ร่วมงานตลาดนัดความรู้เมืองคอน 1 พ.ย.50


วันนี้มีโอกาสได้ไปร่วมงาน ตลาดนัดความรู้เมืองคอน พลังความรู้ สู่ชุมชนเป็นสุข ณ ศูนย์ประชุมเทศบาลทุ่งท่าลาด อ.เมือง จ.นครศรีฯ ซึ่งอันที่จริงก็เกือบจะพลาดโอกาสไปแล้วเพราะกำหนดการวันนี้คือต้องไปร่วมประชุม ภาคีนักวิชาการ ที่ ม.ราชภัฏนครศรีธรรมราช กับพี่รัชนีทีมงานอีกคน ทราบตอนเช้าจากพี่ฝน (ผกายวรรณ) เพื่อนร่วมงานที่ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ซึ่งก็มาร่วมกิจกรรมวันนี้ด้วย ก็เลยต้องแบ่งกันไปคนละงานกับพี่รัชนี เพราะก็น่าสนใจทั้งคู่ เดี๋ยว พี่รัชนี ก็คงจะเอามาเล่าสู่กันฟังละค่ะ

 วันนี้ได้พบหน้าเพื่อนนักเรียนคุณอำนวยเมืองคอนหลายท่านทีเดียวค่ะ เป็นต้นว่า ทีม กศน.ครูนงเมืองคอน ครูราญคนนอกระบบ ครูแต้วเมืองคอน หมอเชียร พี่ชาญวิทย์  พี่อนุชาหรือชายขอบ และอีกหลายท่าน หลังจากไม่เจอกันนานทีเดียว (จริงๆ นัดกันไว้เมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา ณ วัดป่ายาง สำหรับห้องเรียนคุณอำนวยเมืองคอนครั้งที่ 2 แต่ก็ด้วยภารกิจหลักของแต่ละท่าน วันนั้นจึงมากันได้ 2 ท่านคือ ครูนงและพี่ชาญวิทย์ เลยต้องยกยอดห้องเรียนคุณอำนวยและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไว้ครั้งต่อไป.....กิจกรรมที่วัดป่ายางทั้ง 2 วันนั้น มีกิจกรรมอะไรที่คุณอำนวยสนใจอยากจะไปร่วม ผลการกิจกรรมเป็นอย่างไรนั้น ขอยกยอดไปเล่าในบันทึกถัดไปละกันนะคะ) 

เอาเป็นเข้าเรื่องกันเลยดีกว่า กิจกรรมของวันนี้ มีนิทรรศการให้ได้ชมกันพอประมาณ มีท่านผู้ว่าฯวิชม ทองสงค์ กล่าวเปิดงานวันแรก(งานมี 2 วันคือ 1-2 พฤศจิกายน 50) จากนั้น อธิการบดี มทร.ศรีวิชัยในฐานะเจ้าภาพร่วมกล่าวถึงการทำงานบริการวิชาการแก่ชุมชนที่ผ่านมา ต่อด้วยการชมระบำไก่ชน(ไม่แน่ใจว่าชื่อระบำไก่ชนหรือเปล่า แต่เอาเป็นว่า น่ารักดี สะท้อนถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นได้ดีทีเดียว จัดโดยวิทยาลัยนาฎศิลป์นครศรีธรรมราช(ขออนุญาตใช้ชื่อเก่า เพราะจำชื่อใหม่ไม่ได้แล้ว..)

 

เสร็จจากทานเบรกกันแล้ว ก็เดินทางกันต่อ ด้วยเรื่องราวของ ประสบการณ์เด่น บันไดการเรียนรู้...สู่รัฐบาลท้องถิ่น ของ อบต.ท่าข้าม (จ.สงขลา) อบต.ปากพูน(นครศรีธรรมราช) อบต.วัดดาว(จ.สุพรรณบุรี) อบต.หัวไผ่ (จ.สิงห์บุรี) ประเด็นที่ได้จากวงนี้คือการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำการจัดการความรู้มาสร้างคนที่คิดเป็นทำเป็น เพราะเมื่อพัฒนาคนได้แล้วก็จะสามารถดำเนินกิจกรรมได้ ประสิทธิภาพที่ดีกว่า ที่ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน การสร้าง

จิตสำนึกว่าประชาชนเป็นเจ้าของ

 พักรับประทานอาหารกลางวันกันเสร็จ ก็ชมวิดิทัศน์การพัฒนาตำบลที่คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วม ในชื่อ อบต.ท่าข้ามกับความเป็นรัฐบาลท้องถิ่น จากวิดิทัศน์เราก็ได้เห็นแนวทางการพัฒนาองค์กร โดยเฉพาะองค์กรที่มีหน้าที่ บริการชาวบ้าน ตั้งแต่เกิดจนตาย(เป็นนิยามอีกอย่างหนึ่งที่ ทางอบต.ปากพูนให้นิยามคำว่า อบต.ไว้) ซึ่งวันนี้ก็มีตัวแทนจากหลายๆ อบต.มาร่วมงานด้วย น่าจะได้แนวคิดดีๆไปใช้กับองค์กรของตนเองได้ 

กิจกรรมสุดท้ายของวันที่ได้เข้าร่วมก่อนกลับ(จริงๆแล้วในกำหนดการยังมีอะไรดีๆ อีกหลายอย่างเรื่อยไปจนถึง 3 ทุ่ม)นั่นก็คือ กิจกรรมห้องเรียนรู้ย่อย  เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนซื้อขายความคิด จากภาคราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคประชาชน เพื่อให้เห็นเส้นทางในการทำงานขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นในรูปแบบใหม่ จากการพูดคุย(เรื่องเล่า) การเห็นตัวอย่างจริงจากผู้มีประสบการณ์และความรู้เด่น(Best Practice) ในเรื่องนั้นๆมีห้องเรียนย่อยๆ ดังนี้ เกษตรพอเพียง หล่อเลี้ยงชีวิต  การศึกษา ชีวิตและชุมชน วัฒนธรรม...นำทาง สร้างสุขสู่ชุมชน สุขภาพชุมชน กับคนทำงานเชิงรุก สวัสดิการชุมชนพึ่งตนเองก็ได้ ประเทศตำบล...ผลที่เกิดกับประชาชน ประเทศหมู่บ้าน...การจัดการตนเองของชุมชน การจัดการความรู้ชุมชน...คนทำงานท้องถิ่น

 

ห้องที่เลือกก็คือ สวัสดิการชุมชนพึ่งตนเองก็ได้ (ชั่งใจอยู่กับอีกห้อง คือการจัดการความรู้ชุมชน...คนทำงานท้องถิ่นซึ่ง น่าสนใจพอๆกัน แต่ก็ต้องตัดใจเลือกเอาเพียงหนึ่ง) Best Practice ได้มาจากวัดป่ายาง สะท้อนสวัสดิการที่เริ่มจากประชาชนและจาก อบต.ท่าข้ามของจังหวัดสงขลา ที่สะท้อนสวัสดิการที่ได้มาจากส่วนท้องถิ่นร่วมกับประชาชน ทั้งสองมีแนวทางการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน ส่วนตัวแล้วค่อนข้างคุ้นเคยรูปแบบการจัดสวัสดิการของป่ายางพอควรแล้วแต่ ของอบต.ท่าข้ามยังไม่เคยได้รับทราบข้อมูลมาก่อน ซึ่งแนวความคิดก็รับมาจากดร.ครูชบ ยอดแก้ว คือเริ่มต้นจาก สัจจะวันละบาทของภาคประชาชน แล้วสมทบด้วยงบประมาณของอบต.ท่าข้ามเอง และบางครั้งก็ได้งบจาก พอช.ร่วมด้วย โดยไม่มีการกู้มุ่งให้เกิดสวัสดิการ ครอบคลุม เกิด แก่ เจ็บ ตาย และผู้ด้อยโอกาส ตามเงื่อนไข  โดยที่วัดป่ายางใช้แนวคิดจากพระสุบิน ปณีโต โดยสวัสดิการเกิดจากผลกำไร 50% จากการปล่อยกู้ตามเงื่อนไขที่เน้นเรื่องคุณธรรมในทุกๆด้านเป็นหลัก ซึ่งต่อมาก็ผลักดันมีกิจการของชุมชนเกิดขึ้นหลายอย่างเช่น โรงผลิตปุ๋ยอัดเม็ดชีวภาพ โรงผลิตน้ำดื่มระบบ RO&UV โรงสีชุมชน เป็นต้น โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางและผลกำไร 10% ก็นำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งด้วย.....

 ความเห็นเพิ่มเติมสำหรับกิจกรรมในวันนี้ก็คือ มีความรู้สึกว่า ตลาดนัดจะมีผู้คนบางตาไปซักหน่อย ส่วนใหญ่ก็เป็นทีมงานที่ต้องอยู่ประจำห้องอยู่แล้ว เห็นว่ามีแต่พ่อค้าแม่ค้า เห็นผู้ซื้อไม่กี่คน (บางทีอาจเป็นเพราะห้องประชุมใหญ่ไป เลยดูเหมือนคนน้อยมั้งคะ ) จริงๆแล้วกิจกรรมดีแต่น่าเสียดายที่มีผู้เข้าร่วมน้อยไปซักหน่อย บันทึกนี้ยาวมากเกินไปแล้ว วันนี้คงจะสรุปกิจกรรมไว้เพียงเท่านี้ก่อนค่ะ พบกันใหม่บันทึกหน้า...
หมายเลขบันทึก: 143652เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2007 09:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

วันที่31ต.ค.ได้พบกับทีมงานของพี่ทรงพลที่สนามบิน เสียตายที่ไม่ได้เข้าร่วมงานด้วย แต่ก็ตามอ่านจากblog พอจะเห็นภาพงาน

รู้สึกว่างานนี้จะปชส.ไม่มากนัก ที่จริงถ้าได้เชื่อมกับโครงการต่างๆที่ทำกันอยู่ในนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะโครงการความร่วมมือและโรงเรียนคุณอำนวยเมืองคอนก็จะได้นักเรียนเข้าร่วมงานมากกว่านี้

น่าเสียดายความรู้ดีๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท