เมื่อนิสิตทันตะ-อุตริ-อยากจะเป็นพี่เลี้ยงเด็ก


ยังไงกันละคะพี่น้องคะ

อ้าว! มันยังไงกันล่ะคะพี่น้อง เป็นว่าที่หมอฟันอยู่ดีๆ ทำไมเกิดอยากจะเป็น ผดด. (ผู้ดูแลเด็ก) ขึ้นมาได้

เรื่องมันมีอยู่ว่า ในรายวิชาทันตกรรมชุมชน 5 ว่าด้วยการทำงานส่งเสริมสุขภาพในชุมชน โดยปกตินิสิตก็มักจะลงไปศึกษาพื้นที่ เก็บข้อมูลจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการคิดทำโครงการต่างๆ และสุดท้ายหลายๆ กลุ่มก็มักจะจบลงด้วยการจัดประชุมผู้ปกครองเพื่อให้เกิดการทำงานอย่างมีส่วนร่วม แต่ในกลุ่มล่าสุด (ไปทำที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านยางเอน) ที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเป็นอาจารย์ประจำกลุ่ม นิสิตเขาเกิดคิดว่าอยากจะลองไปเป็น         ผดด. ดูบ้าง เพื่อเป็นการศึกษาเรียนรู้ชุมชน   เอ... แล้วมันจะได้อะไรขึ้นมาล่ะเนี่ย 

สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ใจ (ผู้อ่อนด้วยประสบการณ์อย่างผู้เขียน) ยิ่งนัก เพราะหลังจากที่นิสิตได้ลงไปทำงานเป็น ผดด. แค่ 2 วัน (มีเวลาจำกัดแค่นั้น) ทำงานทุกอย่างเยี่ยง ผดด. เริ่มตั้งแต่ 7 โมงเช้า ที่ต้องไปเปิดศูนย์ฯ กวาด-ถูพื้นห้อง ขัดห้องน้ำ รับเด็กจากผู้ปกครอง สอนหนังสือ พาไปไหว้พระที่วัดใกล้ๆ พาเด็กรับประทานอาหาร ป้อนข้าว ล้างหน้า แปรงฟัน พาเข้านอน และสุดท้ายจบลงที่การส่งเด็กกลับบ้าน กว่าจะเสร็จภาระกิจก็ปาเข้าไป 4 เย็น แถมมีหนึ่งวันที่โดนแจ๊คพอต เพราะเด็กอึรดกางเกง นทพ. ก็ยังต้องทำหน้าที่ล้างก้น เปลี่ยนกางเกงให้ด้วย แหม.. มันช่างตีบทบาทได้เหมือนจริงๆ

ที่เล่ามานั่น ยังไม่เห็นเรื่องน่าอัศจรรย์เลยนะคะ เพราะสิ่งที่จะเล่าคือผลที่เกิดขึ้นตามมาต่างหากค่ะ เพราะปกติ ผดด. ที่นี่จะเป็นคนเฉยๆ ไม่ค่อยพูด ไม่ค่อยตอบคำถาม ถามคำตอบคำ บางทีถามคำก็ไม่ตอบเลย (อาจเพราะอายนิสิต) แต่หลังจากปฏิบัติการเสร็จสิ้น ผดด. ตัวจริงก็คุยกะนิสิตอย่างเปิดเผย เล่าเรื่องล้างก้นเด็กทีไรก็หัวเราะขำกลิ้งกันทุกที ความสนิทสนมได้ก่อตัวขึ้นท่ามกลางการทำงานอย่างช้าๆ นอกจากนี้ที่สำคัญยังทำให้การพูดคุยเพื่อให้ ผดด. ช่วยปรับพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่เหมาะสมของเด็กก็ยังทำได้ง่ายขึ้นด้วย เพราะมันไม่ได้ทำให้ ผดด.เข้าใจว่านิสิตเข้าไปตรวจสอบ หรือจับผิดอะไร การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันจึงบังเกิดได้ง่ายขึ้น

เดิมที่ตอนแรก นิสิตเห็นอะไรๆ ที่มันขัดหูขัดตา อยากจะไปปรับโน่น แก้นี่ของเขา ก็กลับรู้ว่าจริงๆ แล้วตัวเองนี่แหละที่เข้าไปสร้างปัญหา เพราะในภาวะปกติเขาอาจจะไม่ได้เป็นอย่างนี้ แต่พอนิสิตลงไปทำงานกลับเห็นภาพอีกอย่าง และตีความภาพนั้นผิดไป

ที่เล่ามา อาจจะยังบันทึกเหตุการที่สำคัญได้ไม่หมด แต่เกรงว่าบันทึกนี้จะยาวมากเกินไป เอาเป็นว่าผู้เขียนได้รู้ซึ้งคำสำคัญบางคำแล้วว่า รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง ว่าเป็นจริง

หมายเลขบันทึก: 143659เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2007 10:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • อ. ได้ "ออกชุมชน" บ่อยๆ คงมีเรื่องสนุกๆ เยอะ น่าสนุกจัง
  • มาเล่าให้ฟังบ่อยๆ นะคะ จะคอยอ่านค่ะ
  • วันหน้าถ้าไม่มีคนยกของ ขอติดไปด้วยได้ป่ะคะ (ถ้ามีพื้นที่ขนาด....ว่าง)

 

  • อ.หนิง จากประสบการณ์ที่เป็นผู้ดูแลเด็กนะคะ
  • สนุกดีนะคะ แต่ก็เหนื่อยมาเหมือนกัน(เป็นครูปฐมวัยมาก่อน)
  • นทพ.ได้ประสบการณืตรงอย่างนี้แหละค่ะดี
  • จะได้รู้สภาพความเป็นจริงว่าเป็นอย่างไร เพราะว่าเรื่องที่เรียนในหนังสือ กับสภาพของคนที่เป็ยจริงมันแตกต่างกันนะคะ
  • ฝากถึงพี่เอ๋ P  พื้นที่ว่างขนาด.....กี่เมตรดี อิอิ

บทเรียนนี้ เรียกได้ว่า เป็นการเรียนเรื่อง Emic view ด้วยความกล้าหาญ ยอมเอาตัวเข้าแลกเลยทีเดียว

การจะทำความเข้าใจคน โดยเข้าไปเป็น "คนใน" จริงๆ น่าจะเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่ดีสำหรับนิสิตกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี  

ก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร หากงานนี้ นิสิตยังนึกไม่ออก หรือไม่ได้ลงมือทำอะไรให้กับศูนย์เด็กเล็ก แต่ความเข้าใจนี่เป็นฐานสำคัญเลยทีเดียวล่ะค่ะ

เจ๋งดีค่ะ :-)) พวกนายแน่มาก

ขอบคุณ P และ P ที่เข้ามาให้กำลังใจเสมอๆ

เพิ่งรู้นะเนี่ยว่าน้องเยียร์เป็นอดีตครูปฐมวัย ไว้วันหลังได้ให้นิสิตเข้าไปขอคำปรึกษานะ

สำหรับพี่อ้อ

กลุ่มนี้สนุกมากค่ะ เพราะน้องๆ นิสิตลุยดีมาก ต้องนับถือน้ำใจพวกเขาจริงๆ เพราะขนาดเราเองแค่ตามไปดูแลยังเหนื่อยมากๆ เลยค่ะ

กลุ่มนี้นอกจากจะได้เรียนรู้ และเข้าใจ ผดด. ในมุมมองที่คล้ายๆ ว่าจะเป็นคนในแล้ว (ไม่กล้าพูดว่าเป็นคนในอย่างเต็มปากเต็มคำเพราะเป็นได้แค่ 2 วันเองค่ะ) ยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ ผดด. เปิดใจ มีความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน ทำให้พูดคุยกันได้ง่ายขึ้น การดึงการมีส่วนร่วมแบบร่วมคิดร่วมทำก็ดูเข้าท่าดีกว่ากลุ่มอื่นๆ ที่ผ่านมาที่อาจจะยังไม่ได้เข้าใจเขาอย่างจริงจังแต่เอาเกณฑ์ของความเป็นทันตแพทย์เข้าไปจับ/วัด

สวัสดีค่าพี่หนิง

"หนูว่าบางที บางสิ่งที่เราคิดว่ามันเป็นปัญหาที่เค้าต้องแก้ไข แต่ในความเป็นจริงกลับกลายเป็นว่าเราต่างหากที่ไปทำให้สิ่งนั้น (ที่เราคิดว่าคือปัญหา) มันเกิดขึ้นมาเอง เราที่ได้ชื่อว่าคนนอก"

คำพูดข้างบนนี้ที่ได้ฟังจากน้องนิสิต (ข้อความอาจไม่ใช่อย่างนี้ทั้งหมด แต่ประมาณนี้นะคะ) ทำให้คิดได้จริงๆ คะว่า บางทีที่เราเคยคิดกันอยู่บ่อยๆ ว่าเรานี่แหละที่มีความรู้มีความเข้าใจ (ในเรื่องสุขภาพ) เป็นอย่างดี แต่ความเข้าใจที่เรามั่นอกมั่นใจนี้ ที่ทำให้เราหูตาไม่สว่างเอาเสียเลย มันปิดกั้นมุมมองของมิติทางสังคมที่ควรเป็นเสียมิด ทำให้เราเห็นเค้าเป็นเพียงหน้าหนังสือที่คิดว่าแค่เปิดอ่านก็จะรู้เรื่องราวทั้งหมด ทั้งที่ชีวิต และวิถีต่างๆ ที่เค้าดำเนินมาและจะดำเนินต่อไปมันไม่ใช่แค่ที่เห็นเพียงเปลือกที่เราจะเข้าใจได้ด้วยการเข้าไปนั่งดูเพียงอาทิตย์หรือสองอาทิตย์เท่านั้น......

สำหรับน้องนิสิตกลุ่มนี้ต้องขอยกนิ้วให้เลยคะ ในความกล้าที่จะลองทำอะไรแปลกๆ ไม่ต้องเหมือนกลุ่มอื่น และที่สำคัญในแง่ของมุมมองที่ได้เรียนรู้ ที่นิสิตเค้าชี้ประเด็นข้างต้นออกมา ยอมรับคะว่าดีใจจริงๆ ที่นิสิตเค้าพยายามเข้าไปเรียนรู้ เข้าไปค้นหา แล้วก็ค้นพบบางสิ่งจริงๆ....... น่าชื่นชมเหลือเกินคะ.....

สำหรับนิสิตที่เสียสละในการเช็ดอุจจาระน้องตัวน้อย ก็ขอปรบมือให้ดังๆ เลยคะ อยู่ในเหตุการณ์ด้วย เห็นเลยคะว่า เค้าพยายามจริงๆ ทั้งๆ ที่เค้าสามารถขอให้พี่ผู้ดูแลเด็กช่วยก็ได้ แต่เค้าก็ยอมที่จะเรียนรู้และทำมันเอง ขอปรบมือดังๆ ให้อีกครั้งคะ.....555

ความเหนื่อยบางทีก็คุ้มค่าอย่างเหลือเชื่อนะคะ.......

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท