โรงเรียนแพทย์สร้างเสริมสุขภาพ


โรงเรียนแพทย์ก็มีชุมชนเพื่อทำงานสร้างเสริมสุขภาพได้ไม่ยาก

          ผมได้รับเชิญไปบรรยายเรื่อง “โรงเรียนแพทย์สร้างเสริมสุขภาพในมุมมองของสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล” ที่โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า ในการจัดมหกรรมสร้างเสริมสุขภาพของโรงพยาบาล ภายใต้หัวข้อหลัก “แนวคิดการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อการสร้างคุณค่าอย่างต่อเนื่อง” เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2548  เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมการสร้างเสริมสุขภาพของโรงพยาบาล

          ประเด็นสำคัญที่ผมนำเสนอคือโอกาสที่โรงเรียนแพทย์จะนำแนวคิดการสร้างเสริมสุขภาพมาดำเนินการใน 3 บทบาท

          1. ในด้านบริการ เป็นการเพิ่มคุณค่าให้แก่บริการของโรงพยาบาล  โดยสอดแทรกการสร้างเสริมสุขภาพเข้าไปในการดูแลผู้ป่วยทุกรายที่มีโอกาส  ซึ่งจะเป็นการทำให้ผู้ปฏิบัติงานที่ดูแลผู้ป่วยทุกรายเกิดความเข้าใจและเป็นกำลังสำคัญในการทำให้โรงพยาบาลเป็นองค์กรสร้างเสริมสุขภาพ

          2. ในด้านการเรียนการสอน เป็นการปลูกฝังเจตคติและทักษะให้กับแพทย์และพยาบาลที่จะจบออกไป ซึ่งจะมีผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขอย่างมากเนื่องจากแต่ละคนจะต้องทำงานต่อไปอีกประมาณ 40 ปี  การปลูกฝังนี้น่าจะเกิดจากการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เกิดจากการสอดแทรกแนวคิดสำคัญเข้าไปในการสอนข้างเตียงผู้ป่วยทุกราย โดยอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้คำว่าการสร้างเสริมสุขภาพ

          3. ในด้านการวิจัย มีโอกาสอีกมากในการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ เช่น ประสิทธิผลของ intervention ต่างๆ, นวตกรรมในการสร้างเสริมสุขภาพ, ตัวชี้วัดผลสำเร็จของการสร้างเสริมสุขภาพ

          ในการประชุมครั้งนี้มีการรวบรวมกิจกรรมเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพมากกว่า 60 เรื่อง นำเสนอเป็นนิทรรศการ 30 เรื่อง และนำเสนอด้วยวาจาอีก 10 เรื่อง

          พ.อ.นพ. กิฎาพล วัฒนกูล รองผู้อำนวยการกองตรวจโรคผู้ป่วยนอก ได้เล่าให้ฟังว่า รพ.พระมงกุฏเกล้าได้ไปทำงานกับชุมชนบ้านครัว ซึ่งเป็นชุมชนมุสลิมริมคลองแสนแสบที่มีประวัติความเป็นมากว่า 200 ปี  ภายใต้โครงการ “รวมพลคนรักสุขภาพ ชุมชนบ้านครัว” ทำให้เกิดความร่วมมือและเกิดการเรียนรู้เรื่องการทำงานสร้างเสริมสุขภาพในชุมชน  ซึ่งแต่เดิมโรงเรียนแพทย์มักจะมองว่าเป็นเรื่องยากในการที่โรงเรียนแพทย์จะมีชุมชนรับผิดชอบ

          หลักการดำเนินงานสำคัญคือ เข้าถึง เข้าใจ และพัฒนา

          การเข้าถึงนั้นเริ่มจากทรัพยากรภายในจริงๆ คือค้นหาข้าราชการของ รพ.ที่อยู่ในชุมชนเป้าหมาย ทำให้สามารถเชื่อมต่อถึงผู้นำชุมชนได้ง่ายขึ้น  ทีมงานเข้าร่วมในกิจกรรมของมัสยิด ชุมชน และโรงเรียน เพื่อศึกษาวัฒนธรรมประเพณี สร้างความไว้วางใจ ศรัทธา 

          ความเข้าใจ เกิดจากการรับทราบปัญหาและประชุมวางแผนร่วมกับผู้นำมัสยิด/ชุมชน/โรงเรียน

           การพัฒนา ใช้หลักการ “บรม” ซึ่งดัดแปลงมาจาก “บวร” เพื่อใช้สำหรับชุมชนมุสลิม

“บ” คือ “บ้าน” บ้านในที่นี้รวมความถึงชุมชนโดยรวมด้วย ต้องน่าอยู่ และใช้เป็นสถานที่ดูแลสมาชิกในกรณีเจ็บป่วยได้

“ร” คือ “โรงเรียน” เป็นแหล่งปลูกฝังค่านิยม และองค์ความรู้ด้านสุขภาพแก่เด็กและเยาวชน

“ม” คือ “มัสยิด” เป็นศูนย์รวมของชุมชนในการพบปะ ประชุม ปรึกษาหารือกับผู้นำ ลงมติ เพื่อร่วมกันวางแผน หรือ แนวทางในการส่งเสริมสุขภาพแก่ชุมชน

          มีกิจกรรมร่วมกันเพื่อพัฒนาเป็นชุมชนเข้มแข็ง เช่น การกำจัดลูกน้ำยุงลาย การพัฒนาพื้นที่ใต้ทางด่วนเป็นลานกีฬา โครงการขยะหอมเพื่อปรับปรุงสิ่งแวดล้อม การที่ชุมชนร่วมกันซ่อมฝาท่อระบายน้ำที่ชำรุด โครงการค่ายเยาวชน เป็นต้น

          ได้ข้อสรุปว่าปัจจัยสู่ความสำเร็จของโครงการ ได้แก่  นโยบายและการสนับสนุนของ รพ.,  การทำงานร่วมกันเป็นทีมสหสาขาวิชาชีพ, มิตรภาพที่ดี, ทรัพยากร ได้แก่ ทุนเดิม ประชาคมต่างๆ ของชุมชน

           ทีมงานได้แปลง 5 ส. มาเป็นเคล็ดลับของโครงการในการทำงานกับชุมชนบ้านครัว  คือ สดับฟัง  สมานมิตร สนับสนุน ส่งเสริม และสร้างสรรค์ 

          ในอนาคต นักศึกษาแพทย์ทหารและนักเรียนพยาบาลจะมีโอกาสได้อาศัยชุมชนแห่งนี้เป็นที่เรียนรู้เรื่องสุขภาพในอีกมิติหนึ่ง

 
 
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 1438เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2005 23:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2012 10:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

แปลกมากครับที่ เครือข่าย โรงเรียนแพทย์สร้างเสริมสุขภาพ สนับสนุน โดย สสส . ไม่ชวน รพศ.ที่เป็นศูนย์แพทยศาสตร์ชั้นคลินิค  เข้าร่วมเป็นพันธมิตร เครือข่านการทำงานการเรียนรุ้ เข้าใจเพราะ  ไม่ใช่กลุ่ม consortium medical school

    ผมคิดว่า ที่หาดใหญ่ คุณหมอรัตนา ได้ทำงานเชิงรุก เป็นคุณเอื้อ มีประสบการณ์ แม้ไม่เป็นเลิศ แต่น่าจะเข้าชั้น   จึงเสียดาย ที่ไม่ชักชวน ให้เกิด COP ด้วยกัน ที่ หาดใหญ่ ปรับหลักสูตร ให้มี รายวิชา health promotion ก่อนหลายๆ รร.แพทย์  เราซ้อมมือทำหลายส่วน ทั้ง สอน   ทั้งทำนวัตกรรม แต่อาจจะวิจัยเป็นรูปธรรมน้อยไปบ้าง หากร่วม COP น่าจะช่วยสร้างสีสันตรงนี้  ตลอดจนได้เรียนจากคนอื่นด้วย

ประชุมเครือข่าย โรงพบาบาลส่งเสริมสุขภาพ สงขลา

    โรงพยาบาลสงขลา จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเครือข่าย โรงพบาบาลส่งเสริมสุขภาพ วันที่ 22 - 23 สค.48 ทั้งนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือน ติดตาม และให้ความรู้ใหม่ ๆ แก่สมาชิก (รพ.ทุกโรงในจว.สงขลา) โดย งานนี้จะจัดที่ โรงแรม บี พี สมิหลา พวกเราต้องไม่ควรพลาด วิทยากร มีทั้งท่าน อ.อนุวัฒน์ และ อ.วราวุธ รวมทั้ง มีการเชิญทีม ชุมชนและภาคีสุขภาพมาร่วมสัมมนาเพื่อเป็นแนวทางในการสร้างชุมชนเข้มแข็งด้วย รายละเอียดจะส่งตามไป คอยติดตามนะครับ

                      เฉลิมพงษ์ สุคนธผล

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท