บันทึกจากแดนซากุระ 8 : อย่างนี้ซินะที่เรียกว่า Just In Time (JIT)


     หลังจากหายหน้าหายตาไปนาน เนื่องจากต้องทำงานค่อนข้างหนัก เพื่อเคลียร์งานให้เสร็จจะได้สรุปเป็นรายงานความก้าวหน้าในช่วง 3 อาทิตย์ที่ผ่านมา วันนี้นำเสนอผ่านไปแล้ว รู้สึกตัวเบาขึ้นมาเยอะ
     ที่จริงก็เห็นมานานพอสมควรว่าระบบในการสั่งซื้อของที่นี่แตกต่างจากบ้านเราพอสมควร ที่บ้านเราถ้าจะซื้ออะไรก็ต้องเขียนใบสั่งซื้อ ส่งให้หน่วยพัสดุทำเรื่องขอจัดซื้อ กว่าจะติดต่อ กว่าจะขอใบเสนอราคา ทั้งๆของที่ต้องซื้อมันเป็นของที่ต้องใช้และสั่งซื้อเป็นประจำ ก็ยังไม่วายต้องขอใบเสนอราคา กว่าจะให้บริษัทส่งของ และต้องตรวจรับของก่อนถึงจะเบิกออกมาใช้ได้ .....รับรองเหงือกแห้งพอดี แต่ว่าอะไรไม่ได้ก็นี่เป็นระบบราชการ ที่สงสัยก็ไม่ให้ถามแต่ให้ทำตาม   มาดูระบบของที่นี่กันดีกว่า   
     เมื่อไหร่ที่คุณอยากจะสั่งซื้อของ คุณก็ไปเขียนที่สมุดสั่งซื้อโดยบันทึกว่าต้องการซื้ออะไร ระบุ Catalog no ด้วย จากบริษัทไหน จำนวนเท่าไร ใครเป็นคนขอสั่งซื้อ แล้วก็นั่งรอ ว่างๆจะมีเซลใส่สูตรผูกไทด์เข้ามารับออร์เดอร์อาทิตย์ละสองวัน ตอนที่เซลเข้ามาก็ไม่ต้องพูดพล่ามกับใคร ก็แค่เข้ามาเปิดดูสมุดที่สั่งของว่ามีรายการสั่งของตัวเองหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ปิดสมุดกลับบ้านไป หรือไปหาออร์เดอร์ที่ใหม่ แต่ถ้ามีก็จดรายการไปว่าเป็นรายการอะไร แล้วบันทึกในสมุดว่ารับออร์เดอร์ไปแล้ววันที่เท่าไร บ่ายวันนั้นหรือวันรุ่งขึ้นก็ส่งของมาได้เลย พร้อมใบนำส่ง โดยให้คนในแล็บเซ็นรับว่าได้รับของแล้ว และบันทึกในสมุดสั่งซื้อว่าได้ส่งของแล้ววันที่เท่าไร เก็บใบนำส่งใส่แฟ้มเพื่อทำเรื่องจ่ายเงิน ทั้งกระบวนการนี้ใช้เวลาอย่างเร็วประมาณครึ่งวัน อย่างช้าประมาณ 1 อาทิตย์ ค่าเฉลี่ยส่วนใหญ่อยู่ที่ 2-3 วัน คนในแล็บก็ได้ใช้ของสมใจ ส่วนเรื่องการเก็บเงิน....ไม่รู้ อันนี้อยู่นอกเหนือความสามารถ
     มีอีกวิธีการหนึ่งในการสั่งของคือสั่งซื้อทาง Internet ได้แก่พวก primer เป็นต้น ระบุรายละเอียดไปว่าต้องการ sequence แบบไหน จำนวนเท่าไร แล้วนั่งรอได้เลย วันรุ่งขึ้นของดังกล่าวก็จะมาวางอยู่ตรงหน้า ที่บ้านเราก็มีระบบนี้แล้วเหมือนกัน แต่กว่าจะได้รับของประมาณ 1-4 อาทิตย์ ก็เหงือกแห้งพอกัน
    ผมไม่รู้ว่าทำไมขั้นตอนในการสั่งซื้อของบ้านเราต้องทำให้ซับซ้อน เพียงแต่กระบวนการที่ซับซ้อนมันมีต้นทุนที่สูงขึ้น นั่นหมายความว่าเราต้อง stock ของให้เพียงพอต่อกระบวนการจัดซื้อ สิ่งนี้ในทางเศรษฐศาสตร์ถือเป็นต้นทุน มีค่าใช้จ่ายจริง มีค่าเสียโอกาส ในขณะที่การจัดการให้ขั้นตอนการสั่งซื้อยุ่งยากซับซ้อนน้อยลง ทุกฝ่ายจะได้รับผลประโยชน์มากขึ้น ผู้ใช้ก็ไม่จำเป็นต้อง stock ของไว้มากนัก ต้นทุนในการบริหารจัดการก็จะลดลง  
     เฮ้อ! เมื่อไหร่บ้านเราจะ just in time กับเขาเสียที
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 14404เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2006 19:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
...บ้านเรา "คนซื้อไม่ได้ใช้  คนใช้ไม่ได้ซื้อ"
...บ้านเขา(ตามที่คุณไมโต..เล่ามา) "ซื้อเอง ใช้เอง"
   บ้านเราการบริหารเป็นระบบราชการขนาดใหญ่มีขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อนต้องแก้ที่ระบบครับ แต่จะแก้ได้อีกนานครับ ต้องทำใจครับ ทำใจ  
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท