกษาสามารถจะจัดกิจกรรมให้ความรู้แก่นักเรียนในสถานศึกษา หรืออาจจัดกิจกรรม "การจัดการความรู้" ในลักษณะตลาดนัดความรู้ โดยเชิญผู้รู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับ "คนจีนในสมัยอยุธยามีความเป็นมาอย่างไร" อาทิ การติดต่อค้าขายโดยใช้เรือสำเภาจีน  ประวัติความเป็นมาของพระนางสร้อยดอกหมาก หรือ ความเป็นมาของการสร้างพระพุทธรูป ซำปอกง "หลวงพ่อโตวัดพนัญเชิง" เป็นต้น

      ปฐมพงศ์  ศุภเลิศ
          5  ก.พ. 49

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 14486เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2006 22:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อย่าว่าแต่ชาวต่างชาติเลยผมอยู่จังหวัดใกล้กับอยุธยาเพิ่งรู้ข่าวพอมาถึงวันสุดท้ายก็ไม่มีอะไรดีๆให้ดูแล้ว
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท